ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | กาแฟดำ |
ผู้เขียน | สุทธิชัย หยุ่น |
เผยแพร่ |
สัปดาห์ที่แล้ว ผมเขียนถึงความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะกลายเป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย” รายใหม่
เหตุของความกังวลนี้มาจากหลักฐานอันเป็นที่ประจักษ์จากคุณภาพการเมืองและเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่อง
โดยยังมองไม่เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้มีอำนาจในอันที่จะหยุดยั้งการร่วงหล่นของอันดับความเจริญก้าวหน้าในหลายๆ ด้านของประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง, เศรษฐกิจหรือสังคม
ขณะที่ “ความสามารถในการแข่งขัน” ของเรากับเพื่อนบ้านก็หดหายลงอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา, สิ่งแวดล้อม, คุณภาพชีวิต, เศรษฐกิจ และสังคม
หากเราย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์เมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้ก็จะเห็นว่าสองประเทศที่เคยติดอันดับ “คนป่วยแห่งเอเชีย” หรือ Sick Man of Asia นั้นสามารถแสวงหาหนทางแก้ไขวิกฤตของตนเองได้
ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือฟิลิปปินส์
คำว่า “คนป่วยแห่งเอเชีย” มีต้นกำเนิดในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยอิงจากคำว่า “คนป่วยแห่งยุโรป” ซึ่งถูกใช้โดยซาร์นิโคลัสที่ 1 แห่งรัสเซียในปี 1853
เพื่ออธิบายจักรวรรดิออตโตมันที่เสื่อมถอยอย่างต่อเนื่องจนหมดสภาพของการเป็นมหาอำนาจ
จักรวรรดิออตโตมันเป็นตัวแทนของจุดอ่อนในยุโรปอย่างไร ตอนนั้น จีนก็ถูกมองในลักษณะเดียวกันในเอเชีย
กรณีของจีนมีที่มาที่ไปที่น่าสนใจ
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จีนภายใต้ราชวงศ์ชิงต้องเผชิญกับแรงกดดันภายในและภายนอกอย่างหนัก
เพราะจีนต้องเผชิญกับผลกระทบอย่างรุนแรงจาก “สงครามฝิ่น” ซึ่งนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาที่สร้างความอับอายขายหน้าของจีน
อันเนื่องจากต้องยอมให้ต่างมีสิทธิที่ได้รับสิทธิพิเศษทางดินแดนและเศรษฐกิจล้นเหลือ
กบฏไท่ผิง (พ.ศ.2393-2407) ซึ่งเป็นหนึ่งในความขัดแย้งที่นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ ยิ่งทำให้รัฐบาลชิงอ่อนแอลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
มิหนำซ้ำ สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง (พ.ศ.2437-2438) ก็ทำให้ญี่ปุ่นได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด
นำไปสู่สนธิสัญญาชิโมโนเซกิซึ่งจบลงด้วยการที่จีนต้องยกเกาะไต้หวันให้กับญี่ปุ่น
ถือเป็นการเสื่อมถอยของจีนในเวทีระหว่างประเทศอย่างกระจ่างแจ้งที่สุดในยุคนั้น
เหตุการณ์เหล่านี้ตอกย้ำมุมมองที่ว่าจีนเป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย”
ทั้งๆ ที่จีนเคยมีพลังอำนาจเหลือล้นในเอเชีย
พอทั้งระบบเสื่อมถอยก็ตามมาด้วยความขัดแย้งภายใน คอร์รัปชั่น และตามมาด้วยการรุกคืบของมหาอำนาจต่างชาติ
คนว่า “คนป่วยแห่งเอเชีย” สื่อถึงมุมมองที่ว่าจีนไม่สามารถป้องกันตนเองหรือรักษาอธิปไตยจากการรุกรานของจักรวรรดินิยมตะวันตกและญี่ปุ่นได้อีกต่อไป
แต่จีนก็ไม่ได้มีสิทธิผูกขาดป้ายชื่อนี้แต่เพียงชาติเดียว
ฟิลิปปินส์ก็เคยถูกขึ้นป้าย “คนป่วยแห่งเอเชีย” ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดหมาดๆ
ประเทศนี้ได้รับเอกราชจากสหรัฐอเมริกาในปี 2489
แต่กลับต้องเผชิญกับความท้าทายที่หนักหนาสาหัสหลายประการที่กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาประเทศอย่างหนัก
หลังสงครามเป็นช่วงที่เต็มไปด้วยความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ การทุจริต และความวุ่นวายทางการเมือง
นอกจากนี้ ยังเกิด “กบฏฮักบ่าลาฮับ” ซึ่งเป็นขบวนการคอมมิวนิสต์ที่ได้เริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงการยึดครองของญี่ปุ่นแล้ว
แต่ความยุ่งยากก็ยังคงดำเนินต่อไปจนถึงทศวรรษ 1950
การรักษาเสถียรภาพกลายเป็นปัญหาหนัก
แม้จะเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจเริ่มโงหัวขึ้นแต่ฟิลิปปินส์ก็ยังประสบปัญหาเรื่องความยากจน ความเหลื่อมล้ำและการระบบการปกครองที่อ่อนแอไร้ทิศทาง
สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกในสมัยการปกครองของเผด็จการเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (พ.ศ.2508-2529)
