ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เรื่องสั้น |
เผยแพร่ |
ใบอนุญาตฆ่าตัวตาย | พิณประภา ขันธวุธ
ประกวดเรื่องสั้นมติชนอวอร์ด 2024
“สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับค่ะ”
ทันทีที่ประตูกระจกอัตโนมัติเลื่อนเปิดออก ชายหนุ่มในวัยยี่สิบห้าก็ได้ยินเสียงหวานใสเอ่ยทักทาย เขามองไปที่เคาน์เตอร์ด้วยอาการประหม่าเล็กน้อย แต่เมื่อเห็นพนักงานสาวทั้งสองคนส่งยิ้มให้อย่างเป็นกันเองจึงสูดลมหายใจลึกก่อนเดินเข้าไปใกล้
“สวัสดีครับ” ชายหนุ่มเอ่ยขึ้นแล้วล้วงมือไปในกระเป๋าสะพายที่คล้องไหล่หยิบซองจดหมายออกมาแล้วยื่นให้พนักงานสาวตรงหน้า หญิงสาวคนหนึ่งยื่นมือมารับแล้วคลี่กระดาษออกกวาดตามองใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งนาทีก็เงยหน้าและส่งยิ้มให้
“คุณธนกฤต หมายเลขประจำตัว 0123456 มาต่อใบอนุญาตนะคะ กรุณารอนั่งรอสักครู่ค่ะ ประเดี๋ยวจะมีเจ้าหน้าที่เชิญเข้าห้องอบรมค่ะ ระหว่างนี้สามารถดื่มเครื่องดื่มและของว่างที่เราเตรียมไว้ให้ได้เลยนะคะ”
ธนกฤตพยักหน้ารับแล้วหันไปหาเก้าอี้ว่างเพื่อนั่งรอ ซึ่งมีชายหญิงในวัยต่างกันมานั่งรออยู่ก่อนแล้ว ต่างคนต่างอยู่นั่งนิ่งๆ ไม่พูดจา บางคนนั่งกดโทรศัพท์มือถือ บางคนอ่านหนังสือในมือ แต่ละคนมีสวมหน้ากากอนามัยปิดครึ่งใบหน้า ชายหนุ่มมองเห็นเก้าอี้ว่างจึงเดินเข้าไปนั่งแล้วถอนหายใจเบาๆ พลางเคาะนิ้วกับกระเป๋าสะพายของตนที่เวลานี้วางอยู่บนตัก
หลายปีก่อนรัฐบาลออกนโยบายประหลาด เชิญชวนให้มาลงทะเบียนแสดงความประสงค์อัตวิบากกรรมอย่างถูกกฎหมายซึ่งเป็นคนละส่วนกับการการุณฆาต
อัตวิบากกรรม ซึ่งมาจากคำว่า อัตต = ตัวตน, ตนเอง วินิบาต = การทำลาย, การฆ่า และ กรรม = การกระทำ อัตวิบากกรรมจึงหมายถึงการกระทำอันเป็นการทำลายตัวเอง ซึ่งผู้กระทำอาจใช้วิธีต่างๆ เช่น กินยาพิษ ใช้ปืนยิงตัวเอง ใช้ของมีคมหรือกระโดดให้รถชน
ส่วนการุณยฆาตนั้น เป็นการยุติชีวิตโดยเจตนาเพื่อให้พ้นจากความเจ็บปวดทรมาน ในส่วนนี้ได้ผ่านเป็นสภาและอนุญาตให้ออกเป็นกฎหมายยอมรับได้ แม้มีประชาชนต่อต้านจำนวนไม่น้อยแต่ก็สู้เสียงข้างมากไม่ได้ ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้คนเดินทางมาเพื่อทำการการุณยฆาตซึ่งกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ เพียงไม่กี่ปีก็สร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่งให้รัฐบาล หลายปีต่อมามีการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่แทนชุดเดิมที่หมดวาระไป นโยบายหาเสียงในปีนั้นคือการอนุญาตให้ประชาชนสามารถทำอัตวิบากกรรมได้
‘คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกรูปแบบความตายได้’
สําหรับธนกฤตที่มีสิทธิ์เลือกตั้งเป็นครั้งที่สองแล้วนั้นย่อมได้สนใจนโยบายต่างๆ ของแต่ละพรรคที่ร่วมลงเล่นเกมการเมือง นโยบายเดิมๆ ที่เห็นซ้ำๆ มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่ายาวมาถึงรุ่นพ่อแม่และรุ่นเขาก็เน้นแจกเงินเป็นหลัก แม้จะมีนักวิชาการออกติงว่าเป็นการซื้อเสียงล่วงหน้าแต่ประชาชนย่อมให้ความสนใจมากกว่านโยบายทั่วๆ ไป
หนึ่งในนโยบายแปลกประหลาดก็คืออนุญาตให้ประชาชนสามารถอัตวิบากกรรมได้ ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องชวนหัวเราะขบขันอยู่ไม่น้อย คนเราจะฆ่าตัวตายต้องทำการขออนุญาตจากทางรัฐด้วยหรือ? แต่ก็นั่นแหละ มันจึงเป็นที่มาของประโยค ‘คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกรูปแบบความตายได้’ คนที่มีความเชื่อด้านศาสนาย่อมไม่เห็นด้วย แต่หลายคนที่เห็นดีเห็นงามกับนโยบายนี้ก็มี หนึ่งในนั้นก็คือธนกฤต แม้ในปีนั้นพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายนี้ไม่ได้รับเลือกเป็นนายกฯ แต่ก็ได้รวมทีมเป็นฝ่ายรัฐบาล และไม่นานนัก นโยบายนี้ถูกผลักดันขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีการโน้มน้าวให้เห็นถึงผลดีของการที่ประชาชนส่วนหนึ่งยอมเสียสละตัวเอง
น่าขำ ชายหนุ่มกระตุกยิ้มขึ้นมาอย่างห้ามไม่อยู่ เขาไม่เคยรู้สึกว่าตนเองเสียสละ เขาแค่เหนื่อยและเหนื่อยมากกับการเป็น ‘เดอะแบก’ ของบ้าน เขาอายุแค่ 27 ปี แต่ต้องรับภาระหนี้สินของพ่อแม่และหนี้สินของตนเองคือเงินกู้ยืมเรียน โชคดีที่เขาได้งานทันทีที่เรียนจบ ต้องทำงานวิ่งรอกสองที่และทำพิเศษในวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้มีเงินเพียงพอกับค่าใช้จ่าย แต่ไหนแต่ไรเขาไม่เคยรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง ถูกสั่งและสอนให้เชื่อฟังและต้องทำตามที่สั่งเท่านั้น เรียนในคณะที่สามารถทำงานได้ค่าตอบแทนสูง จบมาก็ทำงานทันที รายได้หักภาษีและสวัสดิการต่างๆ แล้ว จะถูกส่งไปให้ที่บ้านของเขา ส่วนตัวเองเหลือเงินใช้ไม่กี่พันบาทต่อเดือน เขารู้สึกเหมือนใช้ชีวิตไปวันๆ ไร้ความหมาย ไม่มีความฝัน ไม่มีจุดยืนใดๆ ทั้งสิ้น ก็แค่ให้มันผ่านไปทีละวัน ทีละวัน ชีวิตของเขารู้จักความหวังอีกครั้งก็เมื่อได้ยินนโยบายประหลาดนี่นั้นแหละ
