ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กันยายน 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ |
เผยแพร่ |
ช่วงก่อนเดือนตุลาคม 2527 หลังจากมีการแต่งตั้งนายตำรวจระดับชั้นนายพลผ่านไป ผมได้รับการทาบทามให้ไปเป็นนายเวรของผู้บังคับการตำรวจภูธร 2 คือ ไปเป็นนายเวรของ พล.ต.ต.ชำนาญ สุวรรณรักษ์ ที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งกองบังคับการตำรวจภูธร 2 รับผิดชอบ 7 จังหวัดทางภาคตะวันออกของไทย คือ ชลบุรี, ระยอง, นครนายก, ฉะเชิงเทรา, ปราจีนบุรี, จันทบุรี และตราด
ผมมีความรู้สึกทั้งดีใจและกังวลใจ ที่ดีใจเพราะจะได้ไปอยู่ไม่ไกลจากบ้านเกิดนัก ทำให้กลับไปเยี่ยมพ่อแม่ญาติพี่น้องได้สะดวก และการเป็นนายเวร จะทำให้รับราชการได้ก้าวหน้ารวดเร็วขึ้น
แล้วเพราะเหตุใดผมจึงกังวลใจ เพราะตำแหน่งนี้ คนที่จะเป็นนายเวรได้ จะต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถรอบด้าน ต้องเป็นคนเก่งมากๆ เพราะทำงานใกล้ชิดกับนายตำรวจชั้นนายพล
ผมคิดว่า ผมยังไม่เก่งพอที่จะทำหน้าที่นี้ได้ และอาจจะทำให้ พล.ต.ต.ชำนาญ สุวรรณรักษ์ ผิดหวัง
แต่ผลที่สุด ผมก็ไม่ได้เป็นนายเวร ผบก.ภ.2 ผู้ที่มาทำหน้าที่เป็นนายเวร คือ ร.ต.อ.อนันต์ เจริญชาศรี นรต.รุ่น 28 เป็นรุ่นพี่ของผม และเป็นคน อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เหมือนกันกับผม
เมื่อไม่ได้เป็นนายเวร ผมมีความรู้สึกโล่งใจมากกว่า เพราะผมตระหนักดีว่า ผมยังเก่งไม่ถึงขั้นจะเป็นนายเวรได้
แต่ พล.ต.ต.ชำนาญ สุวรรณรักษ์ และ ร.ต.อ.อนันต์ เจริญชาศรี พยายามผลักดันผมให้ไปอยู่ที่จังหวัดชลบุรีให้ได้ โดยผมไม่รู้เรื่องราวการดำเนินการใดๆ เลย
จนกรมตำรวจได้มีคำสั่งแต่งตั้งนายตำรวจระดับรองสารวัตรจำนวนมาก ในคำสั่งนั้น ผมได้ย้ายไปเป็น รอง สวส.สภ.อ.เมืองชลบุรี
แต่คำสั่งนี้ยังไม่ทันมีผล พล.ต.อ.ณรงค์ มหานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในเวลานั้น ได้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ซึ่งมีชื่อผมถูกโยกย้ายอยู่ในคำสั่งนี้ด้วย โดยแจ้งว่า มีการทุจริตในการแต่งตั้ง
เมื่อเป็นดังนั้น ผมจึงไม่ได้กลับไปอยู่ใกล้ภูมิลำเนาของผม และเป็นครั้งแรกที่ผมทำท่าว่าจะได้ย้ายกลับ แล้วไม่ได้ย้าย
ยังมีอีกครั้งที่ผมมีความประสงค์จะกลับภูมิลำเนาเพราะผมมีความรู้สึกอิ่มตัวในการรับราชการที่ภาคใต้มานาน เมื่อปี พ.ศ.2540 หลังจากเสร็จสิ้นการทำคดี ฆ่าแขวนคอ 5 ศพ “ศักดิ์ ปากรอ” ที่ อ.สิงหนคร จ.สงขลา ผมได้ติดต่อ พ.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน นายเวรอธิบดีกรมตำรวจ และเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับผม ว่า ผมอยากกลับไปอยู่จังหวัดไหน ที่ไหนก็ได้ในภาคกลางที่ใกล้ภูมิลำเนาบ้านเกิดของผม ในตำแหน่งเดิม ซึ่ง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นอธิบดีกรมตำรวจอยู่ในเวลานั้น และผมได้รับการยืนยันตอบรับจะได้กลับแน่นอน
คราวนั้นผมเป็นรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลาแล้ว แต่เป็นเพราะโชคชะตากำหนดให้ผมต้องอยู่ภาคใต้ตลอดไป จึงไม่ได้ย้าย
เมื่อ พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ ผบช.ภ.8 ได้มาชักชวนผมให้ไปอยู่ที่ภาค 8 ด้วยกัน เมื่อผมได้ยินท่านวรรณรัตน์ชวนครั้งแรก ผมได้ตอบปฏิเสธทันที เพราะผมมีความตั้งใจที่จะย้ายกลับภาคกลางมาก่อนแล้ว
และการที่ พล.ต.ท.วรรณรัตน์เอ่ยปากชวน ผมคิดไปเองว่า ก็คงจะพาผมไปอยู่ในพื้นที่ที่มีอาชญากรรมสูง เหมือนเช่นที่อำเภอสิงหนคร และคงจะเหนื่อยสาหัสเหมือนเดิม
เมื่อคิดเช่นนั้นก็ตอบปฏิเสธคำชักชวนไปทันที
ภายหลังทีมงานของ พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คือ พ.ต.อ.ประมวลศักดิ์ ศรีสมบุญ รองผู้บังคับการกองปราบปราม ซึ่งเป็นมือทำงานที่ใกล้ชิด พล.ต.ท.วรรณรัตน์ เป็นคนทำงานสืบสวนสอบสวนเก่งมาก ละเอียดรอบคอบ และระหว่างที่ทำงานด้วยกันผมก็สนิทกับ พ.ต.อ.ประมวลศักดิ์ หรือพี่โต้ง เป็นอย่างยิ่ง ทราบเรื่องก็เรียกผมไปต่อว่าด้วยความเอ็นดูว่า “ไอ้เ_ย วีณ นายเขาไม่เคยชวนใคร พอชวนมึงหน่อย ทำเป็นหยิ่งไม่ไป” พร้อมกับเทศนากัณฑ์ใหญ่
ผมจะชี้แจงก็ไม่ฟัง และบังคับผมให้ไปรับปากกับ พล.ต.ท.วรรณรัตน์ เมื่อมาชวนอีกครั้ง
จนวันที่ พล.ต.ท.วรรณรัตน์ไปขึ้นศาลจังหวัดสงขลา เพื่อเบิกความเป็นพยานในคดีศักดิ์ ปากรอ พล.ต.ท.วรรณรัตน์ได้ชวนผมไปอยู่ภาค 8 อีกครั้ง “ปวีณ ไปอยู่กับผมที่ภาค 8 นะ”
ผมรับปากกับท่านสั้นๆ ว่า “ครับ” แต่หยอดท้ายไปเบาๆ ว่า “ท่านอย่าทิ้งผมนะ” ซึ่งผมเองก็ไม่ทราบว่าจะย้ายผมไปอยู่ที่ไหน จนคำสั่งออกมา ผมจึงทราบว่า ผมไปอยู่ สภ.อ.เมืองภูเก็ต
โดยก่อนหน้าที่คำสั่งจะออก ผมต้องติดต่อ พ.ต.อ.เฉลิมเกียรติ เพื่อยืนยันว่าขอยกเลิกการย้ายของผมที่จะไปภาคกลางด้วยตัวเอง และไม่มีใครมากลั่นแกล้งย้าย ซึ่งมีขั้นตอนหลายอย่าง เพราะได้กำหนดตำแหน่งผมที่ภาคกลางไว้แล้ว
และครั้งสุดท้ายที่ผมตั้งใจจะกลับภูมิลำเนาบ้านเกิดและอยู่ถาวรตลอดไป คือเมื่อหลังเกษียณแล้ว แต่ก็ไม่ได้กลับ ต้องระเห็จไปไกลถึงต่างประเทศเลยคราวนี้
ชีวิตของมนุษย์นั้นสุดจะคาดเดา
พ.ต.ท.เสถียร จันทร์สว่าง สวญ.สภ.อ.เมืองระนอง ได้มอบหมายให้ผมรับผิดชอบโครงการมาตรการเพื่อนบ้านเตือนภัย โดยให้ดำเนินการที่หมู่บ้านเขานิเวศน์ จัดการให้ประชาชนที่มีบ้านพักในหมู่บ้านนี้ประมาณ 20 กว่าหลังคาเรือน ซึ่ง พ.ต.ต.วราวุธ วงศ์ปรีดี สวส.สภ.อ.เมืองระนอง ก็พักอยู่ในหมู่บ้านเขานิเวศน์นี้ด้วย ทำความรู้จักกันว่ามีใครบ้าง และหลักการคือ ให้ทุกคนช่วยกันสอดส่องดูแลบ้านแต่ละหลังซึ่งกันและกัน และหากมีคนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนเข้ามาในหมู่บ้าน เพื่อมาโจรกรรมทรัพย์สิน หรืออาจจะก่อเหตุไม่ดีขึ้นมาได้ ถ้าพบหรือสงสัย ให้รีบแจ้งเพื่อนบ้านทันที เพราะได้ทำความรู้จักกันมาแล้ว และหากเพื่อนบ้านไม่อยู่ ก็ให้โทรศัพท์แจ้งตำรวจทราบ
