17 เล่ม นวนิยายรอบแรก (Longlist) รางวัลซีไรต์ 2567

รายงานพิเศษ | สุขุม คัมภีรภาพ

 

17 เล่ม นวนิยายรอบแรก (Longlist)

รางวัลซีไรต์ 2567

 

จากนวนิยายจำนวน 69 เล่มที่ส่งประกวดรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือซีไรต์ ปี 2567 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณาให้มีนวนิยายเข้ารอบแรกจำนวน 17 เล่ม เรียงลำดับตามตัวอักษร ดังนี้

1.The Blues Cheaters เจ้าชายผู้โกงทุกข์ รัช ชาญสงคราม (มติชน) 2.กี่บาด ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด (คมบาง) 3.ไกรสร ดวงตา (ประพันธ์สาส์น) 4.ขอพร ไอโกะ ฮามาซากิ (ผีเสื้อ) 5.คนจรดาบ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง (มติชน)

6.คุณเคนต์และข้าพเจ้า Ms.Kent & Me LADYS (ลาดิด) (แซลมอน) 7.แชมเปญจ์น ซูเปอร์โนวาและการฆ่าตัวตายครั้งสุดท้ายของชาลี พิชา รัตนานคร (จงสว่าง) 8.โนอาร์แห่งความทรงจำ อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ (มติชน) 9.พัทยาและมาหยา DEAD DARING AND BURIED BAE LADYS (ลาดิด) (แซลมอน) 10.แมลงสาบในเมืองสลด อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ (อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์)

11.แมลงอายุสั้นที่เราไม่รู้จัก กล้า สมุทวณิช (คมบาง) 12.ล้านนาฮาเร็ม สาคร พูลสุข (ผจญภัย) 13.เส้นทางสายลึกลับ กร ศิริวัฒโน (บ้านกาลก่อง) 14.เสียงร่ำไห้หนึ่งพันครั้ง Athousand Cries อนุสรณ์ มาราสา (บลูเบิร์ด) 15.หมาป่ากลางมหาสมุทร ประชาคม ลุนาชัย (Din-Dan booK) 16.ห้องเรณู วิภาส ศรีทอง (สมมติ) และ 17.อันกามการุณย์ Non fa niente LADYS (ลาดิด) (ลาดิดและมูนสเคป)

นวนิยายทั้ง 17 เล่มที่เข้ารอบแรกรางวัลซีไรต์ดังกล่าว มีสัดส่วนนักเขียนชาย 10 เล่ม นักเขียนหญิง 7 เล่ม (4 คน)

ความน่าสนใจคือ ในจำนวนนักเขียนหญิงทั้ง 4 คนนี้ นักเขียนผู้ใช้นามปากกาว่า LADYS (ลาดิด) มีผลงานเข้ารอบถึง 3 เล่มด้วยกัน

 

ผลงานนวนิยายจำนวน 7 เล่มของนักเขียนหญิง มีเนื้อหาคร่าวๆ ดังนี้

ไกรสร ของดวงตา (ประพันธ์สาส์น) เป็นนวนิยายรองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัลชมนาดครั้งที่ 11 ซึ่งผลงานเล่มนี้ ผู้เขียนนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย โดยให้ตัวละครทนายความที่ประสบปัญหาเรื่องงานเพราะการระบาดของโควิด-19 ถูกเศรษฐินีว่าจ้างให้ตามหาสามีที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย แต่ยิ่งสืบกลับยิ่งขุดลึกถึงเบื้องหลังอะไรสักอย่าง ผลงานเล่มนี้เป็นนวนิยานแนวสืบสวนสอบสวนที่เข้ารอบเพียงหนึ่งเดียว และยังเป็นนวนิยายจากเวทีประกวดรางวัลชมนาด 1 ใน 8 เล่ม ที่สามารถฝ่าเข้ารอบแรกรางวัลซีไรต์ปีนี้ด้วย

