ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | Multiverse |
ผู้เขียน | ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ |
เผยแพร่ |
ในบทความ ‘ลมทิศต่างๆ ในวัฒนธรรมไทย’ ก่อนหน้านี้ ผมใช้ข้อมูลจากบทความ ‘ผู้อยู่กับลม’ ในหนังสือ ‘ถึงอย่างไรก็อยู่กันมาได้’ เขียนโดยคุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว เป็นจุดตั้งต้นในการวิเคราะห์ชื่อลมต่างๆ ในวัฒนธรรมไทยรวมทั้งสิ้น 7 ประเด็น และได้เล่าไปแล้ว 3 ประเด็น มาดูประเด็นที่ 4-7 กันครับ
ประเด็นที่สี่ : กรณีนิยามของ ‘ลมว่าว’
มีข้อสังเกตว่า หากยึดตามนิยามของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน จะพบว่า
ลมว่าว น. ลมที่พัดจากทิศเหนือไปทิศใต้ตอนต้นฤดูหนาว, ลมเล่นว่าวเดี๋ยวนี้คือลมตะเภาซึ่งพัดจากทิศใต้ไปทิศเหนือในกลางฤดูร้อน (ดูเรื่อง ‘ลมตะเภา’ ในประเด็นที่สี่)
ส่วนพจนานุกรมฉบับมติชนก็นิยามไว้ในทำนองเดียวกัน นั่นคือ
ลมว่าว น. ลมต้นฤดูหนาวที่พัดจากทิศเหนือไปทางทิศใต้
แต่ถ้าเปิดพจนานุกรมอักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลย์ จะพบว่า
ลมว่าว, คือลมน่าระดูหนาวมันพัดมาแต่ฝ่ายทิศอีศาน, มักให้เกิดความหนาวเย็นนัก (สะกดตามต้นฉบับ)
ประเด็นที่ห้า : กรณีนิยามของ ‘ลมสลาตัน’
มีข้อสังเกตว่า หากยึดตามนิยามของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน จะพบว่า
ลมสลาตัน น. ลมทะเลที่พัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือในปลายฤดูฝน
พจนานุกรมฉบับมติชนก็นิยามไว้ในทำนองเดียวกัน แต่เก็บคำนี้ไว้ตรงคำว่า สลาตัน ดังนี้
สลาตัน น. ลมที่พัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือในปลายฤดูฝน เรียก ลมสลาตัน เรียกลมพายุที่พัดแรงจัดอย่างไต้ฝุ่นว่า ลมสลาตัน
พจนานุกรมไทย ฉบับเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้นิยามว่า
สลาตัน น. ๑) ลมทะเลที่พัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือในปลายฤดูฝน เป็นลมที่มีกำลังแรงพอสมควร ๒) (เปรียบ) มีกำลังและเคลื่อนตัวได้รวดเร็ว เช่น แม่คนนี้อย่างกับลมสลาตัน ทำอะไรรวดเร็วเหลือเกิน
ควรรู้ด้วยว่าคำว่า ‘สลาตัน’ มาจากคำว่า selatan ในภาษามลายู ซึ่งแปลว่า ทิศใต้
ประเด็นที่หก : ลมตะเภา
นิยามของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุว่า
ลมตะเภา น. ลมชนิดหนึ่งที่พัดมาจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือในกลางฤดูร้อน
พจนานุกรมฉบับมติชนก็นิยามไว้ในทำนองเดียวกัน
ลมตะเภา น. ลมที่พัดจากทิศใต้ไปทิศเหนือในกลางฤดูร้อน
พจนานุกรมไทย ฉบับเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้นิยามว่า
ลมตะเภา น. ลมชนิดหนึ่งพัดมาจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือในกลางฤดูร้อน เป็นลมที่ใช้เล่นว่าว เช่น พอลมตะเภาพัดมา เราก็ออกไปเล่นว่าวกันที่สนาม
น่ารู้ด้วยว่า คำว่า ‘ตะเภา’ ในชื่อ ‘ลมตะเภา’ น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับคำว่า ‘เรือสำเภา’ ดังคำอธิบายจากเว็บ https://3king.lib.kmutt.ac.th/KingTarksinCD/appendix_15.html ดังต่อไปนี้
“เรือสำเภา เป็นเรือชนิดหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลจากจีน คำว่า ‘สำเภา’ มีผู้ให้ความเห็นว่ามาจากคำว่า ‘ตะเภา’ ซึ่งหมายถึง ลมที่พัดมาจากทิศใต้ เรือค้าขายที่มาจากประเทศจีน ซึ่งมีการติดต่อค้าขายกับประเทศไทยมากที่สุด เข้ามาในประเทศไทยปีละครั้งในฤดูร้อน ซึ่งเป็นฤดูที่มีลมตะเภาพัดมา จึงได้เรียกเรือค้าขายที่มาจากประเทศจีนว่า ‘เรือตะเภา’ หรือ ‘เรือสะเภา’ แล้วภายหลังเรียกว่า ‘เรือสำเภา’ ซึ่งหมายถึงเรือที่มาจากประเทศจีน เรือของจีนนั้นมีหลายแบบหลายชนิด เช่นเดียวกับเรือของประเทศอื่นๆ เรือสำเภามีความหมายอย่างกว้างๆ ว่าเป็นเรือขนาดใหญ่แบบจีนแล่นออกทะเลลึกได้ บางทีก็เรียกเรือไหหลำของจีนว่าเรือสำเภา เพราะเป็นเรือที่มาจากประเทศจีนเหมือนกัน”
ประเด็นที่เจ็ด : ในเรื่องลมเพชรบุรี คุณนิพัทธ์พรเขียนทิ้งท้ายหัวข้อนี้ว่า
“ยังมีลมอีกชนิดหนึ่ง คือลมงวงจะเกิดหน้าเซิงไส้แห้ง อยู่ในทะเลจะเห็นน้ำขึ้นเป็นท่อเป็นลำสูง พัดบนบกเรียกลมบ้าหมู จะหมุนติ้ว หมูเป็ดถูกดูดลอย คนโดนล้ม มะขามใหญ่ๆ ต้นโพธิ์ใหญ่ๆ ลมงวงยกลอยไปได้หมด”
คำว่า ‘ลมงวง’ ในข้อความนี้หมายถึง นาคเล่นน้ำ (waterspout) ซึ่งจัดเป็นทอร์นาโดที่ไม่ได้เกิดจากเมฆซูเปอร์เซลล์ (non-supercell tornado) อย่างไรก็ดี นาคเล่นน้ำไม่ได้ดูดน้ำจากทะเล (หรือแอ่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น ทะเลสาบ) ขึ้นไป แต่ลักษณะลำงวงนั้นเกิดจากการที่ไอน้ำในอากาศเกิดการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำจำนวนมหาศาล จึงมองเห็นเป็นท่อหรือลำงวง และหากนาคเล่นน้ำขึ้นบก จะเรียกว่า แลนด์สเปาต์ (landspout)
อย่างไรก็ดี แม้ว่านาคเล่นน้ำจะยกสัตว์เล็กๆ เช่น ปลาหรือเป็ด ขึ้นไปได้เนื่องจากภายในลำงวงมีความกดอากาศต่ำ แต่สำหรับสัตว์ค่อนข้างใหญ่ (เช่น หมู) หรือต้นไม้ใหญ่นั้นน่าจะเป็นไปได้ยากที่จะถูกยกลอยขึ้นไป
ผมเคยไปเล่าเรื่องลมในวัฒนธรรมไทยไว้สั้นๆ ราว 10 นาที ในรายการคุณพระช่วย ตอน สารพัดชื่อลม-แล้วแบบไหนถึงเรียกว่าลม?? หากสนใจก็ลองฟังได้จาก Youtube ที่ https://www.youtube.com/watch?v=mBYvc20n0eE&t=181s หรือค้นจากชื่อที่ให้ไว้ครับ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022