ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | การ์ตูนที่รัก |
ผู้เขียน | นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ |
เผยแพร่ |
เมื่อถึงสิงหาคม พ.ศ.2567 ถึงเวลาหยิบหนังสือการ์ตูน 2475 นักเขียนผีแห่งสยาม เรื่องโดย สะอาด/พชรกฤษณ์ โตอิ้ม ภาพโดย สะอาด ขึ้นมาอ่านเสียที
หนังสือเล่าเรื่องนิภา พนักงานพิสูจน์อักษรของหนังสือพิมพ์บางกอกนิวส์ที่มิได้ทำหน้าที่แค่พิสูจน์อักษร แต่แก้ไวยกรณ์ด้วย เช่น เรียกฝูงชนว่าโขลง เป็นการใช้ลักษณนามไม่ถูกต้อง หรือล้ำไปตรวจข่าวที่บรรณาธิการกับพวกผู้สื่อข่าวเขียนว่ามีความน่าเชื่อถือมากเพียงไร เช่น อาชญากรรมที่เพิ่มขึ้นมากช่วงนี้เกิดจากคอมมิวนิสต์สำเพ็ง
“ไปเอาข่าวนี้มาจากไหน!?” บรรณาธิการซึ่งกำลังสนุกกับการดื่มกับลูกน้องตอบว่าเอามาจากหมายข่าวรัฐบาล นัยว่าหนังสือพิมพ์ที่มีเรื่องกับรัฐบาลจะมีอายุไม่ยืน
เนื้อหาของหนังสือเป็นเรื่องเคร่งเครียด แต่สไตล์การเขียนของสะอาดซึ่งมีผลงานดีๆ มากมายในอดีตช่วยลดทอนความตึงเครียดลงไปเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะด้วยไวยากรณ์ของการ์ตูน เช่น การแหกปากตะโกนของตัวละคร หรือด้วยลายเส้นส่วนตัวของสะอาดเองที่อาจจะเปลี่ยนมู้ดไปได้ในพริบตา
บรรณาธิการบอกนิภาว่าอยากรู้ความจริงก็ลงไปหาข้อมูลเองสิ แล้วโอกาสนั้นก็มาถึงเมื่อเด็กชายชาวจีนคนหนึ่งมาร้องเรียนที่หน้าสำนักงานแล้วลากเธอไปสำเพ็งด้วยความยินยอมพร้อมใจของเธอเอง พ่อของเด็กชายนอนตายในตรอกแคบๆ ตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุสรุปว่าเป็นโจรอั้งยี่คอมมิวนิสต์ฆ่าตายปิดคดีได้ นิภาตั้งข้อสงสัยการปิดคดีของตำรวจทำเอาตัวเองเกือบจะเดือดร้อนแต่ทันใดนั้นชายหนุ่มน้าตาดีคนหนึ่งก็มาสกัดเอาไว้
“ผมชื่อหม่อมราชวงศ์เสรี” แล้วบอกว่าคุณผู้หญิงคนนี้เป็นเพื่อนผมเอง เพียงเท่านี้ตำรวจก็ถอยไป ไม่ทราบเหมือนกันว่าลำพังคำว่าหม่อมราชวงศ์เมื่อก่อนปี พ.ศ.2475 จะขลังเท่าที่เขียนหรือเปล่า อาจจะใช่ก็ได้ มิอาจเอื้อมจะไปรู้
เสรีแนะนำตัวว่ามาจากหนังสือพิมพ์กรุงศรีลงพื้นที่เพื่อเสาะหาความจริง คำพูดนี้ได้ใจนิภาไปไม่ยาก (โปรดระวัง ไม่สปอยล์) ว่าแล้วก็ทาบทามเธอเขียนอะไรมาให้อ่านได้นะเพราะเขากำลังหานักเขียนใหม่มาร่วมโปรเจ็กต์เปิดตัวนิตยสารเล่มใหม่อยู่พอดี นิภาจุดบุหรี่สูบ เธอเป็นหญิงร่างท้วมใส่แว่น