ขอพร ของไอโกะ ซาฮามากิ (ผีเสื้อ) เป็นนวนิยายขนาดสั้นของนักเขียนบทภาพยนตร์ ที่นำเสนอเรื่องราวคล้ายอัตชีวประวัติของตัวละครหญิงสาวตั้งแต่ พ.ศ.2497-จวบวาระสุดท้ายของชีวิต พ.ศ.2563 อย่างเรียบง่าย สะเทือนอารมณ์

โนอาร์แห่งความทรงจำ อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ (มติชน) เป็นนวนิยายแนววิทยาศาสตร์จำนวน 20 ตอน ที่จะพาผู้อ่านออกเดินทางและดำดิ่งไปในห้วงความทรงจำที่ยากจะลบลืม ผ่านฝันร้าย บาดแผลจากยุคสมัยและโลกอนาคต

แมลงสาบในเมืองสลด (อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ ผู้จัดพิมพ์) เป็นนวนิยายขนาดสั้น เล่าเรื่องตัวละคร ‘ผม’ ที่ตกอยู่ในภาวะไม่ยินดียินร้าย โดยใช้แมลงสาบเป็นสัญลักษณ์ ที่นอกจากจะหมายถึงความน่ารังเกียจแล้ว เมื่อนำมาใช้ในเชิงเปรียบเทียบ มันคือความแปลกแยกและเป็นอื่นของตัวละคร ‘ผม’ ซึ่งจะกลายร่างเป็นแมลงสาบทุกครั้งที่มีความสุข

คุณเคนต์และข้าพเจ้า Ms.Kent & Me ของLADYS (ลาดิด) (แซลมอน) เป็นนวนิยายแนวการเดินทางของ ‘ข้าพเจ้า’ เริ่มจากบ้านริมทะเลของคุณย่าผู้ล่วงลับและพบกับสมุดบันทึกที่บรรยายถึงคุณเคนต์ จนนำไปสู่การตามหาและทำความรู้จักกับบุคคลปริศนาที่พยายามออกเรือไปยังประภาคารล่องหน สนทนากับเหล่าเงือก และสานความสัมพันธ์อันนำไปสู่ชายหาดที่ทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น

พัทยาและมาหยา DEAD DARING AND BURIED BAE (ลาดิด) (แซลมอน) เป็นนวนิยายขนาดสั้นที่กล่าวถึงอดีตคู่รักต่างวัย ‘พัทยา’ และ ‘มาหยา’ ซึ่งตัดสินใจขับรถยนต์ออกเดินทางจากปราณบุรีสู่เชียงใหม่ การเดินทางครั้งนี้ทำให้ทั้งสองคนที่เคยห่างเหินกันต้องมาสานสัมพันธ์ โดยใช้เวลาร่วมกันอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง ความน่าสนใจในงานเล่มนี้คือการจัดวางอดีต ปัจจุบัน และบทสนทนาที่เล่าผ่านกระแสสำนึก

อันกามการุณย์ Non fa niente (ลาดิดและมูนสเคป) เป็นนวนิยายแนวกระแสสำนึกที่เล่าผ่านความเป็นแม่และความเป็นอื่น

 

LADYS (ลาดิด) เป็นใคร ผู้เขียนรายงานพบข้อมูลเกี่ยวกับผู้เขียนที่ระบุไว้ท้ายเล่มนวนิยายเรื่อง พัทยาและมาหยา ดังนี้

“เกิดปี 1997 เรียนปริญญาตรีในคณะแพทย์ แต่ไม่ได้เป็นแพทย์ เธอเป็นนักเขียน อิสระบ้าง มีสังกัดบ้าง เนื่องจากเธอเชื่อในความลื่นไหลทางเพศของมนุษย์และปรารถนาจะสร้างโลกในวรรณกรรมที่โอบรับความหลากหลาย – เธอเองก็เป็น Non-Binary ตัวละครในงานเขียนของเธอจึงมั่งคั่งไปด้วยความหลากหลายทางอัตลักษณ์ ไม่ว่าจะทางเพศหรือเชื้อชาติก็ตาม”

ผลงานที่ผ่านมา เช่น

โบ และทุกสิ่งที่มิอาจแปลกแยก (2021)

