ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กันยายน 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ
ตัวตน แข็งแกร่ง
ตัวตน สุจิตต์ วงษ์เทศ
รากฐาน ศาสนา
ไม่ว่ามองผ่าน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ไม่ว่ามองผ่าน สุชาติ สวัสดิ์ศรี ไม่ว่ามองผ่าน ชลธิรา สัตยาวัฒนา ไม่ว่ามองผ่าน สุจิตต์ วงษ์เทศ
สะท้อนลักษณะ “ต่าง” สะท้อนลักษณะ “ร่วม”
ต่างในจุดเริ่มต้นอย่างแน่นอน ต่างและเหมือนในจุดแห่งการแสวงหา และเมื่อเข้ามาอยู่ในสถานะและเทศะที่ใกล้เคียงกันก็สะท้อนลักษณะเหมือน เป็นความเหมือนในความต่าง
และเมื่อผ่านพ้นจากสถานะ “ร่วม” ในทางความคิดก็ปรากฏเส้นทางแห่งการเลือกที่แตกต่าง
ทุกอย่างดำเนินไปในกระสวนแบบกระต่ายกับเต่า
เมื่อเข้ามาอยู่บนเส้นทางเดียวกันก็สำแดงออกทั้งในลักษณะ “ร่วม” และ “ต่อสู้” กันในทางความคิดและในทางการปฏิบัติ
บ้างเป็น “นักวิชาการ” บ้างเป็น “บรรณาธิการ”
กระนั้น ความสนใจร่วมกระทั่งดูดดึงให้มาเดินอยู่บนเส้นทางเดียวกัน นั่นก็คือ ความชมชอบในวรรณกรรม เป็นความชมชอบที่ไม่เพียงแต่อยู่ในฐานะของนักอ่าน หากแต่ยังไปไกลถึงขั้นเป็นนักเขียน
ไม่เพียงแต่เขียนนำเสนอต่อสาธารณะ ยังพัฒนาไปเป็นการก่อสร้างสำนักอันเป็นของตนเอง
ไม่ว่าจะเรียกว่า “อักษรศาสตร์พิจารณ์” ไม่ว่าจะเรียกว่า “ช่อการเกด”
ไม่ว่าจะทะเยอทะยานถึงกับจัดวางความรับรู้ในเชิง “อารยธรรม” ให้กับเหล่าดรุณดรุณี ผู้มากด้วยสุนทรียะแห่งชีวิต
หรือก่อรูปเป็น “สำนักศิลปวัฒนธรรม” ณ บ้านช่างหล่อ พรานนก
จุดต่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ
ชาญวิทย์ สุชาติ ชลธิรา
อาจระบุได้ว่าพื้นฐานที่ต่างเป็นอย่างมากอันทำให้ สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นอีกไฟลั่มหนึ่งซึ่งไม่เหมือนกับ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ไม่เหมือนกับ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ไม่เหมือนกับ ชลธิรา สัตยาวัฒนา คือพื้นฐานจากต่างประเทศ
เพราะว่า ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ตั้งเป้าเพื่อเป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ
เพราะว่า สุชาติ สวัสดิ์ศรี พลัดหลงเข้าไปในวรรณกรรมต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นของเฮ็มมิงเวย์ แห่งอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นของกามูส์และซาตร์แห่งฝรั่งเศส หรือแม้กระทั่งกอร์กี้แห่งรัสเซีย
เพราะว่า ชลธิรา สัตยาวัฒนา จำเป็นต้องศึกษาจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์
ขณะที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ มีเส้นทางสายตรงจากวัดเทพธิดาราม เข้าสู่วัดมกุฏกษัตริยาราม เข้าสู่ผดุงศิษย์พิทยา และเอนทรานซ์เข้าคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
และต้องทอดเวลาอยู่กับการสอบภาษาอังกฤษจนได้ปริญญาช้ากับเพื่อนคนอื่น
จุดเริ่มต้นจึงอยู่ที่พุทธศาสตร์ จึงอยู่ที่ประวัติศาสตร์ไทย จึงอยู่ที่ ไม้ เมืองเดิม
แต่แล้วด้วยการเป็นนักหนังสือพิมพ์ แต่แล้วด้วยการเป็นกวีและนักเขียนเรื่องสั้น ทำให้ได้รู้จักกับ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ทำให้ได้รู้จักกับ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ทำให้ได้รู้ว่าบทบาทของ ชลธิรา สัตยาวัฒนา ในคณะอักษรศาสตร์เป็นอย่างไร
และเมื่อเข้าสู่สถานการณ์ที่แน่นอนในห้วงก่อนและภายหลังการเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2516
นามของ จิตร ภูมิศักดิ์ จึงปรากฏและเร้าเย้ายวนใจยิ่ง
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
กับ จิตร ภูมิศักดิ์
หากมองจากพื้นฐานของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นความเย้ายวนใจจากชีวิตและการเสียสละของ จิตร ภูมิศักดิ์
สุชาติ สวัสดิ์ศรี เกิดการเปรียบเทียบกับ เช กูเวรา ศาสดาแห่งแสงตะวัน
ชลธิรา สัตยาวัฒนา มีจุดเริ่มต้นจากเรื่องราวของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในห้วงแห่งการเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นบัณฑิตจากเทวาลัยรุ่นพี่ผู้มากด้วยความโลดโผนท้าทาย
จากชีวิตอันโลดโผน การตัดสินใจฉีกขนบในทางความคิด และลงมือปฏิบัติอย่างกล้าหาญ
ท้าทายต่อจิตวิญญาณ “โรแมนติก” อย่างลึกซึ้ง
มองจาก ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่โรแมนติกเสมอเมื่อศึกษารากฐานของ เขียว สมพร ที่มีมารดาเป็นคนขายกล้วยปิ้ง มองจาก สุชาติ สวัสดิ์ศรี ที่โรแมนติกเสมอเมื่อรับรู้ข้อมูล จิตร ภูมิศักดิ์ ที่มีการกระซิบกันเบาแผ่วในวงสนทนา
ยิ่ง ชลธิรา สัตยาวัฒนา ในความเจนจบทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ ไม่เพียงแต่ขุนแผนเท่านั้นที่เป็นปฏิมา หากเรื่องของ จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ตามมาอย่างมีจังหวะและขั้นตอน
แล้ว สุจิตต์ วงษ์เทศ มีความต่างจาก 3 คนนี้หรือไม่
ไฟลั่ม ที่แตกต่าง
สุจิตต์ วงษ์เทศ
ต่างอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะมองผ่านทางด้านวรรณกรรม ไม่ว่าจะมองผ่านทางด้านความคิด
รากฐานที่มั่นคงอย่างยิ่งของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คือ รากฐานด้าน “ศาสนา”
ไม่เพียงเพราะบิดาบวชเรียนจนได้เป็น “ท่านมหา” หากแต่จากสายสัมพันธ์นั้นทำให้ได้เติบใหญ่ในร่มเงาแห่งอารามอย่างแนบชิดจนถึงขั้นสามารถเรียกได้ว่าโตมาจากข้าวก้นบาตร
ความเป็นคน “บ้านนอก” ความเป็นคนที่เติบโตอยู่ในร่มเงาแห่ง “อาราม” สร้างตัวตนของ สุจิตต์ วงษ์เทศ อย่างหนักแน่น มั่นคง
เมื่อสนใจ “วรรณคดี” เมื่อสนใจ “ประวัติศาสตร์”
สิ่งที่เรียกว่า “ลักษณะไทย” จึงตราตรึงฝังลึก ถามว่าทำไม สุจิตต์ วงษ์เทศ เลือกคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร แทนที่จะเป็นคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แต่ละกระบวนท่าอันสะท้อนผ่าน ทองปน บางระจัน เป็นคำตอบได้อย่างแจ่มชัดตรงเป้า
เมื่อเกิดการปะทะในทาง “ความคิด” และได้รับผลสะเทือนในทาง “วัฒนธรรม” ไม่ว่าจะมาจากตะวันตกอย่างอเมริกา อย่างโซเวียตรัสเซีย ไม่ว่าจะมาจากตะวันออกอย่างจีน อย่างเวียดนาม
หรือด้วยความไม่พอใจต่อ “ระบบราชการ” หรือ “บูโรเครติก” อันฝังแน่นอยู่ในสังคมไทยในห้วงแห่งการแสวงหาที่อิทะกะ คอร์แนล
ร่มเงาอันสงบเย็นอย่างยิ่ง คือ การถวิลหา “พระธุดงค์” ในถ้ำลึก ภาคเหนือ
จุด สัจจะ นิยม
สุจิตต์ วงษ์เทศ
อิทธิพลอันส่งมาจาก จิตร ภูมิศักดิ์ จึงแตกต่างไปจากที่ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ไปจากที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี สมาทาน
ยิ่งเทียบกับ ชลธิรา สัตยาวัฒนา ยิ่งแตกต่าง
เด่นชัดอย่างยิ่งกลับเป็นในทาง “ประวัติศาสตร์” ในทาง “วัฒนธรรม” แต่ก็ดำเนินไปอย่างสังเคราะห์ สอบทานกับฐานความเชื่อมเดิมที่มีอยู่ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ อย่างคร่งครัดจริงจัง
เป็นในเรื่อง “ข้อเท็จจริง” เป็นในเรื่องของ “สมมุติฐาน” และ “บทสรุป”
แต่ก็ดำเนินไปในท่วงทำนองเดียวกันกับ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ หรือแม้กระทั่ง สุชาติ สวัสดิ์ศรี
นั่นก็คือ มิได้สมาทาน “ลัทธิมาร์กซ์” เข้าไปด้วย
เมื่อมิได้สมาทานต่อลัทธิมาร์กซ์จึงถอยห่างออกจากแนวทางและกระบวนการในแบบของ “คอมมิวนิสต์” อย่างแจ่มชัด
นี่ย่อมต่างไปจากบทสรุปอันเป็นที่ไปของ ชลธิรา สัตยาวัฒนา
ตัวตน แข็งแกร่ง
สุจิตต์ วงษ์เทศ
สุจิตต์ วงษ์เทศ จึงดำรงตัวตนแห่งตนที่เติบใหญ่มาพร้อมกับ ขรรค์ชัย บุนปาน อย่างมั่นคง แข็งแกร่ง
รับฟังความเห็นต่างจาก ชาญวิทย์ เกษตรศิริ สุชาติ สวัสดิ์ศรี
มองเห็นจุดเด่นของ ชลธิรา สัตยาวัฒนา มองเห็นจุดเด่นของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี
แล้วปรับมาเป็น สุจิตต์ วงษ์เทศ
การดำรงอยู่ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ จึงเป็นการดำรงอยู่อันสัมผัสได้ผ่านวิถีแห่งกวีนิพนธ์ที่รังสรรค์ขึ้นมา มิได้วูบวาบ ไหวเอนไปตามแรงกระเพื่อมรอบข้าง
ดำรงตนในแบบคนชนบท ดำรงตนในแบบไพร่อันมีเอกลักษณ์เฉพาะตน
เป็นเช่นนี้ ไม่ว่าเมื่อเล่นบทในแบบของ “ขุนเดช” ไม่ว่าเมื่อเล่นบทของ ทองปน บางระจัน
ไม่ว่าที่วังท่าพระ ไม่ว่าที่สยามรัฐ ไม่ว่าที่อิทะกะ ไม่ว่าที่บ้านช่างหล่อ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022