สถาปัตย์ไทยศิลปากร : 70 ปีของการหาความเป็นไทยในโลกสมัยใหม่ (1)

ชาตรี ประกิตนนทการ

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดตัวนิทรรศการ “Objects in Memory : 70 ปีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร” ซึ่งเป็นกิจกรรมแรกของการเฉลิมฉลองการก้าวเข้าสู่ปีที่ 70 ของคณะ โดยจะครบรอบอย่างเป็นทางการในปีหน้า พ.ศ.2568

ในฐานะที่เคยเป็นทั้งนักศึกษาและยังคงเป็นอาจารย์อยู่ในคณะ เลยอยากขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเขียนอะไรสักอย่างเพื่อระลึกถึงโอกาสอันพิเศษนี้

สิ่งที่อยากทำคือ การย้อนกลับไปทบทวนกำเนิดและภารกิจแรกเริ่มของการก่อตั้งคณะเมื่อเจ็ดทศวรรษก่อน ซึ่งบางอย่างยังคงได้รับการสืบทอดต่อมาจนปัจจุบัน จนอาจเรียกได้ว่าเป็นเสมือนพันธสัญญาที่ผูกโยงทิศทางของคณะเอาไว้อย่างเหนียวแน่น เป็นคล้ายๆ ตัวตนที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของคณะวิชาแห่งนี้

ขณะเดียวกันก็อยากจะขอทดลองนำเสนอต่อไปด้วยว่า ภารกิจดังกล่าว ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นเสมือนคำถามที่ยังหาคำตอบไม่เจอ เป็นเสมือนเงื่อนปมที่คณะวิชาแห่งนี้ยังไม่สามารถคลี่คลายได้อย่างน่าพึงพอใจ

สภาวะของการมีคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้สักที สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนผ่านการออกแบบหลักสูตรบางหลักสูตรในคณะ ที่ยังคงเต็มไปด้วยข้อถกเถียงทางวิชาการไม่รู้จบ

และยังคงเป็นประเด็นคำถามใหญ่สำหรับอนาคตของโรงเรียนสถาปัตยกรรมแห่งนี้

บรรยากาศสตูดิโอการเรียนการสอน คณะสถาปัตยกรรมไทย ม.ศิลปากร ต้นทศวรรษ 2500
ที่มา : หนังสือ สถาปัตยกรรมไทยรำลึกฯ

เป็นที่รับรู้ทั่วไปนะครับว่า สถาปัตย์ศิลปากร คือโรงเรียนสถาปัตยกรรมที่ผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีเป็นแห่งที่ 2 ของสังคมไทย โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2498 หลังจากที่มีการก่อตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งแรกขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ.2476

แต่สำหรับหลายคนอาจไม่ทราบว่า เมื่อแรกก่อตั้งคณะ ชื่ออย่างเป็นทางการของโรงเรียนสถาปัตยกรรมแห่งนี้คือ “คณะสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร” โดยกว่าที่จะมีการเปลี่ยนมาเป็นชื่อปัจจุบัน ชื่อที่ตัดคำว่า “ไทย” ออกไป เวลาก็ล่วงมาถึงปี พ.ศ.2509

ในทัศนะส่วนตัว การตั้งชื่อคณะวิชาระดับปริญญาตรีโดยใช้คำว่า “ไทย” ต่อท้าย เป็นความตั้งใจที่ทั้งน่าสังเกตและน่าสนใจไปพร้อมกัน ลองนึกถึงคณะวิชาอื่นดูนะครับ ไม่น่าจะมีคณะวิชาไหนในสังคมไทยที่พ่วงคำว่า “ไทย” ต่อท้ายแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นในยุคสมัยใดก็ตาม

ไม่มีนะครับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ไทย, คณะแพทยศาสตร์ไทย, คณะนิติศาสตร์ไทย, คณะเศรษฐศาสตร์ไทย, คณะมนุษยศาสตร์ไทย, คณะเกษตรศาสตร์ไทย, คณะศิลปกรรมศาสตร์ไทย, คณะเภสัชศาสตร์ไทย, คณะอักษรศาสตร์ไทย ฯลฯ

แม้กระทั่งคณะวิชาอื่นในมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ก่อตั้งในช่วงเวลาใกล้เคียงกันก็ไม่มีอะไรแบบนี้ ไม่มีคณะจิตรกรรมไทย (กว่าที่ภาควิชาศิลปะไทยจะก่อตั้งก็อีกหลายสิบปีต่อมา และก็มีสถานะเป็นเพียงภาควิชาเท่านั้น) ไม่มีคณะโบราณคดีไทย (จะมีก็แต่การก่อตั้งภาควิชาภาษาไทยในเวลาต่อมา มิใช่ชื่อคณะเช่นกัน) และไม่มีคณะมัณฑนศิลป์ไทย

