ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กันยายน 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ |
เผยแพร่ |
ขุนศรีศรากร บันทึกแผนจู่โจมของเหล่าผู้กล้า “สันติบาลใต้ดิน” ต่อไปดังนี้
“เมื่อข้าพเจ้าได้จัดการเรียบร้อยแล้วก็เป็นเวลาพอดีที่ท่านพูเลา (พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส) สอบถามข้าพเจ้าว่าพร้อมแล้วหรือยัง ข้าพเจ้าตอบว่าพร้อมแล้ว ซึ่งความจริงนั้น ข้าพเจ้าได้จัดการไว้พร้อมแล้วจริงๆ ได้ทำการแข่งขันการขว้างลูกระเบิดเสร็จไปแล้ว ทั้งขว้างด้วยลูกระเบิดฝึกหัดและขว้างด้วยลูกระเบิดจริง
ข้าพเจ้าได้จัดการแข่งขันการขว้างลูกระเบิดในสวนพุดตาน จัดรางวัลให้ 3 รางวัล แต่ตำรวจสันติบาลใต้ดินหน่วยนี้ต้องเข้าแข่งขันทุกคน แข่งขันเสร็จประมาณ 4 วันก็ได้ทำการขว้างด้วยลูกระเบิดจริง ทั้งนี้ เพื่อให้สันติบาลใต้ดินหน่วยนี้ได้เห็นอำนาจการระเบิดและดูวิธีหลบภัยของคนขว้างในเวลาลูกระเบิดได้ระเบิดขึ้น ได้จัดให้ตำรวจสันติบาลใต้ดินหน่วยนี้เป็นผู้ขว้างลูกระเบิดจริง
วันขว้างลูกระเบิดจริงนั้น นายพันตำรวจเอก หลวงสัมฤทธิ์สุขุมวาท กับ นายพันตำรวจโทประสงค์ ลิมอักษร เป็นผู้อำนวยการ ทราบว่าสันติบาลใต้ดินหน่วยนี้พอใจมาก วันนี้ กองพันทหารราบที่ 1 ได้มาดูด้วย มีผู้บังคับบัญชานำแถวทหารมาขอดูอย่างเรียบร้อย”
เป้าหมายของสันติบาลใต้ดินชุดนี้มีทั้งตัวบุคคลและสถานที่สำคัญอันเป็นหัวใจของการสั่งการ
“นายพลญี่ปุ่นที่จะถูกควบคุมตัวมี 9 นาย และมีพันเอก 1 นาย รวมคนที่จะต้องถูกสันติบาลใต้ดินจัดการสังหาร 10 คน สถานที่ซึ่งจะต้องถูกทำลายอีก 4 แห่ง คือวิทยุ 2 แห่ง และโทรศัพท์ 2 แห่ง วิธีกระทำการดังกล่าวนี้เป็นวิธีการที่ต้องกระทำเพื่อระงับการสั่งงานของฝ่ายกองทัพญี่ปุ่น กองทัพที่ไม่มีนายสั่งงานและกองทัพที่ติดต่อสื่อสารกันไม่ได้เช่นนี้เป็นกองทัพที่ตาบอดไม่สามารถจะสู้ใครได้เต็มที่”
“วิธีปฏิบัติการเช่นนี้เป็นวิธีที่ข้าพเจ้าเคยทำมาบ้างแล้ว คือข้าพเจ้าได้ลงมือทำด้วยตนเองในเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ข้าพเจ้าต้องไปควบคุมจุดสำคัญชั้นพลตรีซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ในเช้าวันนั้น ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติงานของข้าพเจ้าเป็นอย่างดีโดยได้ยับยั้งการสั่งการไว้อย่างเด็ดขาด ซึ่งข้าพเจ้าได้ปฏิบัติการสำเร็จสมกับคำสั่งของหัวหน้า
“ในครั้งนี้ ครั้งที่จะเล่นงานญี่ปุ่นนี้ข้าพเจ้าเป็นผู้อำนวยการเองและได้จัดวางกำลังเอง เมื่อเคยทำมาบ้างแล้วการที่จะทำอยู่ในประเภทเดียวกันจึงทำได้ง่าย”
หัวหน้าสันติบาลใต้ดิน
ขุนศรีศรากร-พ.ต.อ.ชะลอ ศรีศรากร บันทึกนามหัวหน้าหน่วยกล้าตายซึ่งสมควรได้รับการยกย่องเยี่ยงวีรชนไว้ด้วย
“หัวหน้าหน่วยสันติบาลใต้ดินหน่วยนี้คือ นายพันตำรวจตรีชอุ่ม สินธุวาชีวะ ผู้ซึ่งเคยเป็นนายตำรวจประจำตัวท่านปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเขาผู้นี้ที่ได้เคยทำการยิงต่อสู้กับนายจือโม้ที่ถนนสีลม นายจือโม้เป็นผู้ร้ายฆ่าคน โดยนายจือโม้ได้ทำการยิงนายอึ้งยกหลงตาย นายพันตำรวจตรีชอุ่ม มีลักษณะเข้มแข็งและอาจหาญ
เมื่อถูกข้าพเจ้าเรียกมาพบในครั้งแรก ข้าพเจ้าถามนายพันตำรวจตรีชอุ่ม ว่า ‘เกลียดญี่ปุ่นไหม’ ชอุ่มตอบทันทีว่า ‘นายพันตำรวจตรีชอุ่ม เกลียดญี่ปุ่นมาก แต่ประชาชนชาวไทยมีความเกลียดมากกว่า’ ข้าพเจ้ากล่าวว่า ‘พวกเราจะฟาดญี่ปุ่น นายพันตำรวจตรีชอุ่ม จะเอากับพวกเราไหม’ ชอุ่มหัวเราะเสียงดังและกล่าวซ้ำว่า ‘เห็นชอบจริง เห็นชอบด้วยจริงๆ’ พูดพลางหัวเราะพลาง แต่เสียงหัวเราะอันดังกังวานอยู่นั้นมีความกระด้างน่ากลัวปนอยู่ด้วย
ข้าพเจ้ากล่าวต่อไปอีก ‘นายพันตำรวจตรีชอุ่ม ชอบแน่หรือ เพราะการฟาดญี่ปุ่นครั้งนี้ก็หมายถึงว่าพวกเราจะต้องตาย’ ชอุ่มหัวเราะเสียงดังอีกพร้อมกับกล่าวว่า ‘ผู้บังคับการก็ดี นายพันตำรวจตรีชอุ่มก็ดี จะต้องตายทุกคน ไม่มีใครหนีความตายได้เลย ไหนๆ จะตายแล้วก็ขอให้ตายเพราะฟาดญี่ปุ่น มันจะตายอย่างมีความสุขมาก’ นายพันตำรวจตรีชอุ่ม ขอร้องที่จะร่วมมือด้วย
ข้าพเจ้าตกลงให้นายพันตำรวจตรีชอุ่ม สินธุวาชีวะ เป็นหัวหน้าหน่วยสันติบาลใต้ดินสวนพุดตาน ทำการฝึกหัดนายสิบพลตำรวจให้มีความชำนาญในการยิงปืนกลและขว้างลูกระเบิดมือ ตลอดจนหัดดัดตนมือเปล่าด้วย ต่อมาอีก 2-3 วัน นายพันตำรวจตรีชอุ่มได้ขอร้องนายร้อยตำรวจโทประวัติ ขนุนทอง ไปเป็นผู้ช่วย”
ขุนศรีศรากรกำหนดเป้าหมายสำคัญของทหารญี่ปุ่นที่จะเข้าทำลายไว้ 11 จุด ดังนี้
“จุดที่ 1 คือสมาคมเซียงหวยเดิม ญี่ปุ่นได้ใช้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพนี้ และ พล.ท.นากามูระ ซึ่งเป็นแม่ทัพนี้ก็พักอยู่ในบริเวณนี้ และ ณ ที่นี้ ยังมี พล.ท.อาตารี และ พล.ท.ฮานายะ พักรวมอยู่กับ พล.ท.นากามูระด้วย
ชุดนี้อยู่ถนนสาทรได้จัดกำลังตำรวจสันติบาลนอกเครื่องแบบเข้าประชิดอย่างลับ มีกำลัง 7 คนมีอาวุธปืนกลทอมสัน 4 กระบอก ลูกระเบิดมือคนละ 3 ลูก รวม 21 ลูก มีหน้าที่สังหารชีวิตนายพลทั้ง 3 นั้นโดยบุกแลกชีวิตต่อกันอย่างเด็ดขาด
จุดที่ 2 คือบ้านพักของ พล.ท.ฮามาดะ ตำแหน่งเสนาธิการกองทัพ แห่งกองทัพนี้ อยู่บ้านถนนวิทยุ ให้จัดกำลังเข้าประชิดบ้านนี้ 7 คน มีอาวุธปืนกลทอมสัน 2 กระบอก และลูกระเบิดมือ 21 ลูก
จุดที่ 3 คือบ้านพักของ พ.อ.โทคุดา เป็นสารวัตรใหญ่ทหารญี่ปุ่น บ้านอยู่ถนนราชดำริ ข้าพเจ้าจัดกำลังเข้าประชิดตัวเพียง 6 คน มีอาวุธปืนกลทอมสัน 1 กระบอก ลูกระเบิดมือ 18 ลูก
จุดที่ 4 คือบ้านพักของ พล.ต.โอฮารา ตำแหน่งรองเสนาธิการกองทัพ แห่งกองทัพ “งิ” บ้านอยู่ถนนราชดำริเหมือนกัน แต่อยู่ห่างจาก พ.อ.โทคุดา ข้าพเจ้าจัดกำลังไว้ 6 คน มีอาวุธปืนกลทอมสัน 1 กระบอก ลูกระเบิดมือ 18 ลูก
จุดที่ 5 คือบ้านพักของ พล.ต.โคมายาชิ ตำแหน่งผู้บัญชาการขนส่ง ซึ่งกำลังรับหน้าที่ต่อจาก พล.ท.อิชิดา บ้านอยู่ถนนเย็นอากาศ ได้จัดกำลังเข้าประชิด 6 คน มีปืนกลทอมสัน 1 กระบอก และลูกระเบิดมือ 16 ลูก
จุดที่ 6 คือบ้านพักของ พล.ร.ต.ซาโต ตำแหน่งทูตทหารเรือญี่ปุ่น บ้านอยู่ถนนพญาไท ได้จัดกำลัง 6 คน มีอาวุธปืนกลทอมสัน 1 กระบอก และลูกระเบิดมือ 16 ลูก
จุดที่ 7 คือบ้านพักของ พล.ท.อิชิดา ตำแหน่งผู้บัญชาการขนส่งหน่วยชิดา บ้านอยู่ถนนชิดลม ข้าพเจ้าจัดกำลังประจำ 5 คน มีอาวุธปืนกลทอมสัน 1 กระบอก และลูกระเบิดมือ 15 ลูก
จุดที่ 8 คือที่ตั้งสถานีวิทยุโดเม อยู่ถนนนเรศ ได้จัดกำลังประจำ 5 คน มีอาวุธปืนกลทอมสัน 1 กระบอก ลูกระเบิดมือ 15 ลูก มีหน้าที่ทำลายเครื่องวิทยุและสังหารเจ้าหน้าที่วิทยุโดเมทั้งหมด
จุดที่ 9 คือสถานที่ตั้งสถานีวิทยุของกองทัพงิ ซึ่งตั้งอยู่ในโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย บางกะปิ ได้จัดกำลัง 5 คน มีอาวุธปืนกลทอมสัน 1 กระบอก และลูกระเบิดมือ 15 ลูก
จุดที่ 10 คือสถานีโทรศัพท์กลางของญี่ปุ่น ซึ่งตั้งอยู่ในโรงเรียนอุเทนถวายตอนหลังสนามกีฬาแห่งชาติ ได้จัดกำลัง 5 คน มีอาวุธเท่ากันกับจุดที่ 8
จุดที่ 11 คือสถานีโทรศัพท์กลางของญี่ปุ่นซึ่งตั้งอยู่ในโรงเรียนดรุโณทัย ถนนพญาไท ได้จัดกำลังและอาวุธเท่ากันกับจุดที่ 10
ทุกหน่วยมีปืนพกประจำตัวครบ และจุดใดมีนายพลและเจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่นรักษาการอยู่ให้จัดการสังหาร ส่วนวิทยุและโทรศัพท์ก็ให้ทำลายจนใช้การไม่ได้”
เพื่อป้องกันการหาข่าวความเคลื่อนไหวจากตำรวจลับญี่ปุ่นซึ่งมีการเตรียมการดำเนินการต่อกำลังฝ่ายไทยเช่นเดียวกัน จึงมีการกระจายการวางกำลังตำรวจสันติบาลหน่วยนี้ไว้ดังนี้
“สำหรับกำลังตำรวจสันติบาลทั้งหมดนั้นถ้าจะรวมไว้ที่ตั้งเดิมที่ปัจจุบันจะเป็นอันตรายมากเพราะตกอยู่ในวงล้อมของญี่ปุ่น ท่านพูเลาได้สั่งข้าพเจ้าให้แยกกำลังออก 5 หน่วย คือหน่วยโรงแรมมัฆวาน หน่วยสันติบาล (บ้านบรรทมสินธุ์) หน่วยวังปารุสกวัน หน่วยโรงเรียนวชิราวุธและหน่วยฝั่งธนบุรี กองตำรวจสันติบาลจึงถูกแยกออกเป็น 7 หน่วยด้วยกัน (รวมทั้งหน่วยสวนพุดตานกับหน่วยปทุมวัน) และทุกๆ หน่วยมีปืนกล ปืนพก และลูกระเบิดมือประจำหน่วยพร้อม
หน่วยปทุมวันมีหน้าที่ทำการต่อสู้ในวงล้อมของญี่ปุ่น หน่วยสวนพุดตานมีหน้าที่แยกกำลังไปประชิดจุดต่างๆ 11 จุดดังกล่าวแล้ว ส่วนอีก 5 หน่วยนั้นมีหน้าที่ไปรวมกำลังที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อรอฟังคำสั่งพิเศษของพวกเราเมื่อจำเป็นจะต้องสู้ตาย
การแยกกำลังกองตำรวจสันติบาลออกเป็น 7 หน่วยนี้เพื่อป้องกันการยึดของญี่ปุ่นด้วย ถ้าญี่ปุ่นลงมือก่อน หมายความว่าญี่ปุ่นจัดวันลงมือเป็นของเขาก่อนแล้ว หน่วยต่างๆ ที่แยกไว้นี้ต้องคุมกำลังออกแยกกันเดินไปรวมกำลังที่ลานพระบรมรูปทรงม้า แต่ถ้ามีคำสั่งพิเศษไว้ก่อนก็ให้จัดการตามคำสั่งนั้นทันที ถ้าไม่ได้รับคำสั่งอย่างไรคงให้ทุกๆ หน่วยเคลื่อนที่ไปรวมพลที่ลานพระบรมรูปทรงม้า
ในขณะเคลื่อนที่ไปนั้น ถ้าญี่ปุ่นขัดขวาง ให้ดำเนินการต่อสู้และหาโอกาสเข้ารวมกำลังกับหน่วยใดหน่วยหนึ่งที่กำลังสู้กันอยู่นั้น”
หน่วยสันติบาลใต้ดินนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรวมกำลังทั้งทหารและเสรีไทยในการลุกขึ้นต่อต้านญี่ปุ่นตามแผนของนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าเสรีไทย พร้อมกับการส่งกำลังตีกระหนาบจากนอกประเทศโดยอังกฤษและสหรัฐอเมริกา
“ตามแผนการเดิมนั้น สันติบาลใต้ดินจะลงมือทำการพร้อมกับทหารกองพลที่ 1 โดยกำหนดวันและเวลาเดียวกัน กองพลที่ 1 มีหน้าที่บุกเข้าตีตรงหน้าด้วยกำลังทหาร ส่วนสันติบาลใต้ดินมีหน้าที่สังหารและทำลายจุดสำคัญ 11 จุด ซึ่งได้เข้าประชิดอยู่แล้วนั้น สันติบาลใต้ดินจะกระทำการตามแบบอย่างของแนวที่ห้า แต่เป็นแนวที่ห้าแบบสันติบาลใต้ดินซึ่งมีอาวุธครบมือประกอบด้วยลูกระเบิดมือและปืนกลทอมสัน”
เมื่อสันติบาลใต้ดินเหล่านี้พร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ และอาวุธแล้วก็เริ่มวางกำลังประกบเป้าหมาย
“จุดต่างๆ 11 จุดที่จะเข้าประชิดนั้น โดยมากเราใช้บ้านเช่าหรือบ้านผู้ชอบพอคุ้นเคยกัน เมื่อเราจัดกำลังเข้าประจำแล้ว เจ้าของบ้านบางบ้านสงสัยมากถึงกับรีบออกไป ยกครอบครัวไปที่อื่น และอพยพไปโดยไม่ติดต่อให้เราทราบ เมื่อเจ้าของบ้านสงสัยแต่ไม่ได้สอบถามเรา ไม่กล้าพูดกับเรา ข้าพเจ้าคิดว่า เขาอยากให้เราทำงานเหลือเกิน เขาอุตส่าห์ยอมเสียสละความสุขส่วนตัว ยอมยกบ้านให้เราเพื่อเปิดโอกาสให้เราทำงานได้เต็มที่”
แต่ในที่สุดแผนการลุกขึ้นสู้ของคนไทยเพื่อขับไล่ทหารญี่ปุ่นก็ยกเลิกไปเมื่อประเทศญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้เสียก่อน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2488
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022