วิกฤตน้ำท่วม 2554 เศรษฐกิจจมมิด จับตาอาถรรพ์ ‘นายกฯ หญิง’

หลายคนกำลังยังคงตั้งตารอรัฐบาลชุดใหม่ของแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ฝุ่นตลบอบอวลตลอด 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งศึกบ้านป่ารอยต่อ (แตก) ของพรรคพลังประชารัฐ และการจับมือกันในรอบ 8 ทศวรรษ ของเพื่อไทย และประชาธิปัตย์

เพราะบ้านเมืองมีหลายวาระร้อนที่รอรัฐบาลของนายกฯ แพทองธาร เร่งแก้ไข

โดยเฉพาะเหตุการณ์อุทกภัย หรือน้ำท่วม ที่เข้าทำลายพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และกำลังคืบคลานไปพื้นที่อื่น

ย้อนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ทำลายล้างระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศ ทุกภาคส่วนต่างได้รับความเสียหายกันถ้วนหน้า

พอมาปี 2567 แม้ฝ่ายรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น จะมั่นใจว่าควบคุมสถานการณ์น้ำได้ พร้อมยืนยันกับประชาชนจะไม่ซ้ำรอยปี 2554 แน่นอน แต่ปัญหาความเสียหายจากเหตุอุทกภัยครั้งนี้ได้สร้างบาดแผลทั้งผู้ประสบภัย และผู้รับรู้ข่าวสารแล้ว

จึงเป็นภารกิจที่หน่วยงานภาครัฐต้องเร่งเข้าช่วยเหลือและเยียวยาโดยเร็วที่สุด ระหว่างรอรัฐบาลใหม่เข้าบริหารงาน

 

สํารวจมุมมองจากเอกชน นักวิชาการ และภาครัฐ ต่างสะท้อนรอยแผลเป็นเมื่อปี 2554 ได้น่าสนใจ

โดยผู้นำเอกชนอย่าง สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คาดแนวโน้มฝนจะตกเพิ่มอีกระลอก หอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงประเมินมูลค่าความเสียหายกรณีสถานการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่ภาคเหนือเบื้องต้นประมาณ 4,000-6,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.02-0.03% ของจีดีพี

ดังนั้น ต้องติดตามและประเมินผลกระทบอีกครั้ง เนื่องจากหลายจังหวัดยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดน้ำท่วมเพิ่มเติม และจากการประเมินพบว่า ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม

ระยะสั้น หอการค้าฯ เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้การสั่งการและมอบหมายนโยบายข้ามกระทรวงเกิดการบูรณาการการทำงานอย่างคล่องตัว และจะต้องเตรียมแผนรับมือมวลน้ำที่จะไหลลงมาสู่ภาคกลางและกรุงเทพฯ ตลอดจนปริมาณฝน

นอกจากนี้ หลังระดับน้ำลดลงและเข้าสู่ภาวะปกติ ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องมีแนวทางการช่วยเหลือ ซ่อมแซม และฟื้นฟู ให้ประชาชนและภาคธุรกิจในพื้นที่ โดยเฉพาะความเสียหายของสิ่งปลูกสร้าง ที่อยู่อาศัย และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต

สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาปรับปรุงและซ่อมแซมอย่างเร่งด่วนเพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

 

ด้าน สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง สะท้อนว่าเหตุการณ์อุทกภัย เป็นเรื่องที่ทางหน่วยงานรัฐบาลต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ประกอบกับภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะเริ่มฟื้นตัวแล้ว

ดังนั้น รัฐบาลจะต้องหาวิธีไหนป้องกันไม่ให้ประชาชนและประเทศได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยมากเท่าปี 2554 และอยากให้รัฐบาลนำเหตุการณ์ในอดีตครั้งนั้นมาเป็นบทเรียนสำคัญในการเข้มงวดในการรับมือมากขึ้น

ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ประเมินสถานการณ์อุทกภัยในหลายภาคจังหวัด แง่ของความเสียหายคาดเยอะพอสมควร โดยเฉพาะด้านการเกษตร

ด้วยเหตุนี้ในด้านการเยียว พีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร จึงยืนยันว่า พื้นที่เกษตรที่ได้รับความเสียหาย เกษตรกรจะได้รับความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2564

โดยเกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย

ได้รับความช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผล ไม้ยืนต้นและอื่นๆ ไร่ละ 4,048 บาท

 

จะพบว่าทุกภาคส่วนตื่นตัวและพร้อมหาทุกเครื่องมือป้องกันปัญหา

เพราะปี 2554 ธนาคารโลก (World Bank) ได้ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์น้ำท่วมไทย สูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท

เป็น “มหาอุทกภัย” ที่เลวร้ายที่สุด

เศรษฐกิจไทยปี 2554 ขยายตัวได้เพียง 0.1% เพราะการติดลบอย่างหนักในไตรมาสที่สี่ของปี 2554 ที่เจอน้ำท่วม จีดีพีหดตัว 9.0% ผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในราคาประจำปี คิดเป็นมูลค่า 328,154 ล้านบาท

เป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปต่อยาก

หวังว่านายกฯ อุ๊งอิ๊งและรัฐบาล จะรับมือภัยพิบัติครั้งนี้ได้จริงๆ

ไม่ซ้ำรอยอาถรรพ์นายกฯ หญิงกับน้ำท่วมหนัก อย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต