ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กันยายน 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | ธเนศวร์ เจริญเมือง
บทเรียนจากเนเธอร์แลนด์ (1)
: การต่อสู้ของผู้คน, สังคม และรัฐ
“เนเธอร์แลนด์มีพื้นที่ 4.2 หมื่น ตร.ก.ม. (อันดับที่ 131 ของโลก) มีประชากร 18 ล้านคน เทียบกับไทย ซึ่งมีพื้นที่มากกว่า 12 เท่า (อันดับที่ 50) มีประชากร 72 ล้านคน แต่เนเธอร์แลนด์กลับเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรไปจำหน่ายทั่วโลกมีมูลค่ามากเป็นอันดับที่ 2 รองจากสหรัฐในช่วงหลายปีมานี้…”
“‘พระเจ้าสร้างโลก แต่ชาวดัตช์สร้างเนเธอร์แลนด์’ คำขวัญอันโด่งดัง”
กร ชัยธีระสุเวช, ประวัติศาสตร์เนเธอร์แลนด์และเบลเยียม. พฤศจิกายน 2564.
เกริ่นนำ
เมื่อมีโอกาสได้ไปเห็นและเรียนรู้จากประเทศที่พัฒนาแล้ว ยิ่งเป็นประเทศเล็กๆ ง่ายในการเยือนหลายเมือง ผมรีบไปทันที
อยากรู้ว่าจะมีบทเรียนอะไรบ้างไหม
ในโลกสมัยใหม่ที่นักท่องเที่ยวทุกหนแห่ง เราพอจะมีบทเรียนอะไรให้รัฐของเรา
นอกจากเรื่องสนุกๆ ในข่าวและภาพที่สวยๆ งามๆ เห็นได้ทั่วไป
ยุโรปก่อนถึงยุค Renaissance
(การฟื้นฟูศิลปวิทยาการ)
ยุคเรอเนสซองส์ หมายถึงยุคสมัยแห่งการตื่นฟื้นทางสติปัญญาและความคิดทุกๆ ด้านในยุโรป เริ่มตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 จนถึง 17 ก่อนหน้านั้น วงวิชาการแบ่งยุโรปออกเป็น 2 ยุค นั่นคือ
1. ยุคจักรวรรดิโรมัน ซึ่งกินเวลาราว 1 พันปี นั่นคือ ตั้งแต่ 500 ปีก่อน ค.ศ. จนถึง ค.ศ.476 การแผ่อำนาจไปครอบครองยุโรปของโรมัน ส่วนหนึ่งโรมันรับเอาสติปัญญาของกรีกมาด้วย แต่ที่สำคัญคือ การปกครองแบบอำนาจนิยมและกฎหมาย เผยแพร่ภาษาละติน มีกองทัพที่เข้มแข็ง ประชาชนคือผู้รับคำสั่ง นับถือคริสต์ศาสนา และตั้งแต่จักรพรรดิคอนสแตนตินหันไปนับถือศาสนาคริสต์ และจากนับถือเสรีกลายเป็นการบีบบังคับ ส่งผลให้อำนาจของฝ่ายศาสนาเพิ่มมากขึ้นๆ ตั้งแต่ ค.ศ.313 เป็นต้นมา
ทั้งหมดนี้เป็นการแผ่ขยายอำนาจและกฎหมายจากโรมันไปทั่วยุโรป ข้อดีคือ การได้เรียนรู้วัฒนธรรมและอำนาจของชาติมหาอำนาจเช่นโรมัน ข้ออ่อนคือการกดขี่ข่มเหงผู้คนในท้องถิ่นต่างๆ ส่งผลให้ท้องถิ่นต่างๆ ขาดอิสระ โรมันควบคุมทุกอย่าง ในที่สุด เผ่าเยอรมานิก ก็รวมกันโค่นจักรวรรดิโรมันลงได้ในปี ค.ศ.476
2. ยุคกลางหรือยุคมืด ต่อจากนั้น (ค.ศ.476-ศตวรรษที่ 14) หลังจักรวรรดิโรมันล่ม ก็เกิดหน่วยการปกครองขนาดเล็กที่แตกแยกออกไปมากมาย ต่างเป็นอิสระต่อกัน มีทั้งแคว้นที่ปกครองด้วยผู้นำทางศาสนาคริสต์หรือกษัตริย์หรือขุนนาง ความกว้างใหญ่และลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ทำให้ภาษาและวัฒนธรรมของท้องถิ่นต่างๆ ได้พัฒนาและแตกต่างกันออกไปเป็นขั้นๆ
เพราะคริสต์ศาสนาเติบโตขึ้นมาด้วยจักรวรรดิโรมัน เมื่ออำนาจการเมืองและการทหารถูกทำลาย แต่ศาสนายังคงอยู่
จากจุดนี้เอง ที่ระบบกษัตริย์และขุนนางที่เกิดขึ้นใหม่ก็เริ่มขัดแย้งกับฝ่ายศาสนา
มี 5 เหตุการณ์สำคัญในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8-14 เป็นต้นมาที่ควรกล่าวถึง คือ
1. การกลับไปแสวงหาความรู้ความคิดในยุคกรีกที่โรมันละเลยไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคประชาธิปไตยและพลเมืองเข้มแข็งของเอเธนส์ระหว่างปี 600-420 ก่อนคริสต์ศักราช
ยุคนั้นมีผู้นำกรีกที่ส่งเสริมประชาธิปไตยได้แก่ โซลอส (Solos), เพรีคลิส (Pericles) และ ไคลส์ธินิส (Cleisthenes)
ในยุคดังกล่าว ยังมีนักปรัชญาคนสำคัญของกรีก นั่นคือ โสเครตีส (Socrates), เพลโต (Plato), และ อริสโตเติล (Aristotle)
จะเห็นว่า ในยุคสมัยที่การเมืองเปิดกว้าง ทัศนะต่อชีวิตและบ้านเมืองของผู้คนก็เปิดเผยและหลากหลาย จึงนับเป็นมรดกอันล้ำค่ายิ่งสำหรับคนรุ่นหลังๆ
2. โปรดสังเกตการเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยในรัฐต่างๆ เมื่อเข้าสู่ปลายยุคกลาง ได้แก่ มหาวิทยาลัยโบโลญญา ในปี 1088; ออกซ์ฟอร์ด (1096); ปารีส (1160); เคมบริดจ์ (1209); เนเปิลส์ (1224); ไฮเดลเบิร์ก-เยอรมนี (1386); เซนต์ แอนดรู-สกอตแลนด์ (1415) ฯลฯ
งานเขียนของนักบวช เช่น โธมัส อไควนัส (St. Thomas Aquinas, 1225-1274) ชาวโรมัน ที่พูดถึงงานและทัศนะของอริสโตเติล ซึ่งชี้ให้เห็นชัดเจนว่านักบวชคริสต์ในยุคกลางตอนปลาย ได้ศึกษางานนอกพระคัมภีร์และมีการถกเถียงกันในวงการศึกษาแล้ว
3. ยุโรปมีอากาศหนาวเย็นตลอดปีเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะยุโรปตะวันตกที่อุดมสมบูรณ์และมีพลเมืองอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น สภาพการณ์ทั้ง 3 อย่างส่งผลสำคัญตามมาและต่อการพัฒนาของโลกรอบๆ คือ คนยุโรปต้องต่อสู้ดิ้นรน ขยันขันแข็ง ต้องมองยาวมองไกล คิดและวางแผนเก่ง รู้ว่าใน 4 ฤดูที่ต่างกัน ช่วงไหนต้องทำการผลิต ต้องเร่งสร้างและสะสมอาหาร เสื้อผ้า เครื่องกันความหนาว วัสดุอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ต้องปรับปรุงที่พัก เตรียมทุกอย่างให้พร้อมในฤดูกาลที่หนาวจัด ฯลฯ
การเตรียมที่ผิดพลาดคือความทุกข์ยากและหายนะ ทั้งหมดนี้ก็คือ ชีวิตของคนในเขตหนาว มิใช่อยู่แบบหาเช้ากินค่ำเหมือนผู้คนในเขตศูนย์สูตร ฯลฯ แน่นอนว่า ด้วยวิธีคิดและการเตรียมงานต่างๆ ของพวกเขาทุกๆ ปีก็ย่อมพัฒนาเป็นนิสัยในการคิดและวางแผนปรับปรุงบ้านและชุมชนเป็นขั้นตอนและต่อเนื่องในระยะยาว
4. เมื่ออากาศมีผลสำคัญยิ่ง หลายอย่างที่ขาดแคลนในเขตหนาวก็ต้องออกไปเสาะหา ยากง่าย มากหรือน้อยก็ต้องจัดลำดับให้ได้ นับตั้งแต่เกลือ น้ำตาล กาแฟ โกโก้ เครื่องหอม สมุนไพรที่เป็นยาและปรุงรส เช่น พริกไทย พริก ยี่หร่า กระวาน นอกจากนั้น ยังขาดผ้าไหม ผ้าฝ้าย ไม้ แร่ธาตุต่างๆ ฯลฯ
การแสวงหาดินแดน การต่อเรือและพัฒนาอาวุธ การเพิ่มกองกำลังจึงต้องเติบโตเพื่อการค้าขาย และการค้นหาดินแดน แผนที่ เส้นทางใหม่ ของจำเป็นที่ขาดแคลน การล่าและยึดครองเมืองขึ้นจึงเกิดตามมา
และ 5. ท่ามกลางการเติบใหญ่ของแว่นแคว้นต่างๆ ตลอดจนการหวนกลับไปศึกษาองค์ความรู้และความคิดในยุคกรีก การเกิดของอุดมศึกษา และการออกแสวงหาเส้นทางการค้าขาย ดินแดน และการค้นพบโลกใหม่ การปฏิรูปศาสนา จึงเกิดขึ้น
สติปัญญาที่เติบโตด้วยระบบการศึกษาชั้นสูงที่เบ่งบานตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 ก็เริ่มมองเห็นอำนาจนิยมทางศาสนาของกรุงโรมที่หาประโยชน์จากศาสนิกชนและมอมเมาเอาเปรียบพวกเขา นำไปสู่การต่อต้านเริ่มต้นที่เยอรมนีโดยมาร์ติน ลูเธอร์ ในปี ค.ศ.1517 (Martin Luther) และจอห์น คาลแว็ง (John Calvin) ที่ฝรั่งเศสและสวิส
เกิดนิกายโปรเตสแตนต์ ที่ได้แผ่ลามออกไปทั่วยุโรปตะวันตก ฯลฯ
การเกิดและเติบโตของรัฐเล็กๆ
เนเธอร์แลนด์ มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า ฮอลแลนด์ อีกชื่อหนึ่งก็คือ เนเดอร์แลนด์ ซึ่งแปลว่าที่ลุ่ม ก็คืออยู่ใต้ระดับน้ำทะเล มีพรมแดนด้านทิศตะวันออกติดกับเยอรมนี ทิศตะวันตกคือเบลเยียม และทิศเหนือเป็นชายฝั่งทะเลติดกับทะเลเหนือ
เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดเล็ก และที่น่าสนใจอีกอย่างคือมีอีก 3 รัฐที่อยู่ใกล้ๆ กัน มีบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ เบลเยียม, ลักเซมเบิร์ก และเดนมาร์ก แต่บางอย่างก็ต่างกัน (ดูตาราง)
ประวัติศาสตร์
แต่ละรัฐบนโลกใบนี้ก็เหมือนแต่ละชีวิตของคน พืช และสัตว์ มีเล็กมีใหญ่คละเคล้ากันไป
ตั้งแต่เริ่มมีคริสต์ศักราชเป็นต้นมา จากยุโรปภาคพื้นทวีปฝั่งตะวันตกมีเผ่าชนใหญ่ๆ คือ พวกเยอรมานิก อีกพวกหนึ่งก็คือ พวกฟรังก์ พวกเยอรมานิกที่เรียกตนเองว่า ดอยช์ เป็นกลุ่มใหญ่ มีกลุ่มเล็กๆ เรียกว่า ดัตช์ อยู่ด้านเหนือริมฝั่งทะเล และยังมีกลุ่มเล็กอื่นๆ อีกหลายสิบกลุ่ม กลุ่มใหญ่คือดอยช์กับฟรังก์ หรือกลุ่มเล็กๆ ทั้งหลายต่างก็มีทั้งร่วมมือกัน และต่อสู้กันมาเป็นลำดับ
