อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ญี่ปุ่นกับเมียนมา

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์กับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมาตั้งแต่ครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว

ทว่าญี่ปุ่นเข้ามามีความสัมพันธ์กับประเทศเหล่านี้มากขึ้นในช่วงหลังสงครามเย็น (post Cold War) โดยเฉพาะช่วงต้นทศวรรษ 1990

แต่ก็นั่นแหละ ญี่ปุ่นช่วงนั้นยังไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับทางเมียนมา

ซึ่งผิดกับปัจจุบันมาก

 

ญี่ปุ่นกับเมียนมา : จุดเปลี่ยน

ความจริงแล้ว บทบาทญี่ปุ่นต่ออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมีจุดเปลี่ยนสำคัญตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1990 ด้วยเหตุผลและบทบาทสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

ประการแรก การที่ญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในกระบวนการสันติภาพในกัมพูชาในปี 1993

ประการที่สอง การเปิดประเทศโดยเฉพาะนโยบายปฏิรูปประเทศของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามที่เรียกว่า โด เม่ย

ประการที่สาม การก้าวเข้ามาของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะการเคลื่อนไหว ยุติการบอยคอตของสหรัฐอเมริกายุครัฐบาลบารัค โอบามา ต่อเมียนมาและการปฏิรูปประเทศของรัฐบาลเมียนมาโดยการนำของประธานาธิบดี เต็ง เส่ง

ประการที่สี่ การก้าวขึ้นมามีบทบาทอย่างมากและรวดเร็วของสาธารณรัฐประชาชนจีนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

สำหรับบทบาทญี่ปุ่นต่อเมียนมาหลังรัฐบาลเต็ง เส่ง ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลที่นำโดยนางออง ซาน ซูจี ก็เป็นรูปแบบปกติทั่วไป กล่าวคือ รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า (grant aid) เช่น การสร้างระบบน้ำประปาในเมืองย่างกุ้ง การปรับปรุงโรงพยาบาลและระบบสาธารณสุข การให้อุปกรณ์การศึกษาตามโรงเรียนต่างๆ การให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ (Technical Development) การให้ความช่วยเหลือเป็นเงินกู้ (Loan) ซึ่งมักเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

ที่น่าสนใจ ญี่ปุ่นมักให้ความช่วยเหลือที่ตรงกับความต้องการของประเทศผู้รับ เช่น เมียนมาเสมอ เช่น การลงทุนพัฒนาพลังงานเผยผลิตกระไฟฟ้าที่รัฐมอญ เพราะรัฐมอญขาดแคลนกระแสไฟฟ้า1 ซึ่งความเป็นจริงประเทศเมียนมาขาดแคลนกระแสไฟฟ้าทั้งประเทศ

สิ่งที่การเคลื่อนไหวสำคัญของญี่ปุ่นต่อเมียนมาอีกครั้งหนึ่งคือ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (Humanitarian) แก่ชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นผู้อพยพลี้ภัยไปประเทศบังกลาเทศ อีกทั้งคนเมียนมาและทางการก็ไม่ยอมรับการมีอยู่ของคนโรฮิงญา ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่นับถือศาสนาอิสลามและส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางตะวันตกของเมียนมาติดกับบังกลาเทศ

 

ญี่ปุ่นกับการแก้ปัญหาโรฮิงญาในเมียนมา

ความจริงรูปแบบความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นในระดับภูมิภาคโดยพื้นฐานคือ การให้ความช่วยเหลือการพัฒนาโพ้นทะเล (Oversea Development Aid-ODA) ซึ่งมีหลายรูปแบบ ทั้งความช่วยเหลือแบบให้เปล่า

ความช่วยเหลือทางด้านความร่วมมือทางวิชาการ

ความช่วยเหลือแบบให้เงินกู้

ซึ่งในกรณีเมียนมา ญี่ปุ่นก็ให้ความช่วยเหลือทั้ง 3 แบบดังกล่าวข้างต้น

แต่การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เช่น การให้ความช่วยเหลือแก่ชาวโรฮิงญาถือว่าเป็นเรื่องเด่น มีผลต่อบทบาทของญี่ปุ่นในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งอันที่จริง เป็นบทบาทของญี่ปุ่นเชิงการทูตในระดับภูมิภาคคืออาเซียนเลยทีเดียว

