คุยกับทูต | ชานดอร์ ชิโพช เมื่อฮังการีรับหน้าที่ประธานหมุนเวียนอียู (จบ)

คุยกับทูต | ชานดอร์ ชิโพช

เมื่อฮังการีรับหน้าที่ประธานหมุนเวียนอียู (จบ)

 

สถานเอกอัครราชทูตฮังการีกรุงเทพฯ จัดการแสดงดนตรีแจ๊ซฮังการีเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในโอกาสที่ประเทศฮังการีเข้ารับตำแหน่งประธานแห่งคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรประหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2024-31 ธันวาคม 2024 เป็นเวลา 6 เดือน

ดังนั้น ครึ่งปีหลังของปีนี้ฮังการีจึงรับผิดชอบกิจกรรมทั้งหมดของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป

ดร.ชานดอร์ ชิโพช (H.E. Dr. Sándor Sipos) เอกอัครราชทูตฮังการีประจำประเทศไทย เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์ของการจัดแสดงดนตรีแจ๊ซฮังการีซึ่งถือเป็นการแสดงที่พิเศษมาก ด้วยเหตุผลสองประการ

“ประการแรก เนื่องจากเป็นงานครั้งแรกในกรุงเทพฯ ในฐานะที่ประเทศฮังการีได้รับตำแหน่งประธานแห่งคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป และด้วยความประสงค์ที่จะฉลองโอกาสนี้ร่วมกับประเทศไทย พันธมิตรของฮังการี”

“ประการที่สอง เรื่องของศิลปะ และการดนตรี เรานำเครื่องดนตรีพื้นบ้านฮังการี ที่เรียกกันว่า ซิมบาลอม (Cimbalom) หรืออย่างที่มีบางคนเรียกว่า “ขิมฮังการี” มาจัดแสดงเป็นครั้งแรกในเมืองหลวงที่สวยงามแห่งราชอาณาจักรไทย แสดงโดย ‘อัครศิลปิน’ เยเนอ ลิซเทซ (Mr. Jenő Lisztes) ซึ่งมีประสบการณ์การแสดงในโรงคอนเสิร์ตชื่อดังทั่วโลก เช่น Carnegie Hall ที่นิวยอร์ก และ Musikverein ที่เวียนนา และนายเยเนอ ลิซเทซ ยังมีส่วนในการแต่งเพลงร่วมกับ ฮันส์ ซิมเมอ (Han Zimmer) นักแต่งเพลง นักแต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์ชาวเยอรมันในภาพยนตร์เรื่อง Sherlock Holmes 2 และ Game of Shadows อีกด้วย”

“นอกจากมาแสดงการเล่นเพลงแจ๊ซกับซิมบาลอมแล้ว นายเยเนอ ลิซเทซ ยังได้จัดสัมมนานักดนตรีไทยในการเล่นแจ๊ซกับขิม ดังนั้น จึงไม่ใช่เป็นการมาแสดงคอนเสิร์ตเท่านั้น แต่มีคนไทยที่เข้ามารับการศึกษาด้วย ถือเป็นการส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศฮังการีในประเทศไทย และเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยและฮังการี”

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร พระราชนัดดาพระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ 4 แสดงดนตรี cimbalom เครื่องดนตรีที่คล้าย “ขิม” ของไทย ในเทศกาลพื้นบ้านที่ Gödöllő ภาพถ่ายโดย Géza Paur
ซิมบาลอม (Cimbalom) -ภาพโดย Jeffrey Holsen

“ผมมีความภาคภูมิใจมากที่ได้พบว่า ซิมบาลอม และขิม เป็นเครื่องสายที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก ไม่เฉพาะแต่ในด้านเสียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรูปลักษณ์ของเครื่องดนตรีด้วย”

“เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายทั้งสองชนิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์ประจำชาติของเรา และมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ดนตรีของเรา จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการที่นายเยเนอ ลิซเทซ นักเล่นซิมบาลอมชื่อดังชาวฮังการีมาแสดงดนตรีร่วมกับนักดนตรีไทย จะทำให้เพื่อนร่วมงานทั้งชาวไทยและยุโรปสัมผัสได้ถึงความเชื่อมโยงอันแน่นแฟ้นระหว่างยุโรปและเอเชีย”

“แม้ว่ายุโรปกับประเทศไทยจะอยู่ห่างกันประมาณกว่า 9,000 กิโลเมตร แต่ดนตรีก็สามารถสร้างสะพานเชื่อมระหว่างเราได้อย่างง่ายดาย และพิสูจน์ได้ว่า เราใกล้ชิดกันมากกว่าที่คิดในครั้งแรก”

“ดังเรื่องราวครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จเยือนฮังการีในปี 1897 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร พระราชนัดดาพระองค์หนึ่งได้ร่วมวงโยธวาทิตและเล่นดนตรีซิมบาลอม เครื่องดนตรีที่คล้าย ‘ขิม’ ของไทย ในเทศกาลพื้นบ้านที่เกอเดอลลอ (Gödöllő) เมืองในเขตเปสต์ เขตมหานครบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี”

ดร.ชานดอร์ ชิโพช (H.E. Dr. Sándor Sipos) เอกอัครราชทูตฮังการีประจำประเทศไทย
การเสด็จเยือนฮังการีของกษัตริย์สยาม – รัชกาลที่ 5 ณ เมืองบาโบลนะ – ช่างภาพ Gyula Ludvigh
การเสด็จเยือนฮังการีของกษัตริย์สยาม – รัชกาลที่ 5 ทรงม้า เสด็จฯ เยือนนาหลวง ตำบลบาโบลนะ เพื่อทอดพระเนตรวิธีทำไร่ทำนา การเลี้ยงม้าและผสมพันธุ์ม้า – ช่างภาพ Gyula Ludvigh
การเสด็จเยือนฮังการีของกษัตริย์สยาม – รัชกาลที่ 5 และพระราชโอรส เสด็จเยือน เกอเดอลลอ (Gödöllõ) เมืองในเขตเปสต์ เขตมหานครบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี – ช่างภาพ Mór Erdélyi

ไทยและฮังการี มีความสัมพันธ์อันดีที่ยาวนานกว่า 155 ปี เริ่มตั้งแต่การลงนามในหนังสือสัญญาไมตรี การค้า และการเดินเรือระหว่างราชอาณาจักรสยามกับจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2412 (1869) และต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปเมื่อปี 2440 (1897) โดยเสด็จเยือนจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีด้วย

มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างกันเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2516 (1973) ฮังการีจัดตั้งสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย เมื่อปี 2521 (1978) เขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ส่วนไทยจัดตั้งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์ เมื่อปี 2532 (1989) เขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐโครเอเชีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวินา มอนเตเนโกร และสาธารณรัฐคอซอวอ

นายชานโดร์ ชีโปช (Sándor Sipos) ซึ่งได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิบัติหน้าที่เอกอัครราชทูตฮังการีประจำประเทศไทย เมื่อปี 2022 กล่าวว่า

“ผมมีความเชื่อในพลังของดนตรีเสมอมา ซึ่งในบางครั้งสามารถเชื่อมโยงประเทศต่างๆ เข้าด้วยกันได้อย่างแข็งแกร่งกว่าวิธีการทางการทูตแบบดั้งเดิมอื่นๆ ดังนั้น จึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เรียนรู้ถึงความเชื่อมโยงระหว่างเครื่องดนตรีพื้นบ้านอย่างขิมและซิมบาลอม” •

การเสด็จเยือนฮังการีของกษัตริย์สยาม-คณะผู้ติดตามของกษัตริย์สยามในบาโบลนา, Gyula Ludvigh ชาวฮังการี ประธานและซีอีโอของการรถไฟแห่งรัฐ ช่างภาพ Gyula Ludvigh
การเสด็จเยือนฮังการีของกษัตริย์สยาม- รัชกาลที่ 5 ในเมือง Bábolnán ประเทศ ฮังการี ภาพถ่ายโดย Géza Paur
การแสดงซิมบาลอมร่วมกับวงไทย -the Bachswing
นายเยเนอ ลิซเทซ (Mr. Jenő Lisztes) ศิลปินระดับโลก แสดงขิมฮังการี (Cimbalom)

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin