จับตาบทบาท ‘จีน’ ในสงครามกลางเมืองเมียนมา

(Photo by MYANMAR MILITARY INFORMATION TEAM / AFP)

หากไม่จดจ่ออยู่กับเหตุการณ์ทางการเมืองและสถานการณ์วินาศภัยในไทยมากจนเกินไป ทุกคนก็สามารถสังเกตได้ว่า จีนเปิดฉากรุกทางการทูตขนานใหญ่ในเมียนมาเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

รายงานของ เซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ เมื่อ 25 สิงหาคม สะท้อนให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าว ไม่เพียงแสดงถึง “ความสำคัญ” ที่เมียนมามีต่อจีนเท่านั้น ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า อำนาจของรัฐบาลทหารเมียนมากำลังตกอยู่ในสภาพจำกัดจำเขี่ยและคลอนแคลนมากขึ้นทุกที

หยุน ซุน ผู้อำนวยการโครงการจีนศึกษาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเอเชียตะวันออกศึกษาของศูนย์สติมสัน ในวอชิงตัน ชี้ให้เห็นว่า ทางการจีนจำเป็นต้อง “ยกระดับ” บทบาทของตนเองในเมียนมาขึ้นมา หลังจากที่กองกำลังฝ่ายต่อต้านบดขยี้เอาชนะทหารรัฐบาล แล้วยึดเอาเมืองลาเสี้ยว ที่ถือกันว่าเป็นเมืองเอกของรัฐฉาน ที่มีพรมแดนติดต่อกับจีนได้สำเร็จ จนกลายเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ที่สุดของกองกำลังฝ่ายต่อต้านนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารในเมียนมาเรื่อยมา

หยุน ซุน ระบุว่า จีนมีอิทธิพลต่อทั้งฝ่ายต่อต้านและฝ่ายรัฐบาลเมียนมา “มากกว่าประเทศอื่นใดทั้งหมด” ดังนั้น จึงเหมาะมากที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย แต่กลับเผชิญปัญหาสำคัญก็คือ จะ “ไกล่เกลี่ยอย่างไร”

 

ก่อนหน้านี้ จีนเคยใช้อิทธิพลของตนเองดึงทั้งสองฝ่ายมาเจรจาหยุดยิงกันที่คุนหมิง แต่สุดท้ายความตกลงหยุดยิงดังกล่าวก็ล้มเลิกไปเมื่อเดือนมิถุนายนี่เอง

นั่นเป็นเหตุให้ หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน และที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ต้องเดินทางไปเมียนมาด้วยตัวเองเมื่อ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา

อมารา ธีฮา นักวิจัยเรื่องเมียนมาประจำสถาบันวิจัยเพื่อสันติแห่งออสโล เชื่อว่าสิ่งที่จีนให้ความสำคัญเป็นหลักก็คือ ทำอย่างไรถึงจะรักษาผลประโยชน์และการลงทุนมากมายของตนในเมียนมาเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหลายโครงการที่ลงทุนไปนั้นอยู่ในพื้นที่ขัดแย้งและการสู้รบ

หยิน อี้หยาง นักวิชาการกิจการเมียนมาประจำสถาบันไต้เหอในปักกิ่ง ยอมรับว่า สถานการณ์ในเมียนมาในเวลานี้ทั้งวิกฤต ทั้งซับซ้อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทางรัฐบาลทหารเองก็เคลือบแคลงสงสัยและไม่ไว้วางใจในการ “แทรกแซง” จากจีน

จากเมียนมา หวัง อี้ เดินทางต่อมายังเชียงใหม่ ร่วมประชุมกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ยอมรับว่า สถานการณ์ในเมียนมา “น่าวิตก” และแสดงออกชัดเจนว่าจีนสนับสนุนการ “เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย” ผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นทางออกของปัญหาในเวลานี้

เป็นความคาดหวังที่ยากจะเป็นไปได้ ตราบใดที่กองทัพและรัฐบาลทหารเมียนมาไม่ให้ความร่วมมือและไม่ยอมประนีประนอม

 

เจสัน ทาวเวอร์ ผู้เชี่ยวชาญเมียนมาประจำสถาบันเพื่อสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกา ชี้ว่า มณฑลทางใต้ของจีน รวมทั้งยูนนาน พึ่งพาน้ำมันและก๊าซผ่านท่อที่เริ่มต้นจากท่าเรือน้ำลึกจ็อกพยู ในรัฐยะไข่ ซึ่งเต็มไปด้วยการสู้รบ