คำถามนี้ผมเคยคิดเล่นๆ เมื่อนานมาแล้ว และยังคงไม่ได้คำตอบที่น่าพอใจจนปัจจุบันนะครับ แต่มีอย่างหนึ่งที่ค่อนข้างมั่นใจว่าเกี่ยวข้องกับประเด็นนี้แน่ๆ (แต่อาจจะไม่ใช่เหตุผลหลักเพียงอย่างเดียว) นั่นก็คือ บรรยากาศแห่งความวิตกกังวลของสังคมไทย โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นนำไทย ณ ขณะนั้น ว่าเรากำลังจะสูญเสีย “ความเป็นไทย” ไป

ซึ่งหนึ่งในสัญลักษณ์ที่มักถูกใช้อ้างอิงมากที่สุดเมื่อพูดถึงความเป็นไทยก็คือ สิ่งปลูกสร้างทางสถาปัตยกรรมไทยในรูปแบบต่างๆ

และด้วยเหตุนี้ “คณะสถาปัตยกรรมไทย” จึงถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรับภารกิจอันหนักหน่วงของการรักษาความเป็นไทยให้คงอยู่ต่อไปในงานสถาปัตยกรรม

 

ในหนังสือ “สถาปัตยกรรมไทยรำลึก เพื่อรำลึกถึงการก่อตั้งและปฏิรูปคณะสถาปัตยกรรมไทย ปีพุทธศักราช 2498-2510 ในวาระ 25 ปี ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร” กล่าวถึงแนวทางการเรียนการสอนในช่วงแรกของคณะไว้ชัดเจนว่า

“…คณะสถาปัตยกรรมไทยเป็นหนึ่งในสี่คณะของมหาวิทยาลัยศิลปากร…มีหน้าที่ฝึกสอนนักศึกษาให้มีความรู้ในวิชาชีพการช่างสถาปัตยกรรมทั้งแบบไทยและปัจจุบัน โดยมีหลักสูตรการเรียน 3 ปี และ 5 ปี…การสอนในยุคนี้เน้นไปในทางส่งเสริมศิลปสถาปัตยกรรมแห่งชาติ ในแนวชาตินิยม และแบบประยุกต์…”

ราว 10 ปีต่อมาหลังการก่อตั้งคณะ ทิศทางการเรียนการสอนเริ่มเปลี่ยนไป โดยในหนังสือ “สถาปัตยกรรมไทยรำลึกฯ” อธิบายต่อมาว่า

“…ตั้งแต่ พ.ศ.2509 ได้มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ หลายประการ เช่น กฎระเบียบ หลักสูตรการเรียนการสอนและเวลาเรียน เน้นการสอนไปในทางสากลนิยมแบบสถาบันการศึกษาอื่นๆ เปลี่ยนชื่อคณะเป็น ‘คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์’…”

แต่ถึงแม้จะมีการตัดคำว่า “ไทย” ออกไป พร้อมกับการปรับหลักสูตรให้เป็นแบบสากล แต่เนื้อหาการเรียนการสอนโดยภาพรวมก็ต้องยอมรับว่า ยังคงให้น้ำหนักกับความพยายามธำรงรักษาความเป็นไทยเอาไว้มากกว่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัยอื่นอย่างเทียบไม่ได้

งานวิจัยที่ผลิตออกมาจากสถาปัตย์ศิลปากรส่วนใหญ่ก็ยังให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้อย่างชัดเจน แม้จนปัจจุบัน

ที่สำคัญคือ ในปี พ.ศ.2538 หรือราว 30 ปีหลังจากการตัดคำว่า “ไทย” ออกจากชื่อคณะ ก็ได้มีการก่อตั้ง “สาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย” ขึ้นใหม่ ภายใต้การสนับสนุนอย่างแข็งขันของรัฐบาล ณ ขณะนั้น

โดยสาขานี้จะเน้นการผลิตสถาปนิกทางด้านสถาปัตยกรรมไทยที่ให้ความสำคัญกับความเป็นไทยโดยตรงอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบัน การรับนักศึกษาในสาขานี้ก็มีจำนวนมากถึงประมาณ 40 คนต่อปี

ควรกล่าวไว้ก่อนว่า ในปี พ.ศ.2538 รัฐบาลได้สนับสนุนให้มีการผลิตบัณฑิตสาขาสถาปัตยกรรมไทยขึ้น ณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่นกัน และก็ยังสืบทอดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