ดูเหมือนเป็นเรื่องไร้สาระ แต่เมื่อถูกสร้างเป็นนโยบายก็มีคนที่สนใจไม่น้อย สำหรับรัฐบาลนั้นำได้สร้างแรงจูงใจให้คนทำอัตวิบากกรรมเพื่อลดภาระของประเทศ ประชากรมีมากเกินไป ทรัพยากรไม่เพียงพอ เป็นการเสียสละให้คนรุ่นหลังได้ใช้ทรัพยากรต่างๆ ทั้งอาหารการกิน อากาศที่หายใจและที่อยู่อาศัยที่แออัดขึ้นทุกวันโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ รวมไปถึงสาธารณูปโภค การจัดการเรื่องการศึกษาและการรักษาพยาบาล ซึ่งสถิติออกมาแล้วว่าประชากรเพียง 6% ที่จ่ายภาษีให้รัฐ ที่เหลือเป็นผู้มีรายได้น้อยที่รัฐต้องยื่นมือช่วยเหลือทุกทาง การลดประชากรลงและเหลือประชากรที่มีคุณภาพเป็นหนทางหนึ่งที่ฝ่ายรัฐนำเสนอ แน่นอนว่ากว่าจะผ่านกฎหมายข้อนี้ได้ก็ใช้เวลาหลายปี เรียกว่าเป็นเทอมสุดท้ายของรัฐบาลชุดนั้นที่ส่งต่อมายังรัฐบาลชุดใหม่ แรกทีเดียวถูกขัดค้านอยู่มาก โดยเฉพาะคนที่อ้างหลักคำสอนของศาสนา
แต่สุดท้ายแล้วก็ออกมาเป็นนโยบายเชิงทดลอง ขอให้คนสมัครใจเข้าร่วมโครงการนี้เอง
ใช่… รวมถึงธนกฤตด้วย เขาก็ลงชื่อเข้าร่วมโครงการนี้ แต่เขาเป็นรุ่นที่สามแล้ว ซึ่งในแต่ละปีรัฐบาลจะแจกแจ้งสถิติและผลดีผลเสียของโครงการนี้ ยิ่งคนต่อต้าน คนที่เข้าร่วมโครงการยิ่งมากขึ้น เขาลองเข้ากลุ่มออนไลน์ดูก็มีหลายๆ คนที่เขาพูดคุยผ่านตัวอักษรทางหน้าจอสมาร์ตโฟนแล้วพบว่า บางคนรู้สึกเฉยชาต่อโลก ไม่ยินดียินร้าย จะอยู่หรือไปก็ค่าเท่ากัน และที่สำคัญพวกเขาไม่มีศาสนาต้องมาให้กังวลว่าตายแล้วจะได้รับผลกรรมอย่างไร
มันก็ตลกร้ายอยู่ไม่น้อย จะฆ่าตัวตายทั้งทียังต้องขออนุญาตจากทางรัฐ แต่ถ้าฆ่าตัวตายผ่านโครงการอัตวิบากกรรม แต่เดิมการฆ่าตัวตายก็ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายแต่ผิดหลักศาสนา แต่เมื่อมีโครงการอัตวิบากกรรมนี้ทำให้เห็นข้อดีของการเตรียมตัวก่อนฆ่าตัวตาย ตั้งแต่กรอกแบบฟอร์มออนไลน์ให้รายละเอียดเบื้องต้น เช่นภาระหนี้สิน สถานะทางการเงินและชีวิต โสด สมรส หรือเป็นหม้าย จากนั้นก็ทำแบบทดสอบการโรคซึมเศร้า และเมื่อได้เลขรหัสประจำตัวต้องรอเรียกสัมภาษณ์อีกครั้ง
ธนกฤตกรอกใบสมัครออนไลน์ทิ้งไว้นานหลายเดือนกว่าจะได้รับ SMS แจ้งผ่านเข้าโครงการและนัดหมายวันเวลาเข้าสัมภาษณ์ ชายหนุ่มจำได้ดีว่าเขาไม่ได้บอกใครรวมถึงคนในครอบครัว ตั้งใจว่ารอให้ได้ใบอนุญาตอัตวิบากกรรมแล้วจึงจะแจ้งให้พ่อแม่ทราบ เมื่อถึงกำหนดนัดหมายซึ่งสามารถเลือกได้ว่าจะมาในช่วงเวลาใด เขาจึงเลือกมาหลังเลิกงานและเมื่อมาถึงอาคารหรูหราที่เป็นที่ตั้งขององค์กรอิสระ เขาได้รับการต้อนรับจากพนักงานอย่างดีเยี่ยม ตั้งแต่ รปภ.ที่เฝ้าหน้าประตู แม่บ้านที่กำลังทำความสะอาดพื้นจนมาถึงพนักงานประชาสัมพันธ์