“ในช่วงหนึ่งปีหลังมานี้ กองทัพเมียนมาล่มสลายลงเร็วมาก แพ้ในการสู้รบซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยเฉพาะในพื้นที่ตามแนวท่อและเส้นทางยุทธศาสตร์สู่จ็อกพยู สร้างความกังวลใหญ่หลวงให้กับจีน” ทาวเวอร์ระบุ

ระหว่างปลายเดือนมิถุนายนเรื่อยมาจนถึงต้นเดือนสิงหาคม ทหารรัฐบาลเมียนมาสูญเสียพื้นที่ไปมากกว่า 30,000 ตารางกิโลเมตรภายในเวลาแค่เดือนเศษ โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวเส้นทางการค้าระหว่างจีนกับเมียนมา

เมื่อลาเสี้ยวแตก ทาวเวอร์ระบุว่า ดุลอำนาจในเมียนมาพลิกผันไปทางกองกำลังฝ่ายต่อต้าน “อย่างมีนัยสำคัญ” สำหรับจีน ซึ่งหมายความว่า จีนจำเป็นต้องพึ่งพาฝ่ายต่อต้านมากขึ้นกว่าเดิมหากต้องการรักษาผลประโยชน์และผลักดันให้เสถียรภาพเกิดขึ้น

 

ผู้เชี่ยวชาญเชิงธุรกิจ อย่าง วิกกี โบว์แมน ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อธุรกิจแบบรับผิดชอบในเมียนมา เชื่อว่า จีนได้รับเสียหายในการทำธุรกิจในเมียนมามากที่สุด มากกว่าประเทศอื่นใด เพราะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ไม่คืบหน้า ยกเว้นโครงการท่อส่งน้ำมันและก๊าซ

ส่วนอื่นๆ อาทิ เขื่อน ถ้าไม่ถูกต่อต้านจากคนในท้องถิ่นก็ตกอยู่ในภาวะหยุดชะงักเพราะการสู้รบในพื้นที่

ในขณะที่การสู้รบบริเวณใกล้กับชายแดนระหว่างสองประเทศก็สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับภาคเอกชนของทั้งจีนและเมียนมา

ทาวเวอร์เชื่อว่า การเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับ หวัง อี้ อาจเป็นการส่งสัญญาณถึงการรับรองรัฐบาลทหาร “อย่างไม่เป็นทางการ” แต่ในเวลาเดียวกันก็สะท้อนถึงความ “ไม่ไว้วางใจ” ซึ่งกันและกันอยู่ในที

เขาบอกว่า ก่อนหน้าการเยือนดังกล่าว มิน อ่อง ลาย ให้ความเห็นต่อการพ่ายแพ้ของกองทัพที่รัฐฉานเป็นนัยๆ ว่า สืบเนื่องจากการแทรกแซงของจีน ที่ให้การสนับสนุนกองกำลังฝ่ายต่อต้านที่นั่นซึ่ง “พูดภาษาจีน” จนสามารถผลักดันทหารออกจากรัฐฉานได้

อาบูซา ซาคารี ศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยสงครามแห่งชาติ ในวอชิงตัน ไม่เชื่อว่าการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งขึ้นในเมียนมาของจีนจะประสบผลสำเร็จ

เขาชี้ว่า จีนเข้าใจเอาว่า มิน อ่อง ลาย คงตกลงเห็นพ้องด้วย ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้

ที่สำคัญก็คือ ขณะที่พื้นที่กว่าครึ่งของประเทศ ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายต่อต้านเหมือนเช่นที่เป็นอยู่ มิน อ่อง ลาย ไม่มีอะไรจูงใจให้จัดเลือกตั้งขึ้นมาแน่นอน

กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า จีนจะยังคง “จับปลาสองมือ” ในเมียนมาต่อไปเรื่อยๆ โดยมุ่งหวังว่า อย่างน้อยที่สุดก็ต้องมี “ที่นั่ง” สำหรับกองทัพ บนโต๊ะเจรจา ในกรณีที่มีการเจรจาสันติภาพกันเกิดขึ้น

แต่ในเวลาเดียวกันก็เสี่ยงไม่น้อยที่จะพบในที่สุดว่า ปลาในมือทั้งสองหลุดรอดไปทั้งหมดเช่นกัน