ยุทธการ 22 สิงหา : ‘มันจบ แล้วครับ นาย’ ฐานแห่ง รัฐบาล ข้ามขั้ว

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

2วันหลังรายการ “ความจริงวันนี้” นำเสนอวีทีอาร์บันทึกภาพและเสียง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผ่านมวลชนกว่า 4 คนของสนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ

ระบุ “ระบบยุติธรรมมี 2 มาตรฐาน” ยืนยัน “นักการเมืองหักหลังประชาชน”

วันที่ 15 ธันวาคม 2551 เว็บไซต์กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ รายงานกระทรวงการต่างประเทศได้ยกเลิก “หนังสือเดินทางทูต” ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

และได้ส่งหนังสือแจ้งเรื่องนี้ไปยัง “ที่อยู่” ของ “อดีตนายกรัฐมนตรี” ในกรุงเทพมหานครแล้ว

ขณะที่กล่าวสำหรับหนังสือเดินทางธรรมดาที่อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถืออยู่อีกเล่ม กระทรวงการต่างประเทศได้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตีความในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการเดินทางตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาต่อไป

แม้ต่อกรณีนี้ นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะออกมาแถลงยืนยันว่า

“ไม่มีผลกระทบเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีพาสปอร์ตอยู่หลายประเทศ”

แต่นี่คือการส่งสัญญาณรุกในกระบวนการระหว่างประเทศอันสะท้อนถึงการรุกทางการเมืองภายหลังการถอดถอน นายสมัคร สุนทรเวช ภายหลังคำวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน

สายตาจึงทอดมองไปยังบทบาทของ นายเนวิน ชิดชอบ อย่างเป็นพิเศษ สายตาจึงทอดมองไปยังบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์อย่างเป็นพิเศษ

นี่คือจังหวะก้าวและรูปลักษณ์ใหม่ในทางการเมือง

 

เหตุการณ์หนึ่งซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากคือเหตุการณ์หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชนในวันที่ 2 ธันวาคม 2551 พรรคเพื่อไทยก็เคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสืบทอดภารกิจพรรคพลังประชาชน

วันที่ 3 ธันวาคม ส.ส.ที่ไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองต่างทยอยสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยในวันที่ 4 ธันวาคม

ยกเว้น “กลุ่มเพื่อนเนวิน” จำนวนหนึ่งที่ยังรอดู “สถานการณ์”

วันที่ 4 ธันวาคม “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ออกแถลงการณ์จะขอใช้ “เอกสิทธิ์” ของ ส.ส.ในการลงมติเลือก “นายกรัฐมนตรี”

ค่ำวันเดียวกัน แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรคจัดตั้งรัฐบาลต่อไป

วันที่ 5 ธันวาคม นายเนวิน ชิดชอบ แถลงว่า ทุกอย่างต้องกลับมาเริ่มต้น 0 กันใหม่ จึงถือเป็นโอกาสที่พรรคการเมืองจะเปลี่ยนแปลงอนาคตของประเทศ และหมดเวลาแล้วที่ผู้มีโอกาสจะนึกถึง

“การกลับเข้าประเทศโดยใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน”

คำประกาศของ นายเนวิน ชิดชอบ ด้านหนึ่ง กำหนดแนวทางที่ชัดเจนของ “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ที่พร้อมแยกแตกตัวออกจากพรรคพลังประชาชน ด้านหนึ่ง ได้รับการตอบโต้จากภายในพรรคพลังประชาชนอย่างฉับพลัน

นั่นก็คือ กลุ่ม “วังบัวบาน” นั่นก็คือ กลุ่ม “อีสานพัฒนา”

ไม่เพียงแต่แสงแห่งสปอตไลต์จะฉายจับไปยัง “กลุ่มเพื่อนเนวิน” หากแต่ยังติดตามการเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์อย่างเกาะติด

ภายในการแยกแตกตัวมีการรวมและรวบรวมพลังเพื่อชิงความได้เปรียบ

 

เด่นชัดยิ่งว่าการต่อสายระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ทะลวงเข้าไป “ภายใน” พรรคพลังประชาชนมิได้เป็นเรื่องเพิ่งเกิด

ตรงกันข้าม มีปัจจัยจากกรณี นายสมัคร สุนทรเวช เป็นจุดเริ่มต้น

นั่นก็คือ ความเห็นต่างที่ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าสมควรผลักดันให้ นายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งเป็น “นายกรัฐมนตรี” ต่อไป

กับอีกฝ่ายหนึ่งที่ปฏิเสธการไปต่อของ นายสมัคร สุนทรเวช

แม้ในห้วงแห่งการต่อรองจะมีการเสนอชื่อ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี มาเป็นตัวเลือกในลักษณะประนอมประโยชน์ ขณะเดียวกัน ก็มีการเสนอชื่อ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก จากพรรคเพื่อแผ่นดิน เข้ามาเหมือนกับจะเป็นทางออก ท่ามกลางข่าวลือที่ว่าอาจเป็น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

แต่เมื่อเป็นรายชื่อ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกมาก็มีความชัดเจน

การตัดสินใจนี้เองที่ทำให้เกิดการก่อรูปของ “กลุ่มเพื่อนเนวิน” และได้รับการต่อต้าน เปิดโปงโดย “กลุ่มอีสานพัฒนา” และรวมถึงการแสดงตัวของ “กลุ่มวังบัวบาน” ในสถานการณ์ใกล้เคียงกัน

ตรงนี้เองที่มีการต่อสายเข้ามาของพรรคประชาธิปัตย์

 

หนังสือ “มติชนบันทึกประเทศไทย พ.ศ.2551” นำเสนอการเคลื่อนไหวของแต่ละฝ่ายอย่างชวนให้พิจารณา

เริ่มจากแถลงการณ์ “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ในวันที่ 5 ธันวาคม 2551

ประสานเข้ากับการแถลงอย่างยาวเหยียดสะท้อนความรู้สึกจากใจของ นายเนวิน ชิดชอบ ในวันเดียวกัน

จำเป็นต้องตราไว้ด้วยว่าเป็นการเลือกประกาศใน “วันที่ 5 ธันวาคม”

เช้าวันที่ 6 ธันวาคม พรรคประชาธิปัตย์ดึง ส.ส.บางส่วนของพรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และกลุ่มเพื่อนเนวินจากพรรคพลังประชาชน ร่วมแถลงประกาศจะเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล

ยืนยันว่ารวบรวมเสียงสนับสนุนได้เกิน 250 เสียง พร้อมเสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยหารือกับแกนนำพรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคประชาราช ยืนยันตั้งรัฐบาลแข่ง ระบุมีเสียงเบื้องต้น 228 เสียง และยื่นข้อเสนอให้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ไม่เป็นผล

พรรคเพื่อไทยจึงแก้เกมโดยยื่นข้อเสนอให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อแผ่นดินขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

เปรียบเทียบแล้วการเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์มีความเหนือกว่า

เป็นความเหนือกว่ากระทั่งเกิดข่าวลือว่ากองทัพอยู่เบื้องหลังการจับขั้วใหม่เพื่อจัดตั้งรัฐบาล ทำให้โฆษกกองทัพบกต้องออกมาแถลงปฏิเสธว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกไม่ได้อยู่เบื้องหลังการจับขั้วต่างๆ ทางการเมือง

“เพียงแต่เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม มีกลุ่มนักการเมืองโทรศัพท์มาปรึกษาหารือเท่านั้น”

จุดที่ควรให้ความสนใจก็คือ การเคลื่อนไหวใน “วันที่ 5 ธันวาคม”

 

วันที่ 8 ธันวาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และแกนนำพรรคประชาธิปัตย์เปิดปฏิบัติการเดินสายพบแกนนำ 4 พรรคการเมือง

พรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา

ที่สังคมให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ การพบกับ นายเนวิน ชิดชอบ

วันเดียวกันนั้นพรรคประชาธิปัตย์พร้อมกับ 4 พรรคและกลุ่มเพื่อนเนวิน นำรายชื่อ ส.ส.จำนวน 240 คน ยื่นต่อ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้นำความกราบบังคมทูล เพื่อให้มีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี

วันที่ 9 ธันวาคม พรรคร่วมรัฐบาลเดิมที่หันไปสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์แถลงถึงเจตจำนงในการทำงานการเมืองร่วมกัน

ขณะที่ นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช เชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลเดิม 5 พรรคหารือตั้ง “รัฐบาลเพื่อชาติ” ในวันที่ 10 ธันวาคม แต่เมื่อถึงเวลานัดหมายมีเพียงพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาราชเท่านั้นที่ปรากฏตัว

วันที่ 11 ธันวาคม มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม ประธานรัฐสภา นายชัย ชิดชอบ ออกระเบียบวาระการประชุมในวันที่ 15 ธันวาคม ทันที

นี่คือจุดเริ่มต้นใหม่ในทางการเมืองอันเป็นรากฐานของยอดคำเท่ “มันจบแล้วครับนาย”