อุทกภัย…มาแล้ว ครอบงำ ‘ภัย’ กำลังมา?

สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือหลายจังหวัด

แม้ปัจจุบันสถานการณ์จะดีขึ้น แต่ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจในพื้นที่มหาศาล

ธุรกิจท้องถิ่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟที่เคยสวยงามดึงดูดนักท่องเที่ยว เต็มไปด้วยคราบดิน บางจุดท่วมเกือบมิดหลังคา

“ความมั่นคงในชีวิต” พลันหายไปกับอุทกภัยที่ไร้การแจ้งเตือนอย่างจริงจังและทันท่วงที

อีกเรื่องที่น่าสนใจคืออุทกภัยครั้งนี้เกิดขึ้นในสภาวะเปลี่ยนผ่านรัฐบาล “ยังไม่สมบูรณ์”

แม้จะมีนายกฯ แล้ว ได้รับโปรดเกล้าฯ เรียบร้อย แต่กลับถูกจำกัดด้วยกฎ ไม่สามารถใช้อำนาจบริหารได้ ต้องรอให้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จึงจะเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้

น่าคิดอีกว่า โครงสร้างการเมืองประเทศเรา ช่างไม่สมเหตุสมผลเลย

การ “ปลดนายกฯ” ทำได้ง่ายดาย ใช้ต้นทุนเวลา “ไม่นาน” แต่กว่าจะตั้งรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยช่างยากเย็น เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ ใช้ต้นทุนทางเวลา “สูงยิ่ง”

แม้จะมีรักษาการนายกฯ ก็จริง แต่ในเรื่องความสำคัญของคำสั่ง-นโยบาย ก็สู้นายกฯ ตัวจริง ที่มีความ “จริงจังมากกว่า” ไม่ได้

 

ที่น่าห่วง (หรือปวดหัว) ไม่น้อยไปกว่าสถานการณ์น้ำท่วม เห็นจะเป็นเรื่องตั้งรัฐบาล เพราะเป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์หลังการเลือกนายกฯ สถานการณ์กลับยุ่งฝุ่นตลบ โผ ครม.เปลี่ยนไปมารายวัน

พรรคพลังประชารัฐแตกออกเป็น 2 ขั้ว ระหว่าง ขั้ว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ต่างฝ่ายก็มี ส.ส.อยู่ในมือใกล้เคียงกัน

ฝั่ง พล.อ.ประวิตร ก็มีทีมเบื้องหลังที่ไม่ธรรมดา ทำให้ยุทธศาสตร์การกลับไปอยู่กับพรรคเพื่อไทยของขั้ว ร.อ.ธรรมนัส ไม่ประสบความสำเร็จโดยง่าย

เล่นใหญ่ออกสื่อ ไม่ว่าจะเป็นการชิงเสนอชื่อรัฐมนตรีก่อน ไปจนการออกหนังสือทวงเอกสารกรอกประวัติรัฐมนตรี

จนสุดท้าย ฟาก ส.ส.เพื่อไทย และคณะกรรมการบริหารพรรค ต้องออกแรงช่วย ใช้เทคนิคออกมติพรรคไม่เอาพรรคพลังประชารัฐ เลือกจับมือเฉพาะขั้ว ร.อ.ธรรมนัส พร้อมๆ กับดึงเสียง ส.ส.ประชาธิปัตย์มาร่วมด้วย

แม้ไม่แสดงออกแรงๆ แต่ก็สร้างความเจ็บแค้นลึกๆ ต่อ พล.อ.ประวิตร และเครือข่าย

แกนนำหลายคนออกมาพูดในน้ำเสียงเดียวกันว่าถูกเพื่อไทย “ทรยศ” ทั้งๆ ที่พลังประชารัฐทุกคนโหวตให้ น.ส.แพทองธาร เป็นนายกฯ แท้ๆ กลับไปดึงพรรคประชาธิปัตย์ที่งดออกเสียง มาเป็นรัฐมนตรี

นับหนึ่ง ครม.อุ๊งอิ๊ง ก็เจอปัญหาใหญ่ตั้งแต่วันแรก แต่ก็ผลักดันกันจนผ่านด่านแรก

 

แน่นอนว่าด้วยบริบททางการเมืองที่เกิดขึ้น ศรัทธาต่อเพื่อไทยที่ลดลง อำนาจต่อรองที่สูงขึ้นของพรรคร่วมรัฐบาล หน้าตาของ ครม.อุ๊งอิ๊ง จึงทำหลายคนผิดหวัง เพราะโฉมหน้า ครม.ดูไม่ค่อยสอดคล้องกับวิสัยทัศน์นายทักษิณ ชินวัตร ที่กล่าวในงาน Vision Thailand สักเท่าไหร่

แต่ก็มีมุมมองที่ยืนยันว่า เพื่อไทยทำสำเร็จ ล้ม 3 ป.ได้จริง เพราะ “ป.คนสุดท้าย” หลุดจากการเมืองเป็นที่เรียบร้อย

ถ้าจะคิดในกรอบการแก้แค้น ก็ต้องยอมรับว่า เป็นการ “เอาคืน” ที่น่าสนใจไม่น้อยของนายทักษิณ

เอา 3 ป.ออกจากการเมืองในระบบได้ จากที่เคยเป็นศัตรูต่อสู้กันมา

แต่คำถามว่าฝั่งนายทักษิณและพรรคเพื่อไทยชนะจริงหรือ?

คำตอบก็คือยังไม่ชัด เพราะไม่ใช่การชนะกันในเกมปกติ แต่เป็นการชนะบน “การต่อรองทางการเมืองชั่วคราว”

3 ป.อาจออกจากการเมืองในระบบจริง แต่ในการเมืองนอกระบบยังมีอิทธิพลอยู่มาก ยังไม่นับว่ารัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลปัจจุบันก็คือเครือข่ายของ 3 ป. เป็นคนสนิท 3 ป. หรือคนใดๆ คนหนึ่งใน 3 ป. มาอย่างยาวนาน

นั่นก็คือ 3 ป. (หรือ ป.ใด ป.หนึ่ง) ยังอยู่ แต่อยู่ในรูปของ “บารมีทางการเมือง” และ “มรดกทางกฎหมาย”

 

ส่วนฝ่ายอนุรักษนิยมไทยที่เคยเคลื่อนไหว ไม่ว่ามวลชนเสื้อเหลือง กปปส.เดิม ที่เคยเคลื่อนล้มตระกูลชินวัตรมาเกือบ 2 ทศวรรษ ต้องบอกว่า “เจ็บใจยิ่งนัก”

จากข่าวการตั้งเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีตแกนนำ กปปส.เป็นรัฐมนตรี ทั้งยังมีข่าวการเป็นพยานให้กับนายทักษิณในคดี 112

แม้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค แม่ทัพตัวตายตัวแทน พล.อ.ประยุทธ์ จะออกมาชี้แจงยังไงก็ฟังไม่ขึ้น

การดึงประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลเพื่อไทย เปรียบเป็นการปิดฉากพรรคประชาธิปัตย์ในทางการเมือง ที่มักอ้างว่าเป็น “พรรคการเมืองที่มีความเป็นสถาบันการเมืองมากที่สุด” อย่างแท้จริง

เล่นเอารุ่นใหญ่ของพรรคอย่าง ชวน หลีกภัย หลังพิงกับ “หลักการ” ประกาศไม่ร่วมเพื่อไทย ขอนั่งเหงาๆ อยู่ในสภา

ถ้าคิดในกรอบการ “เอาคืน” ในทางการเมือง จึงพูดได้ว่าวันนี้ “ทักษิณ” จัดการศัตรูทางการเมืองในอดีตได้สำเร็จ แนบเนียน

แต่แน่นอนว่า การจัดการกับศัตรูของนายทักษิณที่เกิดขึ้น “คนละเรื่อง” กับการพัฒนาประชาธิปไตยให้ดียิ่งขึ้น

เพราะในเรื่องนี้ต้องดูว่านายทักษิณและรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะลบล้างมรดก คสช.อย่างไร จะมีท่าทีอย่างไรต่อโครงสร้างการเมืองเดิมที่ คสช.วางไว้

3 ปีต่อจากนี้จะเป็นบทพิสูจน์เรื่องนี้ ว่ารัฐบาลเพื่อไทยและนายทักษิณจะกอบกู้โครงสร้างการเมืองแบบประชาธิปไตยปกติกลับคืนมาได้มากน้อยเพียงใด

หากครบ 3 ปีแล้วไร้ความคืบหน้าทางการเมือง คนที่เคยเลือกเพื่อไทยรู้สึกว่า “การดีลทั้งหมด” ไม่คุ้มค่า ไม่สามารถกอบกู้โครงสร้างการเมืองประชาธิปไตยกลับมาได้ ประชาชนก็จะลงโทษพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งต่อไปเอง

ยังไม่นับอุปสรรคขวากหนามทางเศรษฐกิจ ที่ไม่ได้เอื้อให้รัฐบาลทำงานได้ดีเลย

 

แต่ยังไม่ทันจะถามว่ารัฐบาลแพทองธารจะทำอะไร ใน 3 ปีต่อจากนี้ ก็ต้องเปลี่ยนคำถามใหม่ว่า รัฐบาลแพทองธาร จะอยู่ครบ 3 ปีไหม?

เพราะจู่ๆ ก็มีมือมืดยื่นหนังสือคำร้องไปยัง กกต.ขอให้มีการยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคเพื่อไทย

เจาะลึกไปที่รายละเอียดคำร้อง การไล่เรียงตรรกะ ต้องบอกว่าคนนี้ไม่ธรรมดา น่าจะเคยทำงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาก่อน และคงไม่ใช่ทำคนเดียว แต่คงต้องมีการบัญชาการอย่างเป็นระบบ

มีการอ้างคำวินิจฉัยเดิมที่เอื้อให้ศาลรัฐธรรมนูญแทบไม่ต้องทำการไต่สวนเพิ่ม พร้อมยืนยันหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคเพื่อไทยยินยอมให้บุคคลที่มิใช่สมาชิกพรรคชี้นำกิจกรรมของพรรค

มีการโยงเรื่องการถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน เพราะตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีโดยการชี้นำของนายทักษิณ สะท้อนการครอบงำซึ่งมีผลมาถึงรัฐบาล น.ส.แพทองธาร

ในคำร้องยังยกตัวอย่างการครอบงำในหลายวาระในการประกอบคำร้อง ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

ตามมาติดๆ ด้วยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ไปยื่น กกต.สอบ น.ส.แพทองธาร กรณีถือหุ้นและลาออกจากบริษัทเอกชน มีเหตุให้ต้องพ้นเก้าอี้นายกฯ

เป็นการหยิบเรื่อง “หยุมหยิม” เรื่องวันลาออก มาเล่นงาน น.ส.แพทองธาร แต่คำถามคือ หากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าผิดจริง จะเกิดอะไรขึ้น

อย่าลืมว่ารัฐบาลจากตระกูลชินวัตรหลายคนที่ผ่านมา ก็เคยถูกเล่นงานด้วยเรื่อง “หยุมหยิม”

2 ทศวรรษที่ผ่านมา นักการเมืองหลายคนถูกตัดสิทธิ ถูกยุบพรรค ก็ด้วยเรื่อง “หยุมหยิม” นี่แหละ

 

ยังไม่ทันตั้งรัฐบาล เข้าทำงานตึกไทยคู่ฟ้า ครม.แพทองธาร 1 ก็เจอวิบากกรรมเข้าแล้ว

นายทักษิณ “ครอบงำ” รัฐบาลเพื่อไทย และ น.ส.แพทองธาร หรือไม่ จะกลายเป็นคำถามสำคัญต่อจากนี้

เอาเข้าจริงคนส่วนใหญ่ก็เข้าใจ และเห็นว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร กับการที่รัฐบาลเพื่อไทย จะดำเนินตามวิชั่นของนายทักษิณ

ดูจากผลโพลของนิด้าโพลก็สะท้อนชัดว่า คนไทยรับรู้และเชื่อว่า น.ส.แพทองธารจะบริหารประเทศไม่ได้ถ้าขาดอิทธิพลของนายทักษิณ

หรือถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ในมุมของคุณทักษิณเอง ถ้า “จงใจ” จะครอบงำจริง ก็คงไม่ทำอะไรเปิดเผยอย่างทุกวันนี้

แต่ปัญหาใหญ่จริงๆ มิใช่การถูกครอบงำหรือไม่ถูกครอบงำ? มันคือ ประเด็นเหล่านี้จะถูกใช้ในการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ถูกใช้ในการลดทอนคุณค่าของประชาธิปไตย คุณค่าของเสียงประชาชน ต่างหาก

อย่าลืมเรื่องที่เพิ่งเกิดเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

พรรคการเมืองอันดับ 1 ที่ชนะแต่ก็เป็นฝ่ายค้าน ถูกยุบเพราะแค่เสนอนโยบายหาเสียง

ตามด้วย นายกรัฐมนตรีถูกให้พ้นจากตำแหน่งเพราะการตีความเรื่อง “จริยธรรม” (ที่แม้แต่ในองค์คณะก็ยังเห็นไม่ตรงกัน “เกือบครึ่งต่อครึ่ง”)

โครงสร้างการเมืองเดิมเช่นนี้ต่างหากที่เป็นปัญหา

ครม.อุ๊งอิ๊ง 1 จากนี้ไปไม่ง่าย อย่าประเมินปฏิบัติการการเมืองผ่านข้อหา “ครอบงำ” ในขณะนี้ ต่ำเกินไปนัก