เซ่นผีขอฝนหลายพันปี สืบเนื่องถึงปัจจุบัน

ชุมชนเริ่มแรกหลายพันปีมาแล้ว ต้องมีพิธีกรรม (1.) เกี่ยวกับการทำมาหากินทางเกษตรกรรมและเกี่ยวกับชีวิต เกิด-ตาย (2.) หลายพิธีมีครั้งละหลายวัน (3.) มีตลอดปี

หลักฐานโบราณคดีมานุษยวิทยา ยืนยันอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ว่าบางพิธีกรรมทำสืบเนื่องถึงปัจจุบัน แต่บางพิธีเลิกทำนานแล้ว

ทั้งหมดสนับสนุนว่าคนปัจจุบันส่วนมากสืบเนื่องประเพณีพิธีกรรมจากคนหลายพันปีมาแล้ว (ซึ่งมีความหมายต่อเนื่องว่าคนไทยไม่ได้มาจากไหน? เพราะคนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์)

โดยมีการเคลื่อนไหวโยกย้ายอพยพไปๆ มาๆ ทุกทิศทาง ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น แสวงหาที่ทำกินอุดมสมบูรณ์กว่า, ถูกกวาดต้อนเป็นเชลย เป็นต้น ส่งผลให้คนทั้งหลายมีการผสมผสานทางชาติพันธุ์ตลอดเวลาไม่ขาดสาย (ไม่มีไทยแท้อยู่ในโลก)

พิธีขอฝน (หรือขอความอุดมสมบูรณ์) และขอความปลอดภัยจากผีร้าย ด้วยการวิงวอนต่อร่างเสมือน (ภาพเขียนบนเพิงผา) ของผีบรรพชน (ผีฟ้า, ผีแถน) ที่ให้ความคุ้มครองชุมชน เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว (ภาพเขียนบริเวณผาแต้ม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี จากหนังสือ ศิลปะถ้ำ ผาแต้ม โขงเจียม คัดลอกโดย พเยาว์ เข็มนาค กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2532)

พิธีกรรมต่างระดับ

พิธีกรรมมีหลายระดับแยกได้ดังนี้ (1.) ระดับภูมิภาค เช่น บริเวณผาแต้ม บริเวณสองฝั่งโขง (2.) ระดับเมือง หมายถึง เมืองใหญ่ (ศาลหลักเมือง) (3.) ระดับบ้าน หมายถึง ชุมชนหมู่บ้าน (ศาลปู่ตา, ศาลตายาย) (4.) ระดับเรือน หมายถึง ครอบครัว (ผีเรือนบนหิ้งผี)

เมือง, บ้าน, เรือน อยู่ปนกัน เพราะในเมืองมีทั้งชุมชนหมู่บ้าน ซึ่งมีเรือนอยู่รวมกันจำนวนมาก พิธีกรรมเซ่นผีจึงทับซ้อนกัน

วัวชน เป็นการละเล่นในพิธีกรรมขอฝน ราว 2,500 ปีมาแล้ว (ภาพเขียนสีแดงขนาดใหญ่ ในถ้ำเลี้ยงผา เขาผาแรต ต.น้ำรอบ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ลายเส้นและข้อมูลของสำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม) กฎมณเฑียรบาล (พ.ศ.2011) ระบุว่า “วัวชน” เป็นการละเล่นในพิธีสนามใหญ่ เพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ เดือน 5 (ตรงกับสงกรานต์เมษายน ของอินเดีย) ทุกวันนี้ยังมีวัวชนในภาคใต้

ลานกลางบ้าน

เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนหลายพันปีมาแล้ว สืบเนื่องถึงปัจจุบัน แต่เรียกชื่อต่างไป เช่น ศาลากลางบ้าน, ศาลากลางจังหวัด

(1.) ชุมชนมีลานกลางบ้าน เป็นพื้นที่พิธีกรรมของชุมชน (2.) ลานกลางบ้านเป็นชื่อทั่วไปอาจไม่อยู่กลางชุมชนก็ได้ ใช้งานต่างๆ ได้แก่ ฝังศพ (โครงกระดูก) ชนชั้นนำและโคตรตระกูล มี “เฮือนแฮ่ว” ทำพิธีกรรมของชุมชน เช่น ขอฝน, รักษาโรค ฯลฯ (3.) พิธีกรรมขอฝนหน้าแล้ง เดือน 4, 5, 6 มีต่อเนื่อคราวเดียวกัน ได้แก่ เซ่นผีบรรพชน (บังสุกุล), ปั้นเมฆ, แห่นางแมว (สาดน้ำ), จุดบั้งไฟ (สมัยหลัง)

ปั้นเมฆเป็นพิธีกรรมที่แสดงอวัยวะเพศหญิง (วงกลมล้อมรอบ) ราว 2,500 ปีมาแล้ว (ภาพเขียนสีพบที่ถ้ำเขาปลาร้า เขตติดต่อ อ.ลานสัก-อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี)

 

ขอฝนหน้าแล้ง

อุษาคเนย์เป็นเขตมรสุม มีหน้าฝน กับ หน้าไม่มีฝน เรียกหน้าแล้ง

หน้าฝน เป็นฤดูทำนา ปลูกข้าวไว้กินตลอดปี

หน้าแล้ง ทำนาไม่ได้ เพราะไม่มีน้ำ ต้องมีพิธีขอฝนเพื่อใช้ทำนาในฤดูการผลิตต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญของสังคมเกษตรกรรม “ทำนาทางฟ้า” พึ่งพาธรรมชาติ

