Homo Sedens ‘อารยธรรมนั่ง’ นำสู่ ‘สารพัดโรค’

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

นับตั้งแต่วิวัฒนาการเดิน 2 ขา และออกจากถ้ำมาสร้างบ้านเรือน ไม่มียุคใดสมัยไหนอีกแล้ว ที่ Homo Sapiens หรือ “มนุษย์” จะ “นั่งมาก” และ “นั่งนาน” มากที่สุดเท่าปัจจุบัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นยุคที่วัฒนธรรม “มนุษย์ตอกบัตร” เฟื่องฟูเป็นอย่างมาก การทำงานออฟฟิศได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราไปตลอดกาล

เพราะยุค 80 เต็มไปด้วย “พนักงานนั่งโต๊ะ” ที่ยกเว้นการเข้าห้องน้ำ และออกไปกินข้าวเที่ยง นอกนั้นแทบจะไม่มีการลุกยืน หรือเดินเลยใน 8 ชั่วโมง

ร้อนถึงนักมานุษยวิทยาแห่งทศวรรษ 1980 พากันตั้งชื่อ “ยุคใหม่ของมนุษยชาติ” ว่าเป็นเผ่าพันธุ์ Homo Sedens ที่แปลว่า “มนุษย์ในอารยธรรมนั่ง”

ถือเป็นการเปลี่ยนชื่อ Species ดั้งเดิมของ “มนุษย์” จาก Homo Sapiens เป็นชื่อใหม่ได้อย่างเจ็บแสบ

 

ย้อนกลับไปในยุค 50 งานวิจัยที่ชื่อ Coronary Heart-Disease and Physical Activity of Work ของศาสตราจารย์ ดร. Jerry Morris นักระบาดวิทยาชาวอังกฤษ มีชื่อเสียงโด่งดังมาก ในฐานะประวัติศาสตร์ของ “อารยธรรมนั่ง”

โดยศาสตราจารย์ ดร. Jerry Morris ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพของคนขับรถโดยสารประจำทาง และกระเป๋ารถเมล์ในกรุงลอนดอน

ผลการวิจัยพบว่า คนขับมีแนวโน้มเป็นโรคหัวใจสูงกว่ากระเป๋ารถเมล์ถึง 2 เท่า ทั้งที่ปัจจัยส่วนบุคคลของทั้งคู่มีอายุ เพศ รายได้ และสภาพแวดล้อมในการทำงานแทบไม่ต่างกัน

ไฮไลต์ของงานวิจัยชิ้นดังกล่าวก็คือ กระเป๋าต้องเดินเก็บค่าโดยสารตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถโดยสารสาธารณะในกรุงลอนดอนเป็นรถเมล์ 2 ชั้น

ขณะที่คนขับกลับต้องนั่งประจำที่อยู่ตลอดเป็นเวลานานหลายชั่วโมง เหตุดังนี้ โชเฟอร์จึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจสูงกว่ากระเป๋ารถเมล์ถึง 2 เท่านั่นเอง

Coronary Heart-Disease and Physical Activity of Work จึงเป็นงานวิจัยชิ้นสำคัญที่วางรากฐานความเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมทางกายกับสุขภาพของหัวใจของเราจนถึงปัจจุบัน

 

จากปี ค.ศ.1953 ที่ศาสตราจารย์ ดร. Jerry Morris ได้ตีพิมพ์งานวิจัย มายุค 1980 ถึงสหสวรรษใหม่ สู่ศตวรรษที่ 21 ที่เดินทางมาแล้ว 24 ปี “อารยธรรมนั่ง” ปรากฏตัวขึ้นทุกที่ เริ่มตั้งแต่เก้าอี้ที่ทำงาน ยวดยานพาหนะสำหรับเดินทาง กลับถึงบ้าน ก่อนนอนก็ยังนั่งๆ นอนๆ พักผ่อนหย่อนใจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุค Work from Home นับจาก COVID-19 เป็นต้นมา ทุกวันนี้ยิ่งพบไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่ใช้ชีวิตแบบไม่เคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น นั่งดูทีวี นั่งเล่นเกม ขับรถ ไปจนถึงนั่งทำงาน

บรรดานักวิทยาศาสตร์จึงพากันเป็นห่วง ว่า “อารยธรรมนั่ง” จะเป็นปัจจัยเสี่ยงของ “สารพัดโรค” ไม่ว่าจะเป็นหัวใจ เบาหวาน นำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

 

ทําให้ “องค์การอนามัยโลก” หรือ WHO (World Health Organization) ออกประกาศในปี ค.ศ.2020 เพื่อกระตุ้นมวลมนุษยชาติลดพฤติกรรมการนั่งๆ นอนๆ อยู่กับที่

เพราะว่า “อารยธรรมนั่ง” ส่งผลให้เส้นเลือดทั่วร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เส้นเลือดขาทำงานผิดปกติ จนไม่สามารถควบคุมการไหลเวียนโลหิต รวมทั้งการไหลเวียนของน้ำเหลืองที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันได้ดีพอ

เมื่อเลือดไหลเวียนไปยังขาน้อยลง ก็จะนำไปสู่ภาวะเลือดคั่งในกล้ามเนื้อน่อง โดยหลักชีวกลศาสตร์ การนั่งเก้าอี้ทำให้ต้องมีการงอขาตลอดเวลา ยิ่งทำให้กล้ามเนื้อขาขาดเลือดหนักขึ้นไปอีก