เขามาที่นี่ครั้งแรกจะบอกว่าไม่ตื่นเต้นก็เหมือนโกหก เพียงแค่เขาเป็นคนหน้านิ่งดูไร้อารมณ์ไปสักหน่อย จึงเหมือนคนไม่มีความรู้สึก เนื่องจากมาครั้งแรก ก่อนเข้าพบนักจิตวิทยาซึ่งตอนแรกเขาคิดว่าจะได้พบจิตแพทย์ก่อนเสียอีก
“ต้องเจอนักจิตวิทยาก่อนค่อยพบจิตแพทย์ในขั้นตอนสุดท้ายค่ะ” เสียงหญิงสาวที่อยู่โต๊ะประชาสัมพันธ์พูดคุยกับหญิงสาวคนหนึ่งที่เพิ่งเดินเข้ามา เธอพยักหน้าเข้าใจแล้วหมุนตัวมาเพื่อหาที่นั่งรอ ซึ่งมีที่ว่างใกล้กับธนกฤตพอดี
“มีเครื่องดื่มบริการตนเอง ขนมของว่างเชิญหยิบได้ค่ะ” พนักงานประชาสัมพันธ์ผายมือไปที่ด้านหนึ่งซึ่งมีโต๊ะยาววางคุกกี้และแซนด์วิช ใกล้ๆ กันมีน้ำสมุนไพรและกาแฟดำให้เลือกดื่ม หญิงสาวผู้มาใหม่พยักหน้าอีกครั้งแล้วเดินไปหยิบจานใบเล็กเพื่อใส่คุกกี้สามสี่ชิ้นแล้วตามด้วยแก้วน้ำใบเตยหอมเย็น เมื่อได้ของที่ต้องการแล้วเธอก็เดินมานั่งใกล้ๆ ชายหนุ่มที่ดูอายุไล่เลี่ยกับเธอ
“นั่งตรงนี้ได้ไหม”
“เชิญครับ” ธนกฤตตอบแต่ไม่ได้ขยับตัวเพราะที่ว่างข้างๆ ก็สามารถนั่งได้อยู่แล้ว
หญิงสาวแปลกหน้านั่งลงแล้ววางจานขนมบนตัก ธนกฤตเห็นเธอไม่สะดวกจึงยื่นมือไปช่วยรับกระเป๋าคล้องไหล่ของเธอไว้ก่อนที่มันจะเลื่อนลงจากไหล่ตกที่พื้น
“ขอบคุณ คุณใจดีมาก” เธอยิ้มแล้วยกน้ำขึ้นจิบ “ได้ยินว่าของกินที่นี่อร่อย ท่าจะจริง แค่น้ำยังอร่อยเลย”
ชายหนุ่มไม่รู้ว่าเธอพูดกับเขาหรือพูดเพียงลำพังแต่เขาเลือกที่จะนิ่งเงียบ ทว่า หญิงสาวที่สวมเสื้อยืดสีขุ่นกับกางเกงผ้าฝ้ายเป็นแบบผ้ามัดย้อมกลับส่งยิ้มให้ก่อนจะหยิบคุกกี้ขึ้นมากัดกิน
“ลองชิมดูสิ อร่อยจริงๆ นะ”
“ผมไม่หิวครับ ขอบคุณครับ” เขายังคงตอบอย่างสุภาพ
“มาครั้งแรกเหรอ” เธอถามแล้วกินขนมชิ้นต่อไป
“ไม่ครับ ผมมาต่ออายุใบอนุญาต”
“ว้าว! เยี่ยมเลย! กว่าฉันจะตัดสินใจมาได้ตั้งนานแหนะ” เธอพูดเสียงดังจนคนอื่นหันมามอง แต่เธอก็ไม่ได้สนใจนัก “ดูท่าทางคุณไม่เหมือนคนอยากตายเลย ทำไมถึงมาเข้าโครงการล่ะ”
ธนกฤตไม่เคยพูดเรื่องนี้กับคนแปลกหน้า เมื่อถูกจู่โจมด้วยคำถามนี้เขาจึงนิ่งอึ้งไปทันที
“ผมก็อยากรู้เหมือนกัน” ชายวัยประมาณสามสิบห้าเอ่ยขึ้นด้วยน้ำเสียงเหนื่อยล้าพลางขยับแว่นสายตากรอบหนาสีดำ
