มอนซานโตกับจีเอ็มโอดราม่า (1) (ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทคตอนที่ 57)

ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

Biology Beyond Nature | ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

 

มอนซานโตกับจีเอ็มโอดราม่า (1)

(ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทคตอนที่ 57)

 

“การตัดสินใจพัฒนาพืชจีเอ็มโอพาให้ ‘มอนซานโต (Monsanto)’ ตกเป็นเป้าของการก่นด่าประณามจากสาธารณชน มันช่างเป็นเรื่องตลกร้ายเพราะนี่คือสิ่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุดที่บริษัทเคยทำมา”

Mark Lynas, Seed of Science: Why we got it so wrong on GMOs

 

เรื่องราวของบริษัทที่แทบจะถูกกล่าวถึงทุกครั้งที่มีการถกประเด็นปัญหาจีเอ็มโอ บริษัทที่ติดอันดับแบรนด์น่ารังเกียจจากการจัดอันดับของหลายสถาบัน บริษัทที่แม้แต่พนักงานระดับกลางถึงล่างก็อาจจะถูกใครไม่รู้มายืนด่าเพียงเพราะใส่เสื้อตราบริษัทออกที่ชุมชน

ข้อกล่าวหาเหล่านี้จริงเท็จขนาดไหน?

Monsanto บริษัทผู้นำเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมพืชมาอยู่ในตำแหน่งนี้ได้อย่างไร?

อะไรเป็นจุดกำเนิดกระแสต่อต้านจีเอ็มโอ?

บทความตอนนี้จะเล่าให้ฟัง

Cr. ณฤภรณ์ โสดา

เพื่อเข้าใจบริบทเรื่องราวของ Monsanto เราต้องย้อนสู่ยุคแรกเริ่มของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ช่วงศตวรรษที่ 19 การปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษก่อนหน้าได้นำเอาเครื่องจักร โรงงาน ระบบบริหารจัดการ และงานวิจัยมาเพิ่มคุณภาพและกำลังการผลิตสินค้าต่างๆ รวมทั้งเคมีภัณฑ์ที่อาจจะเอาไปใช้ในยา อาหาร เครื่องอุปโภค ฯลฯ

ในยุคนี้ยังไม่มีกฎหมายควบคุมด้านยาและอาหารชัดเจน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่บริษัทเคมีภัณฑ์ไม่น้อยทำธุรกิจกลุ่มยาและอาหารด้วย บริษัทเหล่านี้หลายเจ้าก็อยู่ครองตลาดมาจนถึงปัจจุบัน

ยุโรปช่วงศตวรรษที่ 19 ให้กำเนิดบริษัทยาและเคมีภัณฑ์อย่าง Merck, Beecham (GlaxoSmithKline), Ciba-Gigy, Roche, Bayer

ส่วนฝั่งสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันก็มี Dow, Pfizer, Squibb และ Eli Lilly

ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากสารสกัดธรรมชาติหรือเคมีสังเคราะห์ เช่น Merck ขายมอร์ฟีนจากดอกฝิ่นและโคเคนจากใบโคคา, Bayer ขายแอสไพรินที่เดิมพบในเปลือกต้นหลิว ฯลฯ

ความต้องการยาและเคมีภัณฑ์ในยามสงครามในช่วงศตวรรษกว่าๆ หลังจากนั้นช่วยกระตุ้นยอดขายของบริษัท ดังตัวอย่างของ Pfizer ที่เติบโตแบบก้าวโดดจากการขายยาฆ่าเชื้อและยาแก้ปวดในช่วงสงครามกลางเมือง (Civil War) ในศตวรรษที่ 19 ขายกรดซิตริกช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และขายเพนิซิลลินช่วงสงครามโลกครั้งที่สองในศตวรรษที่ 20

John Francis Queeny เกิดในครอบครัวชาวอเมริกันไอริชที่ยากไร้ช่วงกลางศตวรรษที่ 19

เขาออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุสิบสองมาหางานทำยังชีพไปเรื่อย ไต่เต้าจนถึงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัทยา Merck

พอเห็นลู่ทางธุรกิจยาและเคมีภัณฑ์ที่กำลังบูมในช่วงนั้นก็ริเริ่มจะตั้งบริษัทของตัวเองควบคู่ไปด้วย

เจ้านายพอทราบเรื่องก็ไม่ได้ห้ามอะไรแต่ขอไม่ให้ใช้ชื่อตัวเองเป็นชื่อธุรกิจเพราะเกรงลูกค้าจะสับสน

Queeny เลือกใช้ชื่อภรรยาของเขา Olga Maden Monsanto มาเป็นชื่อบริษัท

(ตระกูล ‘Monsanto’ เป็นชาวยิวอพยพในอเมริกาที่เดิมทีมาจากหมู่บ้าน Monsanto ในโปรตุเกส; ‘Monsanto’ แปลตรงตัวว่า holy mountain หรือภูเขาศักดิ์สิทธิ์)

