จากรำโทนสู่รำวง : ความบันเทิงของคนไทยในช่วงสงคราม (จบ)

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

จากรำโทนสู่รำวง

: ความบันเทิงของคนไทยในช่วงสงคราม (จบ)

 

จากรำโทนสู่ “รำวงมาตรฐาน”

รําวงมาตรฐาน มีวิวัฒนาการจากการเล่นรำโทนซึ่งเป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวบ้าน การละเล่นนี้ไม่จำกัดผู้เล่นทั้งเพศและวัย เป็นการร้องและรำตามความสนุกสนานผ่อนคลายเป็นสำคัญ ไม่มีแบบแผนกำหนดไว้ที่แน่ชัด โดยรำเป็นวงกลมล้อมคนตีโทน หรือไม่ก็รำรอบครกตำข้าว

สาเหตุที่รำโทนเป็นที่นิยมแพร่หลายในพระนครเกิดจากการอพยพหนีภัยการทิ้งระเบิดของชาวกรุงไปยังพื้นที่รอบนอกพระนครหรือจังหวัดข้างเคียง ทำให้รำโทนเข้ามาแพร่หลาย ด้วยชาวกรุงครั้งนั้นนิยมเล่นรำโทนกันอย่างสนุกสนานเพื่อให้ลืมความทุกข์ความโศกที่พบเห็น (ลาวัณย์, 2527, 198-199)

ต่อมารำโทนถูกปรับปรุงขึ้นเป็นรำวงมาตรฐาน และคนที่อยู่เบื้องหลังของการปรับปรุงคือท่านคุณหญิงละเอียด พิบูลสงคราม รำวงมาตรฐานได้กลายเป็นช่องทางสื่อสารนโยบายการปกครองของจอมพล ป. เพื่อแสดงความเป็นชาติที่มีอารยธรรมของไทย เพื่อเป็นช่องทางปรับเปลี่ยนค่านิยม อุดมการณ์ทางการเมือง ปลูกฝังแนวคิด และพฤติกรรมที่รัฐบาลต้องการแก่สังคมในทางอ้อม

ควรบันทึกด้วยว่า ในช่วงแห่งการยกระดับการละเล่นพื้นบ้านอย่างรำโทนให้มีมาตรฐานจนกลายเป็นรำวงนั้น ท่านผู้หญิงละเอียดได้แต่งเพลงรำวงไว้หลายเพลงเพื่อสร้างความบันเทิงพร้อมการสื่อสารทางการเมืองจากรัฐบาลไปยังประชาชน

และเมื่อรำวงเป็นที่นิยมแพร่หลายย่อมสะท้อนกุศโลบายของรัฐบาลในการบำรุงขวัญและปลอบขวัญราษฎรนั้นประสบความสำเร็จ ถึงขนาดที่รัฐบาลกำหนดให้ทุกวันพุธครึ่งบ่าย เป็นวันแห่งการพักผ่อนหย่อนใจในหมู่ข้าราชการมารำวงเลยทีเดียว (silpa-mag.com/culture/article_31303)

กรมศิลปากรสอนการละเล่นรำโทนให้แก่ประชาชนในช่วงสงคราม

ความทรงจำของอธิบดีกรมศิลปากร

ในช่วงสงคราม ผู้คนมีความเครียดจากการเผชิญหน้ากับภัยสงครามและความเป็นความตาย ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจอมพล ป. จึงตระหนักว่า การทำให้ประชาชนผ่อนคลายมีความจำเป็นเร่งด่วน

ประกอบกับห้วงนั้น รัฐบาลดำเนินนโยบายในการปรับปรุงวัฒนธรรมไทยให้เป็นอารยะ อีกทั้งขณะนั้นคนไทยนิยมเล่นรำโทนกันอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว หากมีปรับปรุงการเล่นรำโทนให้เป็นระเบียบทั้งเพลงร้อง ลีลาท่ารำและการแต่งกาย จะทำให้การเล่นรำโทนเป็นที่น่านิยมมากยิ่งขึ้น จึงได้มอบหมายให้กรมศิลปากรปรับปรุงรำโทนเสียใหม่ให้เป็นมาตรฐาน มีการแต่งเนื้อร้อง ทำนองเพลงและนำท่ารำจากแม่บทมากำหนดเป็นท่ารำเฉพาะแต่ละเพลงอย่างเป็นแบบแผน

ด้วยเหตุนี้ ในช่วง 2487 อันเป็นช่วงปลายสงคราม รัฐบาลจึงมอบหมายให้กรมศิลปากรนำรำโทนมาปรับปรุงท่ารำใหม่โดยใช้ดนตรีตะวันตก เช่น กลองแทมบูริน ฯลฯ บรรเลงเพลงประกอบ พร้อมมีการแต่งเพลงไทยสากลที่มีทำนองสนุกสนาน และเรียกใหม่ว่า “รำวงมาตรฐาน” (ภัทรวดี ภูชฎาภิรมย์, 2550, 58-59)

ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เล่าว่าในช่วงสงคราม คนไทยในแถบพระนคร ธนบุรีนิยมเล่นรำโทนกันอยู่แล้วโดยทั่วไป รัฐบาลมีนโยบายยกระดับการละเล่นพื้นบ้านของไทยให้มีมาตรฐาน

ต่อมาในปี 2487 รัฐบาลจึงมอบหมายให้กรมศิลปากรปรับปรุงการรำโทนขึ้นใหม่ให้งดงามตามแนวทางนาฏศิลป์ กรมศิลปากรจึงปรับปรุงท่วงท่าด้วยการนำท่ารำแบบสอดสร้อยมาลา ชักแป้งผัดหน้า แขกเต้าเข้ารัง ท่ารำส่าย มากำหนดเป็นแบบฉบับและแม่ท่าตามมาตรฐาน

อีกทั้งการรำยังสามารถปรับประยุกต์ตามผู้เล่นเห็นงามตามแต่ผู้เล่น การปรับปรุงรำโทนครั้งนั้น กรมศิลปากรเรียกใหม่ว่า “รำวง” ด้วยการละเล่นนี้ผู้เล่นจะโยกย้ายการรำกันเป็นวงนั่นเอง (อนุสรณ์ในงานเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม, 2527, 167)

แม้นการปรับปรุงการรำโทนขึ้นใหม่ให้เป็นรำวงนั้นจะมีท่วงท่ามาตรฐานเป็นแนวทางก็ตาม แต่รำวงนั้นยังคงเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปที่มิได้มีความช่ำชองในการรำ สามารถร่วมเล่นอย่างสนุกสนานได้ไม่ยาก เพียงแค่รักษาจังหวะและการเคลื่อนไหวให้เข้ากับจังหวะเพียงเท่านั้น (อนุสรณ์ในงานเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม, 2527, 167)

จอมพล ป.และท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม เครดิตภาพ ต้นคอลเลคชั่น

เพลงรำวง

นอกจากกรมศิลปากรปรับปรุงท่ารำเท่านั้น แต่รำโทนยังมีบทเพลงใหม่จำนวน 10 เพลง โดยกรมศิลปากรแต่งเนื้อร้องจำนวน 4 เพลง คือ เพลงงามแสงเดือน เพลงชาวไทย เพลงรำซิมารำ เพลงคืนเดือนหงาย ส่วนท่านผู้หญิงละเอียด แต่งเนื้อร้องเพิ่มขึ้นอีก 6 เพลง คือ เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ เพลงดอกไม้ของชาติ เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า เพลงหญิงไทยใจงาม เพลงบูชานักรบ เพลงยอดชายใจหาญ ส่วนทำนองเพลงทั้ง 10 เพลง กรมศิลปากรและกรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้แต่ง

เนื้อหาของเพลงรำวงสะท้อนข้อควรปฏิบัติตนในการสร้างชาติครั้งนั้นให้แก่ประชาชน เช่น ความสามัคคี ความขยัน และการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ คุณลักษณะของสตรีไทย การเทิดทูนเอกราชอธิปไตย การยกย่องผู้ชาย และทหาร เป็นต้น (มณิศา วศินารมณ์, 2565, 59) เช่น เพลงดอกไม้ของชาติ และเพลงบูชานักรบ อันมีเนื้อร้องดังนี้

เพลงดอกไม้ของชาติ ขวัญใจดอกไม้ของชาติ งามวิลาศนวยนาฏร่ายรำ (2 เที่ยว) เอวองค์อ่อนงาม ตามแบบนาฏศิลป์ ชี้ชาติไทยเนาว์ถิ่น เจริญวัฒนธรรม งานทุกสิ่งสามารถ สร้างชาติช่วยชาย ดำเนินตามนโยบาย สู้ทนเหนื่อยยากตรากตรำ

