ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สิ่งแวดล้อม |
ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ บุตรตัน |
เผยแพร่ |
ภาพข่าวน้ำท่วมหนักหน่วงในช่วงกลางเดือนสิงหาคมทั้งภาคเหนือและภาคใต้ทำให้ผู้ชมอย่างเราๆ ได้เห็นว่าเหยื่อผู้ประสบภัยแทบไม่มีเวลาตั้งตัวรับมือกับมวลน้ำที่ทะลักล้น ทั้งๆ ที่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมามีการใช้งบประมาณสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมไปแล้วเป็นพันๆ ล้านบาท แต่ก็เอาไม่อยู่
เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าแผนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาน้ำท่วมของชาติล้มเหลวไม่เป็นท่า
สื่อทุกแขนงรายงานตรงกันว่าสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดน่านหนักหนาสาหัสที่สุดในรอบ 100 ปี เฉพาะอำเภอเมืองน่านมีบ้านเรือนถูกน้ำท่วมมากกว่า 3,000 หลัง
สาเหตุมาจากฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ประกอบกับภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่จากเดิมที่เคยเป็นป่าไม้สมบูรณ์กลายเป็นพื้นที่เกษตร เป็นชุมชน มีการทำถนน สิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางน้ำ
ขณะที่ระบบเตือนภัยล่าช้าไม่ทันการณ์ เมื่อน้ำทะลักมาชาวบ้านจึงรับมือไม่ทัน
ในรายงานวารสารแก่นเกษตร เปิดเผยผลการศึกษาการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดน่านพบว่าในห้วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมามีการโค่นทำลายป่าอย่างหนักหน่วง
ช่วงปี พ.ศ.2530-2548 พื้นที่ป่าไม้จังหวัดน่านลดลงเฉลี่ยปีละ 20,300 ไร่ ปี พ.ศ.2548-2554 มีการลดลงเฉลี่ยปีละ 48,600 ไร่
ช่วงปี พ.ศ.2555-2558 พบว่าพื้นที่ป่าไม้ยังคงมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากนั้นในปี พ.ศ.2558-2561 พื้นที่ป่าไม้ค่อนข้างคงที่อยู่ในช่วง 4.56-4.65 ล้านไร่
เมื่อวิเคราะห์การลดลงของพื้นที่ป่าไม้รายอำเภอของจังหวัดน่านช่วงปี พ.ศ.2507-2554 พบว่าอำเภอเวียงสาสูญเสียพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดประมาณ 283,681ไร่ ในส่วนตำบลสะเนียน อำเภอเมืองน่าน สูญเสียพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดประมาณ 78,871 ไร่
ภาพรวมแล้วจังหวัดน่านสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ในช่วงปี พ.ศ.2507-2561 ประมาณ 1.2 ล้านไร่
ในเวลาต่อมามีความพยายามฟื้นฟูป่า สร้างเครือข่ายทางสังคมปลุกสำนึกชาวน่านให้หวงแหนความเป็นป่า แต่ดูเหมือนว่าการฟื้นฟูเป็นไปอย่างเชื่องช้าไม่เท่าทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ทุกครั้งเมื่อเกิดฝนตกหนัก น้ำป่าไหลทะลักท่วมตัวเมืองน่าน จนกระทั่งชาวบ้านต่างเตรียมตัวเตรียมใจสู้กับน้ำมาโดยตลอด
หลังเกิดเหตุน้ำท่วม ทางจังหวัดได้รับการจัดสรรงบประมาณป้องกันน้ำท่วมทั้งแผนขุดลอกบรรเทาปัญหาน้ำท่วม สร้างพนังกั้นน้ำสูงขึ้น วางระบบป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชน
รายงานสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ระบุว่าเฉพาะโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่านในช่วงระหว่างปี 2562-2563 มีจำนวนมากถึง 21 โครงการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำและแก้ปัญหาน้ำท่วม เพื่อให้มีพื้นที่กักเก็บน้ำรวมแล้ว 292.61 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ 2 แสนกว่าไร่ และยังมีโครงการขุดลอกแก้ปัญหาน้ำท่วมแม่น้ำน่านใช้งบประมาณกว่า 5 พันล้านบาท
ในวันเกิดเหตุ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา พนังกั้นน้ำในตัวเมืองน่านก่อสร้างป้องกันน้ำท่วมไว้สูงถึง 8.50 เมตร ปรากฏว่าเอาไม่อยู่ น้ำทะลักล้นใส่ชุมชนอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านพากันยกข้าวของหนีน้ำไม่ทัน
ที่ อ.เทิง จ.เชียงราย มีฝนตกติดต่อกันหลายวัน ปริมาณน้ำในแม่น้ำหงาว แม่น้ำลาวเพิ่มขึ้น ไหลลงมารวมแม่น้ำอิงเอ่อล้นท่วมชุมชนอย่างหนักหน่วงในรอบ 30 ปี ชาวบ้านบอกว่าน้ำมาเร็วมาก เอ่อท่วมสูงกว่า 1 เมตรในช่วงเวลาไม่นาน ไม่สามารถเก็บข้าวของได้ทัน ทำให้เกิดความเสียหายมาก
สาเหตุน้ำท่วมที่ อ.เทิง นอกจากฝนตกหนักแล้ว การระบายน้ำจากแม่น้ำอิงลงสู่แม่น้ำโขงมีปัญหาระบายได้ช้าเพราะน้ำในแม่น้ำโขงมีระดับสูงเนื่องจากทางการจีนปล่อยน้ำจากเขื่อนมากกว่าปกติทำให้น้ำเอ่อท่วมอำเภอเทิงอย่างหนักหน่วง
ส่วนที่ตำบลท่าทอง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ภาพข่าวของสื่อโชว์ให้เห็นกำแพงปูนกั้นน้ำริมแม่น้ำยมเจอกระแสน้ำโถมทะลักใส่จนพังเป็นแนวยาวเกือบ 10 เมตร มวลน้ำเอ่อท่วมบ้านเรือนประชาชนที่ปลูกสร้างหลังแนวกำแพง
ชาวบ้านบอกว่า น้ำท่วมเมื่อปี 2554 ถือว่าหนักมากแล้ว แต่ยังไม่ท่วมมากเท่าปีนี้
มีการตั้งประเด็นว่าจังหวัดสุโขทัยน้ำท่วมและแล้งซ้ำซากทุกปี เพราะเป็นพื้นที่รับน้ำจากแม่น้ำยมและแม่น้ำปิง แต่ไม่มีเขื่อนกั้น มีเพียงประตูระบายน้ำแห่งเดียวที่ อ.สวรรคโลก
แม่น้ำยม มาจากเทือกเขาผีปันน้ำใน จ.ลำปาง ไหลผ่าน จ.แพร่เข้าสู่ จ.สุโขทัยซึ่งเป็นที่ราบลุ่ม ถ้าฝนตกหนักมากน้ำจากเทือกเขาผีปันน้ำทะลักลงสู่ จ.สุโขทัย ไหลผ่าน 5 อำเภอระยะทาง 170 กิโลเมตรแล้วไหลไปยัง อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ส่วนน้ำจากแม่น้ำปิงไหลจาก จ.กำแพงเพชร เข้าสู่ อ.คีรีมาส ทางตอนล่างของ จ.สุโขทัย
อีกประเด็น พื้นที่ป่าไม้ใน จ.สุโขทัยมีเพียง 1.2 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 29.40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งจังหวัด และพื้นที่ป่ายังลดลงทุกปี ปี 2566 ป่าสูญหายไปเกือบ 5 พันไร่
เมื่อฝนตกหนักๆ เกิดน้ำท่วม ถึงหน้าแล้ง ปรากฏว่าพื้นที่สุโขทัยประสบภัยแล้ง ไม่มีน้ำเพียงพอต่อการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์
ประเด็นน้ำท่วมและแล้งซ้ำซากในพื้นที่สุโขท้ยจึงถูกลากโยงไปถึงโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเพื่อเก็บน้ำและชะลอน้ำที่ถกเถียงกันมานานกว่า 30 ปี
ฝ่ายคัดค้านการสร้างเขื่อนมองว่า ถ้าสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะต้องโค่นป่า ทำลายแหล่งต้นน้ำ
ฝ่ายสนับสนุนแย้งว่าควรสร้างเพราะจะช่วยเก็บน้ำในหน้าฝนเอาไว้ใช้ในหน้าแล้ง
หลังรัฐประหารล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางยุทธศาสตร์ 20 ปี ในแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ระหว่าง พ.ศ.2561-2580 เพื่อแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำยมอย่างยั่งยืน
เป้าหมายพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำรวม 800 ล้านลูกบาศก์เมตร และพัฒนาแก้มลิงชะลอน้ำ 833 ล้าน ลบ.ม.
รายงานของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พบว่า ลุ่มน้ำยมมีแผนพัฒนาแหล่งน้ำในช่วงปี 2562-2566 จำนวนมากถึง 22 โครงการ มีความจุเก็บกักรวม 160.84 ล้าน ลบ.ม. และครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์กว่า 91,682 ไร่ มีแผนงานโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญในพื้นที่คือ โครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน จ.สุโขทัย โครงการขนาดใหญ่ของกรมชลประทานที่ใช้งบประมาณในการก่อสร้างสูงถึง 2,812 ล้านบาท
ตามแผนอ้างว่า เมื่อพัฒนาและปรับปรุงแล้ว จะมีพื้นที่รับประโยชน์รวม 7,300 ไร่ และมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำโดยเฉพาะ 5 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์เกือบ 1 หมื่นไร่ อาทิ โครงการระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนหนองม่วงไข่ จ.แพร่ มีงบประมาณก่อสร้าง 210 ล้านบาท ด้วยพื้นที่รับประโยชน์ 2 พันกว่าไร่
นอกจากนี้ ยังมีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เน้นการขุดลอกแม่น้ำยมอีกจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ แผนขุดลอกเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมแม่ยมตอนบน งบประมาณก่อสร้าง 1,722 ล้านบาท แผนขุดลอกเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมแม่ยมตอนล่าง งบประมาณก่อสร้าง 2,485 ล้านบาท แผนขุดลอกเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมแม่ยม นครสวรรค์ งบประมาณก่อสร้าง 275 ล้านบาท
โครงการขุดลอกทั้ง 3 มีงบประมาณก่อสร้างรวม 4,482 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ในลุ่มน้ำยมตอนบน ลุ่มน้ำยมตอนล่าง และลุ่มน้ำยมในพื้นที่ จ.นครสวรรค์
ถ้าดูตามยุทธศาสตร์ที่วางเอาไว้ยาวถึง 20 ปี และใช้งบประมาณต่อเนื่องมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ภาคเหนือได้บ้างแล้ว แต่ผลปรากฏตรงกันข้าม ปีนี้เหตุน้ำท่วมหนักขึ้น รุนแรงขึ้น
ที่น่าประหลาดใจไปกว่านั้นเมื่อดูรายงานการวิจัยเปรียบเทียบองค์กรการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้โครงการขับเคลื่อน แผนงานวิจัยด้านการจัดการน้ำพบว่าหน่วยงานการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยมีมากถึง 38 หน่วยงาน ตั้งกระจัดกระจายใน 1 สังกัด 9 กระทรวง
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มากที่สุดจำนวน 10 หน่วยงาน ได้แก่ กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมควบคุมมลพิษ องค์การจัดการน้ำเสีย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กระทรวงมหาดไทย มีหน่วยงานบริหารจัดการน้ำ 7 หน่วยงาน ได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมการปกครอง กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
หรือเป็นเพราะว่าน้ำท่วมหนักๆ แล้งจัดๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกปีเป็นเพราะประเทศไทยมีหน่วยงานแก้ปัญหาเยอะเกินไป ต่างฝ่ายต่างทำ ไม่ได้คิดแผนเชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นระบบ
คราวนี้หันไปดูที่จังหวัดภูเก็ต หลังเกิดฝนตกอย่างหนักต่อเนื่องระหว่างวันที่ 22-23 สิงหาคม วัดปริมาณน้ำฝนได้มากถึง 200 มิลลิเมตร กระแสน้ำสะสมกระชากดินโคลนจากพื้นที่สูงเหนือเชิงเขานาคเกิด อ.กะรนไหลทะลักท่วมบ้านเรือนที่ปลูกสร้างริมเชิงเขา มีผู้เสียชีวิต 13 คน บาดเจ็บอีกนับสิบ บ้านพังเสียหายกว่า 50 หลัง
มีการตรวจสอบพบจุดเกิดเหตุอยู่ในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างลานจอดรถและอาคารของสำนักสงฆ์ตั้งอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำชั้น 1เอ
หลังเกิดเหตุอันน่าสลดแล้วมีคำถามตามมามากมายตั้งแต่กรมป่าไม้อนุญาตให้สำนักสงฆ์ขึ้นไปสร้างอาคารวัตถุขนาดใหญในพื้นที่ป่าสงวนฯ ได้อย่างไร?
ถ้าอ้างว่ากรมป่าไม้อนุญาตให้สำนักสงฆ์เข้าไปในพื้นที่ป่าสงวนฯ เพราะหวังจะให้พระช่วยดูแลรักษาป่า แต่ในความเป็นจริงพบว่ามีการทำลายพื้นที่ป่าเพื่อก่อสร้างขยายอาคารและลานจอดรถ
การก่อสร้างในพื้นที่ป่าสงวนฯ ผ่านการตรวจสอบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและวิศวกรรมหรือไม่? ถ้าได้อนุญาตให้ก่อสร้างทำไมจึงเกิดเหตุร้ายแรง หรือเป็นเพราะก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน?
ใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังผลประโยชน์จากการใช้พื้นที่ป่าสงวนฯ แห่งนี้?
ทั้งหมดนี้จึงเป็นคำถามที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องมีคำตอบให้สังคมได้รับรู้โดยเร็ว •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022