ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
ถ้าเอ่ยชื่อของ มณเฑียร บุญมา คนรักศิลปะร่วมสมัยจำนวนไม่น้อยน่าจะรู้จักเขาในฐานะศิลปินคนสำคัญผู้ล่วงลับ ผู้บุกเบิกงานศิลปะร่วมสมัยของไทยร่วมกับศิลปินอีกหลายคนในช่วงทศวรรษที่ 90
ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ เขามุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง ทั้งงานจิตรกรรม, ประติมากรรมสื่อผสม และศิลปะจัดวาง ที่สะท้อนแนวความคิดเกี่ยวกับธรรมชาติ สังคม และการรุกคืบของระบอบอุตสาหกรรม ภายใต้การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอันเป็นกระแสหลักในช่วงทศวรรษที่ 90 ที่มีแนวทางก้าวล้ำนำหน้าในยุคสมัยนั้นเป็นอย่างมาก
แม้ในช่วงที่ประสบวิบากกรรมในชีวิต มณเฑียรยังแปรเปลี่ยนเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์เชิงพุทธปรัชญาที่ตั้งคำถามต่อความหมายของชีวิตและความตาย
ทำให้เขาเป็นศิลปินไทยคนแรกๆ ที่ผสมผสานแนวทางศิลปะคอนเซ็ปช่วลอาร์ตของตะวันตกเข้ากับปรัชญาตะวันออกและพุทธศาสนาได้อย่างลุ่มลึกลงตัว
ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ มณเฑียรอุทิศแรงกายแรงใจให้กับการทำงานศิลปะ และการตระเวนแสดงงานศิลปะทั้งในและต่างประเทศมากมาย แต่การทุ่มเททำงานหนักก็กลับส่งผลให้มณเฑียรล้มป่วยและจากไปก่อนเวลาอันควรอย่างน่าเสียดาย
นอกจากการเป็นศิลปินแล้ว มณเฑียรยังมีบทบาทสำคัญในฐานะครู ผู้วางรากฐานการศึกษาศิลปะร่วมสมัยของไทย เขาริเริ่มแนวทางการสอนศิลปะโดยเน้นแนวความคิดที่ชัดเจนและมีเหตุผล เปิดโอกาสให้นักศึกษาค้นคว้าทดลองเพื่อหาแนวทางความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์ศิลปะ
ลูกศิษย์หลายคนที่ได้รับการถ่ายทอดอิทธิพลทางความคิดจากมณเฑียรต่างก้าวขึ้นมาเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ
หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้มีชื่อเสียงในระดับสากลอย่าง นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ที่สร้างนิทรรศการศิลปะเพื่อเป็นการบูชาครูและรำลึกถึงอาจารย์ผู้เป็นที่รักของเขา
ในนิทรรศการที่มีชื่อว่า “จากไป กลับมา” Departed < > Revisited ในปี 2020 ที่ย้อนรำลึกถึงชีวิตและผลงานของ มณเฑียร บุญมา โดยจัดขึ้นภายในพื้นที่ของ วัดอุโมงค์ สวนพุทธธรรม จังหวัดเชียงใหม่ วัดเก่าแก่กลางผืนป่าที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณที่ช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจ คลายความทุกข์และกระวนกระวายใจของมณเฑียรในขณะที่เผชิญกับปัญหาที่รุมล้อมชีวิต และยังเคยเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมศิลปะเชิงทดลองของกลุ่มศิลปินและนักศึกษาศิลปะหัวก้าวหน้าในเชียงใหม่อย่างเทศกาลศิลปะ ‘เชียงใหม่จัดวางสังคม’ (Chiang Mai Social Installation)
นิทรรศการครั้งนี้มุ่งเน้นการจัดแสดงประวัติชีวิตผ่านกระบวนการทำงานและแนวความคิดในผลงานของมณเฑียร บุญมา ในช่วงที่พำนักและทำงานอยู่ที่เชียงใหม่ ผ่านผลงานศิลปะที่ถูกสร้างและตีความขึ้นใหม่จากต้นฉบับ
ล่าสุด นาวินยังจัดกิจกรรมสรุปโครงการ “จากไป กลับมา” เพื่อเป็นบทสรุปของโครงการบูชาและรำลึกถึงครูคนสำคัญของเขาในช่วงกลางเดือนสิงหาคมปี 2024 ที่ผ่านมา
“ย้อนกลับไปในปี 2020 เราจัดนิทรรศการที่รำลึกถึงอาจารย์มณเฑียรขึ้นที่วัดอุโมงค์ เหตุผลเพราะที่นี่เป็นสถานที่ที่อาจารย์มณเฑียรเคยผูกพัน และผลงานที่นำกลับมาแสดงที่นี่ ก็เป็นผลงานที่เกี่ยวกับวัดอุโมงค์โดยตรง ทั้งตัวผลงานและก็ตัวเนื้อหาที่อาจารย์ทำ เราเริ่มจากการกลับไปดูพื้นที่ เก็บข้อมูลค้นคว้าผลงาน เพื่อสร้างผลงานของอาจารย์มณเฑียรขึ้นมาใหม่”
“เริ่มจากผลงาน วิปัสสนา-ภาชนะ ที่ประกอบด้วยชามดินเผาเรียงซ้อนเป็นชั้น ให้สัมพันธ์กับพื้นที่ เพื่อสื่อถึงความสมดุลของกายและจิตที่เกิดสมาธิ สะท้อนถึงชะตากรรมของชีวิตอันเปราะบาง ดังที่อาจารย์มณเฑียรเคยอ้างถึงพุทธพจน์บทหนึ่งในบันทึกการทำงานว่า ‘ชีวิตสัตว์เหมือนภาชนะบนดิน ซึ่งล้วนมีความสลายเป็นที่สุด’ ผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานชิ้นสำคัญของอาจารย์ที่เคยร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะเชียงใหม่จัดวางสังคม ครั้งที่ 2 ประจวบกับการที่เราเจอกองใบไม้เป็นวงกลมตรงจุดที่เคยติดตั้งผลงานชิ้นนี้ในอดีต จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เราสร้างผลงานชิ้นนี้มาวางบนพื้นที่เดิมอีกครั้ง”
“ในตอนแรก เราพบว่าชามดินเผาซึ่งเป็นส่วนประกอบของผลงานชิ้นนี้ไม่เหลืออยู่แม้แต่ใบเดียว แต่ด้วยความที่เรามีแบบร่าง ข้อมูล และภาพถ่ายของผลงานชิ้นนี้ และเราเคยมีประสบการณ์ในการช่วยติดตั้งผลงานชิ้นนี้ รวมถึงทำหน้าที่ขับรถพาอาจารย์ไปส่งที่หมู่บ้านเหมืองกุง ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่สถานที่ผลิตชามดินเผาของงานชิ้นนี้ เราก็ชวนลูกศิษย์ใกล้ชิดของอาจารย์คนอื่นๆ ที่เคยช่วยติดตั้งงานอาจารย์อย่าง ธัชชัย หงษ์แพง, อุดม ฉิมภักดี และ ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ มาช่วยกันดูรูปทรง ขนาด และโครงสร้าง และองค์ประกอบต่างๆ ของงาน จนทำขึ้นมาใหม่ได้สำเร็จ และติดตั้งบนพื้นที่เดิมที่เคยจัดวางผลงาน”
“และอีกผลงานอย่าง Room ประติมากรรมจัดวางโครงสร้างไม้ระแนงโปร่ง จำนวน 7 ชิ้น ที่เปิดให้ผู้ชมเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ภายในในหลายอิริยาบถ ยืน นั่ง นอน เพื่อทำสมาธิ ขึงด้วยผ้าม่านสีดำพิมพ์ลวดลายเครื่องหมายปรัศนี (คำถาม) และอัศเจรีย์ (ตกใจ) ซึ่งเราบังเอิญมีตัวอย่างของผ้านี้อยู่ผืนหนึ่ง”
“และเรามีประสบการณ์ในการเดินทางไปเป็นตัวแทนอาจารย์ในการสร้างงานผลงานชิ้นนี้ขึ้นในประเทศออสเตรเลีย”
“ในปี 2020 ยังเป็นปีที่ครบรอบ 20 ปี ที่อาจารย์เสียชีวิต เราก็อยากทำงานที่อุทิศให้กับอาจารย์ เราเองก็เคยเล่าเกี่ยวกับผลงานชิ้นนี้ให้พระที่วัดอุโมงค์ที่เราสนิทสนมด้วยฟัง และคิดว่าน่าจะเป็นเหตุผลและวาระที่ดีที่เราจะนำผลงานนี้มาจัดแสดงที่วัดอุโมงค์ โดยเราขอทางวัดใช้พื้นที่ลานเจดีย์ เพราะงานชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจจากการวางผังของอาคารสถาปัตยกรรมขอมโบราณอย่าง ปราสาท ที่มีอาคารเจ็ดหลัง โดยศูนย์กลางเป็นรูปทรงสถูป คล้ายกับพื้นที่ของลานเจดีย์ที่มีเจดีย์อยู่ตรงกลาง ซึ่งงานชิ้นนี้เป็นงานที่อาจารย์พูดถึงการใช้ห้องที่เปิดพื้นที่ให้คนเข้าไปใช้ภายในใน เพื่อให้ได้จดจ่ออยู่กับตัวเอง คล้ายกับการทำสมาธิ เราก็ทำงานชิ้นนี้ขึ้นมาใหม่ด้วยความช่วยเหลือของคุณมิตร ใจอินทร์ และอาจารย์ชัยวุฒิ ร่วมฤดีกูล”
“เมื่อทำงานสองชิ้นนี้เสร็จ เราก็ไปขออนุญาตกับทางแบงค์ (จุมพงษ์ บุญมา) ลูกชายของอาจารย์มณเฑียร (และผู้ดูแลหอจดหมายเหตุ Montien Atelier) ผู้ถือลิขสิทธิ์ผลงานของอาจารย์อยู่ ซึ่งทางแบงค์ก็ยินดีและอนุญาตให้ทำ ท้ายชื่อผลงานทั้งสองชิ้นนี้ เรายังใส่วงเล็บว่า Reconstructed, 2020 โดยไม่ใส่ชื่อเราเป็นศิลปิน เพราะนี่ไม่ใช่ผลงานของนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล แต่เป็นผลงานของมณเฑียร บุญมา ที่เราสร้างขึ้นมาใหม่”
“ส่วนผลงานชิ้นที่สาม เกิดจากการที่เราได้ไปพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม และได้สัมภาษณ์คุณฌอง มิเชล เบอร์เดอร์เลย์ (Jean-Michel Beurdeley) และได้เห็นผลงานของอาจารย์มณเฑียรที่ถูกสะสมอยู่ในคอลเล็กชั่นของพิพิธภัณฑ์อย่าง Black Question ซึ่งเป็นประติมากรรมเหล็กดัด ที่ถึงแม้เราจะไม่ได้ช่วยทำงานชิ้นนี้ แต่เราเคยขนส่งตัวงาน และเคยช่วยอาจารย์สั่งเหล็กมาสร้างผลงาน ทำให้เรารู้ว่า ทั้งรูปทรงและวิธีการนั้นเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นอุโมงค์ ซึ่งแน่นอนว่าอาจารย์ได้รับอิทธิพลทางความคิดของรูปทรงนี้มาจากการใช้เวลาที่วัดอุโมงค์”
“ด้วยความที่ผลงานชิ้นนี้วางกับพื้นและมีรูเล็กๆ เหมือนรูหนู เราก็ก้มเอาโทรศัพท์มือถือส่องเข้าไปในรูและเปิดไฟฉายถ่ายภาพ จนเห็นภายในเป็นแสงเงาที่สวยงาม มีแสงส่องทะลุรูเจาะรูปเครื่องหมายคำถามลงมา พอคุณฌอง มิเชล เห็นภาพนี้ก็พูดขำๆ ขึ้นมาว่า นี่อาจจะเป็นโมเดลหอศิลป์ของอาจารย์มณเฑียรก็ได้ เราก็ปิ๊งไอเดียขึ้นมาทันทีว่า งานชิ้นนี้น่าจะเป็นพื้นที่ภายในที่เราเข้าไม่ถึง เพราะว่าเราเข้าไปไม่ได้ เราก็อยากทำให้พื้นที่นี้เข้าถึงได้ เราจึงสร้างเป็นผลงานที่ตีความงานชิ้นนี้ขึ้นมาใหม่ โดยให้มีรูปทรงและโครงสร้างเดิม แต่ขยายขนาดขึ้นประมาณ 15 เท่า ในงานเดิมของอาจารย์มณเฑียร ตรงปลายอุโมงค์ว่างเปล่าไม่มีอะไร เราก็คิดถึงวัดอุโมงค์ว่าในอุโมงค์ของวัดตรงปลายมีพระประธานและจิตรกรรมฝาผนัง เราก็คุยกับทีมงานว่าอยากจะวาดภาพติดตรงปลายอุโมงค์ โดยเอาเรื่องราวจากการสัมภาษณ์คุณยาย (แม่ยายของอาจารย์มณเฑียร) ที่เล่าถึงความทรงจำเกี่ยวกับอาจารย์มณเฑียร ทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับโน้ตเพลง Funeral March ของ โชแปง ที่อาจารย์ขอให้เพื่อนเล่นเปียโนของภรรยาที่เสียชีวิตไปแล้วให้ฟังตอนป่วย”
“เรายังพบเฟรมผ้าใบว่างๆ สีขาวที่เสียบอยู่ในช่องผนังในบ้านของอาจารย์มณเฑียร ที่อาจารย์เตรียมไว้ให้แบงค์วาดภาพตอนโต เราก็ทำเป็นภาพวาดบุคคลหมู่ ทั้งภาพคุณยาย อาจารย์มณเฑียร แบงค์ และผู้คนในชีวิตของอาจารย์มายืนเรียงในพื้นที่เดียวกัน โดยเรียงแบบงานจิตรกรรมไทยประเพณี และหยิบเอาองค์ประกอบของดอกบัวมาจากภาพจิตรกรรมฝาผนังของขรัวอินโข่งมาใส่และใส่ทิวทัศน์ที่มองเห็นแม้น้ำเจ้าพระยา วัดอรุณ และฟลอเรนซ์ เป็นการเดินทางของศิลปะสมัยใหม่จากตะวันตกมายังเมืองไทย และเรื่องราวการเดินทางของเราเองในการตามรอยเรื่องราวของอาจารย์มณเฑียรในการทำงานครั้งนี้”
“โดยมีเฟรมสีขาวว่างเปล่าฝังอยู่ตรงกลางภาพวาด เหมือนงานของอาจารย์มณเฑียรที่ชอบเล่นกันช่องรูและพื้นที่ว่าง โดยมีเสียงเพลง Funeral March ที่บันทึกเสียงจากเปียโนหลังเดิมของภรรยาของอาจารย์เปิดภายในอุโมงค์ เราตั้งชื่องานชิ้นนี้ว่า ‘Black Question (After Montien Boonma) (2020)’ เพราะเป็นงานที่เราตีความขึ้นใหม่”
“หลังจากแสดงงานทั้งสามชิ้นนี้ในวัดอุโมงค์ในช่วงเวลาประมาณสี่เดือน จนต้องปิดลงก่อนกำหนดจากสถานการณ์โควิด เราก็ตัดสินใจเก็บผลงานบางส่วน อย่างผลงาน วิปัสสนา-ภาชนะ เราก็ปรึกษากับพระในวัดอุโมงค์ว่าเราขอย้ายผลงานเข้าไปติดตั้งภายในโรงภาพปริศนาธรรมของวัด เพื่อป้องกันความเสียหาย รวมไปถึงจัดแสดงข้อมูลและภาพบันทึกจากนิทรรศการภายในอาคารนี้ เรายังทำการซ่อมแซมอาคารที่ชำรุดเสียหาย และใส่เรื่องราวประวัติของวัดอุโมงค์ ทั้งในรูปของการ์ตูน และแผนที่ของวัด”
“ส่วนผลงาน Black Question ที่ทำขึ้นใหม่ เราก็ย้ายกลับมาติดตั้งที่สตูดิโอเค และเปิดให้คนเข้าชมในกิจกรรมสรุปโครงการ ‘จากไป กลับมา’ ครั้งนี้”
“โดยกิจกรรมที่ว่านี้มีทั้งการเปิดตัวหนังสือ ‘จากไป กลับมา Departed < > Revisited A Tribute to Montien Boonma’ และกิจกรรมการเสวนา โดยอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ และปัจฉิมกถา โดยพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล รวมถึงการฉายภาพยนตร์สารคดีขนาดยาว 3 ชั่วโมง ‘จากไป กลับมา’ ที่เป็นเหมือนบันทึกการเดินทางในการออกตามรอยและพูดคุยกับบุคคลที่เคยใกล้ชิดกับอาจารย์มณเฑียร โดยร้อยเรียงจากจดหมายที่เราเขียนถึงอาจารย์ และใช้เสียงบรรยายของผู้คนที่เราได้พบและเกี่ยวข้องในการทำงานครั้งนี้ โดยให้แต่ละคนสลับกันอ่านจดหมาย เพื่อเล่าถึงความทรงจำและประสบการณ์ที่เคยได้สัมผัสกับอาจารย์มณเฑียร และร่วมแสดงความเคารพและความระลึกถึงที่มีต่ออาจารย์”
“เราตั้งใจจะจัดฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ทางสื่อออนไลน์ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ ไม่ต่างจากการทำงานของอาจารย์ ที่ไม่ได้แสดงในหอศิลป์แต่เพียงอย่างเดียว แต่ติดตั้งกลางพื้นที่สาธารณะให้ใครมาดูก็ได้ด้วย เราก็เลยเลือกที่จะเผยแพร่สื่อภาพยนตร์นี้ให้เป็นสาธารณะเหมือนกัน”
กิจกรรมสรุปโครงการ “จากไป กลับมา” จัดขึ้นในวันที่ 16 สิงหาคม 2024 ณ วัดอุโมงค์ สวนพุทธธรรม และวันที่ 17 สิงหาคม 2024 ณ สตูดิโอเค นาวิน โปรดักชั่น จังหวัดเชียงใหม่
สามารถชมภาพยนตร์สารคดีทางออนไลน์ได้ที่ https://www.navinproduction.com/departed-revisited/
อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022