แต่อย่างไรก็ตาม ในแง่ของปริมาณก็ถือว่าปริมาณการผลิตมีจำนวนน้อยกว่าศิลปากรค่อนข้างมาก

 

ย้อนกลับมาที่สถาปัตย์ศิลปากร ทั้งหมดที่กล่าวมา สะท้อนให้เห็นว่า ภารกิจรักษาและต่อยอด “ความเป็นไทย” ทางสถาปัตยกรรม ที่ถูกวางเอาไว้ตั้งแต่เมื่อแรกก่อตั้งคณะยังคงดำรงอยู่ แม้ว่าตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ทิศทางของคณะจะพัฒนาขึ้นไปในอีกหลากหลายทิศทาง แต่เรื่องความเป็นไทยก็ไม่มีทางจะหนีหายไปไหน

ผมอยากทดลองเสนอแบบนี้นะครับว่า หากเรามองย้อนกลับไปสู่ประวัติการก่อตั้งของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ 2 แห่งแรก คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศิลปากร เราจะมองเห็นภารกิจที่แตกต่างกันและสัมพันธ์กันในแบบคู่ตรงข้ามอย่างน่าสนใจ

สถาปัตย์จุฬาฯ ยุคแรกตั้ง เป็นผลผลิตของแนวคิดที่ต้องการสร้างบัณฑิตทางด้านสถาปัตยกรรมที่มีความรู้ความสามารถทัดเทียมสถาปนิกในโลกสากล มีแนวคิดทันสมัย รู้เท่าทันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และสามารถเข้ามาทำหน้าที่ทดแทนสถาปนิกจากต่างประเทศได้

ที่สำคัญคือ ยุคแรกของการก่อตั้ง สัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกจากบริบทสังคมไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งบรรยากาศโดยรวมของสังคมมีทิศทางที่เรียกว่าโน้มเอียงไปในทางสากลสมัยใหม่ แม้ประเด็นเรื่องความเป็นไทยจะมีอยู่และไม่เคยหนีหายไปจากสังคมไทย แต่ก็มิได้มีน้ำหนักมากนัก หากเทียบกับประเด็นการผลักดันให้สังคมไทยก้าวทันนานาอารยประเทศ

ทั้งหมดทำให้ทิศทางของสถาปัตย์จุฬาเมื่อแรกเริ่มมีความเป็นสากลนิยมอย่างมาก (ประเด็นกรณีสถาปัตย์จุฬาฯ เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องอธิบายแยกออกไปอีกบทความหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับบทความนี้ ดังนั้น จะไม่ขอกล่าวในรายละเอียด ณ ที่นี้)

 

ในขณะที่สถาปัตย์ไทยศิลปากร เกิดขึ้นในบริบทที่ต่างออกไป คือในยุคหลังรัฐประหาร 2490 ที่บรรยากาศแวดล้อมเต็มไปด้วยกระแสแนวคิดแบบอนุรักษนิยมที่หวนกลับมามีพลังมากขึ้นอีกครั้ง อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาแห่งการวิตกกังวลของชนชั้นนำที่มีต่อภัยคอมมิวนิสต์ที่จะเข้ามาทำลายล้างความเป็นไทยในทุกด้าน

และเป็นยุคสมัยที่คณะราษฎรหมดอำนาจทางการเมืองวัฒนธรรม ซึ่งส่งผลทำให้ลักษณะ “สถาปัตยกรรมคณะราษฎร” (art deco + อุดมการณ์คณะราษฎร) ถูกโจมตีอย่างหนัก (ดูรายละเอียดประเด็นนี้ในหนังสือ ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร : สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์) นำมาสู่กระบวนการรื้อฟื้นรูปแบบ “สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์” ที่ต้องย้อนกลับไปอ้างอิงสถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณีอย่างขนานใหญ่

บรรยากาศเช่นนี้เองได้สร้างความกังวลว่า เอกลักษณ์สถาปัตยกรรมไทยอันดีงามในอดีตกำลังตกอยู่ในอันตราย สุ่มเสี่ยงที่จะสูญหายไป ในขณะที่สถาปัตย์จุฬาฯ ก็เน้นการเรียนการสอนที่เป็นตะวันตกเป็นหลัก เป็นไปตามแนวทางแบบมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลมากเกินไป ไม่ค่อยมีวิชาช่างไทยเท่าที่ควร ทำให้ยังไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก

ทั้งหมดได้กลายมาเป็นรากฐานทางแนวคิดและแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดการก่อตั้ง “คณะสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร” ขึ้นในปี พ.ศ.2498