ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กันยายน 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | คำ ผกา |
เผยแพร่ |
ช่วงนี้ฉันเจอคำถามที่สำหรับตัวฉันเองเห็นว่าเป็นคำถามที่แปลกมาก
เช่น “ทำไมถึงต้องรักพรรคเพื่อไทยมากขนาดนั้น”
คำถามนี้แปลก เพราะคำว่า “รัก” เป็นคำที่ emotional หรือมิติทางอารมณ์มากเกินกว่าที่จะนำมาใช้อธิบายความสัมพันธ์ของประชาชนกับพรรคการเมือง อย่าว่าแต่พรรคการเมืองเลย แม้แต่กับครอบครัว เพื่อน ผัว หรือเมีย ฉันยังไม่กล้าใช้คำว่า “รัก”
เพราะในความสัมพันธ์เหล่านั้นมันอาจเป็นความผูกพัน ความห่วงใย หรือแม้กระทั่งการอยู่กับใครสักคนแล้วอุ่นใจ มันก็อาจจะไม่ใช่ความรัก
การไปไหนกับใครแล้วสนุก ทำให้กลายเป็นเพื่อนสนิทก็ไม่แน่ใจว่ามีสัดส่วนของ “ความรัก” อยู่ในนั้นกี่มากน้อย
ดังนั้น คำว่า “รัก” สำหรับฉันจึงเป็นคำที่ค่อนข้างตีขลุมและลดทอนความซับซ้อนในความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่นๆ
ในเรื่องพรรคการเมืองนั้น ฉันพูดอยู่เสมอว่า ความสำส่อนเป็นเรื่องที่จำเป็น
เพราะการเมืองเป็นเรื่องความลงตัวของผลประโยชน์
คำว่าตระบัดสัตย์จึงเป็นสิ่งที่หากเกิดขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องต้องประหลาดใจ
โหวตเตอร์ของพรรคการเมืองก็ไม่เอาควรเอาอัตลักษณ์ของตัวเองไปผูกไว้กับพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่ง
และฉันก็ไม่เคยจะสักชื่อพรรคการเมืองลงบนร่างกายของตัวเอง
ไม่เคยคิดจะติดสติ๊กเกอร์พรรคเพื่อไทยไว้ที่บ้าน ที่รถ
ไม่เคยอยากใส่เสื้อพรรคเพื่อไทยไปไหนต่อไหนในชีวิตประจำวัน ไม่เคยอยากซื้อของที่ระลึกของพรรคมาประดับบ้าน ไม่เคยคิดจะมีแก้วกาแฟ หมวก ผ้าพันคอโลโก้พรรค
ไม่เคยคิดจะประดับประดาสัตว์เลี้ยงของตัวเองดวยกระดิ่งหรือผ้าพันคอที่พรรคทำขาย
และเดชะบุญที่พรรคเพื่อไทยก็ไม่เคยทำสิ่งเหล่านี้ออกมาขาย
เมื่อตอบเช่นนี้ก็จะถูกถามต่อว่า “ทำไมเข้าข้างพรรคเพื่อไทยทุกเรื่อง”
ซึ่งฟังแล้วก็ต้องกรอกตา เพราะแสดงว่าคนที่ถามเห็นว่าสิ่งที่พรรคเพื่อไทยทำมัน “ผิด” เมื่อมันผิด ทำไมยังเข้าข้างมันอยู่
ทั้งๆ ที่ฉันอธิบายแล้วว่า “มันไม่ผิดนะ” แต่พอฉันบอกว่า “ไม่ผิด” พวกเขาก็จะวนกลับมาที่คำว่า “นี่ไง พรรคเพื่อไทยทำอะไรก็ถูกไปหมดในสายตาของคำ ผกา”
ทั้งหมดนี้ฉันคิดว่า อาจจะต้องมานั่งเริ่มต้นอธิบายว่า สถานะของพรรคการเมืองสำหรับฉันไม่ได้เท่ากับความดีงาม ความถูกต้อง อุดมการณ์อันสูงส่ง ความเสียสละสูงสุด
สำหรับฉัน พรรคการเมืองเป็นหนึ่งในสถาบันทางการเมืองที่ขาดเสียไม่ได้ในสังคมประชาธิปไตยแบบตัวแทน (ฉันคงไม่ต้องย้ำว่าเราไม่ได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตยทางตรง)