ล่าสุด รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น นาย Toro Kono ได้เข้าพบและพูดคุยกับนางออง ซาน ซูจี โดยรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นกล่าวยืนยันโดย ต้องการให้ผู้นำเมียนมาขยายการเข้าถึงรัฐยะไช่ (Rakhine) สำหรับสื่อมวลชน องค์การสหประชาชาติและกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

และอยากให้ทางการเมียนมาสนับสนุนการกลับมาอย่างปลอดภัย โดยสมัครใจและการตั้งถิ่นพำนักของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาอีกด้วย

รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น นาย Kono ต้องการให้นางออง ซาน ซูจี รับข้อเสนอแนะของคณะที่ปรึกษาที่นำโดยอดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ นาย Kofi Annan

ทั้งนี้ นางออง ซาน ซูจี ได้แถลงต่อสื่อมวลชน ยืนยันความตั้งใจทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาโรฮิงญาโดยร่วมมือกับบังกลาเทศ และปฏิบัติตามคำแนะนำของทีมที่ปรึกษาของนาย Kofi Annan

จำนวนเงินที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้แก่รัฐบาลเมียนมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาชาวโรฮิงญาจำนวน 23 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย 3 ล้านเหรียญสหรัฐได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นแล้ว ส่วนอีก 20 ล้านเหรียญสหรัฐยังต้องรอการอนุมัติจากรัฐสภาญี่ปุ่นอยู่ รวมแล้วความช่วยเหลือของรัฐบาลญี่ปุ่นต่อปัญหาชาวโรฮิงญาจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเงิน 57.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (2)

เงินความช่วยเหลือเหล่านี้ใช้เพื่อฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัยโรฮิงญา รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น Kono เคยเดินทางไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยที่ Cox”s Bazar ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศที่ชาวโรฮิงญาหนีข้ามไป (3)

รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น Kono จะพบและพูดคุยกับผู้บัญชาการทหารสูงสุด Min Aung Hlaing โดยตามรัฐธรรมนูญของเมียนมา การทำหน้าที่รักษาระเบียบสาธารณะและกิจการภายในอยู่ในหน้าที่การดูแลของทหารเท่านั้น

หมายความว่า นางออง ซาน ซูจี ไม่มีอำนาจเรื่องการรักษาระเบียบและความมั่นคงของรัฐเมียนมา (4)

บทบาทความช่วยเหลือของญี่ปุ่นในการแก้ปัญหาโรฮิงญาในเมียนมาเป็นบทบาททางด้านมนุษยธรรมอันเป็นบทบาทที่ส่งเสริมบทบาทของญี่ปุ่นทางด้านการทูต (Diplomacy)

อันเป็นการขยายและเพิ่มบทบาททางการเมืองของญี่ปุ่นและการเสริมสร้างบทบาทด้านการเมืองในภูมิภาคทั้งในอาเซียนและเอเชียตะวันออก

ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นและภาคเอกชนของญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างมากและร่วมดำเนินการอย่างดี

บทบาทดังกล่าว ช่วยให้ญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่ประเทศที่มีสถานะนานาชาติ

เข้าหลักการ International Value อันมีเรื่องของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและธรรมาภิบาลด้วย

น่าสนใจ บทบาทนานาชาติของญี่ปุ่นพัฒนาการเป็นรูปธรรมอย่างมากในภูมิภาคอาเซียน

——————————————————————————————-
(1) สุเจน กรรพฤทธิ์ “ปรับปรุงระบบไฟฟ้าในรัฐมอญ” สารคดี ปีที่ 29 ฉบับที่ 345 พฤศจิกายน 2556 : 64-65.
(2) Hiroshi Kotani, “Japan offers $ 22 mil. In fresh aid for Rohingya refugees” Nikkei Asia January 13, 2018
(3) Kyodo News January 12, 2018.
(4) Hiroshi Kotani, op.cit.,