ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | จ๋าจ๊ะ วรรณคดี |
ผู้เขียน | ญาดา อารัมภีร |
เผยแพร่ |
‘แม่แปรก’ (แม่ – ปะ – แหรก) เป็นได้ทั้งคนและสัตว์ สัตว์ในที่นี้ คือ ช้างพังหรือช้างตัวเมียที่เป็นหัวหน้าโขลง
พระราชนิพนธ์บทละครในเรื่อง “อุณรุท” รัชกาลที่ 2 ทรงเล่าถึงเหตุการณ์ตอนพระอุณรุทเสด็จไปคล้องช้างป่าพร้อมไพร่พลว่า
“พระแลเห็นฝูงช้างเถื่อน ดารดาษกลาดเกลื่อนเป็นนักหนา
ล้วนตระกูลเลิศลักษณ์โสภา ต้องตำรามากมายหลายพันธุ์
พระชื่นชมแล้วขับคชไกร โจมไล่ช้างไพรเป็นกังหัน
อันชาวคชสารทั้งนั้น ก็แข่งกันเข้าไปเป็นโกลา”
ระหว่างที่ช้างป่าแตกตื่นหนีกันอลหม่าน ช้างเผือกสูงใหญ่เหลียวมาเห็นช้างทรงของพระอุณรุทเข้า ก็หันกลับมาเผชิญหน้าด้วยความหวงแหนช้างตัวเมียในฝูง
“บังหูชูหางกระหึ่มมัน โกญจนาทสนั่นพนาลี
กำลังสารหาญหวงกิริณี เข้าต่องาราวีด้วยช้างทรง”
พระอุณรุททรงขับช้างทรงสู้กับช้างป่า ไม่มีใครยอมใคร
“เปรี้ยงเปรี้ยงเสียงงาดังฟ้าฟาด ฉานฉาดประกายวับจับเวหา
เสยส่ายคัดค้อนเป็นโกลา ต่างกล้าต่อหาญประจัญกัน
คชาทรงองอาจดังราชสีห์ ชาญชนท่วงทีคือจักรผัน
สอดงาลงล่างแบกดัน บุกบั่นช้างป่าด้วยกำลัง
จนเท้าขวิดไม่ติดธรณี เถื่อนหนีผละร้องตลบหลัง
วิ่งแซงแข่งหน้าคณาพัง ดังป่าจะถล่มทลายไป”
ผลการต่อสู้ปรากฏว่า ‘สารเศวต’ หรือช้างเผือกตระกูลสูงร่างมหึมา ไม่อาจสู้ช้างทรงได้ ถึงกับเปิดแน่บ วิ่งแซงหน้าบรรดาช้างตัวเมีย เสียงฝีเท้าสะเทือนเลื่อนลั่นราวป่าจะถล่มทลายลง พระอุณรุทไม่ปล่อยนาทีทองผ่านไป ให้ช้างทรงไล่ตามติด ทรงซัดบ่วงบาศคล้องช้างเผือก ‘เศวตกุญชรสีสังข์บวรสูงส่ง’ ไว้ได้สำเร็จ หลังจากนั้นไพร่พลทั้งหลายก็เข้าช่วยกัน หมอช้างรีบขับช้างไปขนาบข้างและจัดการผูกช้างดังกล่าวไว้กับต้นไม้ใหญ่
บริวารของพระอุณรุทช่วยกันขับช้างของตนไล่โจมตีช้างป่ามีตระกูล
“บัดนั้น พระพี่เลี้ยงสุริยวงศ์พงศา
ทั้งขุนช้างผู้มีปรีชา บังคมพระยอดฟ้าด้วยใจภักดิ์
แล้วขับคชสารแล่นไล่ โจมฝูงช้างไพรตระกูลศักดิ์
บ้างชิงคลองเลือกคล้องคชลักษณ์ ต่างทิ้งต่างชักอยู่นี่นัน”
จังหวะนี้เอง ‘แม่แปรก’ หรือช้างพังหัวหน้าโขลงก็แทรกเข้ามาต่อสู้กับช้างต่อ (ช้างที่หมอเฒ่าใช้ขี่จับช้าง) ร่วมกับช้างอื่นๆ ในฝูงนั้น
“แม่แปรกแถกถาเข้าต่อสู้ วางวู่รวดเร็วดังจักรผัน
โคตรใหญ่พรายเพรียวก็บุกบัน ชนประจัญช้างต่อไม่ท้องา”
การต่อสู้ครั้งนี้ทำเอาช้างน้อยในฝูงตื่นตระหนก ดังที่รัชกาลที่ 2 ทรงบรรยายว่า
“ลูกน้อยวิ่งวุ่นเข้าพัลวัน ช้างต่อตีรันไม่รอหน้า
ร้องแปร๋นแล่นอึงเป็นโกลา ช้างป่าจะหักด่านไป”
ในที่สุด ‘พี่เลี้ยงกับชาวคชไกร คล้องได้สารไพรดังจินดา’ พระอุณรุทดีใจยิ่งนัก เสด็จลงจากหลังช้างไปชมเหล่าช้างที่คล้องได้ล้วนมีตระกูลสูงลักษณะดี ผิวกายหลากหลายสี
“แต่ละตัวล้วนมีสีสัน พรายพรรณสมบูรณ์ตระกูลศักดิ์
ทั้งอำนาจอาจหาญยิ่งนัก สมเป็นเอกอัครคชาพงศ์
จะได้เป็นมิ่งเมืองเรืองสวัสดิ์ กำจัดศัตรูให้ผุยผง
พระนครจะปรากฏยศยง เป็นมหามงคลสืบไป”
ในนิทานคำกลอนเรื่อง “สิงหไตรภพ” สิงหไตรภพคิดแก้แค้นแทนโอรสที่เคยถูกท้าวเทพาสูรจับไว้ จึงยกกองทัพตีเมืองกาลวาศ สู้รบกัน ฟันแขนท้าวเทพาสูรขาดกระเด็น ต้องแตกทัพหนีเข้าป่า หลังจากสิงหไตรภพเข้าเมืองก็ได้นางเทพกินราเป็นชายา สุนทรภู่นำเอา ‘แม่แปรก’ หรือ ‘พังแปรก’ มาใช้ในบทอัศจรรย์ โดยเปรียบกับนางเทพกินราตอนได้กับสิงหไตรภพด้วยหลงเข้าใจว่าเป็นท้าวเทพาสูร พระสวามีแปลงกายมา
“เปรียบเหมือนดังพังแปรกที่แตกฝูง เขาจับจูงจากดงด้วยหลงใหล
ตามช้างต่อหมอขลังที่นั่งไพร เห็นกิ่งไม้เหมือนหนึ่งป่าอุตส่าห์เดิน
ต้องผูกกูบฟุบเท้าก็เคล่าคล่อง ทำนิทำนองเปลี่ยนผลัดไม่ขัดเขิน
เหมือนปี่เป่ากราวเชิดต่างเพลิดพลิน ไม่ก้ำเกินแก่หัดสันทัดกัน”
สุนทรภู่ดูจะติดใจ ‘แม่แปรก’ อยู่ไม่น้อย นอกจากใช้กับช้าง ยังใช้กับคนอีกด้วย ดังที่เล่าไว้ใน “นิราศพระบาท” ตอนหนึ่งว่า ชายหญิงเที่ยวชมถ้ำ ทันทีที่ความสว่างหายไป มองอะไรไม่เห็น ผู้ชายก็ถือเป็นโอกาสอาศัยความมืดลวนลามล่วงเกินผู้หญิง
“เที่ยวชมห้องปล่องหินเป็นพู่ห้อย มีน้ำย้อยหยาดหยัดอย่างเม็ดฝน
พอเทียนดับลับแลไม่เห็นคน ผู้หญิงปนเดินปะปะทะชาย
เสียงร้องกรีดหวีดก้องในห้องถ้ำ ชายขยำหยอกแย่งผู้หญิงหวาย
ใครกอดแม่แปรกอกแตกตาย ……………………………………….”
ใครๆ ก็อยากกอดหญิงสาว ชายใดโชคร้ายตามที่กวีบรรยายว่า ‘ใครกอดแม่แปรกอกแตกตาย’ นั้นเป็นเพราะ ‘แม่แปรก’ หาใช่หญิงสาวเนื้อแน่นเต่งตึงน่ากอดไม่ แต่เป็นสาวแก่เนื้อหย่อนหนังเหี่ยว ท่าทางจัดจ้าน ปากร้ายด่าไฟแลบ เป็นหัวหน้าของผู้หญิงในกลุ่ม ชอบเสนอหน้าเข้ามาขวางทุกเรื่อง ขืนกอดเข้าไปถ้าไม่ได้เรื่องก็ได้เลือด ไม่หัวโนก็หัวแตก
ดังกรณีของขุนช้างในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนพลายแก้วแต่งงานกับนางพิม ขณะที่พระสงฆ์ซัดน้ำคู่บ่าวสาว เพื่อนฝูงทั้งสองฝ่ายก็เข้ามาห้อมล้อม ขุนช้างโดนฤทธิ์เดชแม่แปรกชื่อนางมั่นทั้งตี ต่อย เขกหัวล้านเป็นพัลวัน ทั้งยังด่าขุนช้างว่าต่ำช้าเพราะเล่นพิเรนทร์กับสะดือของนาง
“พระสงฆ์สวดมนต์ร่ำกระหน่ำไป เอาน้ำซัดสาดใส่อยู่ฉานฉ่า
นางมั่นแม่แปรกแทรกเข้ามา ขุนช้างเข้าคร่าเอาข้อมือ
นางมั่นรันหัวลงต้ำเปาะ พ่อเงาะวางฉันอย่าดันดื้อ
ขุนช้างฉุดผ้าคว้าจิ้มดือ ไม่วางฤๅอ้ายถ่อยต่อยเขกลง”
‘แม่แปรก’ จะเป็น ‘คน’ หรือ ‘สัตว์’ แสบได้โล่ทั้งนั้น •
จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022