ประชานิยมปีกขวา (2) วาทกรรม ‘The ประชาชน’

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“รัฐสภาดูเป็นประดิษฐกรรมแบบกลไก ที่เกิดจากเหตุผลของพวกเสรีนิยม ในขณะที่เผด็จการ หรือวิธีการแบบอำนาจนิยม ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดเสียงสรรเสริญจากประชาชนเท่านั้น หากยังเป็นการแสดงออกโดยตรงถึงเนื้อหาและพลังที่เป็นประชาธิปไตยอีกด้วย”

Carl Schmitt
นักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์สายอนุรักษนิยมชาวเยอรมัน และอดีตสมาชิกพรรคนาซี

 

หากพิจารณาถึงชุดความคิดที่เป็น “แกนกลาง” ของความเป็นประชานิยมปีกขวาแล้ว นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องประชานิยมสรุปว่า แกนของประชานิยมตั้งอยู่บน 3 เสาหลัก (ดูผลงานของ Cas Mudde and Cristobal Rovira Kaltwasser, 2017) คือ

1) การนิยามความเป็นประชาชน

2) บทบาทของชนชั้นนำ

3) การนำเสนอเรื่องเจตจำนงร่วม

ดังนั้น ในบทความนี้จะเริ่มต้นด้วยการพิจารณา “เสาแรก” คือ ความเป็นประชาชนในมุมมองของชาวประชานิยม เพราะหัวข้อเรื่องประชาชนนี้เป็นประเด็นสำคัญ และอาจต้องถือว่า ผู้นำประชานิยมมีทัศนคติในการสร้างความเป็นประชาชนขึ้น ไม่แตกต่างกัน

 

เสาต้นที่หนึ่ง

: “The ประชาชน”

ชุดความคิดแบบประชานิยมนั้น วางศูนย์กลางของเรื่องทั้งหมดไว้กับคำว่า “ประชาชน” (the people) แต่ประชาชนที่พวกเขากล่าวถึงเช่นนี้ มีความกำกวมเป็นอย่างยิ่ง และไม่ชัดเจนว่าเป็น “ประชาชน” ที่กล่าวนี้ เป็นแบบเดียวกับคำนี้ที่ปรากฏในชุดความคิดทางการเมืองอื่นๆ หรือไม่

ดังนั้น ในความเป็นประชานิยมแล้ว ประชาชนเป็นคอนเซ็ปต์ (concept) ที่ถูก “ประกอบสร้าง” ขึ้นในบริบทการเมืองหนึ่งๆ ดังจะเห็นได้ว่า มีการเติมคำว่า “the” นำหน้าคำว่า “ประชาชน” ซึ่งมีนัยว่า ประชาชนที่ถูกอ้างถึงนี้มีความหมายเฉพาะ และเป็นการอ้างถึงในแบบที่ต้องการทำให้เกิดความเข้าใจได้อย่างง่ายๆ ซึ่งอาจมีนัยว่า สิ่งนี้อาจจะไม่จำเป็นต้องสอดรับกับความเป็นจริงเลยก็ได้

ในทางทฤษฎี เมื่อคอนเซ็ปต์ที่ถูกทำให้มีความกำกวมหรือลดรูปของความจริง เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายแล้ว คอนเซ็ปต์นั้นจะเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ในการนำมาใช้อธิบาย เพราะอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือเกิดความเข้าใจที่แตกต่างกันออกไป แต่ในทางกลับกัน อาจมีคนโต้แย้งว่าการทำเช่นนี้เป็นความตั้งใจของผู้นำประชานิยม เนื่องจากพวกเขาไม่ต้องการความชัดเจน หรือที่มีข้อวิจารณ์ในอีกส่วนว่า สำหรับพวกประชานิยมแล้ว ” the ประชาชน” เป็นเพียง “ตัวบ่งชี้ที่ว่างเปล่า” อันทำให้เขาสร้างคอนเซ็ปต์ของคำได้ตามที่ต้องการ

นอกจากนี้ การใช้ภาษาอย่างกำกวมเท่าๆ กับการสร้าง “ความว่างเปล่า” ของตัวบ่งชี้เช่นนี้ ดังที่กล่าวแล้วว่า กลายเป็น “ความยืดหยุ่น” ของคอนเซ็ปต์ในตัวเอง เพราะพวกเขาสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องยึดติดกับทฤษฎีการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น พวกเขาจึงประกอบสร้างคำว่า “the ประชาชน” ไปใช้ในความหมายที่แตกต่างกันใน 3 แบบ ได้แก่

1) ประชาชนในฐานะที่เป็น “องค์อธิปัตย์แห่งอำนาจ”

2) ประชาชนในฐานะที่เป็น “สามัญชนคนทั่วไป”

3) ประชาชนในฐานะของความเป็น “ชาติ”

 