มาร์กอสประกาศกฎอัยการศึกในปี 2514 ซึ่งนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน การปราบปรามฝ่ายค้านทางการเมือง และการทุจริตอย่างแพร่หลาย
แม้ว่า “ระบอบมาร์กอส” จะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจบางประการในช่วงแรก แต่ในที่สุดกลับทำให้เกิดวิกฤตหนี้ครั้งใหญ่
เพราะฟิลิปปินส์กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นหนี้มากที่สุดในเอเชีย
เมื่อเกิดการปฏิวัติพลังประชาชนในปี 2529 ที่จบลงด้วยการโค่นมาร์กอสลงจากตำแหน่ง สถานการณ์ก็ยังปั่นป่วน ขาดความชัดเจน
ฟิลิปปินส์ได้รับฉายา “คนป่วยแห่งเอเชีย” เพราะเศรษฐกิจหยุดชะงักและการเมืองตกอยู่ในสภาพ “ตัวใครตัวมัน”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
แม้ว่าการนำไปใช้อาจเปลี่ยนไปตามบริบท ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 คำนี้ถูกนำมาใช้กับฟิลิปปินส์อีกครั้ง
โดยเฉพาะในสมัยการปกครองของโจเซฟ เอสตราดา (พ.ศ.2541-2544) และกลอเรีย มากาปากัล-อาร์โรโย (พ.ศ.2544-2553) เมื่อประเทศยังคงประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมือง การทุจริต และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เอื่อยเฉื่อย
แต่สถานการณ์ก็กระเตื้องขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 2010 อันเป็นช่วงที่ฟิลิปปินส์เริ่มหลุดพ้นจากภาพลักษณ์เชิงลบนี้
การพลิกผันเกิดในในช่วงการบริหารของเบนิกโน อากิโนที่ 3 (พ.ศ.2553-2559)
ประเทศมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีอัตราการเติบโต GDP เฉลี่ยประมาณ 6-7% ต่อปี
ช่วงเวลานั้นมีการปฏิรูปการบริหารประเทศทั้งด้านการเมืองและระบบราชการอย่างจริงจัง
มีการลงมือปราบคอร์รัปชั่นอย่างเป็นรูปธรรม
ฉายา “คนป่วยแห่งเอเชีย” เริ่มจางหายไปในขณะที่ฟิลิปปินส์ได้รับการยอมรับว่าเป็นเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตในภูมิภาคนี้อย่างเห็นได้ชัด
จีนลบภาพของ “คนป่วย” ออกไปได้อย่างน่าทึ่ง
แต่ก็ต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการก่อนที่จะสร้างรัฐบาลที่เป็นที่ยอมรับของประชาชน
หลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2492 เหมา เจ๋อตุง ต้องเผชิญกับปัญหาสารพัด
ไม่ว่าจะเป็นความยากจนอันน่าอนาถและผลพวงจากสงครามหลายทศวรรษ
หลังการเสียชีวิตของเหมา เจ๋อตุง ในปี พ.ศ.2519 และการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ตามมาที่ริเริ่มโดยเติ้ง เสี่ยวผิง จีนก็เริ่มเติบโตอย่างรวดเร็ว
จนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจระดับโลก
ในศตวรรษที่ 21 จีนไม่เพียงแค่หลุดพ้นจากฉายา “คนป่วยแห่งเอเชีย” เท่านั้น แต่ยังกลายเป็นผู้เล่นสำคัญในเวทีโลก โดยมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกและมีอิทธิพลทางการเมืองและการทหารอย่างมาก
ทั้งสองกรณีเป็นบทเรียนสำหรับประเทศไทยที่กำลังเผชิญกับคำถามใหญ่มากที่ว่า
ไทยจะเข้าสู่ภาวะ “คนป่วยของเอเชีย” ยุคดิจิทัลหรือไม่
เพราะเรากำลังถูกมองว่าความสามารถในการแข่งขันของเราถดถอยลงตามลำดับ
ขณะที่เพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและอินโดนีเซียวิ่งแซงเราไปข้างหน้าในหลายๆ ด้านที่เราเคยเป็นผู้นำที่มีศักยภาพเหนือกว่า
เหตุผลหนึ่งคือการปรับเปลี่ยนแนวคิดของผู้นำที่มีความมุ่งมั่นที่จะทลายอิทธิพลการเมืองและเศรษฐกิจที่ครอบงำประเทศมาก่อน
เวียดนามปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์
อินโดนีเซียหลุดออกจากระบอบเผด็จการทหารมาสู่ความเป็นรัฐประชาธิปไตยที่ทหารกลับเข้ากรมกอง ให้ผลการเลือกตั้งของประชาชนเป็นตัวกำหนดรูปแบบของการปกครอง
ทั้งสองชาติอาจมีระบบการเมืองที่แตกต่าง
แต่ที่เหมือนกันคือระดับนำของทั้งสองชาติมีความกล้าหาญและมุ่งมั่นทางการเมือง (political will) ที่จะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ทันกับการรุกคืบของเทคโนโลยีและความคาดหวังของคนรุ่นใหม่
วันนี้ ไทยเราขาดทั้งความมุ่งมั่นของผู้นำ, ขาดทั้งความโปร่งใสของระบบ และห่างไกลจากการสร้าง “สัญญาประชาคม” ของผู้คนทุกหมู่เหล่าในชาติว่า
เราต่างก็มีส่วนในการสร้างชาติเท่าๆ กัน
ตราบเท่าที่เรายังห่างไกลจากจุดนั้น เราก็ยังมีความสุ่มเสี่ยงที่จะหล่นลงในสถานะ “คนป่วยแห่งเอเชีย” รายใหม่ได้แน่นอน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022