ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
จากสถานการณ์อุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในหลายจังหวัดภาคเหนือ ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 15,000 ครัวเรือนนั้น
22 สิงหาคม 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Ing Shinawatra ความตอนหนึ่ง ระบุว่า
“แม้ว่าขณะนี้ดิฉันจะยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เนื่องจากอยู่ระหว่างกระบวนก่อนการเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็ได้ส่งผ่านความห่วงกังวลนี้ไปยังท่านภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีผู้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีในขณะนี้ ซึ่งคุณภูมิธรรม รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่นายกฯ มีความห่วงกังวลเช่นเดียวกัน จึงได้สั่งการให้ระดมความช่วยเหลือให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ รวมทั้งเร่งระบายน้ำเพื่อบรรเทาทุกข์แก่พี่น้องประชาชนโดยเร่งด่วน รวมทั้งวางแผนฟื้นฟูความเสียหายด้วยแล้ว”
ในวันเดียวกัน ที่กรมชลประทาน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมาร่วมการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมีนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้การต้อนรับ
ร.อ.ธรรมนัส ได้กล่าวแซวกับบรรดาปลัดกระทรวงว่า “แปลกนะบ้านเราไม่รู้เป็นอะไรนะ น้ำชอบมาตอนนายกฯ ผู้หญิง ปี 2554 ก็ทีหนึ่งแล้ว” พร้อมกับระบุว่า หากน้ำในพื้นที่จังหวัดน่านและพะเยามาก ก็เตรียมตัวเลย
ร.อ.ธรรมนัส อาจไม่ได้มีเจตนาอื่นมากไปกว่าการพูดจาหยอกล้อ แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ว่าคำพูดดังกล่าว เป็นตลกร้ายบนความเดือดร้อนของประชาชนหรือไม่ ทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจในการทำงานของรัฐบาล
ย้อนดูสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เชื่อมั่นว่าสามารถจะจัดการกับสถานการณ์น้ำท่วมได้ เป็นที่มาของวลี “น้ำท่วมเอาอยู่”
อย่างไรก็ตาม เมื่อน้ำจากภาคเหนือไหลเข้าสู่กรุงเทพฯ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ต้องเผชิญกับความขัดแย้งกับกรุงเทพมหานคร ภายใต้การบริหารงานของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการในขณะนั้น ซึ่งปฏิเสธคำสั่งให้เปิดประตูระบายน้ำเพื่อเปลี่ยนเส้นทางน้ำ และอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้การรับมือสถานการณ์น้ำท่วม ไม่ประสบความสำเร็จ “น้ำท่วมเอาอยู่” และคำพูดอื่นๆ ถูกฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในขณะนั้นนำมาล้อเลียน เหยียดหยาม กลายเป็นภาพจำจนถึงทุกวันนี้
เปรียบเทียบกรณี 24 สิงหาคม 2567 น.ส.แพทองธาร พร้อมคณะ ลงพื้นที่ จ.น่าน ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โดยได้เดินทางไปยังสถานีดับเพลิงเทศบาลเมืองน่าน ซึ่งใช้เป็นโรงครัวประกอบอาหารแจกจ่ายประชาชน โดย น.ส.แพทองธารได้เดินทักทายให้กำลังใจอาสาสมัคร และได้ช่วยปรุงอาหารเพื่อนำไปมอบให้กับผู้ประสบภัย
กรณีนี้ก็มีดราม่าเช่นกัน เมื่อปรากฏภาพ น.ส.แพทองธาร กำลังผัดข้าวโดยที่ไม่ได้เปิดแก๊ส ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ว่า น.ส.แพทองธาร ทำข้าวผัดทิพย์ จนเจ้าหน้าที่พรรคเพื่อไทยต้องนำภาพและคลิปมายืนยันว่า น.ส.แพทองธาร เปิดแก๊สตอนผัดข้าวจริงๆ ทำให้มีการเปรียบเทียบว่า น.ส.แพทองธาร ถูกจ้องจับผิด หาเรื่องเหยียดหยามล้อเลียน
ไม่ต่างไปจากที่อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เคยโดนมาก่อน
ดราม่าถัดมา เกี่ยวกับโครงการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ 3,000 แห่ง มูลค่า 1,255 ล้านบาท
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประธานวิปรัฐบาล ได้โพสต์ข้อความในแอพพลิเคชั่น X ว่า
“ความสะใจของพวกคุณในวันนั้น คือความเดือดร้อนของประชาชนในวันนี้…
ไม่ต้องถามว่านายกฯ จะลงพื้นที่น้ำท่วมเมื่อไร? เพราะหากบางพรรคไม่ได้ตัดงบฯ ฝายแกนซีเมนต์ของเพื่อไทยทิ้งทั้งหมดจาก พ.ร.บ.งบฯ ’67 ก็คงสามารถป้องกันให้น้ำไม่ท่วมจนไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่… ใช่ไหมครับ”
ทำให้นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เข้ามาแสดงความคิดเห็นว่า
“คุณวิสุทธิ์ ลืมไปแล้วหรือครับว่าพรรคเพื่อไทยโหวตตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก ซึ่งตัดงบฝายแกนดินซีเมนต์นะครับ ซึ่งสวนทางกับการอภิปรายโดยสิ้นเชิง…” และว่า
“ถ้าพรรคเพื่อไทยยืนยันว่าฝายแกนดินซีเมนต์มีความจำเป็น และมีความทนทาน มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน โดยไม่จำเป็นต้องมีเงื่อนไขรับประกัน จริง ๆ ก็เสนอขออนุมัติงบกลางได้นี่ครับ ไม่ทราบว่าได้ขออนุมัติงบกลางไหมครับ และในงบปี 68 ได้เสนอเข้ามาใหม่ หรือเปล่าครับ”
ด้านนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะ กมธ.งบประมาณฯ ปี 2567 ได้โพสต์ข้อความในแอพพลิเคชั่นเอ็กซ์ (X) พร้อมเปิดตารางแจกแจงว่า
“งบสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ 3,000 แห่ง มูลค่า 1,255 ล้านบาทที่ถูกตัดในครั้งนั้น ถูกแบ่งให้จังหวัดใดบ้าง เป็นจำนวนเท่าไหร่” และว่า
“โดยมากตั้งมาแบบต่ำกว่า 5 แสนเล็กน้อยต่อแห่ง เพื่อจิ้มเลือกผู้รับเหมาได้ อันเป็นอีกหนึ่งเหตุผลในการตัดงบ มือใครยาวสาวได้สาวเอา ก้อนนี้ มาดูกันครับว่า ใครร้อนตัว!”