ย้อนไปปี พ.ศ.2455 พ่อของนิภาคือหลวงเจริญนิติประการ เป็นข้าราชการ เขาช่วยชาวบ้านทำหนังสือร้องเรียนทางการและเขียนบทความมีนัยสนับสนุนเปลี่ยนแปลงการปกครอง สุดท้ายถูกจับเข้าคุกและตายในคุกด้วยวัณโรค หลังจากนั้นแม่รับภาระเลี้ยงลูกสองคนคือนิภาและอรุณผู้เป็นน้องชายแต่ผู้เดียว
นิภาซึ่งมีชื่อเล่นว่านา และอรุณเรียกว่าพี่นาทุกคำ มีความหลังมากมายกับพ่อ เธอรักการอ่านและพ่อเคยมอบปากกาให้เธอเพื่อจะได้เป็นนักเขียนแบบพ่อในอนาคต
แต่หลังพ่อตาย บ้านขัดสน แม่จึงต้องขายทั้งปากกาและหนังสือสะสมมากมายของพ่อไปเพื่อส่งลูกสองคนเข้าเรียน
เด็กทั้งสองคนถูกเหยียดหยามว่าเป็นลูกกบฏอยู่เสมอ จนกระทั่งในที่สุดอรุณก็เติบโตเป็นนักกฎหมาย ส่วนนิภาเติบโตเป็นนักหนังสือพิมพ์แม้ว่าเธอจะต้องเริ่มต้นด้วยงานพิสูจน์อักษรก็ตาม
อรุณครั้งเป็นเด็กมิได้รักการอ่านเหมือนพี่สาว เขาเอาแต่เตะตะกร้อ แต่พอโตขึ้นอรุณไปไกลกว่านั้นมาก เขาเป็นลูกศิษย์ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมซึ่งมีหมายข่าวรัฐบาลมาถึงสำนักงานหนังสือพิมพ์ของนิภาว่า “มีแนวโน้มฝักใฝ่คอมมิวนิสต์” ไม่นานหลังจากที่น้องอรุณยอมรับกับนิภาว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของคณะปฏิวัติ
ระหว่างที่เรื่องทวีความตึงเครียดขึ้นนั้นเอง สะอาดขวางเราด้วยนิทานที่นิภาเขียนเรื่องหนึ่ง ลายเส้นเป็นหมึกสีเทาจางๆ เรื่องย่อเป็นดังนี้
ลึกลงไปในหุบเขามีสรรพสัตว์บ้าๆ บอๆ อยู่มากมาย หมีผู้หวังพานพบรักแท้ เต่าผู้มีเคล็ดวิชาล่องหน เป็ดนักปรัชญาผู้คิดว่าตนเองเป็นห่าน และดักแด้ผู้ไม่ยอมออกมาเผชิญโลกโหดร้าย จนกระทั่งวันหนึ่งเด็กน้อยจำปามาถึงหุบเขาและเล่นกับสัตว์ต่างๆ อยู่สามวัน หมีถามว่าไม่ต้องกลับบ้านหรือ จำปาตอบว่าความจนขโมยบ้านไปแล้ว โรคร้ายขโมยพ่อจ๋าแม่จ๋าไปแล้ว สัตว์ต่างๆ ได้ยินดังนั้นจึงแย่งกันเป็นพ่อจ๋าแม่จ๋า ทำเอาจำปาร้องไห้ด้วยความตื้นตันใจ
“น่าสนใจนะ” หม่อมราชวงศ์เสรีว่า “คุณไปได้ไอเดียมาจากไหน”
“ดัดแปลงจากที่เขียนตอนเด็ก” นิภาตอบ
ครั้งหนึ่งพ่อเคยถามนิภาแบบเดียวกันตอนที่นิภานั่งอ่านหนังสือของพ่อนอกบ้าน พ่อถามนิภาว่า
“ยุงกัดไม่เจ็บแย่หรือลูก”
“เจ็บไม่เท่าความเจ็บปวดที่อยู่ในใจหรอกค่ะ”
ตอนนั้นพ่อพูดประโยคคล้ายกัน “ไปจำคำแบบนั้นมาจากหนังสือเล่มไหน”