ลาดิดหมายเลข 14 (2021)

อดาไลน์ และเรื่องสั้นอื่นๆ (2021)

คอนแซตตา คอนแซตตา (2021)

คุณคริมสันส์นั้นสุขสบาย (2022)

คุณเคนต์และข้าพเจ้า (2022)

ลาดิด โดย ลาดิด (2022)

หากเล่าถึงออร์ลันโด (2023)

หนนั้นวันโลกแตก (2023)

นับว่า LADYS (ลาดิด) เป็นนักเขียนหญิงรุ่นใหม่ที่มีผลงานน่าจับตามอง

 

เมื่อกล่าวถึงนักเขียนหญิงไปแล้ว ในบรรดาผลงานของนักเขียนชายทั้ง 10 เล่ม มีนวนิยายเล่มแรกของนักเขียนที่ส่งเข้าประกวด 2 เล่มคือ กี่บาด ของประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด (คมบาง) นักเขียนรุ่นใหม่ผู้มีผลงานเรื่องสั้นได้รับรางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ครั้งที่ 8 (2567) และรางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย โดยนวนิยายเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวความรักและความรวดร้าวของครอบครัวช่างทอผ้าซิ่นตีนจกจาก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ผนวกประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นำเสนอภาพผู้หญิง บทบาท ค่านิยม และจิตวิญญาณบนลวดลายของผืนผ้า

อีกเล่มเป็นนวนิยายเรื่อง แมลงอายุสั้นที่เราไม่รู้จัก ของกล้า สมุทวณิช (คมบาง) ที่นอกจากเขาจะเคยมีผลงานเข้ารอบสุดท้ายประเภทเรื่องสั้น ‘หญิงเสาและเรื่องราวอื่น’ (2557) ผ่านมา 10 ปี ผู้เขียนมีนวนิยายเล่มแรกที่ใช้ภาษางดงามผ่านผัสสะ เล่าถึงความสัมพันธ์ของคู่รัก ประเด็นทางเพศ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม การจดจำและลืมเลือนที่ชวนตั้งคำถามและเรียนรู้ ‘ข้างใน’ ของตัวเรา รวมทั้งความปรารถนา ธรรมชาติ และการดำรงอยู่ของมนุษย์

โดยนวนิยายทั้ง 2 เล่มนี้ สนพ.คมบาง จัดพิมพ์ เป็นนวนิยายที่ได้รับรางวัลจากการประกวดโครงการ Writerzeed (2566)

 

กล่าวโดยภาพรวม เมื่อเห็นรายชื่อผลงานนวนิยายทั้ง 17 เล่มที่เข้ารอบแรกนี้แล้ว มีนักเขียนหลายรุ่น เนื้อหาทั้งร่วมสมัย และล้ำสมัย หลากแนว เช่น ประวัติศาสตร์ ไซไฟ กระแสสำนึก สะท้อนชีวิตและสังคม โรคระบาด การต่อสู้ภายในและค้นหาตัวตน การเดินทาง สืบสวนสอบสวน ความรักความสัมพันธ์

ที่สำคัญ มีนวนิยายขนาดสั้นหลายเล่มเข้ารอบด้วย และส่วนใหญ่หนังสือสามารถหาซื้ออ่านได้ตามร้านหนังสือชั้นนำ ร้านหนังสืออิสระ เว็บไซต์ และในรูปแบบอีบุ๊ก จะมีเพียงบางเล่มที่จัดพิมพ์ด้วยตนเองหรือเป็นสำนักพิมพ์อิสระเท่านั้น

แต่สุดท้ายจะมีนวนิยานเล่มไหนเข้ารอบสุดท้าย (Shortlist) รางวัลซีไรต์ ปี 2567 บ้าง นักอ่านต้องติดตามผลการประกวดที่จะประกาศในวันที่ 30 กันยายนนี้

ข้อมูลอ้างอิง

– ภาพโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์จากเพจสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ

– ข้อมูลหนังสือจากเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ สนพ.แซลมอน, คมบาง, นายอินทร์, ผีเสื้อ และประพันธ์สาส์น