ประชาธิปไตยแบบตัวแทนคือเราเลือกนักการเมืองและพรรคการเมืองไปทำหน้าที่ “ตัดสินใจ” เรื่องต่างๆ แทนเรา และนักการเมืองกับพรรคการเมืองมีโอกาสไปตัดสินใจแทนเราทุกๆ 4 ปี
การกำหนดวาระแค่ 4 ปี มันจึงเป็นความสบายใจของประชาชนอย่างเราว่า การที่เราเลือกคนผิดบ้าง เลือกคนถูกบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา หรือคนที่เราเลือก ครั้งหนึ่งถูกใจเรา
แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป โลกทัศน์ของเราเปลี่ยน หรือปัญหาในชีวิตของเราไม่เหมือนเดิม ความฝัน หรือความปรารถนาในชีวิตของเราเปลี่ยน ความคาดหวังของเราที่มีต่อนักการเมืองหรือพรรคการเมืองเปลี่ยน หรือนักการเมืองคนที่เราเคยชอบเปลี่ยนไป เราก็ย่อมเลือกไม่เหมือนเดิม
สิ่งนี้ก็เป็นเรื่องแสนสามัญธรรมดา เราจึงไม่มีความจำเป็นต้องดันทุรังทำเหมือนเดิม พูดเหมือนเดิม เลือกคนเดิม
เท่าๆ กับที่ไม่จำเป็นต้องอกหัก หัวใจสลายเพียงเพราะนักการเมืองหรือนักการเมืองที่เราเคยชื่นชอบเปลี่ยนไป
ถ้าคนที่ถามฉันจะเปลี่ยนคำถามว่า ทำไมฉันเลือกเพื่อไทย ไม่เลือกก้าวไกล หรือพรรคประชาชน ฉันคิดว่ามันยังจะเป็นคำถามที่ตรงเป้ามากกว่า
ฉันมีเหตุผลเรียบง่ายมากในการไม่เลือกพรรคก้าวไกล เพราะพวกเขามักแสดงทัศนคติว่า พรรคของเขาเป็นการเมืองใหม่ พวกเขาต่อต้านการซื้อเสียง พวกเขาต่อต้านการเมืองบ้านใหญ่
พูดง่ายๆ คือ พวกเขาเน้นย้ำการทำการเมืองสุจริต และบ่อยครั้งที่ฉันสัมผัสได้ถึงการสื่อสารในทำนองว่า ถ้าใครเลือกพรรคอนาคตใหม่ ก้าวไกล ประชาชน เท่ากับเป็นคนที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง
แต่ใครที่ยังเลือกพรรคอื่น เป็นพวกถูกซื้อด้วยเงิน หรือยัง “โง่” อยู่ หรือเป็นพวกอนุรักษนิยม ล้าหลัง ไม่ก้าวหน้า
ซึ่งจุดยืนของฉันในการเลือกพรรคการเมือง ฉันไม่ได้เลือกเพียงเพราะถ้าฉันเลือกพรรคนี้ฉันจะดูเป็นคนฉลาด และพรรคการเมืองใดก็ตามที่หาเสียงด้วย sentiment นี้ พรรคนั้นจะไม่ใช่พรรคที่ฉันชอบแน่นอน
ไม่เพียงเท่านั้น ฉันมีจุดยืนที่นำเสนอต่อสังคมมาโดยตลอดว่า การซื้อเสียง และระบบอุปถัมภ์ ไม่ได้เกิดจากนักการเมืองเลว หรือพรรคการเมืองไร้อุดมการณ์
แต่มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างแบบที่พรรคก้าวไกลชอบพูดนั่นแหละ
ถ้าประชาธิปไตยเข้มแข็ง มีการเลือกตั้งต่อเนื่อง ไม่มีรัฐประหาร ไม่มีตุลาการภิวัฒน์ พรรคการเมืองไม่ถูกยุบบ่อยๆ มีการกระจายอำนาจ เศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนเข้มแข็งขึ้น วันใดวันหนึ่ง ระบบอุปถัมภ์เช่นนี้ก็จะค่อยๆ หมดไป
เพราะฉะนั้น แทนที่พรรคก้าวไกลจะเน้นปัญหาโครงสร้าง
พวกเขากลับเน้นโจมตีเรื่องการซื้อเสียงและขับเน้นการเป็นนักการเมืองที่เปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์อันเป็นจริยธรรมส่วนบุคคล
ดังนั้น ในสายตาของฉัน พรรคก้าวไกลมีโลกทัศน์ที่เหมือนนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เอ็นจีโอ นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน กวี เพื่อชีวิต
มากกว่าจะมีโลกทัศน์แบบนักการเมืองที่ต้องมองเรื่องการตอบสนองความต้องการของประชาชนจากความสำเร็จของการขับเคลื่อนนโยบายที่จับต้องได้ เป็นรูปธรรม
ด้วยเหตุดังนี้ ฉันจึงชอบมากที่พรรคเพื่อไทยยอมเสียคำพูดเรื่อง ไม่รวมกับพลังประชารัฐหรือรวมไทยสร้างชาติ หลังจากที่พรรคก้าวไกลล้มเหลวในการหาเสียงมาโหวตให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ
สำหรับฉัน นี่เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เสียคำพูดแต่เป็นรัฐบาล ไม่ได้เป็นรัฐบาลเฉยๆ แต่ได้เป็นแกนนำ ได้ตำแหน่งนายกฯ ได้ดูแลกระทรวงสำคัญๆ ทั้งหมดที่จะใช้ขับเคลื่อนนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน
สำหรับฉัน พรรคเพื่อไทยจึงเป็นพรรคที่ไม่ต้องโลกสวย ไม่ต้องห่วงว่าตัวเองจะไม่หล่อ
เมื่อมีโอกาสจะเป็นรัฐบาลก็ต้องเป็น ถ้าไม่เป็นแล้วนั่งอ้างอุดมการณ์สิ ฉันจะโกรธมาก และคงนั่งด่าอีพรรคหน้าโง่นี้ไปชั่วชีวิต
ส่วนเรื่องที่พรรคเพื่อไทยไปเอาประชาธิปัตย์มาร่วมรัฐบาล คำถามของฉันคือ ถ้าไม่มี 40 ส.ว.ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ถอดถอนเศรษฐา ทวีสิน และหากศาลรัฐธรรมนูญไม่ถอดถอนเศรษฐา ก็จะไม่มีนายกฯ ชื่อแพทองธาร ชินวัตร และไม่มีการตั้ง ครม.ใหม่ ถ้าไม่มีการตั้ง ครม.ใหม่ พรรคพลังประชารัฐก็ไม่ถูกเขย่า
เมื่อพรรคพลังประชารัฐถูกเขย่า จึงนำมาสู่การเขย่าพรรคประชาธิปปัตย์ จนออกมาเป็นหน้าตาของรัฐบาลแพทองธาร ที่ไม่มีก๊วนประวิตร วงษ์สุวรรณ และมีประชาธิปตย์ที่ไม่มีก๊วนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่มีชวน หลีกภัย ไม่มีจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ไม่มีบัญญัติ บรรทัดฐาน พูดง่ายๆ ว่า พรรคเพื่อไทยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส จากสถานการณ์ที่นายกฯ ของพรรคตัวเองถูกสอย พลิกกลับมาเป็นผู้คุมเกม ได้รัฐบาลที่มีเสียงมากกว่าเดิม อันแปลว่ามีเสถียรภาพมากขึ้น ถ้าไม่นับปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ นั่นคือปัจจัยที่เกิดจากองค์กรอิสระต่างๆ
ถามว่า ลืมเหตุการณ์และสิ่งที่พรรคประชาธิปปัตย์ทำเมื่อปี 2553 หรือลืมเรื่องราวเมื่อครั้ง กปปส. แล้วหรือ
คำตอบคือการร่วมรัฐบาลกันไม่ได้แปลว่า “รักกัน”
การร่วมรัฐบาลกันไม่ได้แปลว่า “มีอุดมการณ์เดียวกัน” การร่วมรัฐบาลกันไม่ได้แปลว่า “เป็นพวกเดียวกัน”
แต่การเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเป็นไปเพื่อให้บรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ของการทำงานในกรอบเวลาของรัฐบาลนั้น ซึ่งก็ไม่มีใครการันตีว่ารัฐบาลผสมนี้จะทำงานร่วมกันได้ดีหรือไม่ดี
