ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กันยายน 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
ก่อนไทยจะเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน สมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ปี พ.ศ.2518 กับประธานเหมา เจ๋อตุง และนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล ซึ่งคนไทยยุคนั้นเรียกจีนแผ่นดิน ใหญ่ ขณะมีจีนไต้หวันของนายพลเจียง ไคเช็ก ค่ายก๊กมินตั๋ง เกาะฟอร์โมซา
แต่คนไทยรุ่นนั้นถนัดเรียก “จีนแดง” หมายถึงจีนคอมมิวนิสต์ที่รัฐบาลไทยรังเกียจไม่คบหา แบบว่าซาตานน่าขยะแขยง…เบบี้มูมเบอร์เกิดก่อน 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ 2500 รู้ตำนานนั้นดี และใครฝักใฝ่ลัทธิอุบาทว์ที่ว่า ถูกจับขังคุกลืมเดือนลืมปีกันเป็นแถว
หลังปี 2518 บ้านเมืองถึงปลดโซ่ให้คนสองแผ่นดินแซ่เดียวกัน ที่ต้องพลัดพรากจากกัน ได้เจอะเจออีกครั้งหนึ่งก่อนตาย
จีนแดงหรือจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งต่อมาคือสาธารณรัฐประชนชนจีน ได้ถูกเผยวิถีผู้คนกว่า 1 พันล้านคนให้คนไทยรู้จัก ว่าผูกพันสังคมเกษตรกรรมแลกสวัสดิการรัฐเลี้ยงครัวเรือน แบบไร้ช่องว่างระหว่างชนชั้นตามระบบคอมมูน
คนจีนสมัยนั้นนิยมแต่งชุด “เสื้อคลุมกระดุม 5 เม็ด” คอพับ กระเป๋า 4 ใบ ตามประธานเหมา ชาวโลกจึงเรียก “ชุดเหมา” ชุดนี้มีปูมจาก “ชุดจงซาน” ตามรอย ดร.ซุนยัตเซน ผู้ล้มราชวงศ์แมนจู ที่ก๊อบปี้จากเจ้าหน้าที่องค์การโคมินเทิร์น สหภาพโซเวียตอีกทีหนึ่ง
ครั้งนั้นคนจีนจะสวมเสื้อกระดุม 5 เม็ด ขี่จักรยานเกร่อทั่วนครปักกิ่งและเมืองใหญ่ ยันชนบททั่วแผ่นดินจีน 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร โดยยึดการทำนาเป็นล่ำเป็นสัน
ต่อเมื่อผู้นำคือเติ้ง เสี่ยวผิง ปฏิวัติสังคมสู่อุตสาหกรรมใหม่หันคบหาต่างชาติ คนจีนรุ่นใหม่เริ่มเปิดโลกกว้างพัฒนาพาชาติก้าวไกล ต่อเนื่องยุคหู จิ่นเทา ถึงสี จิ้นผิง ผงาดเป็นมหาอำนาจ คาบเอเชียขนาดอเมริกายังหัวหด
เศรษฐกิจภายในโตน่าพอใจ ประชาชนมีอำนาจกับการจับจ่าย สามารถออกท่องเที่ยวต่างแดนได้ ปี 2548 ออกเที่ยว 31 ล้านคนเป็น 80 ล้านคนในปี 2555 และ 100 ล้านคนปี 2563 เฉลี่ยเพิ่มปีละ 25 ล้านคน หรือวันละ 70,000 คน
ไทยซึ่งจ้องตลาดนี้ตาเป็นมันด้วยเป็นบิ๊กมาร์เก็ต ปี 2562 เคยพีกได้จีน 11 ล้านคน พอถูก โควิดพ่นพิษหล่นตุ้บเหลือ 3 ล้านคน ปีหน้าจะเว่อร์เป็น 8.2 ล้านคน รายได้ 4.51 แสนล้านบาท
ดูพฤติกรรมจีนหากเป็นคนรุ่นดิจิทัลไม่มีปัญหา ด้วยจัดการเดินทางเอง เมินบริษัททัวร์ มีแต่คนรุ่นเก่าซึ่งเป็นชาวนาแถบยูนนานที่รวยขึ้น แต่ยังต้องพึ่งบริษัททัวร์เที่ยวเชียงใหม่ เชียงราย ติดวิถีเดิมๆ ถ่ายไม่เป็นที่เป็นทาง ไปพัทยาเปลี่ยนเสื้อผ้าฟรีสไตล์ไม่สนเรื่องโป๊เปลือย
“ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” ทัวร์ไทยไปทำสะเหล่อต่างแดนมานักต่อนัก ล่าสุดไปโพสต์ถ่ายรูปบนลาวามอสที่ไอซ์แลนด์ อีกเรื่องเอเย่นต์ทัวร์ฝรั่งเศสเข็ดทัวร์ไทย ไม่เคารพเวลานัดหลังเบรกฟาสต์ล้อหมุนแปดโมง
ถึงเวลาคนนั้นขอเข้าห้องน้ำ คนนี้ขึ้นไปเอาของที่ห้องพัก ไอเทนเนอรี่ทัวร์รวนหมดทั้งคิวที่เที่ยว อาหารมื้อกลางวัน ทับซ้อนทัวร์คณะอื่นที่ตรงเวลา…เรื่องทำนองนี้คนทำทัวร์รู้ดี!