ชายหนุ่มลูกเจ้านายหน้าตาดีเอาชนะใจเธอได้ไม่ยาก แล้วพาเธอไปรู้จักกลุ่มผู้ก่อตั้งนิตยสาร “แสงอักษร” นำทัพโดยท่านพระยาเนตรอินทรีแห่งวังแสงอักษร นิภาได้งานใหม่เป็นนักเขียนนิทานใช้นามปากกาว่า “กล่อมเรไร” ด้วยค่าตอบแทนที่สูงกว่าที่หนังสือพิมพ์ให้ไม่นับว่าได้สมาคมสังสรรค์กับชนชั้นสูงอีกด้วย
แต่ระหว่างนั้นเธอก็ได้นัดพบหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเพื่อขอสัมภาษณ์ เป็นโอกาสที่เธอ (และผู้อ่านการ์ตูน) ได้ฟังคำอธิบายถึงระบอบกฎหมายของสยามเวลานั้นอย่างสั้นๆ ในเวลายี่สิบนาทีเท่าที่นิภาได้ (เท่ากับสิบสี่หน้าด้วยฝีมือวาดภาพของสะอาด)
ดูเหมือนเธอทำงานให้กับทั้งสองฝ่ายแล้ว
เรื่องราวดำเนินต่อไปด้วยความเขม็งเกลียวมากขึ้นทุกทีจนกระทั่งมาถึงนิทานของจำปาอีกคำรบหนึ่ง ด้วยลายเส้นสีเทาเข่นเดิม เรื่องย่อเป็นดังนี้
จำปากลับมาที่ป่าซึ่งเคยเป็นครอบครัวของเธอ ตอนนี้เธอโตเป็นสาวแล้ว สัตว์ต่างๆ ที่เธอรู้จักอยู่ในสวนสัตว์ที่เศรษฐีคนหนึ่งสร้างขึ้น แต่คุณหมีของเธอไม่ได้อยู่ในกรง ตอนนี้ก็เลยเวลาจำศีลแล้วด้วยคุณหมีก็ยังไม่กลับมา สัตว์ทุกตัวต่างเห็นว่าคุณหมีถูกฆ่าเพราะว่าเขาไม่เชื่อง จำปาร้องไห้ ร้องไห้ ร้องไห้ แล้วเธอเขียนจดหมายถึงเศรษฐีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณหมีไม่ถูกต้อง กฎของสวนสัตว์มีปัญหาอย่างไร เมื่อเศรษฐีอ่านจดหมายฉบับนั้นจบ จำปาก็มาอยู่ในกรง จนกว่าวันหนึ่งเธอจะเชื่อง
“ตั้งใจจะสื่ออะไร” ครั้งนี้เป็นท่านพระยาเนตรอินทรีคิ้วขมวดพูด “เกรี้ยวกราดเหมือนบางกอกนิวส์ช่วงนี้เลยนะ กล่อมเรไร วิจารณ์ทั้งรัฐมนตรี ทั้งองคมนตรีสภาอย่างฉันว่าเปลืองภาษี เธอรู้อยู่ใช่ไหมว่าใครเป็นคนเขียน”
“เป็นนักเขียนผีส่งเข้ามาค่ะ” นิภาตอบ จากนั้นเธอก็ลุกเดินออกไป
“ฮ่า ฮ่า ฮ่า ดื้อด้านเหมือนพ่อมึงไม่มีผิด” พระยาเนตรอินทรีพูดตามหลังเธอ
หลังจากเหตุการณ์นั้นเสรีได้พยายามมาคุยกับนิภา (หลายหน้า) อ่านแล้วดูเหมือนเป็นความพยายามที่จะช่วยเหลือเธอด้วยใจจริง (ไม่สปอยล์) แต่คำตอบที่เขาได้รับคือ
“คุณแค่อยากให้ฉันเชื่อง”
ถ้าเป็นบทภาพยนตร์ก็ต้องชมเชยกัน การส่งต่อบทสนทนามีนัยยะเชื่อมกันเป็นทอดๆ ตลอดทั้งเล่ม ฝีมือสะอาดไม่ตกในหลายปีที่ผ่านมา มีปัญหาเล็กน้อยในช่วงแรกที่นักอ่านอายุเท่าผมต้องแยกแยะใบหน้าตัวละคร แต่งานเขียนเรื่องยาวน่าจะยากกว่าการ์ตูนช่องหรือเรื่องสั้นอยู่แล้ว
สะอาดเขียนเรื่องและภาพได้ดี •
การ์ตูนที่รัก | นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022