อุตสาหกรรมเคมีแห่งศตวรรษที่ 19 ต้นกำเนิดของบริษัทยาและเคมีภัณฑ์
Cr. ณฤภรณ์ โสดา

Monsanto เปิดตัวในปี 1901 ที่เมือง St. Louis มลรัฐมิสซูรี มีสินค้าตัวแรกคือ แซ็กคาริน (Saccharin) สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลที่หวานกว่าน้ำตาลจริงถึง 300 เท่า

แซ็กคารินถูกใช้เป็นส่วนประกอบของลูกกวาด น้ำอัดลมและบุหรี่แบบเคี้ยวในสหรัฐ Monsanto เป็นผู้ผลิตรายเดียวของสินค้านี้ซึ่งเดิมที่ต้องนำเข้ามาจากเยอรมนี

หลังจากธุรกิจแซ็กคารินไปได้สวย Monsanto ก็ขยายตลาดมาสู่สารเติมอาหารตัวอื่นๆ อย่างวานิลินและกาเฟอีน จากนั้นก็มาเข้าสู่ธุรกิจเคมีภัณฑ์อีกสารพัดอย่างตั้งแต่ยาแอสไพริน ยางสังเคราะห์ พลาสติก ไนล่อน ยาฆ่าแมลง สารปราบวัชพืช ฯลฯ

กลางศตวรรษที่ 20 ยอดขายของ Monsanto ทะลุพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

กว่าศตวรรษที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเคมีได้แสดงให้โลกเห็นถึงความเป็นไปได้ที่น่าตื่นเต้นไร้ขีดจำกัดของเทคโนโลยี บริษัทเคมีภัณฑ์ครอบจักรวาลที่ขายทั้งยา อาหาร การเกษตร ของใช้ ฯลฯ บริษัทเคมีภัณฑ์อย่าง Monsanto กลายเป็นขาใหญ่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จในหลากหลายกลุ่มธุรกิจ

แต่พอถึงทศวรรษที่ 1960s ยุครุ่งเรืองของอุตสาหกรรมเคมีกำลังจะเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่เมื่อมุมมองของประชาชนกำลังจะเปลี่ยนไป

หนึ่งในจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญคือการตีพิมพ์หนังสือ “ฤดูใบไม้ผลิที่เงียบงัน (Silent Spring)” ในปี 1962 ของ Rachel Carlson หนังสือที่ได้จุดประกายขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมยุคใหม่

จุดเริ่มต้นของ Monsanto บริษัทเคมีภัณฑ์
Cr. ณฤภรณ์ โสดา

Silent Spring เปิดโปงอันตรายจากการใช้สารเคมีแบบไม่บันยะบันยังโดยเฉพาะยาฆ่าแมลงยอดนิยมในยุคนั้นอย่าง DDT ด้วยการวิจัยค้นคว้าที่ลึกซึ้งและการใช้ภาษาที่งดงามสะเทือนใจหนังสือเล่มนี้วาดให้เห็นภาพสารพิษจากอุตสาหกรรมเคมีที่ปนเปื้อนไปทั่วทั้งดิน น้ำ และอากาศ สังหารทุกชีวิตตั้งแต่แมลง ถึงนก ปลา สัตว์ป่า และนำพาความป่วยไข้มาสู่มนุษย์

แน่นอนว่าอุตสาหกรรมเคมีรวมทั้ง Monsanto ไม่ได้อยู่เฉย พยายามทุกทางทั้งลงสื่อตอบโต้ แก้ตัว ขู่ฟ้องร้อง Carlson และสำนักพิมพ์เพื่อจะกอบกู้ภาพลักษณ์และเรียกความเชื่อมั่นประชาชนกลับคืนมา

เล่นกันแรงถึงขั้นกล่าวหาว่า Carlson ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์หวังทำลายธุรกิจทุนนิยมอเมริกัน

แต่ยิ่งเล่นแรงก็ยิ่งเข้าตัวกลายเป็นเรื่องของทุนใหญ่รังแกนักเขียนนักวิชาการ กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหยุดไม่อยู่แล้ว

ประธานาธิบดี John F. Kennedy ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความถูกต้องของข้อกล่าวอ้างจาก Carlson และได้ข้อสรุปว่าเป็นจริงตามนั้น

นำมาสู่การสั่งห้ามใช้ DDT และการก่อตั้งองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency, EPA) ในกำกับของรัฐบาลหลายปีหลังจากนั้น

ยอดซื้อ Silent Spring ทะลุสองแสนห้าหมื่นเล่ม ติดอันดับหนังสือขายดีอยู่หลายเดือน ส่วน Carlson เองภายหลังก็ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในร้อยผู้ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20

หนังสือ Silent Spring และฝนเหลืองในสงครามเวียดนามกับความตกต่ำของภาพลักษณ์อุตสาหกรรมเคมี
Cr. ณฤภรณ์ โสดา

ทศวรรษที่ 1960s ยังเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามเวียดนามเต็มตัว และมีการใช้ “ฝนเหลือง” (Agent Orange) ยาปราบวัชพืชสำหรับพ่นทำลายป่าที่เป็นแหล่งซ่อนตัวของเวียดกง ช่วงปี 1965-1971 กองทัพสหรัฐโปรยฝนเหลืองไปเกือบเจ็ดสิบล้านลิตรครอบคลุมพื้นที่เกือบสิบล้านไร่

Monsanto และบริษัทเคมีภัณฑ์สหรัฐอีกกว่าสิบบริษัทได้สัมปทานผลิตฝนเหลืองที่กองทัพสหรัฐนำไปใช้

พอกระแสต่อต้านสงครามเวียดนามเริ่มรุนแรงขึ้น บริษัทเคมีภัณฑ์เหล่านี้ก็พลอยติดร่างแหโดนต่อต้านไปด้วย ยิ่งมีคดีฟ้องร้องจากทหารผ่านศึกและชาวเวียดนามว่าด้วยผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของฝนเหลือง

การสอบสวนขุดคุ้ยจนพบว่าบริษัทเคมีภัณฑ์มีข้อมูลอยู่เกี่ยวกับพิษภัยของฝนเหลืองอยู่แล้วแต่กลับปิดบังไว้ ก็ยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ที่เลวร้ายของกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ในสายตาประชาชนเข้าไปอีก

คำว่า “เคมี (chemicals)” เริ่มกลายเป็นคำแสลงของผู้บริโภคตั้งแต่ช่วงเวลานั้น

ประเด็นที่น่าสนใจคือ Monsanto ไม่ใช่บริษัทเคมีภัณฑ์เจ้าเดียวหรือแม้แต่เจ้าใหญ่ที่สุด บริษัทคู่แข่งอย่าง Dow เป็นผู้ผลิตฝนเหลืองถึงหนึ่งในสาม แถมยังออกมาแก้ตัว สู้คดีดุเดือดที่สุด บริษัทเคมีภัณฑ์อื่นๆ ก็ต่างผลิตและจำหน่ายยากำจัดวัชพืช กำจัดแมลง และเคมีพิษต่างๆ อีกหลากหลายชนิด

กระนั้น Monsanto กลับได้สถานะ “บริษัทที่ชั่วร้ายที่สุด (World’s most evil corporation)” ไปได้อย่างไร?

 

ในหนังสือ “Seeds of Science” Mark Lynas นักเขียนด้านสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นว่าอันที่จริง Monsanto เป็นบริษัทเคมีภัณฑ์เจ้าแรกด้วยซ้ำที่จริงจังกับการหาทางฉีกแนวจากเส้นทางอุตสาหกรรมเคมีตัวเองเป็นหนึ่งในเจ้าตลาดมานานหลายทศวรรษไปสู่อุตสาหกรรมไบโอเทคที่น่าจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า

การมีพันธุ์พืชเกษตรที่ยอดเยี่ยมคือทางออกของปัญหาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและส่งผลกระทบกว้างขวางที่สุด พันธุ์พืชที่ทนโรคทนแมลงจะลดการใช้สารปราบศัตรูพืช พันธุ์พืชที่ทดแล้งทนดินเค็มตรึงแร่ธาตุได้เองแถมผลผลิตสูงจะปลูกได้ในพื้นที่ธุรกันดารไม่ต้องไปเบียดบังป่าเขาธรรมชาติที่สมบูรณ์ไม่ต้องใช้ปุ๋ยใช้น้ำมากมายจนสิ่งแวดล้อมพัง

ยุคพันธุวิศวกรรมในทศวรรษที่ 1970s ชวนให้วงการเกษตรฝันจะเนรมิตสุดยอดพันธุ์พืชที่ว่าด้วยการไปปรับแต่งพันธุกรรมโดยตรง

ไม่ว่าจะเพราะความห่วงใยในสิ่งแวดล้อมหรือเพราะกลัวธุรกิจถูกดิสรัปต์ Monsanto ตัดสินใจลงทุนก้อนโตกับการพัฒนาพืชจีเอ็มโอทั้งที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านไบโอเทคมาก่อน

Monsanto ก่อตั้งศูนย์วิจัยไบโอเทคใหม่เอี่ยมบนพื้นที่กว่าห้าร้อยไร่ที่ St. Louis อาคารสูงสี่ชั้น ห้องปฏิบัติการ 250 แห่ง นักวิจัยอีก 900 ชีวิต ศูนย์วิจัยของ Monsanto นำทีมโดย Robert Fraley ประสบความสำเร็จในการสร้างพืชจีเอ็มโอต้นแรกของโลกในปี 1983 ไม่ถึงสี่ปีหลังจากเริ่มเข้าสู่วงการ

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันคำตัดสินของศาลในคดี diamond v chakrabarty ยินยอมให้มีการจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตปรับแต่งพันธุกรรมได้เปิดทางสู่ยุคเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมไบโอเทค