ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
พัฒนาการของสงครามรัสเซียบุกยูเครนในระยะหลังมานี้ยายตัวออกไปในทิศทางที่แปลกแปร่งมากขึ้นทุกที
ใครจะไปคาดคิดว่า ชาติเล็กๆ ผู้ถูกรุกรานอย่างยูเครน จะสามารถส่งกำลังทหารบุกลึกข้าไปในแคว้นคูร์สก์ และยึดพื้นที่ไม่น้อยเอาไว้ในช่วงเวลาเพียงไม่ช้าไม่นาน
ยิ่งไปกว่านั้น โวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ประธานาธิบดียูเครน ยังออกมายืนยันชัดเจนว่า การบุกรัสเซียครั้งนี้ ไม่เพียงเพื่อผ่อนคลายแรงบีบคั้นทางทหารที่รัสเซียมีต่อยูเครนในดินแดนด้านตะวันออกเท่านั้น
ยังเป็นส่วนหนึ่งของ “แผนแห่งชัยชนะ” ที่เตรียมนำเสนอต่อสหรัฐอเมริกาภายในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้อีกด้วย
ภายใต้สภาวการณ์กดดัน ที่ดูเหมือนทำให้รัสเซียละล้าละลังในการตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับการบุกรุกเข้ามาในดินแดนของตนเองอย่างคาดไม่ถึงครั้งนี้
วลาดิมีร์ ปูติน ดูเหมือนจะหันกลับไปใช้วิธีการดั้งเดิมที่ใช้มาตั้งแต่เริ่มต้นการบุกยูเครน นั่นคือ การออกมาพูดถึง “การขยายวงของสงคราม” ที่อาจนำไปสู่ “สงครามโลกครั้งที่สาม” กับ “อาวุธนิวเคลียร์” ในคลังแสงของตนเองอีกครั้ง
เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศคู่บารมีของปูติน ที่ทำงานร่วมกันมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ออกมาเตือนบรรดา “ชาติตะวันตก” ทั้งหลายเมื่อ 27 สิงหาคมนี้ว่า “กำลังเล่นกับไฟ” แบบไม่รู้เดียงสา เหมือน “เด็กๆ กำลังสนุกอยู่กับการเล่นไม้ขีด” ยังไงยังงั้น
ท่าทีของลาฟรอฟ สะท้อนออกมาให้เห็นชัดเจนว่า รัสเซียไม่เชื่อเด็ดขาดว่า การบุกแคว้นคูร์สก์ ของยูเครน ที่เริ่มตั้งแต่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา จะดำเนินไปโดยที่ชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกาและชาติใหญ่ในยุโรป ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน
ลาฟรอฟย้ำเอาไว้ชัดเจนว่า การบุกแคว้นคูร์สก์ครั้งนี้ รังแต่จะเป็นการ “หาเรื่องเดือดร้อน” ให้กับตนเองของฝ่ายตะวันตกเท่านั้น
นี่เป็นท่าทีที่เป็นทั้งการเตือนและเป็นเชิงข่มขู่พร้อมกันไปด้วยในตัว แบบเดียวกันกับที่รัสเซียเคยนำมาใช้ซ้ำๆ หลายครั้ง นับตั้งแต่เริ่มต้นส่งกำลังทหารบุกยูเครนเมื่อต้นปี 2022 แม้จะปิดท้ายในทุกครั้งว่า รัสเซียไม่เคยอยากให้เกิดความขัดแย้งขึ้นกับกลุ่มพันธมิตรนาโตที่นำโดยสหรัฐอเมริกาแม้แต่น้อยก็ตามที
ลาฟรอฟบอกด้วยวาทกรรมของนักการทูตผู้คร่ำหวอดว่า การเล่นไม้ขีดอาจเป็นเรื่องสนุกของเด็กๆ แต่สำหรับ “ลุงๆ ป้าๆ ที่โตแล้ว” และได้รับความไว้วางใจให้ควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ “ในประเทศโน้นประเทศนี้” ตระหนักดีว่านี่คือสิ่งที่เป็น “อันตราย”
ต่อด้วยการบอกว่า คนอเมริกันมักคิดกันว่า “สงครามโลกครั้งที่สาม” นั้นจะจำกัดวงอยู่เฉพาะในยุโรปเท่านั้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว สงครามโลกครั้งที่สาม จะไม่มีวันจำกัดตัวอยู่เฉพาะแต่ในยุโรปอย่างแน่นอน
สิ่งที่ลาฟรอฟกำชับตามมาหลังจากนั้นก็คือ “นิวเคลียร์ ดอคทรีน” ที่เป็นเสมือนคู่มือกำกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียนั้น ได้รับการตีความไว้ชัดเจนกระจ่างแล้ว
เขาอธิบายต่อว่า นิวเคลียร์ ดอคทรีน ปี 2020 ของรัสเซีย กำหนดไว้ชัดว่าเมื่อใด ประธานาธิบดีถึงจะพิจารณาให้ใช้อาวุธมหันตภัยดังกล่าว นอกเหนือจากการใช้เพื่อตอบโต้การโจมตีด้วยอาวุธชนิดเดียวกันหรืออาวุธร้ายแรงอื่นๆ ของศัตรูแล้ว
นั่นคือ ประธานาธิบดีรัสเซียสามารถตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้ “เมื่อใดก็ตามที่การดำรงอยู่ของรัฐตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคาม”
ท่าทีแข็งกร้าวของรัสเซียครั้งนี้ มีขึ้นทั้งๆ ที่ทางการสหรัฐอเมริกาออกมายืนยันชัดเจนว่า ไม่เคยแม้แต่จะได้รับรู้แผนการบุกคูร์สก์ล่วงหน้า ดังนั้น จึงไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับกรณีนี้แต่อย่างใด
เซอร์เกย์ นาริชกิน หัวหน้าสำนักงานข่าวกรองนอกประเทศของรัสเซีย ยืนยันว่า ทางรัสเซียไม่เชื่อว่า ชาติตะวันตกไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการโจมตีแคว้นคูร์สก์ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของรัสเซียเอง ไปไกลถึงกับระบุชัดว่า การเกี่ยวข้องของชาติตะวันตกในกรณีนี้นั้น “เป็นความจริงที่เห็นได้ชัดเจน”
สื่อที่รู้จักและยอมรับกันทั่วโลกอย่างนิวยอร์ก ไทม์ส รายงานเอาไว้ว่า สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เพิ่งจัดส่งภาพถ่ายผ่านดาวเทียมและข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์อื่นๆ ให้กับยูเครน หลังจากที่การบุกสายฟ้าแลบดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วหลายวัน เป้าหมายก็เพื่อสนับสนุนด้านการข่าวที่สำคัญให้กองทหารยูเครนได้รับรู้และติดตามร่องรอยการเสริมกำลังทหารในแคว้นคูร์สก์ของรัสเซียได้เท่านั้นเอง
นักสังเกตการณ์ทางทหารบางคนเชื่อว่า การแสดงออกของรัสเซียเช่นนี้ ไม่มีความหมายอะไรมากไปกว่าการสะท้อนให้เห็นถึงระดับของการ “ขายขี้หน้า” ของปูติน ที่เกิดขึ้นเมื่อยูเครนบุกเข้ามาในแคว้นคูร์สก์ได้แบบสบายๆ ว่า มากมายมหาศาลแค่ไหน แถมยังไม่สามารถตอบโต้ได้อย่างทันควันและสาแก่ใจ เท่านั้นเอง
แต่อีกบางคนกลับชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ในสนามรบที่เป็นที่มาของ “การเตือนเชิงข่มขู่” ครั้งนี้ แตกต่างออกไปจากทุกครั้งที่ผ่านมา
ผู้เชี่ยวชาญบางรายบอกว่า สถานการณ์ในเวลานี้ บีบให้ปูตินและรัสเซียเข้าสู่จุดอับ ว่ากันว่า หากรัสเซียต้องการพิชิตศึกแบบเบ็ดเสร็จอย่างที่คาดหวัง อาจจำเป็นต้องระดมเกณฑ์ทหารทั่วประเทศขนานใหญ่อีกครั้ง ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดการต่อต้านทางการเมืองขึ้นทั่วประเทศเช่นกัน
และถ้าหากคนอย่าง วลาดิมีร์ ปูติน เข้าตาจน สงครามโลกครั้งที่สาม ก็อาจไม่ใช่เรื่องในจินตนาการอีกต่อไปก็เป็นได้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022