ไม่มีใครการันตีว่าพรรคร่วมจะไม่ทะเลาะกัน
ไม่มีใครการันตีในสองปี สามปีข้างหน้าอาจจะมีบางพรรคไม่พอใจอะไรบางอย่างต้องถอนตัว หรืออาจจะมีพรรคใดพรรคหนึ่งละเมิดมารยาททางการเมือง ถูกปรับให้ออกจากการเป็นพรรคร่วมแล้วเอาพรรคอื่นเข้ามา
เพราะนั่นอะไรก็เป็นไปได้ในรัฐบาลผสม และไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดมหัศจรรย์ใดๆ ทั้งสิ้น
การที่มีพรรคประชาธิปัตย์ในรัฐบาลเพื่อไทยไม่ได้เกี่ยวข้องกับความพยายามจะดำเนินคดีคนฆ่าประชาชน
ทั้งยังไม่ต้องพูดว่า คนที่มีส่วนใน ศอฉ. ก็ไม่ได้อยู่ในประชาธิปัตย์ที่มาร่วมรัฐบาล
ดังนั้น จึงไม่ได้เป็นอุปสรรคใดๆ ต่อการแสวงหาความยุติธรรมให้คนเสื้อแดง ถ้าจะทำ
มากไปกว่านั้น การมีเสียงของประชาธิปัตย์มาเติมในรัฐบาลก็จะทำให้การผลักดันเรื่องยากๆ ในสภาให้มีความเป็นไปได้ที่จะสำเร็จมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต หรือเรื่องที่หินกว่านั้นคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
มองแค่เพียงเท่านี้ก็จะเห็นว่า การได้ประชาธิปปัตย์มาร่วมรัฐบาลมีแต่ได้กับได้
ถ้าถามต่อว่า แต่พรรคเพื่อไทยเสียงรังวัด เสียชื่อเสียง เสียความไว้วางใจจากฐานเสียงและคนเสื้อแดง
คำตอบของฉันคือ นั่นเป็นปัญหาและเป็น “งาน” ของพรรคเพื่อไทยไม่ใช่ปัญหาและไม่ใช่ “งาน” ของฉันในฐานะประชาชนและโหวตเตอร์ที่ต้องรับผิดชอบ
ฉันโหวตให้พรรคเพื่อไทยไปทำงานแทนฉัน ถ้าพรรคทำเรื่องเศรษฐกิจได้ พรรคทำเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตได้ พรรคทำรถไฟฟ้ายี่สิบบาทได้ พรรคไปขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ พรรคไปทำให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้นได้ ยกเลิกคำสั่ง คสช.สำเร็จ พรรคทำ e-government ได้ ฉันได้ประโยชน์ คนไทยได้ประโยชน์ ฉันก็พอใจแล้ว
ส่วนพรรคจะแพ้หรือชนะการเลือกตั้งก็เป็นเรื่องเป็นงานของพรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ประชาชนอย่างฉันมีเสรีภาพในการเลือก เพราะในระบอบประชาธิปไตย ต่อให้รัฐบาลทำดีแค่ไหน บางครั้งประชาชนก็ไม่เลือกพรรคเดิมที่เคยเป็นรัฐบาลด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า “ลองให้คนอื่นมาทำดูบ้างเผื่อจะดีกว่า” ก็มีให้เห็นเยอะแยะ
ดังนั้น ฉันจึงมั่นใจว่าฉันไม่ได้รักพรรคเพื่อไทยมากกว่าตัวฉันเองแน่นอน
อีกอย่างหนึ่งที่ฉันอยากจะเพิ่มเติมก็คือ สังคมไทยวนเวียนอยู่กับการรัฐประหาร ความขัดแย้ง การต่อสู้กับเผด็จการมานานกว่า 20 ปี ทำให้เราคิดกว่าการเมืองเป็นเรื่องการต่อสู้กับ เขาคือเผด็จการ และเราคือประชาชน เราจึงมองการเมืองแบบว่าต้องมีพระเอกกับผู้ร้าย
และพยายามจะแยกว่าในบรรดาพรรคการเมืองทั้งหมดที่เรามี มีพรรคไหนเป็นพรรค “พระเอก” มีพรรคไหนเป็น “พรรคผู้ร้าย/คนชั่วตัวโกง” และเรายังจะเพิ่มตัวละครเป็น “พรรคตระบัดสัตย์” เข้าไปอีก
ซึ่งเมื่อการเมืองเคลื่อนตัวมาสู่ประชาธิปไตยระบบรัฐสภาและการเลือกตั้งอีกครั้ง แม้จะไม่หมดจดเพราะมรดกของการรัฐประหารยังปรากฏตัวให้เห็นในระบบราชการ กระบวนการยุติธรรม กฎหมาย ผู้คนในพรรคการเมืองบางพรรค
แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเราเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยและเรามีหน้าที่เดียวคือทำให้การเลือกตั้งของเราดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
และฉันจะพูดเป็นครั้งที่ล้านจนกว่าวัฒนธรรมประชาธิปไตยจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตและปฏิบัติการในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน มันย่อมไม่มีพรรคการเมืองที่เป็นพระเอก ไม่มีพรรคการเมืองคนชั่วตัวโกง เพราะทุกพรรคต่างก็ต้องลงเลือกตั้ง ในบริบทนี้จึงมีแค่พรรคที่มี ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ฯลฯ
ย้ำ เมื่อทุกพรรคลงเลือกตั้ง เราจะไม่มานั่งพิพากษา หรือแปะป้ายว่า นี่พรรคคนดี นีพรรคคนชั่ว นี่พรรคตระบัดสัตย์ แต่จะมีแค่ พรรคที่ได้ ส.ส.เท่านั้นเท่านี้คน และอำนาจต่อรองในสภา ขึ้นอยู่กับ “เสียงข้างมาก”
และหากพรรคที่มี ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถรวมเสียงข้างมากในสภาได้ คุณก็ต้องยอมรับสภาพว่าเมื่ออิงกับจำนวน ส.ส.ในสภาทั้งหมดคือ “เสียงข้างน้อย”
เพราะฉะนั้น พรรคที่มี ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่งก็สามารถกลายเป็นพรรคเสียงข้างน้อยในสภาได้ ไม่ใช่ปรากฏการณ์ฟ้าผ่า อาเพศแต่อย่างใด
สิ่งที่ฉันต้องย้ำ และอาจทำให้ถูกเกลียดชังคือ หากอ้างว่าเป็นนักประชาธิปไตย ต้องไม่มองประชาธิปไตยจากฐานคิดบูชาตัวบุคคลหรือเชิดชูเทิดทูนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งว่าวิเศษวิโสกว่าคนอื่น
ฉันซึ่งเลือกพรรคเพื่อไทย ไม่เคยคิดว่าพรรคเพื่อไทยดีกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ
แถมยังเห็นแต่จุดอ่อน ข้อด้อยของพรรคนี้ ตั้งแต่ความ “ขี้นอก” ในหลายเรื่อง เช่น ไอเดีย เอากลองไปให้ตีร้องทุกข์ที่สภา
บางทีก็ยกสุภาษิตคำกลอนอะไรเชยๆ มาอภิปราย
รัฐมนตรีหลายคนก็ห่วยแตก ส.ส.ก็หลากหลาย เก่งบ้าง ไม่เก่งมาก การสื่อสารพรรคก็ห่วยเสมอต้นเสมอปลาย
แต่สำหรับฉัน นี่แหละคือสภาวะ “ปกติ” ของการเป็นพรรคการเมืองและสังคมประชาธิปไตย
เพราะพรรคการเมืองย่อมตอบโจทย์ความปรารถนาของผู้คนมากมายหลายสิบล้านคนที่ก็มีหลายความคิด หลายความเชื่อ หลายความฝัน หลายความปรารถนา
และอนาคตข้างหน้า หากมีพรรคที่ถูกจริตฉันมากกว่าพรรคเพื่อไทย ตอบโจทย์ฉันได้มากกว่า ฉันก็พร้อมจะเลือกพรรคนั้น
แต่ถ้ามันยังมีให้เลือกแค่นี้ ก็ต้องดูอีกว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า การเลือกตัวบุคคล กับการเลือกปาร์ตี้ลิสต์ ก็อาจจะเป็นคนละพรรคกันก็เป็นได้
อีกตั้งสามปี อะไรก็เกิดขึ้นได้
ด้อมส้ม ติ่งส้ม ต่างหากที่มีแนวโน้มมองว่า พรรคการเมืองและนักการเมืองของพวกเขาเหมือนเทวดามาโปรดสัตว์ เก่งเหลือเกิน หล่อเหลือเกิน เสียสละเหลือเกิน ฉลาดเหลือเกิน ตลกเหลือเกิน น่ารักเหลือเกิน กล้าหาญเหลือเกิน น้อมกายก้มหัวเป็นวัวงานให้ประชาชนเหลือเกิน
ซึ่งทั้งหมดนี้สำหรับฉันมันน้ำเน่าและไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าตนเองในฐานะประชาชนได้รับการ empower ใดๆ นอกจากเป็นองค์ประกอบของการก่อกำเนิดของวีรบุรุษ วีรสตรีคนแล้วคนเล่าเท่านั้นเอง
นี่ยังไม่นับว่า ฉันไม่นับถือพรรคการเมืองที่ชอบอ้างว่า “ฟังเสียงประชาชน” เสียจนถูกมวลชนในโซเชียลมีเดีย ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ เช่น กรณี “มีกรณ์ไม่มีกู” เพราะระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนนั้น
โหวตเตอร์อย่างฉันต้องการให้พรรคการเมืองตัดสินบางเรื่องบนวิจารณญาณของพรรค ไม่ใช่เอะอะมา “ฟัง” ประชาชน เพราะนั่นเท่ากับพรรคผลักความรับผิดชอบมาที่ประชาชน ว่าทำเพราะฟังประชาชน ไม่ทำก็เพราะ “ฟัง” ประชาชน
กลายเป็นว่า พรรคหรือรัฐบาลไม่พร้อมจะรับผิดชอบการตัดสินในนามของประชาชนเลย
เช่น หากพรรคจะทำดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อได้เป็นรัฐบาลก็ต้องเดินหน้าทำ ไม่ใช่กลับไปกลับมา เดี๋ยวทำเดี๋ยวไม่ทำ โดยอ้างว่า “ฟัง” เสียงประชาชน
การปกครองระบอบประชาธิปไตยต้องฟังเสียงประชาชนทุกๆ สี่ปีในการเลือกตั้ง ระหว่างที่ทำงานในนามของประชาชน รัฐบาลควรมีความกล้าหาญจะคิดและทำเรื่องใหญ่ เรื่องที่เปลี่ยนแปลงประเทศได้ และพร้อมรับผิดชอบการตัดสินใจนั้น
คำว่า “ประชาชนใหญ่กว่าพรรค” จึงไม่สมเหตุสมผลสำหรับฉัน แต่เป็นวาทกรรมเพื่ออวดอ้างฉันทำเพื่อประชาชนมากกว่าใคร ฟังเสียงประชาชนมากกว่าใคร แต่แท้จริงแล้ว พรรคการเมือง และนักการเมืองต้องกล้าตัดสินใจ กล้ารับผิดชอบ และกล้าเสี่ยงทำอะไรล้ำๆ ใหม่ๆ และบางครั้งอาจจะทำบางอย่าง “ก่อนกาล” ได้ เพราะนั่นคือ “สิทธิ” ที่ได้รับมาจากประชาชนแล้ว
ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องโรแมนติกบนเรื่องเล่าของพระเอกนางเอกที่เสียสละกู้ชาติประกาศอิสรภาพ แต่เป็นแค่การบริหารประเทศบนหลักการ Free, Fair, Regular และ Representative Election ของทั้งคนธรรมดาๆ เท่านั้น ไม่ต้องมีปรีดีในฝัน หรืออ่อง ซาน ซูจี คนสอง สาม สี่ที่ไหนอีก
และเมื่อมันไม่โรแมนติกในปริมณฑลของการเมือง จึงไม่มีคำว่า “รัก”
ดังนั้น คำถามว่า “ทำไมถึงรักพรรคเพื่อไทย” มันจึงเป็นคำถามที่ไม่ make any sense
เว้นแต่คนถามยังงมงายอยู่กับความโรแมนติกในการเมืองอยู่
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022