“อ้าว! คุณพี่ไม่ได้มาลงทะเบียนเข้าโครงการหรือคะ?” หญิงสาวคนเดิมเอ่ยถามด้วยท่าทีอยากรู้อยากเห็นเต็มที่ ทำให้ธนกฤตพลอยสนใจไปด้วย แน่นอนว่าคนอื่นที่นั่งรออยู่ก็เช่นกัน
“ปะ…เปล่าครับ” ชายหนุ่มคนนั้นขยับแว่นสายตาอย่างเคยชิน “ภรรยาของผม…เธอฆ่าตัวตาย ผมไม่เคยรู้ว่าเธอเข้าร่วมโครงการนี้ ผมทราบตอนที่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาจ่ายค่าทำศพให้”
“ถ้างั้นคุณมาที่นี่เพราะอยู่เหตุผลที่ภรรยาฆ่าตัวตายสินะคะ” หญิงสาวคนเดิมพูดเองเออเองและพยักหน้าด้วยท่าทีเห็นใจ “จริงๆ การฆ่าตัวตายไม่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว แต่รัฐก็ออกโครงการประหลาดนี้ออกมาและดันมีคนเห็นดีเห็นงามด้วย แปลกจริงๆ”
“แค่กๆ” ธนกฤตถึงกับสำลักน้ำลายตัวเอง “มันก็มีส่วนดีอยู่นะครับ”
“อ้อ! ลืมไป คุณมาต่อใบอนุญาตนี่นะ แสดงว่าคุณผ่านการสัมภาษณ์มาแล้วหนึ่งปีใช่ไหม” หญิงสาวยังคงช่างพูดช่างถามอย่างไม่เกรงมารยาททำให้คนอื่นหันมาสนใจเขามากยิ่งขึ้น
“ครับ” ธนกฤตพยักหน้ารับ “ปีที่แล้วผมผ่านการสัมภาษณ์ได้รับใบอนุญาตฆ่าตัวตายได้ ตามกฎแล้วใบอนุญาตมีอายุหนึ่งปี หากภายในหนึ่งปีผมยังไม่ฆ่าตัวตาย หรือเลือกรูปแบบความตายไม่ได้ แต่ยังไม่เปลี่ยนใจที่จะฆ่าตัวตายก็ต้องมาต่อใบอนุญาตอีกครั้ง มาทำแบบทดสอบและพบนักจิตวิทยาเหมือนเดิมเพื่อประเมินผลสภาพจิตใจอีกครั้ง”
“แล้วทำไมคุณอยากฆ่าตัวตายล่ะคะ” หญิงสาวถามทำตาปริบๆ ด้วยความอยากรู้
“ไม่มีเหตุผลครับ” เขาตอบแล้วย้ายสายตามองไปทางเดินเล็กๆ ที่จำได้ว่าเดินตรงไปก็จะได้พบนักจิตวิทยา
“อ้าว!” หญิงสาวทำหน้าผิดหวัง
“การไม่มีเหตุผลคือเหตุผลในการอยากตายนั้นแหละ” ผู้หญิงคนหนึ่งทำผมสีม่วงประกายแดงเอ่ยขึ้นแม้จะไม่เงยหน้าขึ้นจากโทรศัพท์มือถือเลยก็ตาม “ไม่ได้เป็นซึมเศร้าอะไรหรอก แค่ไม่มีความฝัน ไม่มีคนให้ผูกพัน ไม่มีความหวังวันข้างหน้า ใช้ชีวิตไปวันๆ ก็อยากตายเหมือนกัน”
“อืม มันก็แค่นั้นแหละ โครงการนี้ไม่ได้สนับสนุนคนเป็นโรคซึมเศร้า ถ้าคุณตรวจพบเป็นโรคอะไรก็ตาม ก็ถูกเตะโด่งออกนอกโครงการนี้ไป บางคนอาจมีความคิดอยากตายแต่ไม่ได้อยากฆ่าตัวตาย ที่เรียกว่า Passive Death Wish ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีความรู้สึกเบื่อหน่าย ซึมเศร้า หดหู่ รู้สึกว่าอยากตายด้วยอุบัติเหตุไม่ใช่ลงมือเอง คนอยากฆ่าตัวตายนี่คิดแล้วคิดอีก คิดเป็นร้อยๆ ครั้งกว่าจะลงมือได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำสำเร็จ ไอ้โครงการนี้มันก็มีประโยชน์อยู่จริงๆ นั้นแหละ เพราะกว่าคนคนหนึ่งจะได้ใบอนุญาตมาก็ต้องทำแบบทดสอบตั้งหลายครั้ง ต้องสัมภาษณ์อีก บางทีก็ล้มเลิกความคิดไปเลยก็มี”