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10-14 การพัฒนาของขุนนางและกษัตริย์มีความเข้มข้นมากขึ้น มีราชวงศ์ต่างๆ เกิดขึ้น ทั้งยังมีการข้ามไปเป็นผู้นำของอีกรัฐหนึ่งเป็นระยะๆ ด้วยเหตุผลของการแสวงมิตรและการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสม ฯลฯ ในศตวรรษที่ 13 ก็มีผู้นำชาวดัตช์คือ วิลเลี่ยมที่ 2 ก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำชั่วคราวของชาวดอยช์เพื่อประสานความแตกแยก ขณะนั้นก็มีเมืองต่างๆ ของชาวดัตช์เกิดขึ้นหลายเมืองแล้ว เช่น เดลฟท์ ไลเด้น เฮก รอตเตอร์ดัม อัมสเตอร์ดัม ฯลฯ
เพราะอยู่ทิศเหนือ มีน้ำทะเลเข้ามา เมืองเหล่านี้จึงเป็นหมู่บ้านชาวประมงและพัฒนาเป็นท่าเรือและศูนย์กลางการค้าขาย มีเรือที่ขนสินค้าเข้ามากับเมืองที่อยู่ลึกลงไปในพื้นทวีปโดยเฉพาะชาวดอยช์และชาวฟรังก์ ซึ่งเป็น 2 กลุ่มชนใหญ่
เหตุการณ์น้ำท่วมบ่อยครั้งในศตวรรษที่ 13 นี้ ทำให้ชาวดัตช์แก้ปัญหาด้วยการสร้างทำนบขนาดใหญ่ทำด้วยทรายและดินเหนียว เรียกว่า ไดค์ เพื่อกั้นน้ำทะเลที่ไหลเข้ามา การสร้างประตูน้ำ และจัดตั้งสภาน้ำเพื่อควบคุมน้ำทั้งระบบของเมือง และระบบการจัดการน้ำทั้งประเทศในศตวรรษที่ 18
ถึงปลายศตวรรษที่ 14 ชุมชนนักบวชชาวดัตช์บางเมืองคัดค้านระบบฐานันดรศักดิ์ การฉ้อฉล และชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อของสงฆ์สำนักโรมันคาทอลิก แต่เน้นการมีชีวิตที่สันโดษเรียบง่าย เน้นการศึกษา อ่านพระคัมภีร์เพื่อหาคำตอบใหม่ๆ นับเป็นการเริ่มต้นครั้งสำคัญที่นำไปสู่การปฏิรูปคริสต์ศาสนาต่อจากนั้น
ยังมีนักบวชบางคนเริ่มแปลคัมภีร์ใบเบิลจากภาษากรีกและภาษาละตินอีกครั้ง เกิดมุมมองใหม่ๆในการเข้าถึงหลักคริสต์ธรรม และมีบทบาทสำคัญต่อการปฏิรูปคริสต์ศาสนามากขึ้น ฯลฯ
เนเธอร์แลนด์ประสบปัญหาอีกครั้งในศตวรรษที่ 16 เมื่อตระกูลเบอร์กันดีแผ่อำนาจเข้าควบคุมเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ ต่อจากนั้นตระกูลฮับส์บวร์กก็เข้าคุมราชวงศ์เบอร์กันดีกลายเป็นส่วนหนึ่งจักรวรรดิโรมันขยายอำนาจจากเยอรมนี-ฝรั่งเศสขึ้นไปครอบครองยุโรปตอนเหนือเป็นส่วนใหญ่
ถึงตอนกลางของศตวรรษนี้ ผู้นำคนใหม่ของฮับส์บวร์กหันไปสวามิภักด์ต่อสเปน เป้าหมายยังคงเป็นการโจมตีฝ่ายโปรเตสแตนต์
สงครามยาวนานส่งผลให้เบลเยียมพ่ายแพ้ต่อสเปน ขณะที่กลุ่มโปรเตสแตนต์และพ่อค้าชาวยิวหนีไปหนุนฐานกำลังที่เนเธอร์แลนด์