เพลงบูชานักรบ น้องรักรักบูชาพี่ ที่มั่นคงที่มั่นคงกล้าหาญ เป็นนักสู้เชี่ยวชาญ สมศักดิ์ชาตินักรบ น้องรักรักบูชาพี่ ที่มานะที่มานะอดทน หนักแสนหนัก พี่ผจญเกียรติ พี่ขจรจบ น้องรักรักบูชาพี่ ที่ขยันที่ขยันกิจการ บากบั่นสร้างหลักฐาน ทำทุกด้าน ทำทุกด้านครันครบ น้องรัก รักบูชาพี่ ที่รักชาติที่รักชาติยิ่งชีวิต เลือดเนื้อพี่ พลีอุทิศ ชาติยงอยู่ ยงอยู่คู่พิภพ

ท่วงท่าการรำวงมาตรฐาน และธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากร

ความนิยมของรำวงมาตรฐาน

ด้วยเหตุที่การละเล่นรำวงที่ไม่เรียกร้องความช่ำชองจากผู้เล่น อีกทั้งอุปกรณ์ดนตรีก็ไม่มีอะไรมากนัก และหาได้ง่ายตามพื้นถิ่น เช่น ฉิ่ง กรับและโทน ที่ประกอบกับท่ารำ ที่ผ่อนคลายความตึงเครียดให้ประชาชนและเป็นกิจกรรมที่เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจทางการเมืองให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี

ช่วงเวลานั้น รัฐบาลสมัยสงครามพยายามส่งเสริมให้เล่นรำวงกันทั่วไปตามงานรื่นเริง ทำให้นโยบายของรัฐบาลในครั้งนั้นได้ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวาง หมอเสนอ อินทรสุขศรี เล่าไว้ว่า “ระหว่างสงคราม ทางการเมืองไทยสนับสนุนให้มีการเล่นรำวงเพื่อช่วยปลุกปลอบใจไม่ให้วิตกตื่นตระหนกจากสงคราม ยามว่างหรือมีงานอย่างใด ชาวบ้านก็จะมีการรำวงกัน” (เสนอ, 2548, 82)

ดังเมื่อครั้งจอมพล ป.ตรวจราชการที่ลพบุรีในช่วงปลายสงคราม มีการแสดงรำวงที่มีบทเพลงปลุกใจให้คนไทยมีจิตใจฮึกเหิมในการต่อสู้กับสถานการณ์บ้านเมืองในเวลานั้น (มณิศา วศินารมณ์, 2565, 64)

จากความทรงจำของนิสิตจุฬาฯ คนหนึ่งบันทึกว่า การละเล่นรำวงในช่วงสงครามนั้น รัฐบาลส่งเสริมถึงขนาดกำหนดให้ข้าราชการมีกิจกรรมรำวงทุกบ่ายวันเสาร์ ซึ่งแต่เดิมเป็นวันกีฬา และให้ย้ายวันกีฬาไปยังบ่ายวันพุธแทน บางครั้งมีการแข่งขันกีฬาระหว่างหน่วยงานด้วย และวันพุธใดไม่มีการแข่งขันกีฬาให้เดินทางไกลแทน (สรศัลย์, 147)

ดังนั้น ในช่วงสงคราม ทั้งรำโทนและรำวงมาตรฐานเป็นการละเล่นที่รัฐบาลส่งเสริมให้แพร่หลายด้วย มองว่ามันเป็นเครื่องมือสื่อสารจากรัฐบาลไปยังประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและกว้างขวาง เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสังคมได้อย่างแยบยลอันยังคงส่งผลมาจนปัจจุบัน

กล่าวได้ว่า รำวงมาตรฐานเป็นมรดกจากสมัยสงครามที่ได้รับความนิยมสืบมาจนถึงปัจจุบัน และมักนิยมนำมาเล่นหลังจากจบการแสดงหรือจบงานบันเทิงต่างๆ เพื่อเชิญชวนผู้ร่วมงานออกมารำวงร่วมกัน เป็นการแสดงความสามัคคีกลมเกลียวจนเป็นที่รู้จักว่า คือ การรำไทยชนิดหนึ่งในระดับสากล

เนื้อเพลงและโน้ตเพลงดอกไม้ของชาติและเพลงบูชานักรบ
จอมพล ป.และท่านผู้หญิงละเอียดกับทหารหญิง