“ถ้าคุณพี่คิดอย่างนั้นแล้วมาเข้าร่วมโครงการนี้ทำไมล่ะคะ” หญิงสาวคนเดิมถามเสียงสูงดูดัดจริตจนเกินเหตุ
หญิงสาวผมสีม่วงชะงักมือที่กำลังเลื่อนหน้าจออยู่ แต่ครู่เดียวเท่านั้นเธอก็ไถหน้าจอเหมือนเดิม
“มันเหมือนการทบทวนตัวเองว่าเราอยากตายจริงๆ ไหม เอาไว้คุณไปทำแบบทดสอบจะรู้เอง ถ้าคุณทำผ่านได้ใบอนุญาตมันก็คุ้มค่าอยู่นะ จ่ายค่าลงทะเบียนแค่ห้าร้อยแต่ได้เงินค่าทำศพค่าตอบแทนนิดหน่อย แต่ก็ทำให้คนข้างหลังได้เงินก้อนไว้ใช้ เรื่องพวกนี้มันดีกว่าฆ่าตัวตายเองโดยไม่มีใบอนุญาตตั้งเยอะ”
“ฉันก็คิดแบบนั้นเหมือนกัน แต่มีคนบอกว่าของว่างที่นี่อร่อยก็สมคำร่ำลือจริงๆ”
“แล้วคุณล่ะครับ” ชายหนุ่มสวมแว่นเอ่ยถาม “ท่าทางคุณร่าเริงสดใสทำไมถึงได้…”
“ฉันมาหาความตื่นเต้นค่ะ” เธอพูดแล้วหัวเราะร่า “และฉันก็อยากรู้อยากเห็นนั้นแหละ พวกคุณไม่คิดบ้างหรือคะว่า คนเรายังไงก็ต้องตายอยู่ดีแล้วเราจะฆ่าตัวตายไปทำไม”
“ออกแบบรูปแบบความตายได้เองไง” สาวผมม่วงประกายแดงพูดขึ้น “ตายแบบไม่ได้ทำให้คนอื่นลำบากหน่วยกู้ภัยต้องมาตามเก็บศพอีก ถ้าทำครั้งเดียวไม่สำเร็จบางทีก็ต้องใช้ชีวิตแบบพิกลพิการ แล้วจะไปขอใช้สิทธิ์การุณยฆาตก็ไม่ได้อีก เพราะอันนั้นได้เฉพาะที่เจ็บป่วยไม่มีทางรักษาแล้วเท่านั้น ไหนๆ ก็เลือกเกิดไม่ได้แล้ว ขอเลือกตายได้ก็แล้วกัน”
“อืมๆ มีเหตุผลๆ” หญิงสาวคนเดิมพยักหน้ารับหงึกหงัก “แต่เคยได้ยินชาวเน็ตเขาพูดกันนะคะว่า โครงการนี้รัฐทำขึ้นเพื่อลดจำนวนประชากรลง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องสวัสดิการต่างๆ”
“ก็ช่างหัวรัฐมันสิ” สาวผมม่วงสบถ แต่หนุ่มแว่นหนาส่ายหน้าไปมา
“ภรรยาผมไม่สนใจเรื่องการเมืองเลย”
“เธอคงมีเรื่องในใจที่บอกใครไม่ได้” หญิงสาวช่างพูดเอ่ยน้ำเสียงอ่อนลงเล็กน้อย
“ครับ ผมถึงมาที่นี่เผื่อว่าจะเข้าใจเธอ”
“ตอนอยู่ไม่สนใจ พอตายแล้วมาใส่ใจ” หญิงสาวผมสีม่วงพูดลอยๆ แต่เจตนาให้ได้ยิน ครั้งนี้เธอเงยหน้าขึ้นจากสมาร์ตโฟนในมือแล้วส่งยิ้มเย้ยเยาะให้อีกฝ่าย
ตอนนี้ธนกฤตเข้าใจแล้วว่าทำไมควรนั่งรอเงียบๆ ไม่ควรชวนใครคุยเพราะบรรยากาศมันแย่ลงแบบนี้เอง
ก่อนที่ทุกอย่างจะแย่ลง พนักงานประชาสัมพันธ์สาวสวยก็เดินเข้ามาเบื้องหน้าทุกคนที่นั่งรออยู่