คนทำท่าคล้ายร่วมเพศแสดงพิธีกรรมขอฝน (ลายเส้นคัดลอกจากภาพสลักราว 2,500 ปีมาแล้ว บนผนังถ้ำผาลาย ภูผายนต์ ต.กกปลาซิว อ.เมือง จ.สกลนคร ภาพจากหนังสือ ศิลปะถ้ำในอีสาน กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2532 หน้า 49)

พิธีขอฝนมีความหมายหลายอย่างดังนี้

(1.) ขอให้พ้นจากความแห้งแล้ง เพื่อความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร (2.) ขอให้พ้นจากผีร้าย (คือโรคภัยไข้เจ็บ) เพื่อความอยู่ดีกินหวาน (คือสบาย)

สรุป ขอความอุดมสมบูรณ์ เป็นพิธีกรรมประจำปี มีหน้าแล้งเดือน 4 เดือน 5 ถึงเดือน 6, ส่วน ขอความปลอดภัย เป็นพิธีจร จัดให้มีตามต้องการที่เกิดเหตุไม่ดีหรือมีผู้เจ็บไข้ได้ป่วย

กำหนดการ ผู้กำหนดนัดหมาย คือ หมอมด (มักเป็นคนเดียวกับหัวหน้าเผ่าพันธุ์หรือ Chiefdom คำว่ามด กลายจากคำเขมรว่ามะม้วด)

(1.) มีตอนกลางคืนตั้งแต่ย่ำค่ำจนย่ำรุ่ง (2.) นานหลายวันหลายคืนต่อเนื่องกัน อาจเป็นเดือน (3.) มีฆ่าควาย และ (4.) มีเฉลิมฉลอง

หมอมด (หมอผี) เป็นร่างทรงของผีบรรพชน (ผีฟ้า, ผีแถน) ฆ่าควาย ปรุงอาหารเซ่นผี และเลี้ยงคนที่ร่วมพิธี ส่วนเลือดควายใช้ป้ายหน้าผากและตามตัวตลอดจนเครื่องมือเฉลิมฉลอง หลังเสร็จพิธีมีกินเลี้ยงและร้องรำทำเพลง พร้อมเป่าแคนและกระทุ้งกระบอกไผ่รวมทั้งเล่นเครื่องมืออื่นๆ

ผาแต้ม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เป็นหลักฐานเกี่ยวกับพื้นที่ทำพิธีกรรมเซ่นผี (หรือเลี้ยงผี) เพื่อขอความคุ้มครองจากผีบรรพชนของคนหลากหลายชาติพันธุ์ (หรือนานาชาติพันธุ์) บริเวณสองฝั่งโขง 2,500 ปีมาแล้ว

ผาแต้ม เป็นชื่อรวมๆ ของผาหินหลายแห่งต่อเนื่องกัน วาดภาพผีบรรพชน (ผีฟ้า, แถน) เพื่อพิธีกรรมตามแนวผาหินหลายแห่ง ได้แก่ ช้างพร้อมลูกช้าง, ปลาขนาดใหญ่ 2 ตัว, ขวัญเป็นลายสัญลักษณ์หยักๆ, มือของเจ้าแม่, คนสวมหน้ากากหัวสามเหลี่ยม

ปั้นเมฆขอฝนเป็นรูปหญิงชาย (ชื่อนางฝนกับนายเมฆ) กำลังเสพสังวาส โดยมีชายอีกคนหนึ่ง (ชื่อนายหมอก) นั่งอยู่ข้างๆ โดยชาวบ้านขุดดินเหนียวมาปั้นกันเองขนาดเท่าคนจริงไว้กลางถนนทางสามแยกเข้าบ้านนาตะกรุด อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ (เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2558 ภาพจาก m.thairath.co.th)

1. เป็น “ร่างเสมือน” ของบรรพชนที่ตายแล้ว ซึ่งเป็นผีฟ้ามีพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ คอยคุ้มครองชุมชนที่ยังมีชีวิต

2. ไม่ใช่ภาพประดับสถานที่ซึ่งวาดขึ้นมาสะท้อนวิถีชีวิตอย่างที่มีในวัฒนธรรมร่วมสมัยปัจจุบัน

รูปหัวสามเหลี่ยมตั้งบนทรงกระบอก จึงเป็นรูปคนใส่หน้ากากสวมเครื่องเข้าทรงในพิธีกรรม (ดังพบสืบเนื่องถึงทุกวันนี้ในประเพณีผีตาโขน จ.เลย)

ดังนั้น ไม่ใช่ตุ้มสมัยปัจจุบันซึ่งเป็นเครื่องมือดักปลาในแม่น้ำ เพราะตุ้มใช้จับปลาจำนวนมากเพื่อขายในตลาดของสังคมทุนนิยม ในความจริงสังคม 2,500 ปีที่แล้ว ทุกคนจับปลาหากินเองตามอัตภาพ ไม่มีตลาดซื้อขายปลาอย่างทุกวันนี้

3. รูปช้าง (แม่, ลูก) แสดงผีช้างเพื่อเซ่นผีช้าง

4. รูปปลา แสดงผีปลาเพื่อเซ่นผีปลา •