’15 ปีชุมชนจินตกรรมพากย์ไทย’ (จบ)

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

’15 ปีชุมชนจินตกรรมพากย์ไทย’ (จบ)

 

ร่างคำอภิปรายของผู้เขียนในงานเสวนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปีการตีพิมพ์หนังสือชุมชนจินตกรรม หรือ Imagined Communities พากย์ไทยของครูเบ็น แอนเดอร์สัน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 24 สิงหาคมศกนี้

ด้วยมูลเหตุความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองของกระแสโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมของกระแสผู้อพยพข้ามชาติและความแปลกแยกปะทะขัดแย้งทาง เอกลักษณ์เนื่องจากสื่อดิจิทัลร่นระยะห่างทางภาษา-วัฒนธรรมเข้ามาประชิดติดตัว (the two big Ms of Migration & Media ดู Arjun Appadurai, “1. Here and Now”, Modernity at Large : Cultural Dimensions of Globalization, 1996 & & Joshua Conrad Jackson and Danila Medvedev, “Worldwide divergence of values”, nature communications, published 9 April 2024, https://doi.org/10.1038/s41467-024-46581-5)

ในช่วงสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา รัฐชาติ (nation-states) ทั้งหลาย ในความหมายที่ว่า :

รัฐ = ส่วนอุปกรณ์บังคับ-โครงสร้างอำนาจทางวัตถุ-เสมือนหนึ่งร่างกาย

ชาติ = ส่วนชุดคำสั่งทางวัฒนธรรม-ชุมชนในจินตนาการ-เสมือนหนึ่งจิตวิญญาณ

จึงเกิดแนวโน้มอาการแยก (ทาง+ขัด) แย้งจากกันเป็น [<-รัฐ/ชาติ->] รัฐไปทาง ชาติไปอีกทาง

รูปธรรมร้อนแรงเด่นชัดที่สุดในปัจจุบันคือสงครามใหญ่สองครั้งในโลก ได้แก่ สงครามระหว่างรัฐจักรวรรดิ รัสเซียในอดีต vs. ชาติยูเครน และ สงครามระหว่างรัฐอาณานิคมตั้งหลักแหล่งอิสราเอล vs. ชาติปาเลสไตน์

และขณะที่ระดับโลก มีปรากฏการณ์ประชานิยม-ชาตินิยม-ชาติภูมินิยม (populism-nationalism-nativism) อย่างเบร็กซิทในอังกฤษ และ MAGA (Make America Great Again) ของอดีต (ว่าที่?) ประธานาธิบดีทรัมป์

ของไทยเราก็มีปรากฏการณ์เจ๊กสยามหันขวาหาจีนในฐานะปฏิกิริยาชาตินิยมฝ่ายขวาต่อโลกาภิวัตน์ใต้การนำอเมริกันมหามิตรในอดีตสมัยสงครามเย็นต้านคอมมิวนิสต์ (ดูภาพที่ 1, Kasian Tejapira, “The Sino-Thais’ right turn towards China”, Critical Asian Studies, 2017)

รวมทั้งปรากฏการณ์ลูกจีน (โพ้นทะเล) รักชาติ (??????) ซึ่งประกาศเอกลักษณ์ตัวเองเพื่อต่อต้าน พวกไม่ไทยที่ตามก้นตะวันตก (ดูภาพขวาบน, Kasian Tejapira, “The misbehaving jeks : the evolving regime of Thainess and Sino-Thai challenges”, Asian Ethnicity, 2009)

จนนำมาสู่สายสัมพันธ์เหนียวหนึบที่ คสช.กับ พคจ.ไม่ใช่อื่นไกลพี่น้องกันนั่นเอง! (ดูภาพที่ 2 Kasian Tejapira, “A Tick on the Dragon’s Back : How Siam Bonded Itself to China’s Political and Economic Supply Chains”, Situations, 2020)

ฐานภาพทางเศรษฐกิจการเมืองของคนชั้นกลางที่เปลี่ยนไปในช่วงยุทธศาสตร์การพัฒนาต่างๆ ของไทยในอดีตระยะใกล้ จึงสัมพันธ์แนบแน่นกับการแยกแย้งของ [<-รัฐ/ชาติ->] ไทยซึ่งพอจะลำดับได้คร่าวๆ ดังนี้ :

1) ไทยเริ่มยุทธศาสตร์สร้างอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าสมัยเผด็จการทหารอาญาสิทธิ์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต้นทศวรรษ 2500 นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมที่นำโดยตลาดภาคเอกชนอย่างรวดเร็ว จนมาถึงจุดที่มันล้าสุดตัวสิ้นเรี่ยวแรงตอนวิกฤตราคาน้ำมันพุ่งสูงปี 2516 และหลังฆ่าหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519

ผล : เศรษฐกิจโต คนชั้นกลางขยายตัวใหญ่ครั้งแรกในทศวรรษ 2520 ไม่เอาทางเลือกเผด็จการทหารขวาจัด และปฏิวัติ พคท.ซ้ายจัด ต้องการปฏิรูปเสรีประชาธิปไตย