“ขออภัยที่ให้รอนานนะคะ สำหรับผู้ที่มาครั้งแรกจะได้เข้าฟังการอบรมเบื้องต้นประมาณสามสิบนาทีจากนั้นจึงจะเป็นการทำแบบทดสอบทั่วไปและพักสิบนาทีค่ะ และจะมีทำแบบทดสอบชุดที่สองเป็นการประเมินสภาพจิตใจ หลังจากทำแบบประเมินแล้วทุกท่านสามารถกลับได้ทันที อีกประมาณเจ็ดวันทำการทางเจ้าหน้าที่จะต่อให้ทุกท่านเข้ามาพบนักจิตวิทยาอีกครั้งค่ะ”
“และในส่วนของท่านที่มาต่อใบอนุญาต จะเข้ารับการอบรมที่ห้องหมายเลขสองค่ะ ใช้เวลาประมาณสิบนาทีจะได้พบนักจิตวิทยาของเราค่ะ”
พนักงานสาวทั้งสองแย้มยิ้มและผายมือเชิญให้แต่ละท่านไปที่ห้องอบรม ธนกฤตลุกขึ้นแล้วเดินไปที่ห้องหมายเลขสอง แต่กระนั้นเขากลับอดมองมาทางหญิงสาวที่พูดเก่งคนนั้นไม่ได้ ราวกับรู้ว่าถูกจ้องมอง เธอยกมือโบกไปมาก่อนทำท่ากำหมัดและพูดไม่ออกเสียงว่า ‘สู้ๆ’
ธนกฤตโคลงศีรษะไปมาแล้วเดินไปที่ห้องหมายเลขสองซึ่งมีสาวผมสีม่วงเดินมาที่ห้องเดียวกัน
สู้? สู้กับอะไร ประเทศที่เต็มไปด้วยความสิ้นหวังนี้จะให้ประชาชนอย่างเขาไปสู้กับอะไร
หญิงสาวยืนมองทุกคนแยกเข้าห้องอบรบแล้วลดมือลงพร้อมรอยยิ้มที่จางหาย เพียงไม่ถึงครึ่งนาทีก็มีชายวัยประมาณสี่สิบปีแต่งกายภูมิฐานเดินมาแตะไหล่ของเธอ
“มีอะไรน่าสนใจไหม?”
“ก็เหมือนเดิม” เธอหยักไหล่แล้วเดินไปหยิบคุกกี้กินอีกชิ้น “คราวหน้าเปลี่ยนเป็นขนมไทยนะ เบื่อขนมฝรั่งแล้ว”
“ได้ครับท่านประธาน” ชายผู้นั้นยิ้มขำ “โครงการนี้ได้รับความนิยมและถือว่าประสบความสำเร็จ เป็นเพราะการผลักดันของท่านประธานล้วนๆ เลยนะครับ”
หญิงสาวยักไหล่ เบื้องหลังคือรายการเรียลลิตี้โชว์และเว็บไซต์ใต้ดินติดตามดูพฤติกรรมคนพยายามฆ่าตัวตาย รัฐบาลทำเป็นปิดหูปิดตาเพราะได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทของเธอหลายร้อยล้าน แต่เมื่อเป็นเรื่องของธุรกิจย่อมทำกำไรได้มากกว่านั้นหลายเท่า
มนุษย์เรานี่ก็แปลก บางคนพยายามดิ้นรนเพื่อมีชีวิต บางคนกลับตรงข้าม บางคนพยายามฆ่าตัวตาย แต่อีกหลายคนชอบดูคนเหล่านั้น เอ่อ ไม่สิ ไม่ได้ชอบดูคน แต่ชอบดูวิธีการต่างหาก
“ได้เวลาเข้าห้องอบรมแล้ว ผมขอตัวนะครับ”
“เชิญค่ะ” หญิงสาวคลี่ยิ้มอ่อนหวาน เธอเองก็มีหน้าที่ที่ต้องทำเช่นกัน
ประตูอัตโนมัติเปิดออก หญิงสาววัยประมาณสามสิบเดินเข้ามาด้วยท่าทีประหม่า พนักงานต้อนรับที่ยังยืนอยู่หันไปมองพร้อมรอยยิ้มที่ถูกอบรมมาอย่างดีว่าต้องยิ้มและยิ้มเท่านั้น
“สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับสู่โครงการอัตวินิบาตกรรม หนึ่งในนโยบายเชิงทดลองของรัฐบาล หากคุณต้องการฆ่าตัวตาย ทางเรายินดีให้คำแนะนำค่ะ” •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022