ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ |
เผยแพร่ |
โดยปกติแล้วผมมักไปออกทีวีช่องต่างๆ แล้วกลับบ้านช่วงเย็นๆ และแน่นอนว่าช่วงเย็นคือช่วงเวลาที่ทุกคนหิวโหย ระหว่างทางกลับบ้านผมจึงมักแวะซื้อของกินรองท้องก่อนที่ความหิวจะกัดกินกระเพาะเข้าไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือแวะซื้อของจากร้านที่พ่อค้าแม่ค้าเป็นแฟนคลับผมจนตามไปดูทุกรายการที่ผมทำ
สัปดาห์แรกหลังคุณอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และคุณทักษิณ ชินวัตร แสดงบทบาทนายกฯ ตัวจริงแบบเต็มตัว ผมซึ่งหิวระดับพรีเมียมจากภารกิจให้สัมภาษณ์ช่อง 36 แวะซื้อลูกชิ้นทอดแนวลูกชิ้นหน้าโรงเรียนจากรถเข็นของ “พี่ตุ๊ก” ด้วยความหวังว่าความกรอบของลูกชิ้นจะทำให้สมองหลอกตัวเองว่าท้องอิ่มโดยปริยาย
อย่างไรก็ดี ความหวังที่จะได้กัดกร้วมลูกชิ้นของผมหายวับไปทันทีที่ “พี่ตุ๊ก” บอกวันนี้มีแค่ไส้กรอกแดง ไม่มีลูกชิ้นทอด เพราะทุกวันนี้ค้าขายไม่ดี
จากนั้น “พี่ตุ๊ก” ซึ่งตั้งรถเข็นหน้าโรงเรียนหญิงชื่อดังก็ถามต่อว่า “อุ๊งอิ๊งจะรอดคดีไหม”, “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะได้เป็นนายกฯ อีกไหม”
และปิดท้ายว่าผ่านมาหนึ่งปีแล้วไม่มีอะไรดีขึ้นเลย
ผมไม่เคยถามพี่ตุ๊กว่าเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาลงคะแนนให้ก้าวไกล, คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือเพื่อไทย แต่ในโลกของชาวบ้านแบบพี่ตุ๊กและคนจำนวนมาก “รัฐบาล” คือตัวแปรที่จะทำให้ “เศรษฐกิจ” ดีขึ้น
การเลือกรัฐบาลจึงเป็นเครื่องมือที่ชาวบ้านใช้ในการทำให้ปากท้องตัวเองดีไปด้วย เมื่อเทียบกับเครื่องมืออื่นที่แทบไม่มี
ตรงข้ามกับนักธุรกิจรายใหญ่, อภิมหาเศรษฐี, เจ้าที่ดิน, บริษัทมหาชน, ผู้รับเหมา, กลุ่มทุนการเมือง ฯลฯ ซึ่งมีเครื่องมือ “ผลักดัน” นโยบายที่ตัวเองต้องการมากมาย รวมทั้ง “เจ้าสัว” ที่อาจ “กำหนด” นโยบายผูกขาดหรือกึ่งผูกขาดซึ่งเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองมหาศาล คนหลายสิบล้านในประเทศไม่มีเครื่องมือนี้เลย
สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ที่เป็นคนธรรมดา โอกาสเข้าถึงกระบวนการกำหนดนโยบายประเทศเป็นเรื่องไกลเกินเอื้อม สภาพัฒน์, ธนาคารชาติ, รัฐสภา หรือทำเนียบ เป็นโลกที่แค่เข้าถึงก็ยังไม่กล้าคิด
ไม่ต้องพูดถึงตัวบุคคลอย่างอธิบดี, รัฐมนตรี, ผู้ว่าการแบงก์ชาติ, เลขาฯ สภาพัฒน์ ฯลฯ ซึ่งหน้าตาเป็นอย่างไรก็ไม่รู้เลย
รัฐบาลทุกชุดและนักการเมืองทุกพรรคชอบพูดว่าประเทศนี้เป็นของประชาชน แต่ถ้าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศจริงๆ ประชาชนต้องมีโอกาสกำหนดนโยบายประเทศเพื่อให้รัฐบาลทำมาตรการที่ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด ไม่ใช่ดิ้นรนเอาตัวรอดตามอัตภาพเหมือนคนลอยคอกลางทะเล
“การเมือง” คือกลไกที่จะทำให้ประชาชนได้เลือกหรือได้เสนอนโยบายที่ประชาชนต้องการ และเพราะนโยบายเกี่ยวพันกับการใช้อำนาจรัฐและงบประมาณของรัฐบาล “การเมือง” จึงเป็นกลไกให้ประชาชนต้องแย่งอำนาจรัฐและงบประมาณกับคนกลุ่มอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ที่สุดตลอดเวลา