กลับมาเรื่องชาวนาจีนซึ่งยังมีหลายอย่างน่าสนใจ เมื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตชาวนาไทย ที่ได้รับยาหอมยกย่องว่ามีเกียรติในฐานะ “กระดูกสันหลังของชาติ” ทั้งที่เป็นเพียงอูฐแบกฟางเส้นสุดท้ายไว้บนหลัง มาตั้งแต่รุ่นปู่ทวดถึงลูกหลานเหลนแทบไม่เปลี่ยน
ลองอ่านข้อเขียน ศ.เขียน ธีระวิทย์ นักบริหารและนักเขียนได้เคยเขียนเรื่อง “กรรมกรและชาวไร่ชาวนาในจีน” นานมาแล้ว หลังจากไปเยือนจีน 22 วัน โดยตอนหนึ่งบอกว่า…
“ระดับการครองชีพเราไม่เคยได้ยินหรือได้อ่านจารึกที่ใดว่า กรรมกรหรือชาวนาคนใดในจีนปัจจุบันมีหนี้สิน ได้แต่คิดว่าใน 700-800 ล้านคน (ขณะนั้น) ยังมีอยู่บ้างที่กู้หนี้ยืมสินมา ถามหน่วยบริการย่อยๆ ของคอมมูน ได้ความว่าในอดีตตอนที่ดินฟ้าอากาศทำพิษหลายๆ ปีติดต่อ กัน (ค.ศ.1960-1962) กองการผลิตใหญ่เคยช่วยเหลือ และกู้เงินจากธนาคารของรัฐบาล”
“แต่นั่นเป็นอดีตไปแล้ว เราไม่สามารถหาได้จากที่ใดว่า เอกชนหรือหน่วยบริหารหน่วยการผลิตใดในปัจจุบันเป็นหนี้ธนาคารของรัฐบาล เราจึงได้แต่ถามในเชิงทฤษฎีว่ากู้เงินธนาคารของรัฐบาลได้ไหม คำตอบก็คือได้ถ้ากู้มาเพื่อการผลิตก็ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย”
“แต่ถ้ากู้มาเพื่อใช้จ่ายในการครองชีพก็ต้องเสียดอกเบี้ยเล็กน้อยไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ดูเหมือนจะไม่มีใครรู้หรือไม่อยากตอบ คงสรุปได้อย่างไม่คลาดเคลื่อนมากนักว่า เรื่องการกู้เงินในจีนคงจะสลายตัวไปจากสังคม ขณะการกู้เงินในเมืองไทยได้กลายเป็นแฟชั่นนิยมขึ้นมา”
ศ.เขียนกล่าวสรุปไว้ตอนหนึ่งว่า “ระดับการครองชีพของชาวไร่ชาวนาและกรรมกรยังต่ำ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับก่อนปลดปล่อยปี 1949 นับว่าฐานะดีขึ้นมาก พอมีกินอิ่ม”
“จะเทียบกับชาวไร่ชาวนาและกรรมกรไทยอาจจะค่อนข้างลำบาก ของเรามีความแตก ต่างกันมากกว่าของเขา…บางแห่งในภาคอีสานข้าวจะกรอกหม้อก็ยังไม่ค่อยจะมี บางคนอาจไม่มีทรัพย์สินแต่มีรถจักรยาน ซื้อเงินผ่อนหรือกู้เขามาด้วยดอกเบี้ยแพงๆ”
นี่คือภาพสะท้อนชีวิตชาวนาจีนยุคสังคมเกษตรกรรม ถึงปัจจุบันเมื่อจีนผลัดใบสู่สังคมอุตสาหกรรมใหม่ ประชาชนมีกินมีใช้อย่างพอเพียง ชาวนาซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของแผ่นดินล้วนฐานะดี สามารถออกท่องเที่ยวต่างประเทศได้โดยไม่ขัดสน
ผิดกับชาวนาไทยชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ที่ชีวิตมีแต่เตี้ยลงหนี้สินอีรุงตุงนังต่อนายทุนเจ้าของโรงสีพ่อค้าคนกลาง หนักยิ่งกว่าอูฐแบกฟางเส้นสุดท้ายเสียอีก
