ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | โลกทรรศน์ |
ผู้เขียน | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ |
เผยแพร่ |
บทความของ ผู้ช่วยศาตราจารย์ ลลิตา หาญวงค์ เรื่อง ตื่นเต้นกันใหญ่กับนายกฯ คนใหม่ไทย ใน Matichon Podcast การเมือง 23 สิงหาคม 2567 ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ดีมากๆ
อาจารย์ได้พูดคุยกับคนพม่าหลายฝ่าย ได้ข้อสรุปคล้ายๆ กัน กล่าวคือ
พวกเขาส่วนใหญ่รู้จัก ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัวมานาน ที่สำคัญช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ในช่วงปี พ.ศ.2544-2547 รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร สมัยนั้นมีนโยบายต่างประเทศที่ก้าวหน้าต่อเมียนมา โดยพื้นฐานคือ ต้องการสร้างความร่วมมือกับรัฐบาลเมียนมา เพราะเชื่อว่า ถ้าสงครามกลางเมืองในเมียนมาสงบ ไทยจะได้ประโยชน์ แล้วรัฐบาลไทยก็มีโครงการความร่วมมือหลายโครงการกับรัฐบาลเมียนมา
นอกจากนั้น ไทยยังมีความร่วมมือกับเมียนมาหลายระดับและต่อเนื่อง ได้แก่
ระดับสูง มีผู้บัญชาการทหารสูงสุดทั้งสองฝ่ายเป็นประธาน
มีการติดต่อชายแดนระหว่างกัน 5 แห่ง
มีผู้บัญชาการเฉพาะกิจทั้งสองฝ่ายทำงานร่วมกัน
มีหน่วยบัญชาการชายแดนภูมิภาค ที่แม่ทัพภาคที่ 3 ของไทยเป็นประธาน โดยมีการประชุมร่วมกันต่อเนื่องถึง 36 ครั้ง
แต่ที่สำคัญมาก ชายแดนไทย-เมียนมาเปลี่ยนไปมาก อันมีผลทั้งระดับประเทศ ภูมิภาค และสัมพันธ์กับบทบาทของนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากตระกูลชินวัตรด้วย
มีกลุ่มชาติพันธุ์หลายฝ่ายขัดแย้งกัน แล้วยังมีผลประโยชน์สีเทาที่ใหญ่ในแง่มูลค่า และซับซ้อนมาก กลุ่มชาติพันธุ์ต่างรักษาผลประโยชน์สีเทาอย่างเข้มข้น ดังนั้น ทางรัฐบาลไทยจะบริหารชายแดนอย่างไร จึงเกี่ยวข้องกับผู้นำโดยตรง ได้แก่
วิสัยทัศน์ของผู้นำ
ต้องไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรีบ่อยเกินไป
ศักยภาพของผู้นำสูงพอไหม
ศักยภาพของหน่วยงานสำคัญด้านชายแดนทั้งกระทรวงการต่างประเทศ และฝ่ายความมั่นคงเป็นอย่างไร
โจทย์ใหม่ :
ความซับซ้อนของชายแดน
ผศ.ลลิตายังวิเคราะห์เพิ่มด้วยว่า ในอดีต มีปัญหาด้านกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ การสู้รบกับฝ่ายทหารรัฐบาล แต่ตอนนี้ เป็น ชายแดนสีเทา ยากต่อการควบคุม มีผลประโยชน์มหาศาล โยงกับภูมิภาคและนานาชาติคือ
Call center เอาไว้หลอกลวงทั้งเงิน ตัวคนและนำมาทำงานใน
กาสิโนผิดกฎหมาย ออนไลน์ ศูนย์หลอกลวง
การค้ามนุษย์
เกิดปัญหาผู้ลี้ภัย แล้วยังมีปัญหาซ้อนคือ เหยื่อค้ามนุษย์
แรงงานเมียนมาที่มาทำงานในไทย มีปัญหาทางกฎหมาย
ปัญหายาเสพติด
ตอนนี้ ชายแดนสีเทาเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ ในอาเซียน เอเชียใต้ ออสเตรเลีย แอฟริกา ยุโรป สหรัฐอเมริกา
คนพม่า
กลุ่มชาติพันธุ์กับการเมืองไทย
อาจารย์ลลิตาพบว่า ไม่น่าแปลกใจ กลุ่มชาติพันธุ์รู้เรื่องการเมืองไทยอย่างดี มีความคาดหวังกับรัฐบาลไทย ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย พวกเขามีความคาดหวังให้ผู้นำไทยคนใหม่มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเมียนมาแบบกล้าหาญ เปลี่ยนกระบวนคิด
ความหวังกับความยาก
แต่พวกเขาไม่คาดหวังรัฐบาลใหม่ เพราะพรรคเพื่อไทยก็มีปัญหาภายในอยู่แล้ว เป็นที่คาดการณ์ได้ว่า หากทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร แท้จริง การต่างประเทศจะเป็นงานสำคัญที่รัฐบาลแพทองธาร อาจจะด้วยการสร้างผลงานและการยอมรับจากนานาชาติ ดังจะเห็นว่า ทักษิณ ชินวัตร เสนอตัวและเคลื่อนไหวการสร้างสันติภาพในเมียนมาตั้งแต่ยังไม่ได้กลับเข้าไทย ก่อนปลอดจากอาญาแผ่นดิน ก่อนได้ตั้งรัฐบาลของลูกสาวตัวเอง
เช่นกัน ทักษิณมีข้อเสนอเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ด้วยต้องการนำเอาพลังงานในอ่าวไทยมาใช้ประโยชน์
ผมชื่นชมบทวิเคราะห์ของอาจารย์ลลิตามาก ด้วยผมมีประเด็นใหม่เพิ่มดังนี้
ผลประโยชน์ทับซ้อนผู้นำ
ความตื่นเต้นของคนพม่าต่อนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ซึ่งจริงๆ แล้วตื่นเต้นกับนายกรัฐมนตรีตัวจริง ทักษิณ ชินวัตร มากกว่า ดังนั้น เราต้องย้อนดูความจริงในอดีตของทักษิณ ชินวัตร กับเมียนมา ซึ่งคล้ายกับกรณีกัมพูชาด้วย
ผลประโยชน์ทับซ้อน ทักษิณ ชินวัตร หรือแพทองธารกันแน่ ดูได้จากบทบาททักษิณ ชินวัตร กับเมียนมาและกัมพูชาในอดีต นายกฯ แพทองธารกล่าวว่า เส้นบางๆ แต่ผมว่าไม่ใช่เส้นบางๆ ระหว่างพ่อกับเธอ
คงไม่ลืม ทักษิณ ชินวัตร ลงทุนทำสัมปทานโทรศัพท์ในเมียนมา ทักษิณเยือนเมียนมาช่วง 19-20 มิถุนายน 2544 ช่วงนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย ซึ่งปฏิเสธเยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการ เพราะเน้นการพัฒนาประชาธิปไตย แต่นายกรัฐมนตรีสมัยต่อมา ทักษิณ ชินวัตร เริ่มต้นที่เพื่อนบ้านที่ดี ด้านความร่วมมือชนกลุ่มน้อย แก้ปัญหายาเสพติด ด้านประมงและการเผชิญหน้าตามชายแดน
นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการ ได้ผลเกินความคาดหมาย พล.ท.ขิ่น ยุ้น (Khin Nyunt) เยือนไทยระหว่าง 3-5 กันยายน 2544 ตอบแทนการเยือนของผู้นำไทย
ความสัมพันธ์เมียนมา-ไทยเปลี่ยนไปอย่างน่าประหลาดใจ ก่อผลประโยชน์ต่อบริษัท SATTEL บริษัทโทรคมนาคมของครอบครัวชินวัตร พฤษภาคม 2545 SATTEL ลงนามสัญญาให้บริการและจัดซื้อแพ็กเกจบริการของดาวเทียม Ipstar ของครอบครัวชินวัตร ด้วยการบริหารของ Bagan Cybertech IDC and Teleport Company ภายใต้การดูแลของหน่วนงานกึ่งรัฐบาล ที่มีซีอีโอคือ ลูกชายคนเล็กของ พล.ท.ขิ่น ยุ้น ประธานสภา Computer Technology Development และเลขาธิการคนที่ 1 สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาเมียนมา ซึ่งก็คือรัฐบาลเมียนมานั่นเอง
พ่อกับลูกของชนชั้นนำ ผลประโยชน์ทับซ้อน บริษัทครอบครัวกับผลประโยชน์สาธารณะชัดเจน แล้วใครจะไม่ตื่นเต้นกับพวกท่าน เมื่อท่านกลับมาอีกแล้ว
เช่นเดียวกับกัมพูชา ทักษิณ ชินวัตร ใช้นโยบายแปรสนามรบเป็นตลาดการค้า สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ทักษิณ ชินวัตร และ Shin Corporation เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจทีวีจากยุคต้นทศวรรษ 1990 ต่อมา SATTEL เข้าบริการ CAMSHIN ทำโทรศัพท์มือถือ ซึ่งกัมพูชากำลังบูมด้วยการค้า การลงทุนและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ช่วงแรกมีสมาชิก 250,000 ราย ปี 2546 มีรายได้สุทธิ 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ1
คนพม่าและกัมพูชาที่ตื่นเต้นกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่แพทองธารมากเป็นพิเศษ ไม่ใช่แค่จดหมายแสดงความยินดี การรู้จักกันระหว่างครอบครัวในอดีตและหลังก้าวสู่อำนาจ คือ ครอบครัวชนชั้นนำที่เคยได้ผลประโยชน์จากเส้นบางๆ ของผลประโยชน์ทับซ้อนนั่นเอง
ภูมิทัศน์ชายแดนเปลี่ยนมาก
30 ปีต่อมา ธุรกิจโทรคมนาคมไม่ใช่ธุรกิจหลักของครอบครัวชินวัตรอีกต่อไปแล้วทั้งในไทยและเพื่อนบ้าน ในเวลาเดียวกัน ชายแดนเปลี่ยนจากเรื่องแค่ค้าชายแดน ลักลอบค้าขายกลุ่มชาติพันธุ์ เปลี่ยนเป็นชายแดนสีเทา มีศูนย์หลอกลวง ฟอกเงิน กาสิโนผิดกฎหมายทั้งออนไลน์และดั้งเดิม ยาเสพติด ค้ามนุษย์
คำโก้หรู เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์มาอีกแล้ว ทำไมทักษิณ ชินวัตร จึงชูเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ดึงเศรษฐกิจใต้ดินขึ้นมาถูกกฎหมาย
ไม่สังเกตหรือครับ ทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปสร้างสันติภาพทั้งที่ป่วยและยังไม่กลับไทย
พ่อกับลูกและพันธมิตรชนชั้นนำทั้งในและนอก ต่างก็ตื่นเต้นๆ
1“Thaksin and the Politics of Telecommunication” in Dancan Mccargo and Ukrist Pathmanand, The Thaksinization of Thailand, Copenhagen : Nordic Institute of Asian Studies, 2005) : 53.