ด้วยเหตุดังนี้ ทุกครั้งที่ชาวบ้านลงคะแนนเลือกพรรคและนักการเมือง ชาวบ้านจึงเลือกบนความหวังว่าเสียงโหวตจะทำให้ได้ ส.ส.และรัฐบาลกับฝ่ายค้านที่เข้าไปผลักดันนโยบายที่ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น การโหวตจึงเป็นช่องทางหลักแทบจะช่องทางเดียวที่ชาวบ้านมีโอกาส “เสนอ” หรือกำหนดนโยบาย
สื่ออาจจะเป็นช่องทางที่ชาวบ้านส่งเสียงได้ก็จริง แต่โอกาสที่สื่อจะทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้ชาวบ้าน โดยตรงก็มีน้อยและไม่เป็นระบบ
ส่วนโอกาสส่งเสียงผ่านคอมเมนต์ในโพสต์ออนไลน์จนเป็น “กระแส” อาจจะมีมากกว่า แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกเสียงจะเป็น “กระแส” และกระแสจะเป็น “นโยบาย”
เมื่อเทียบกับเจ้าสัว, ผู้รับเหมา, อภิมหาเศรษฐี, บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ, กลุ่มทุนการเมือง ฯลฯ ที่สามารถผลักดันนโยบายได้เพียงแค่ด้วยวิธีส่งไลน์, ให้สปอนเซอร์นักการเมือง, จ่ายเงินพรรค หรือนัดกินข้าวเย็น คนกลุ่มนี้คือคนกลุ่มที่แทบจะเป็นเจ้าของประเทศตัวจริงอย่างปฏิเสธไม่ได้เลย
ขณะที่ชาวบ้านอย่าง “พี่ตุ๊ก” ต้องการให้ “รัฐบาล” ช่วยทำให้เงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นไม่ต่างกับเจ้าสัวหรือกลุ่มทุนการเมือง แต่คนแบบนี้กลับทำได้แค่รอความหวังแบบลมๆ แล้งๆ โดยรอลุ้นรายวันว่ารัฐบาลจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร เช่นเดียวกับลุ้นว่าสิ่งที่รัฐบาลทำจะทำให้ประชาชนได้อะไรหรือไม่ได้อะไรเลย
คุณแพทองธารบอกว่าจะเป็นนายกฯ ที่สร้างความเท่าเทียมให้กับคนไทยทุกคน แต่ความเท่าเทียมก็เหมือนซอฟต์เพาเวอร์หรือเรื่องอื่นๆ ที่คุณแพทองธารพูดโดยไม่ได้บอกว่าหมายถึงอะไร คุณแพทองธารจะสร้างความเท่าเทียมอย่างไรจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้ ไม่เว้นแม้แต่ตัวคุณแพทองธารเอง
ถ้าคุณแพทองธารอยากสร้าง “ความเท่าเทียม” จริงๆ สิ่งแรกที่คุณแพทองธารควรทำคือทำให้การกำหนดนโยบายประเทศมาจากชาวบ้านไม่ต่างจากที่มาจากเจ้าสัว, จากระบบราชการ หรือจากกลุ่มทุนการเมืองอื่นๆ และจากพรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่ได้รับสปอนเซอร์รายเดือนจากกลุ่มทุน
หัวใจของความเท่าเทียมหมายถึงการสร้างโอกาสที่เสมอภาคไปพร้อมกับการเพิ่มอำนาจต่อรองให้เท่ากัน แต่คุณแพทองธารยังไม่ได้แสดงวิสัยทัศน์อะไรมากกว่าพูดคำว่า “ความเท่าเทียม” เฉยๆ จนไม่มีใครรู้ว่าคำๆ นี้จะมีจุดจบเหมือนคำว่า “ซอฟต์เพาเวอร์” ที่เป็นอะไรก็ได้จนไม่มีความหมายอะไรเลย
ภาพคุณทักษิณนั่งท่ามกลางอภิมหาเจ้าสัวในงานแสดงวิสัยทัศน์ อาจเป็นภาพที่คุณทักษิณและองคาพยพชื่นใจถึงการแสดงแสนยานุภาพในการ “ดีล” กับกลุ่มทุน แต่ภาพเดียวกันนี้ก็เป็นภาพที่แสดงให้สังคมเห็นว่าคุณทักษิณมีสายสัมพันธ์พิเศษกับกลุ่มทุนระดับอภิมหาเจ้าสัวซึ่งเป็นหลักฐานของความเหลื่อมล้ำในสังคม
