ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังลับแลมีอรุณรุ่ง |
ผู้เขียน | ธงทอง จันทรางศุ |
เผยแพร่ |
ภายในเวลาเพียงแค่ไม่กี่วันที่ผ่านมา มีข่าวสารสาธารณะที่เผยแพร่ตามสื่อต่างๆ เกี่ยวกับการสร้างรูปเคารพสองเรื่องที่เป็นประเด็นน่าสนใจสำหรับผม
เรื่องแรกเกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ดำริจะสร้างรูปเทวดาองค์ใหญ่มหึมา ความสูงประมาณ 16 เมตรขึ้นที่วัดพระธาตุดอยคำ
ลำพังแต่เพียงเห็นชิ้นส่วนของรูปเทวดาดังกล่าวเพียงแค่หนึ่งหรือสองชิ้น ก็ชวนให้ผู้ใหญ่หลายคนเอามือทาบอกแล้วว่า เทวดาอะไรจะใหญ่โตถึงขนาดนั้น
เมื่อเรื่องนี้ปรากฏขึ้น สิ่งที่ติดตามมาคือเสียงไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการต่อไปอย่างหนักแน่นและหนุนเนื่อง
จนในที่สุดมีรายงานข่าวว่าการสร้างรูปเทวดาที่ว่านี้เป็นอันยุติไปแล้ว
เรื่องเทวดาขนาดยักษ์ที่เมืองเชียงใหม่ยังไม่ทันจางหาย เรื่องพระพุทธรูปใหญ่ที่สร้างบนยอดเขาที่จังหวัดภูเก็ตก็เป็นข่าวขึ้นมา ประเด็นไม่อยู่ตรงที่ว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง เพราะสร้างเสร็จแล้ว
แต่คำถามที่เกิดขึ้นเวลานี้ คือการก่อสร้างดังกล่าวได้รับอนุญาตถูกต้องหรือไม่
และพื้นที่ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นั้นเป็นพื้นที่ที่ต้องห้ามตามกฎหมายหรือมิใช่
ในวันเวลาที่ผมนั่งเขียนหนังสืออยู่นี้ ฝุ่นยังตลบอยู่ ต้องติดตามกันต่อไปครับว่าสุดท้ายเรื่องจะลงเอยอย่างไร
เมื่อหลายปีก่อนเคยมีข่าวใหญ่เกิดขึ้นที่จังหวัดนครปฐม มีใครก็ไม่รู้คิดจะสร้างธูปขนาดยักษ์ และตามท้องเรื่องบอกว่าเป็นธูปที่ใหญ่ที่สุดในโลกเสียด้วย ซึ่งก็แน่ละ เพราะคงไม่มีประเทศไหนจะมาสร้างธูปยักษ์แข่งกันกับเรา เมื่อถึงเวลานี้ ผมไม่แน่ใจว่าธูปที่ว่านั้นสร้างเสร็จแล้วหรือยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง แต่ผมแน่ใจและจำได้แม่นว่าธูปยักษ์นั้นล้มลงทับคน และมีผู้เสียชีวิตจากเหตุนั้นอย่างแน่นอน
ผมจะเป็นคนขวางโลกอย่างไรก็ไม่ทราบสินะ แต่ตัวผมเองไม่เคยนึกตื่นเต้นกับการสร้างอะไรที่ใหญ่ที่สุดในโลกเลย
ในขณะที่อีกหลายคนมีอัธยาศัยชอบสร้างสิ่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งถ้ากินเนสส์บุ๊กจะบอกว่าบ้านเรามีอะไรที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นการสร้างศาสนวัตถุหรือศาสนสถานแล้ว ผมมีความเห็นว่าต้องระมัดระวังในเรื่องใหญ่ที่สุดในโลกให้มาก
เพราะศาสนวัตถุและศาสนสถานเหล่านั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยทั้งร้อยล้วนแต่สร้างขึ้นด้วยศรัทธาและเงินจากคนบริจาคสมทบ
เงินจำนวนเดียวกันนั้นถ้านำไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์มากกว่าการสร้างสิ่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็น่าจะทำอะไรได้อีกมาก
ถ้าจำกัดวงให้พูดแต่เฉพาะในหมู่ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา ผมไม่กีดขวางศรัทธาของผู้คนที่อยากจะทำบุญทำกุศลหรอกครับ พูดกันแต่เฉพาะในเรื่องของศาสนวัตถุหรือศาสนสถาน คนไทยก็ยังมีทางเลือกอีกมาก
ไม่ว่าจะเป็นการทำนุบำรุงซ่อมแซมวัดวาอารามหรือบูรณะพระพุทธรูปที่มีอยู่จำนวนมหาศาลให้คืนคงสภาพที่สวยงามเป็นที่เจริญศรัทธาของสาธุชน วัดทั่วประเทศที่มีอยู่จำนวนประมาณ 30,000 วัด ต้องการการดูแลและทำนุบำรุงด้วยความเข้าใจและดำเนินการให้ถูกทางอีกมาก
เราเคยได้ยินกันแล้วนะครับว่า มีคนคิดเอาสีทองไปทาโบสถ์ทั้งหลัง ทาเจดีย์ทั้งองค์ ทาพระพุทธรูปตั้งแต่พระเศียรจรดปลายพระบาท ทำอย่างนั้นแล้วไม่ช้านานทั้งโบสถ์ทั้งเจดีย์ทั้งพระพุทธรูปก็แตกร้าว เพราะความชื้นที่มีอยู่ในอาคารก็ดี อยู่ในองค์พระพุทธรูปก็ดี ไม่สามารถระบายออกมาได้ ก็เล่นเอาสีไปทาทับและทึบทั้งองค์
เมื่อพูดกันดีๆ ไม่ได้และไม่มีทางออก ความชื้นก็แผลงฤทธิ์ทำให้ของเก่าที่มีคุณค่าแต่ครั้งบรรพบุรุษของเราเสียหายเป็นจำนวนมาก
ศรัทธาอย่างเดียวไม่พอเสียแล้ว สติและปัญญาเป็นของต้องเดินไปคู่เคียงกันกับศรัทธาครับ
ถ้าไม่อยากจะซ่อมวัดเก่า ไม่ว่าจะเป็นด้วยสาเหตุใดก็ตาม อยากจะสร้างวัดใหม่ของตัวเอง ผมก็ต้องขอฝากประเด็นในเรื่องความพอเหมาะพอสม สร้างเสร็จแล้วใครจะดูแล ขนาดที่ใหญ่โตเกินไปจะได้ใช้สมประโยชน์หรือไม่ เรื่องอย่างนี้ต้องคิดกันให้รอบคอบก่อนสร้าง
บ่อยครั้งที่ผมได้รับทราบว่า การก่อสร้างโบสถ์หรือวิหารที่ไหนก็แล้วแต่ในเมืองไทยของเรา ลงมือสร้างไปได้สักระยะหนึ่งก็หมดทุน ต้องเรี่ยไร ทอดผ้าป่าหรือทอดกฐินกันอีกหลายปีกว่าโบสถ์วิหารจะสร้างเสร็จ เหนื่อยไปตามๆ กันทั้งพระทั้งโยม
สร้างเสร็จแล้วใช้งานก็ไม่คุ้มที่ลงทุนลงแรงไป เพราะเป็นแต่เพียงการสนองความต้องการของใครบางคนหรือบางรูปเท่านั้น
ผมพูดมาแค่นี้ก็ตกนรกเข้าไปครึ่งตัวแล้ว น่ากลัวจัง
ทางเลือกอีกทางหนึ่ง นอกจากการสร้างศาสนวัตถุ ศาสนสถาน ให้มีความพอเหมาะกับการใช้งานแล้ว จากประสบการณ์ที่ผมเข้านอกออกในวัดวาอารามบ่อยครั้งพอสมควร ผมพบว่าการสร้างศาสนทายาทเป็นเรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจกันอย่างเอาจริงเอาจัง
เวลานี้อยู่ในระหว่างเทศกาลเข้าพรรษา หลายวัดไม่มีพระใหม่บวชในพรรษานี้เลย
พระในพรรษานี้ยังไม่น่าห่วงครับ เพราะถึงมี ท่านก็บวชเป็นการชั่วคราว ออกพรรษาแล้วท่านก็สึกไปทำมาหากินตามวิสัยโลกอย่างเดิม
แต่สิ่งที่น่าห่วงยิ่งกว่านั้น คือพระที่อยู่ประจำในวัดวาอารามต่างๆ ก็มีจำนวนน้อยลงทุกที
วัดที่มี 30,000 วัด และมีจำนวนพระโดยเฉลี่ยประมาณ 200,000 กว่ารูป หรือผมอาจจะปัดตัวเลขให้เป็น 300,000 รูป เป็นจำนวนตัวเลขกลมๆ เวลาหารจำนวนเฉลี่ยออกมาจะได้ไม่ปวดหัว
คิดตัวเลขแบบนี้แล้วเราอาจนึกสบายใจว่าวัดแต่ละวัดคงมีพระอยู่ประมาณ 10 รูปกระมัง
ถ้าเป็นวัดใหญ่อยู่ในเมือง อยู่ในพระนคร จำนวนพระที่พำนักอยู่ในแต่ละวัด เห็นตัวเลขแล้วก็พอสบายใจได้
แต่ถ้าเป็นวัดตามหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่กระจัดกระจายไปทั่วทั้งประเทศ แต่ละวัดมีพระได้หนึ่งรูปสองรูปก็เก่งมากแล้ว ถ้าแนวโน้มยังเป็นอย่างนี้ต่อไป วัดที่มีพระจำพรรษาอยู่จะกลายเป็นวัดร้างไปอีกมากในเวลาอีกไม่นานปี
เราคงต้องยอมรับความจริงว่า สภาพเหตุการณ์ในโลกปัจจุบัน เด็กที่เป็นลูกหลานของเราที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นไม่มากนักในแต่ละปี จนกระทั่งเราต้องเป็นห่วงเรื่องสังคมผู้สูงอายุอยู่ในขณะนี้ จะมีสักกี่คนที่มีอัธยาศัยโน้มมาในทางที่คิดอยากจะบวชเป็นพระไปตลอดชีวิต
การเรียนในสมัยคุณปู่ของผม ไม่มีโรงเรียนอะไรเป็นทางเลือกให้กับท่านได้นอกจากการบวชเป็นเณรแล้วเรียนหนังสืออยู่กับพระ แต่มาถึงทุกวันนี้ โรงเรียนทั้งหลายแย่งกันหานักเรียนเข้าไปเรียนกันให้จ้าละหวั่น โรงเรียนตามตำบลหมู่บ้านหลายแห่งใกล้ต้องถูกยุบแล้วเพราะไม่มีนักเรียนเรียนหนังสือ
แล้วนี่จะแบ่งไปให้บวชพระอีก มันจะเป็นไปได้อย่างไร
เย็นวันนี้เองเพิ่งมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แวะมาคุยกับผมที่บ้าน เพราะท่านมีกุศลเจตนาจะไปช่วยพัฒนาโรงเรียนซึ่งเป็นหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และมีที่ตั้งอยู่ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ให้เป็นโรงเรียนที่สามารถตอบโจทย์ทั้งฝ่ายคดีโลกคดีธรรม ขณะเดียวกันก็ช่วยดูแลแก้ปัญหาเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษาซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศด้วย
อ่านข้อความสองย่อหน้าข้างต้นแล้ว ท่านผู้อ่านอาจจะรู้สึกว่าวันนี้ผมเขียนหนังสือย้อนแย้งชอบกล ย่อหน้าแรกบอกว่าโรงเรียนไม่มีเด็กนักเรียน พอย่อหน้าต่อมา กลับบอกว่าเด็กไม่ได้เรียนหนังสือ ตกลงจะเอาอย่างไรแน่
ผมก็พูดไม่ออกบอกไม่ถูกเหมือนกันครับ รู้แต่ว่านี่คือความจริงของประเทศ คือในขณะที่โรงเรียนของเรามีนักเรียนจำนวนน้อยมากจนกระทั่งบางโรงเรียนใกล้จะต้องปิดตัว เราก็ยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่หลุดออกนอกระบบ
ทั้งนี้ เป็นด้วยสาเหตุหลายประการเหลือเกิน เหตุผลหนึ่ง คือถึงแม้เราจะบอกว่าการศึกษาได้บ้านเราจะเป็นการเรียนฟรีโดยภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบ
แต่ในชีวิตจริง ถึงอย่างไรเสียก็ต้องมีบางส่วนที่พ่อแม่ต้องรับผิดชอบควักกระเป๋าสตางค์ตัวเองอยู่ดี และพ่อแม่หลายคนก็ไม่สามารถทำอย่างนั้นได้
พระผู้ใหญ่หลายรูปที่ท่านมีเมตตาและเห็นประเด็นปัญหาเรื่องนี้ ท่านจึงไปชวนเด็กที่หลุดหรือจวนหลุดจากระบบการศึกษาเหล่านั้นเข้ามาบวชเณรแล้วให้เรียนหนังสืออยู่ในวัด อย่างน้อยก็ทุ่นค่าแต่งตัว ทุ่นค่าอาหารไปโขอยู่ เพราะแต่งกายนุ่งห่มอย่างเณรเสีย ก็ประหยัดค่าชุดต่างๆ ได้มาก
สำหรับมื้อเช้านั้นพระเณรเมืองไทยยังมีคนตักบาตรพอฉัน ถึงเวลาเพลก็ยังไม่ขาดแคลน ยังพอมีญาติโยมตามมาอุดหนุน มื้อเย็นไม่ต้องมี นี่ก็ทุ่นไปหนึ่งมื้อแล้ว
ถูกต้องครับว่า ถ้าผมมีเณร 100 รูปอยู่ในวัดและได้เรียนหนังสือแบบนี้ ผมไม่ได้หวังว่าเณรร้อยรูปนี้จะบวชเป็นพระร้อยรูป และอยู่ไปจนมรณภาพคาผ้าเหลืองทั้งหมด
ถ้าเราได้เณรที่มีอัธยาศัยและมีความสมัครใจอยากจะบวชพระสักห้ารูปสิบรูป แค่นี้ก็ควรยินดีกว่าถูกล็อตเตอรี่แล้ว
ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 90 คน เรียนจบชั้นมัธยมแล้วสึกไป จะไปเรียนต่อหรือไปทำมาหากินอะไรก็ตาม บุญคุณที่เคยกินข้าววัดมาหกปีแปดปีคงไม่สูญเปล่าหรอกน่า
พร้อมกันนั้นผมก็มีความเชื่อว่าคนที่บวชเณรมาเป็นเวลาหลายปีขนาดนั้นแล้ว อย่างไรเสียก็ต้องมีดีเอ็นเอของความดี ของบุญกุศลติดตัวอยู่บ้าง ถ้าพระศาสนาและพระที่เป็นครูของเราไม่สามารถทำอะไรกับเด็กจำนวนนี้ได้เลย ปล่อยไปแล้วกลายเป็นเป็นโจรเสียทั้งหมด เราจะโทษใครได้นอกจากตัวเราเอง
ที่พูดมาเหมือนคนแก่พูดยานคางอย่างนี้ เพื่อจะชวนให้ท่านทั้งหลายช่วยกันหยุดคิดสักนิดว่า เมืองไทยของเราจะชะลอการสร้างพระใหญ่ที่สุดในโลกลงบ้างได้ไหม แล้วผันเอาความศรัทธานั้นมาสร้างศาสนทายาท มาสร้างพลเมืองดีรุ่นใหม่ให้กับเมืองไทย
งานสร้างคนคุณภาพนี้ใช้เวลาและใช้กำลังทรัพย์ กำลังกาย กำลังใจเป็นอย่างยิ่ง แต่ผลที่เกิดขึ้นนั้นยั่งยืนมาก และเป็นการเกื้อกูลพระศาสนาโดยตรง
ศาสนาใดก็ตาม มีโบสถ์วิหารใหญ่โต มีรูปปั้นรูปเคารพสวยงาม แต่ไม่มีพระ ไม่มีนักบวชเหลืออยู่เลย หรือถ้ามีอยู่ แต่ไม่สามารถทำหน้าที่อธิบายหรือเผยแผ่พระธรรมคำสอนได้ ทำได้แต่เพียงเปิดปิดประตูโบสถ์วิหาร เราจะนึกสบายใจได้หรือ ว่าพระศาสนาของเราจะดำรงคงอยู่มั่นคง
อีกไม่กี่วันซองกฐินก็มาวางอยู่บนโต๊ะทำงานเราแล้ว หลวงพ่อโตองค์สูงเท่าหอไอเฟลก็ยังไม่มี
เอ! ทำอย่างไรดีน้อ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022