กรณีถัดมา สืบเนื่องจากการลงพื้นที่ จ.เชียงราย ของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย
โดยมีนายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย บรรยายสรุปสถานการณ์ เนื่องจากนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายไม่อยู่ในพื้นที่
“…แต่ก็น่าเสียใจที่วันนี้มาแล้วไม่เจอตัวผู้ว่าฯ ไม่แน่ใจว่าติดภารกิจอะไร ภาวะแบบนี้ควรต้องลงมาดู มาอยู่กับประชาชนเพื่อจะได้เข้าใจปัญหา หาทางบรรเทาให้พี่น้องประชาชน…” นายภูมิธรรมกล่าว
ต่อมา 26 สิงหาคม 2567 นายอนุทินได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ชี้แจงเหตุไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวให้ รมว.มหาดไทยทราบภายใน 3 วัน และขอให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยกำชับการปฏิบัติของผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด
เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก
สาเหตุของอุทกภัยในครั้งนี้ เกี่ยวข้องกับการระบายน้ำของเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในจีนหรือไม่ น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ภูมิภาค International Rivers ให้สัมภาษณ์ผ่าน “บีบีซีไทย” ว่า
“หากรัฐบาลใหม่ของไทยที่มีนายกฯ หญิงที่อายุน้อยที่สุดจะสามารถยกประเด็นลุ่มน้ำโขงมาหารือร่วมกันกับประเทศในลุ่มน้ำ โดยมีส่วนร่วมของประชาชน การหารือกับจีนและประเทศเพื่อนบ้านอย่างตรงไปตรงมาโดยใช้ความเดือดร้อนของประชาชนเป็นตัวตั้ง จะสามารถแสดงความเป็นผู้นำรุ่นใหม่ในการแก้ปัญหาข้ามพรมแดนที่สำคัญอันดับต้นๆ ของภูมิภาคได้”
สอดคล้องกับมุมมองของนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชน ที่ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการจัดการน้ำป่า-น้ำอิง-น้ำโขง ต่อปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดเชียงราย โดยตอนหนึ่งระบุว่า
ในแต่ละพื้นที่มีลักษณะของปัญหาที่แตกต่างกัน ที่ อ.เวียงแก่น เป็นน้ำป่าไหลหลาก วิธีการป้องกันเหตุภัยพิบัติจากน้ำป่า นอกเหนือจากการไม่ตัดไม้ทำลายป่าเพื่อรักษาสภาพป่าให้สมบูรณ์แล้ว ระบบโทรมาตรวัดน้ำฝนบนพื้นที่ต้นน้ำที่เป็นป่าเขา ก็เป็นส่วนสำคัญในการแจ้งเตือนภัยก่อนที่น้ำจะหลากมาถึงบ้านเรือนประชาชน
ส่วนที่ อ.ขุนตาล และ อ.เทิง เป็นปัญหาเชิงระบบการจัดการลุ่มน้ำโขง ที่เกี่ยวพันกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า แผนพลังงานแห่งชาติ และประเทศเพื่อนบ้าน (สปป.ลาว)
เช่นเดียวกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งให้สัมภาษณ์ระหว่างลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ อ.เทิง จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 ท่ามกลางการต้อนรับอย่างหนาแน่นของคนเสื้อแดงตอนหนึ่งว่า
ประเทศไทยมีปัญหาซ้ำซากทั้งน้ำท่วมน้ำแล้ง การแก้ไขปัญหานอกจากจะต้องจัดการภายในประเทศแล้ว กับประเทศเพื่อนบ้านก็ต้องมีคุยกันเพื่อจัดการน้ำทั้งระบบ อย่างเรื่องแม่น้ำโขงก็ต้องคุยกับทางจีนว่า ควรจะมีมาตรการร่วมกันอย่างไร เพื่อไม่ให้การปล่อยน้ำจากเขื่อนลงมาซ้ำเติมปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ตอนล่าง
ส่วนที่มีการมองกันว่าน้ำท่วมปีนี้ อาจจะกลายเป็นน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 นั้น นายทักษิณบอกว่า นายกฯ อิ๊งค์ เล่าให้ฟังว่า กรมชลประทานได้พร่องน้ำในเขื่อนต่างๆ เตรียมรองรับน้ำจากทางเหนือไว้แล้ว ปีนี้คนกรุงเทพฯ สบายใจได้ว่า จะไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 อย่างแน่นอน
อาจกล่าวได้ว่า เหตุการณ์น้ำท่วมปี 2567 น่าจะเป็นโอกาสกอบกู้ศรัทธาของพรรคเพื่อไทย ไม่ซ้ำรอยปี 2554
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022