แน่นอนว่าอาจมีคนโต้แย้งว่านายกฯ คนไหนก็ล้วนสัมพันธ์กับ “เจ้าสัว” เหมือนกัน แต่ปัญหาคือคุณทักษิณไม่ใช่นายกฯ อย่างคุณแพทองธาร ความสัมพันธ์ของ “เจ้าสัว” กับคุณทักษิณจึงวางอยู่บนความต้องการให้คุณทักษิณเป็นสะพานไปสู่ “นายกฯ” และการกำหนดนโยบายของ “นายกฯ” อย่างปฏิเสธไม่ได้แน่นอน
เมื่อเทียบกับก้าวไกลหรือคุณพิธาที่ “เจ้าสัว” ไม่เคยแสดงออกถึงการสนับสนุนแบบนี้เลย ก็ยิ่งน่าสงสัยว่าวาระของพรรคก้าวไกลและพรรคประชาชนเรื่องลดการผูกขาดจะเป็นเรื่องที่ “เจ้าสัว” ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งยวด
และนั่นทำให้น่าสงสัยต่อไปว่าคำพูดของคุณแพทองเรื่องสร้างความเท่าเทียมมีความหมายอย่างไร
รัฐบาลมักกล่าวหาว่าพรรคก้าวไกลหรือพรรคประชาชนพูดเรื่อง “ปฏิรูปโครงสร้าง” หรือ ลดการผูกขาดซึ่งยากเกินไปจนชาวบ้านไม่เข้าใจ แต่ชัยชนะของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งปี 2566 คือหลักฐานว่าคนไทยเข้าใจปัญหาความเหลื่อมล้ำมากจนพร้อมจะโหวตให้พรรคที่พูดเรื่อง “ปฏิรูปโครงสร้าง” ถล่มทลาย
ยิ่งฟังวิสัยทัศน์คุณทักษิณเรื่องบ่อนถูกกฎหมาย, เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์, แลนด์บริดจ์, ขายที่ดินให้ต่างชาติ ฯลฯ ก็ยิ่งเห็นว่าคุณทักษิณเน้นดึงเงินทุนขนาดใหญ่จากนักลงทุนรายใหญ่ คุณทักษิณจึงไม่พูดเรื่องกระจายรายได้หรือสวัสดิการอย่างรูปธรรม มีก็แต่การโพล่งคำว่า Negative Income Tax แบบลอยๆ
โลกของคุณทักษิณไม่ใช่โลกของการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียม คุณทักษิณอยู่ในโลกแบบเดียวกับคุณประยุทธ์และนายกฯ คนอื่นที่คิดว่าถ้าประเทศรวยขึ้น คนรวยและคนชั้นกลางก็จะใช้เงินมากขึ้น และเงินก็จะไหลไปคนจนมากขึ้น ซึ่งถ้าทั้งหมดนี้จริง ประเทศไทยวันนี้คงไม่มีคนจนเพิ่มขึ้นทุกวัน
วิสัยทัศน์ของคุณทักษิณไม่เคยพูดเรื่องใครคือคู่แข่งของไทย และอะไรทำให้นักลงทุนรายใหญ่ต้องลงทุนในไทยยิ่งกว่าเวียดนาม, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย ฯลฯ จนราวกับไทยเป็นจุดหมายเดียวของนักลงทุนระดับโลก จะทำให้ต่างชาติขนเงินมาลงทุนในไทยอย่างไรจึงไม่มีความชัดเจนแม้แต่นิดเดียว
เศรษฐกิจไทยวันนี้ถูกครอบงำด้วยเศรษฐกิจ Platform ที่เงินไหลออกไปต่างชาตินับตั้งแต่การเปิดคลิป, ซื้อของออนไลน์ หรือนำเข้าสินค้าอื่นๆ แต่คุณทักษิณไม่เคยพูดว่าจะทำอย่างไรให้เงินไม่ไหลออกไปนอกประเทศ ความรวยของคนรวยและคนชั้นกลางจึงไม่มีหลักประกันว่าจะถูกใช้ให้คนจนรวยตามไปด้วยเลย
ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยวันนื้คือชาวบ้านเลือกตั้งเพราะอยากให้ชีวิตดีขึ้น แต่รัฐบาลทุกชุดคิดว่าชีวิตที่ดีหมายถึงการลืมตาอ้าปากได้มากขึ้นประเภทรายได้จากวันละ 300 เป็น 310 ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่หวังไปไกลกว่ายกระดับจากแม่ค้ารถเข็นเป็นมีแผงขายของอย่างที่รัฐบาลเข้าใจ
ตราบใดที่อำนาจรัฐไม่มีนโยบายเพื่อทำให้สังคมเข้าถึงโอกาสกำหนดนโยบาย ตราบนั้นไม่มีทางที่จะเกิดสังคมที่ลดความเหลื่อมล้ำขึ้นมาได้ และคำว่าความเท่าเทียมที่คุณแพทองธารพูดก็จะเป็นแค่ buzzword ซึ่งไม่มีความหมายอะไรเลย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022