อย่างไรก็ตาม บ้านเราไม่พ้นสังคมเกษตรกรรมทำไร่ทำนา เพื่อเลี้ยงคนในประเทศและส่งออกไปแข่งกับตลาดเพื่อนบ้าน โดยใช้ชาวนาเป็นผู้ผลิตแต่ไร้อำนาจต่อรองในการขาย
ขณะที่กระดูกสันหลังยังถูกกดขี่แทบจมดินโคลน แต่ปลายอุโมงค์ยังเห็นแสงสว่าง เช่น ที่บ้านแสงภา อ.นาแห้ว จ.เลย ดินแดนหลังภู มีแปลงนาแห่งหนึ่งค้นพบวิถีทำนาอย่างมีความสุข ด้วยการหว่านดำสร้างสีสันเป็นงานศิลปะบนผืนนา
เธอผู้นี้คือน้องนาง บูรณะโสภณ วัย 55 ปี เป็นคน อ.ท่าลี่ จ.เลย เคยมีอาชีพเป็นคนส่งปลาไปขายชาวลาว แขวงไชยะบุรี นาน 30 ปี ก่อนขึ้นไปทำนาที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย และได้เห็นสื่อโซเชียลเผยแพร่ภาพสาวญี่ปุ่นแต่งชุดกิโมโนน่ารัก
จึงเกิดความรู้สึกว่า…น่าจะแสดงออกความเป็นไทยทางใดทางหนึ่งบ้าง เมื่อมาใช้ชีวิตเป็นคนทำไม้กวาดขายอยู่บ้านแสงภาใช้ดอกหญ้าสีชมพูเป็นวัตถุดิบ โดยลำพังชื่นชอบวิถีชาวนาเป็นทุนเดิม และได้เรียนรู้ศาสตร์พระราชา ร.9 จึงได้วิชาบวกกับแรงบันดาลใจจากสาวกิโมโน
ถึงทำให้เกิดคิดใช้แปลงนาพื้นที่ 2 ไร่ เป็นผืนนาเชิงศิลปะสร้างสรรค์ความเป็นไทย โดยใช้ต้นกล้าสีเขียวกับดำเริ่มต้นหว่านดำ แล้วนำดอกไม้กวาดสีชมพูมาตกแต่งเสริมอีกส่วน
“แต่ดอกไม้กวาดที่บ้านแสงภามีน้อยไม่พอจำหน่าย ต้องไปซื้อจากชัยภูมิแพงมากขีดละหนึ่งพันบาท” น้องนางบอก
เมื่อหว่านดำตามแบบที่เขียนด้วยข้าวก่ำพันธุ์โบราณจาก สปป.ลาว ชนิดข้าวเหนียวพันธุ์ กข.6 เมืองไทยสูญพันธุ์ไปแล้ว หลังจากนั้น 2 เดือนต้นกล้าก็จะชูรวงเป็นเม็ดข้าว สีขาวและดำกับชมพูตามแบบ แสดงคำว่า “ทรงพระเจริญ” บนแปลงนาสาธิต เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวาย ร.9 โดยมีเจดีย์วัดศรีโพธิ์ชัยสีเหลืองทองอร่าม เป็นแบ๊กกราวด์อยู่ฉากหลัง
ย่ำเช้าพระสงฆ์จากวัดศรีโพธิ์ชัยจะออกเดินบนสะพานไม้ไผ่ ผ่านแปลงนาผืนนี้ออกรับบิณฑบาต มันเป็นภาพวิถีไทยที่สวยงามจับตา กลายเป็นแหล่งชุมนุมนักท่องเที่ยว มารุมถ่ายภาพและเซลฟี่ตัวเองของโชว์ทางออนไลน์ไม่เว้นแต่ละวัน
น้องนางบอกอีกว่า… “ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน สำหรับนักเรียนท้องถิ่นและต่างถิ่น เป็นจุดสนใจที่ ททท.สำนักงานเลย นำไปส่งเสริมสนับสนุนเป็นโปรดักต์ขายท่องเที่ยวประเภทวิถีไทย”
“กำลังมีแนวคิดจะขยายผล” น้องนางว่า “ทำสถานที่นี้เป็นตลาดพื้นบ้าน ให้ชาวบ้านนำสินค้ามาขายนักท่องเที่ยวเป็นรายได้ โดยออกแบบหว่านดำแสดงสัญลักษณ์อะเมซิ่งไทยแลนด์ สุขทันที…ที่เมืองน่าเที่ยว หมุนเวียนเปลี่ยนสื่อเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวรวงส่งขายตลาด”
ชาวนาแสงภาวันนี้…ถึงมีพลังทำนาต่อลมหายใจไปได้โดยมีความสุขตามอัตภาพดังนี้แล
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022