อีกทั้งการที่กล้ามเนื้อขามีความเคลื่อนไหวลดลงจากการ “นั่งมาก” และ “นั่งนาน” ความจำเป็นของระดับการเผาผลาญพลังงานก็จะลดลงตามไปด้วย

เพราะปกติแล้ว หากเลือดไหลเวียนตามธรรมชาติ จะมีแรงต้านที่เรียกว่าความเค้นเฉือนในหลอดเลือดที่กระตุ้นเซลล์เยื่อบุผนังด้านในของหลอดเลือดให้หลั่งสารช่วยขยายหลอดเลือด และเมื่อหลอดเลือดขยายตัวจนมีความกว้างเพียงพอ ระบบไหลเวียนโลหิตก็จะทำงานอย่างเป็นปกติตามหลักการรักษาสมดุลของร่างกาย

ทว่า “อารยธรรมนั่ง” ได้ทำให้เลือดไหลเวียนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขา ได้น้อยลง เซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือดเมื่อรับรู้ถึงแรงต้านที่ลดลง ก็จะผลิตสารกระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัวออกมา

โดยการหดตัวดังกล่าว จะไปซ้ำเติมให้เลือดไหลเวียนได้น้อยลงไปอีก ทำให้หัวใจต้องเร่งสูบฉีดเลือดให้แรงขึ้นเพื่อเป็นการชดเชย จนเกิดภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนั่งนิ่งอยู่กับที่หลังมื้อเย็น ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือด และอินซูลินพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นำไปสู่โรคเบาหวาน ภาวะดื้ออินซูลิน แถมเส้นเลือดที่ทำงานผิดปกติอยู่แล้ว ก็ยิ่งเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจอีกโรคหนึ่ง

นอกจากการนั่งเฉยๆ หลังรับประทานอาหาร นอกจากจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงแล้ว ระบบกล้ามเนื้อ และกระดูก จะได้รับผลกระทบหนักขึ้น เพราะการ “นั่งมาก” และ “นั่งนาน” ความหนาแน่นของมวลกระดูกจะลดลง

อีกทั้งยังเกิดไขมันสำรองสะสมในเนื้อเยื่อไขมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่องท้อง ยังไม่นับอาการเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว เกิดความเครียด ไปจนถึงโรคซึมเศร้า หรือแม้แต่ทำให้เกิดแผลกดทับได้

 

นอกจากความเมื่อยล้า ต้องการพักผ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขี้เกียจ ที่ก่อให้เกิด “อารยธรรมนั่ง” แล้ว “การออกแบบทางสังคม” ก็เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบกินอาหารบนโต๊ะที่ต้องใช้เก้าอี้ ลักษณะการประชุม ไปจนถึงการทำงานออฟฟิศ ล้วนผ่าน “การออกแบบทางสังคม” ที่สั่งสมกันมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นเรื่องปกติ

อีกทั้งสังคมยุคใหม่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ยิ่งทำให้เราไม่ต้องดิ้นรน หรือใช้กำลังมาก และรูปแบบการใช้ชีวิต/ดำเนินชีวิตของเราก็อาศัยการนั่งเป็นส่วนใหญ่

แม้ว่าจะมีการรณรงค์ และส่งเสริมให้มีการยืนขึ้นบ้างระหว่างการนั่งประชุมอันยาวนาน ทว่า หลายคนกลับมองว่า เป็นการรบกวนการเข้าสังคม และประเพณีการประชุมไป เพราะผู้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่า คงไม่ใช่เรื่องเหมาะสมนัก ที่จะมีใครจะยืนขึ้นระหว่างการประชุมที่เป็นทางการ

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา มีผู้พยายามคิดค้นวิธีช่วยแก้ไข “อารยธรรมนั่ง” เช่น การใช้โต๊ะและเก้าอี้ทำงานแบบปรับความสูงได้ เพื่อให้สามารถยืน และนั่งทำงานสลับกันไปเป็นช่วงๆ

แม้กระทั่งการคิดค้นอุปกรณ์สุดขั้วที่เอื้อให้เกิดการเดินขณะทำงาน คือเครื่องเดินบนสายพานติดตั้งโต๊ะทำงาน หรือแม้แต่อุปกรณ์ง่ายๆ อย่างเครื่องบริหารขาไปด้วยขณะนั่งทำงาน เพื่อเพิ่มอัตราการไหลเวียนโลหิต แต่ก็ไม่เป็นที่นิยม

ยังไม่นับอุปกรณ์ไฮเทคที่ช่วยในการออกกำลังกายและดูแลสุขภาพ เช่น เครื่องวัดความเร่ง และแรงสั่นสะเทือน ที่ช่วยให้ทราบถึงอิริยาบถต่างตลอด 24 ชั่วโมง ที่จะช่วยให้เราปรับระยะเวลาที่ใช้ในการนั่ง และยืนให้สมดุลกับอิริยาบถอื่นๆ ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์ดังกล่าวจะส่งสัญญาณเตือนเมื่อเรานั่งนานเกินไปได้อีกด้วย

แต่วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ การลุกขึ้นจากเก้าอี้ แล้วเดินไปเดินมา เช่น เดินไปสูดอากาศ ยืดเส้นยืดสาย หรือการเดินขึ้นบันไดเป็นครั้งคราว ที่แม้จะฟังดูเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ก็ไม่ค่อยจะปฏิบัติตามกันสักเท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม มีคำเตือนว่า คนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ยังนั่งนานเกินไปในแต่ละวัน ก็มีความเสี่ยงต่อสุขภาพไม่แพ้กัน