ขบวนการกู้ชาติของดัตช์ได้ต่อสู้กับสเปนหลายยก ขณะเดียวกัน สงครามระหว่างฝ่ายคริสต์ศาสนาทั้ง 2 นิกาย เช่น สงคราม 30 ปีระหว่างฝ่ายอิตาลี-ออสเตรีย และสเปนกับฝ่ายเยอรมนี-สวีเดน-ดัตช์ก็กำลังดำเนินไปพร้อมกัน และทั้งทางบกและทะเล เมื่อดัตช์ปราบกองทัพเรือสเปนได้อย่างเด็ดขาดในปี 1639 สนธิสัญญาสงบศึกจึงเกิดขึ้นในฐานะส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลียในปี 1648 ที่รัฐทั่วยุโรปทำสัญญาสันติภาพต่อกันหลังสงครามยาวนาน 30 ปี
หลังจากสเปนและโปรตุเกสสำรวจ-ค้นพบเส้นทางการค้าใหม่ และสร้างความมั่งคั่งในการค้ากับชาติต่างๆ สเปนบุกไปยึดครองอเมริกาและโปรตุเกสอ้อมแอฟริกาใต้ไปสร้างเส้นทางการค้ากับเอเชีย วาสโก ดา กามา อ้อมแหลมกู๊ดโฮป ถึงอินเดียในปี 1497-1499 และหลังจากนั้นก็นำโปรตุเกสให้มีบทบาทมากขึ้นในการครอบครองการค้าแถบลังกา-อินเดียและอุษาคเนย์ พ่อค้าดัตช์ได้ใช้เวลา 1 ศตวรรษหลังจากนั้น ไปถึงหมู่เกาะชวาในปี 1595-1597
หลังจากนั้น ก็เริ่มจัดตั้งบริษัทดัตช์อีสต์อินเดีย ตั้งสำนักงานใหญ่ที่จาการ์ตา และยึดครองการค้าเครื่องเทศในแถบนั้น
ต่อมาในปี 1824 อังกฤษกับฮอลแลนด์ก็ทำสัญญาแบ่งเขตกันเกี่ยวกับดินแดนแถบนี้ ให้ฝ่ายแรกครอบครองหมู่เกาะมลายา ส่วนฝ่ายหลังครอบครองหมู่เกาะชวา
ระหว่างนั้น กองกำลังเรือของดัตช์มีบทบาทในการล่าและยึดครองอาณานิคมหลายแห่งทั่วโลก
ที่อเมริกาเหนือ ดัตช์เข้ายึดครองเกาะแมนฮัตตัน คอนเนตทิคัต เดลาแวร์ และนิวเจอร์ซีย์ (ภายหลังก็เสียให้อังกฤษ)
ที่ทะเลแคริบเบียนซึ่งมีหมู่เกาะจำนวนมาก ดัตช์ก็ยึดได้ไปจำนวน 6 หมู่เกาะ
ที่อเมริกาใต้ ดัตช์เข้ายึดครองบราซิลบางส่วน กียาน่า และซูรินาเม่ ที่แอฟริกา ดัตช์เข้ายึดครองกาน่าและเบนิน ว่ากันว่าดัตช์ค้าทาส นำทาสออกจากแอฟริกาไปขายได้ถึง 5 แสนคน ทำรายได้มหาศาล
ดัตช์พัฒนากองทัพเรือมาเป็นลำดับ หลังจากเอาชนะโปรตุเกส และสเปน และกลายเป็นกองทัพเรือที่แข็งแกร่งที่สุดเคียงคู่กับกองทัพเรืออังกฤษ ดัชต์ได้พัฒนาบริษัทดัตช์อีสต์อินดีย (เฟโอเซ) จนมีเรือสินค้าขนาดใหญ่ และเรือรบจำนวนมาก มีสาขาและพนักงานทั่วทุกทวีป ดัตช์ยังเป็นหนึ่งในศูนย์กลางเศรษฐกิจของยุโรปของศตวรรษนั้นด้วย
เมื่อกองทัพเรืออังกฤษเติบโตขึ้นเป็นลำดับ มีอาณานิคมที่ต้องดูแลทั่วโลก ความขัดแย้งย่อมเกิดขึ้นและนำไปสู่สงครามใหญ่รวม 4 ครั้ง 3 ครั้งแรกสงบศึก และในการรบครั้งสุดท้ายเมื่อปี ค.ศ.1781-1784 ดัตช์ก็พ่ายแพ้
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา เนเธอร์แลนด์ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่เข้าสู่ยุคทอง ซึ่งมีการพัฒนาที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022