พ.ต.ท.เสถียรได้มาเป็นประธานในการประชุมประชาชนทั้งหมู่บ้าน จากนั้นผมได้นำผู้ต้องกักขังแทนค่าปรับซึ่งถูกกักขังที่ ห้องขัง สภ.อ.เมืองระนอง ไปทำการพัฒนาหมู่บ้าน โดยมี พ.ต.ต.ไทยชนะ ทองคำมา สวป.และตำรวจ มาร่วมด้วย ซึ่งทำให้หมู่บ้านสะอาดสะอ้านสวยงามทันตา บริเวณที่รกอับสายตาก็หายไป
เป็นที่พึงพอใจของคนในหมู่บ้านมากและสร้างความสมัครสมานกลมเกลียวกัน
จากการทุ่มเทการทำงานอย่างหนัก ในเดือนตุลาคม 2527 ผู้บังคับบัญชาทุกระดับ ได้พิจารณาให้ผมได้เลื่อนขั้นเงินเดือน 2 ขั้นติดต่อกันเป็นปีที่ 2 และในวันตำรวจ วันที่ 13 ตุลาคม 2527 ได้มีพิธีประดับยศให้ข้าราชการตำรวจที่เลื่อนยศสูงขึ้น โดยมีนายสาคร เปลี่ยนอำไพ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เป็นประธาน ร่วมกับ พ.ต.อ.ปรีชา แสงวรรณ ผกก.ภ.จว.ระนอง และ พ.ต.ท.สมโภช สุนทรวร รอง ผกก.ภ.จว.ระนอง
ผมได้เลื่อนยศเป็นร้อยตำรวจโท ในความรู้สึกของผมตอนนั้น ทั้งตื่นเต้น ทั้งดีใจ ทั้งภูมิใจ เมื่อมีดาวมาเพิ่มที่บ่าอีกข้างละดวง ผมรู้ตัวเองแล้วว่าตอนนี้เป็นเบอร์ห้า บ้าเห่อจนออกนอกหน้า ชอบชำเลืองมองบนบ่าตัวเองตลอด ทำให้การทุ่มเทนั้นคุ้มค่า เพราะเงินเดือนก็เพิ่มขึ้น
ถึงสิ้นปี พ.ศ.2527 เป็นปีที่ผมรับผิดชอบสำนวนการสอบสวนมากขึ้นกว่าเดิม ถึง 239 คดี เข้าเวรเกือบ 50 ครั้ง
คดีส่วนใหญ่ยังเป็นคดีหลบหนีเข้าเมืองถึง 124 คดี
คดี พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี จับถึง 23 คดี
คดี พ.ร.บ.เช็ค สูงขึ้นมาก 16 คดี
คดีลักทรัพย์ 14 คดี
คดียาเสพติด 13 คดี
คดีการพนัน 9 คดี
คดี พ.ร.บ.ป่าไม้ 7 คดี
คดี พ.ร.บ.รถยนต์ 7 คดี
คดี พ.ร.บ.อาวุธปืน 6 คดี
คดีวิ่งราวทรัพย์ 2 คดี ชิงทรัพย์ 2 คดี ปล้นทรัพย์ 1 คดี
คดีฆ่า 2 คดี คดีพยายามฆ่า 1 คดี คดีทำร้ายร่างกาย 4 คดี
คดีกระทำอนาจาร 2 คดี คดีบุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ 1 คดี
คดีฆ่าสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต 1 คดี
คดีนำของป่า (ถ่าน) เคลื่อนที่โดยไม่มีใบเบิกทางกำกับ 1 คดี
คดีทำให้เสียหาย ทำลายซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ 2 คดี
คดีเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทำให้เสียหายซึ่งทรัพย์อันเป็นหน้าที่ของตนที่จะปกครองรักษาไว้
คดีสั่งฟ้องผู้ต้องหา 224 คดี
คดีสั่งไม่ฟ้อง 6 คดี เพราะผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ 4 คดี
คดีงดการสอบสวน 6 คดี
คดีอุกฉกรรจ์มอบให้ สวส. จำนวน 3 คดี
มอบคดีเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ให้ สว.ผ.5 กก.6 ป. รับไปดำเนินการตามระเบียบ 1 คดี
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022