2) ยุทธศาสตร์สร้างอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกเริ่มสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ บนฐานระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบและค่าเงินเยนแข็งตัวจากข้อตกลงพลาซาแอคคอร์ด ไทยเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วสุดในโลกราวสิบปี มาสะดุดเปลี้ยล้าหลังเปิดโลกาภิวัตน์ทางการเงินเต็มตัวตอนวิกฤตต้มยำกุ้งและปฏิรูปการเมือง 2540

ผล : เศรษฐกิจโต คนชั้นกลางขยายตัวใหญ่รอบสอง คัดค้าน IMF ระบอบเลือกตั้งธิปไตย เรียกร้องปฏิรูปการเมือง

3) หลังค่อยๆ ฟื้นตัวจากวิกฤตใหญ่ปี 2540 รัฐบาลทักษิณหันไปสู่ยุทธศาสตร์เข้าร่วมคณะเสี่ยวเอ้อส่งออกไปอเมริกาที่มีจีนเป็นหัวหน้า (Chimerica ดูภาพที่ 4) บนฐานระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่รัฐสภาจากการเลือกตั้งและจีนสมัครเข้า WTO

จากนั้นก็เป็นช่วงสงครามเสื้อสีของการต่อสู้ทางการเมืองร่วมสองทศวรรษระหว่างฝ่ายอำนาจเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งกับฝ่ายสถาบันเสียงข้างน้อยจากการแต่งตั้งกับรัฐประหารสองครั้ง (2549, 2557) ในช่วงผลัดแผ่นดิน

ผล : คนชั้นกลางต่างระดับยกพวกตีกัน คัดค้านระบอบทักษิณ แต่ในที่สุดก็ผิดหวังและไม่เลือกระบอบประยุทธ์ (ดูภาพที่ 3 จำนวนประชากรแยกตามชนชั้นในแผนภูมิซ้ายบนในช่วงดังกล่าว อ้างจากงานวิจัยของ รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

อาการสะดุดเปลี้ยล้าชะงักงันของยุทธศาสตร์หลังสุดนี้แสดงออกชัดขึ้นช่วงโควิด-19 ระบาดและหลังจากนั้น โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจจีนสะดุดชะลอตัวใหญ่ จนเกิดสภาวะที่เรียกว่าวิกฤตต้มกบในปัจจุบัน

คำถามคือ เราจะไปไหนกันต่อ และระเบียบอำนาจใดจะเกื้อกูลหนุนส่งให้มันเป็นไปได้?

ข้อสังเกตส่งท้าย

ขณะยังไม่มีคำตอบเชิงปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมชัดเจนแก่คำถามข้างต้น ผมมีข้อสังเกตโดยภาพรวมว่า หากเราประเมินจากการก่อตัวเป็นพันธมิตรของกลุ่มกุมอำนาจรัฐปัจจุบัน เทียบกับผลการเลือกตั้งปี 2566 รวมทั้งโพลความนิยมผู้นำ/พรรคการเมืองหลังจากนั้น

น่าจะสรุปฟันธงได้ว่า <-อำนาจรัฐราชการพันลึกไปทาง/ส่วนอำนาจเสียงข้างมากในชาติไปอีกทาง->ซึ่งดูเหมือนจะได้รับการตอกย้ำยืนยันจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคก้าวไกลเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมศกนี้ (https://www.bbc.com/thai/articles/c9d1yp58e2yo)

นั่นย่อมหมายความด้วยว่าสำหรับปัจเจกบุคคลพลเมืองไทยทั้งหลาย พวกเขาพวกเรากำลังประสบภาวะ Project รัฐชาติ vs. Project ส่วนตัวขัดแย้งปีนเกลี่ยวคลี่คลายสลายตัวจากกัน กล่าวคือ :

เราอาจพิจารณาสุขภาวะของสถาบันสำคัญต่างๆ ของรัฐชาติได้จากความสัมพันธ์ระหว่างโครงการแห่งชาติกับโครงการของบุคคล (the national project & the individual projects)

ถ้าหากสุขภาวะของสถาบันรัฐชาติดี โครงการแห่งชาติกับโครงการของบุคคลก็จะสอดคล้องกลมกลืนคลี่คลายขยายตัวไปด้วยกัน

แต่ถ้าหากสุขภาวะสถาบันรัฐชาติไม่ดี โครงการแห่งชาติกับโครงการของบุคคลก็จะเครียดขึงปีนเกลียวคลี่คลายสลายตัวออกจากกันไป

ดังสะท้อนออกในความเปลี่ยนแปลงของหนังสืออนุสรณ์งานศพผู้วายชนม์ & ชะตากรรมของผู้ลี้ภัยการเมืองทั้งหลาย (ดูภาพปกหนังสือที่เกี่ยวข้อง ภาพที่ 6)