สร้างความเป็นประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ

จะเห็นได้ชัดเจนว่าการประกอบสร้างคำว่าประชาชนใน 3 แบบเช่นนี้ ทำให้เกิดความง่ายในการนำเอาชุดความคิดเช่นนี้ไปใช้ในการแยกประชาชนออกจาก “ชนชั้นนำ” (established elite) ที่อยู่ในอำนาจขณะนั้น ดังที่ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) กล่าวถึงความเป็นรัฐบาลในอุดมคติของระบอบประชาธิปไตย คือ “รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” และดูจะเป็นคำขวัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเสมอของฝ่ายประชาธิปไตย แต่คำขวัญเช่นนี้ในทางกลับกันดูจะเอื้ออย่างมากกับฝ่ายประชานิยมด้วย เพราะในทางปฏิบัติแล้ว ต้องยอมรับว่าคำขวัญของประธานาธิบดีลินคอล์นมีช่องว่างอย่างมากระหว่างรัฐบาลกับประชาชน

ปัญหานี้ในมุมมองของชาวประชานิยมคือ ช่องว่างระหว่างสามัญชนที่ถูกปกครองกับรัฐบาลที่เป็นชนชั้นนำ อันทำให้ประชาชนในฐานะของการเป็นองค์อธิปัตย์แห่งอำนาจนั้น กลับไม่ได้มีความรู้สึกว่ารัฐบาลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการการเลือกตั้งนั้น เป็นตัวแทนของประชาชน แต่เป็นตัวแทนที่ชัดเจนของชนชั้นนำที่อยู่ในอำนาจมากกว่า ดังนั้น ในเงื่อนไขเช่นนี้ พวกประชานิยมจึงไม่เพียงจะต้องวิจารณ์ “รัฐบาลของชนชั้นนำ” อย่างหนักเท่านั้น หากแต่อาจจะต้องก้าวไปสู่การประท้วงใหญ่ และถ้าจำเป็นก็อาจจะต้อง “ก่อการกบฏ” ด้วย เพราะการดำเนินการทางการเมืองเช่นนี้ เป็นหนทางเดียวในการ “ส่งมอบรัฐบาลกลับคืนสู่ประชาชน”

หากเราดูจากความคิดและข้อเสนอของขบวนประชานิยมทั้งในยุโรปและในสหรัฐ มีทัศนะในลักษณะเช่นนี้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นโดนัลด์ ทรัมป์ หรือมารี เลอแปง ก็ตาม ซึ่งจะเห็นถึงการขับเคลื่อนทางการเมืองด้วยการประกอบสร้างคำว่าประชาชน ซึ่งประชาชนสำหรับพวกเขาในที่นี้ ดูจะแตกต่างออกไปจากคอนเซ็ปต์ของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม

กระนั้น ก็ทำให้เกิดคำถามอย่างมากว่า แล้วประชาชนที่เป็นคนทั่วไปในชุดความคิดทางการเมืองของประชานิยมเป็นใครกันแน่ จะคล้ายกับบรรดาชาวคอมมิวนิสต์หรือไม่ว่า ประชาชนในมุมมองของชาวลัทธิมาร์กซ์มีความหมายถึง ประชาชนที่เป็น “ชนชั้นกรรมาชีพ” มากกว่าชนชั้นอื่น

 

สร้างความเป็นคนธรรมดา

ในการเคลื่อนไหวของพวกประชานิยมนั้น พวกเขาจะเน้นอย่างมากถึงประชาชนที่เป็น “คนทั่วไป” ซึ่งการใช้คำนี้ด้านหนึ่งมีนัยถึงชนชั้นในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ไม่ได้หมายเพียงสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของบุคคลเท่านั้น หากยังหมายรวมถึงขนบประเพณีทางวัฒนธรรม ดังจะเห็นได้ว่า การกำหนดคุณค่าในสังคม ที่ถูกสร้างโดยชนชั้นนำที่มีอำนาจ จนมีสภาวะเป็น “วัฒนธรรมหลัก” (dominant culture) ที่ครอบงำความคิดของผู้คนโดยรวม (อดคิดเทียบเคียงกับ “การปฏิวัติทางวัฒนธรรม” ในยุคของประธานเหมาเจ๋อตุง ที่ต้องทำลาย “วัฒนธรรมกระฎุมพี-วัฒนธรรมศักดินา” ที่ครอบงำสังคมจีน)

ชาวประชานิยมจึงเชื่ออย่างมากว่า การสร้างวัฒนธรรมและคุณค่าหลักของชนชั้นนำที่กลายเป็นบรรทัดฐานของสังคมเช่นนี้ ย่อมทำให้วัฒนธรรมและคุณค่าของคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นรสนิยม หรือการตัดสินใจเลือก เป็นสิ่งที่ถูกดูแคลน หรือถูกมองด้วยความสงสัยจากชนชั้นนำถึงความถูกต้อง เพราะพวกเขาไม่มีทางที่จะเชื่อใจการกำหนดคุณค่าจากคนทั่วไปอย่างแน่นอน

ดังนั้น การสร้างคอนเซ็ปต์ของการเป็น “คนทั่วไป” จึงเป็นดังการสร้างเกียรติยศให้กับประชาชน ขณะเดียวกันก็สร้างให้เกิดกลุ่มทางการเมืองและสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานของความเป็นประชาชน ที่ฝ่ายประชานิยมได้สร้างขึ้นมา อีกทั้งมีนัยว่าคนเหล่านี้ยังหมายถึง คนที่ถูกผลักให้อยู่นอกวงจรอำนาจทางการเมืองของชนชั้นนำด้วย เนื่องจากพวกเขาเป็นคนธรรมดาทั่วไป

การนำเสนอแนวคิดของความเป็นคนทั่วไปของผู้นำประชานิยมเช่นนี้ ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ถูกนำมาใช้ในการปลุกระดมเสมอ ดังปรากฏให้เห็นเช่นในอดีตของยุคประธานาธิบดีเปรองในการเมืองอาร์เจนตินา ก็กล่าวถึงคนทั่วไปด้วยการใช้คำว่า “คนที่ไม่มีเสื้อใส่” ซึ่งเป็นคำที่บอกถึงสถานะของคนเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน

สำหรับการเมืองในยุคปัจจุบัน ความเป็นคนทั่วไปเช่นนี้ก็ปรากฏในคำปราศรัยของทรัมป์ เมื่อเขากล่าวถึงสามัญชนชาวอเมริกัน เพราะการกระทำเช่นนี้คือ วิธีของการรวมพลคนส่วนใหญ่ที่มีความโกรธแค้นให้เป็นพลัง และพวกเขาเหล่านี้เป็น “คนส่วนใหญ่ที่เสียงเงียบ” หรือเป็น “พลังเงียบ” ในสังคมนั่นเอง (silent majority)

การรวมพลเช่นนี้มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนเพื่อต่อสู้กับชนชั้นนำ หรือพวกที่อยู่ในอำนาจ อันเป็นการนำเสนอแนวคิดในการ “ต่อต้านชนชั้นนำ” (anti-elite)

ดังเช่นที่ทรัมป์เคยใช้เป็นประเด็นในการโจมตีฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันในปี 2016 และประสบความสำเร็จมาแล้วด้วย อีกทั้งเราพบถึงการนำเสนอวาทกรรมต่อต้านชนชั้นนำจากการนำเสนอของผู้นำประชานิยมเสมอ

 

สร้างความเป็นชาติ

ความเป็นประชาชนที่ถูกประกอบสร้างยังมีนัยอีกส่วนในความหมายของการเป็น “ชุมชนแห่งชาติ” (national community) หรือในความหมายที่ประชาชนในส่วนนี้มีความหมายถึงการเป็นชาติ ที่กินความถึงความเป็นชาติพันธุ์เดียวของคนในชาตินั้น เช่น คนไทย (the Thai people) คนอาร์เจนตินา (the people of Argentina) คนอเมริกัน (the American people) เป็นต้น คือเป็นการเอาชาติพันธุ์ไปผูกไว้กับความเป็นชาติ

การให้ความหมายของชาติที่โยงกับ “คนของชาติ” นั้น เป็นวาทกรรมสำคัญของชุดความคิดประชานิยม และเป็นความต้องการในการสื่อสารกับผู้สนับสนุนโดยตรงว่า เขาต้องการเน้นถึงประชาชนที่เป็น “คนของชาติ” นั้น (อาจจะต้องแยก เพราะเขาไม่ได้กล่าวถึง “คนในชาติ” ทุกคน) และการสื่อสารทางการเมืองถึง “คนของชาติ” เช่นนี้ จึงมักปรากฏเป็นชื่อของพรรคที่มีแนวคิดแบบประชานิยมอีกด้วย

ความเป็นชาติที่ยึดโยงกับเงื่อนไขทางชาติพันธุ์เดียวเช่นนี้ ประชาชนจึงมีความหมายเฉพาะที่เป็น “คนพื้นถิ่น” (native) จะขอไม่แปลว่าเป็น “คนพื้นเมือง” เพราะมิได้มีนัยในแบบเช่น ชาวอินเดียนแดงในอเมริกา หากคนพื้นถิ่นในบริบทของสังคมอเมริกันหมายถึง “คนผิวขาว” ที่มาตั้งรกรากตั้งแต่ยุคอาณานิคม ซึ่งคนพื้นถิ่นเหล่านี้อยู่ร่วมกัน จนเกิดความเป็นชาติขึ้น ภายใต้วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมร่วมกัน อันทำให้เกิดความเป็นชุมชนแห่งชาติของคนเหล่านั้นนั่นเอง

ดังนั้น จะเห็นได้ว่ารัฐในโลกสมัยใหม่ที่เป็นแบบ “รัฐชาติพันธุ์เดียว” นั้น แทบไม่เป็นจริงแล้ว แต่สำหรับกระแสประชานิยมต้องการสร้างประชาชนให้มีความเป็นแบบเดียว ก็เพราะในด้านหนึ่ง พวกเขามีความหวาดกลัวคนนอก และต่อต้านความหลากหลายทางวัฒนธรรม อันทำให้ความเป็นชาติในแบบประชานิยมจึงมีความหมายอีกแบบ… ไม่ใช่ในแบบที่เราเข้าใจอย่างแน่นอน!