ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
ภายหลัง “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ของประเทศ ต่อจากนายเศรษฐา ทวีสิน ขั้นตอน ณ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการฟอร์มทีมจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ เพื่อเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ
แต่ทว่า ผ่านมาเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว โฉมหน้าของ “ครม.อุ๊งอิ๊ง 1” ยังคงไม่สะเด็ดน้ำ แม้ว่าบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรค ได้ส่งรายชื่อว่าที่รัฐมนตรี หรือ “โผ ครม.” ผ่าน “หมอมิ้ง” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มาครบทุกพรรคและทยอยกรอกเอกสารประวัติรัฐมนตรีกันแล้วก็ตาม
ต้องยอมรับว่า จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีมติสั่งให้ “นายเศรษฐา ทวีสิน” พ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรี จากกรณีแต่งตั้ง “นายพิชิต ชื่นบาน” ผู้ซึ่งเคยถูกจำคุกหกเดือนฐานละเมิดอำนาจศาล เมื่อปี 2551 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้การแต่งตั้ง ครม.เที่ยวนี้ “พรรคเพื่อไทย” ในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล วางโจทย์และกำหนดสเป๊ก ยึดตามบรรทัดฐานและมาตรฐานคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า บุคคลที่จะมาทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรี ต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน ใสสะอาด ไม่มีประวัติด่างพร้อย หรือมีมลทินติดตัว
ฉะนั้น ระยะเวลาการตรวจสอบคุณสมบัติว่าที่รัฐมนตรีรอบนี้ จำเป็นต้องใช้เวลานานมากกว่าปกติ เพราะต้องเช็กกันละเอียดยิบทุกรายชื่อให้เกิดความรอบคอบมากที่สุด
อีกทั้งขั้นตอนนี้ “คณะกรรมการกฤษฎีกา” ได้เข้ามาช่วยสกรีนและกลั่นกรองคุณสมบัติอีกชั้นหนึ่งด้วย
ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่า ปมปัญหาความขัดแย้ง ความบาดหมางใจภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ระหว่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค พปชร. ทำให้ ส.ส.ภายในพรรค พปชร. ต้องถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้วนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งทำให้การฟอร์มทีมจัดตั้ง “ครม.อุ๊งอิ๊ง 1” เกิดความล่าช้าตามไปด้วย
โดยเฉพาะการส่งรายชื่อรัฐมนตรีซ้ำซ้อนกัน 2 บัญชี จาก 2 ขั้วแกนนำภายในพรรค ซึ่งคาดว่า ชนวนเหตุเริ่มต้นจุดแตกหักครั้งนี้ น่าจะมาจากการที่ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” แสดงความไม่พอใจ ถึงขั้นประกาศขอแยกทางเดินกับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ภายหลังมีกระแสข่าวโดนตัดชื่อออกจากโผ ครม.ของพรรค พปชร.
แม้ท้ายที่สุด ตอนหลังพรรคพลังประชารัฐ จะมีมติส่ง 4 รายชื่อรัฐมนตรีโควต้าตามเดิมสมัย ครม.นายเศรษฐา ทวีสิน ประกอบด้วย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายสันติ พร้อมพัฒน์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
แต่ทว่า “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” กลับไม่ได้รับเอกสารในการกรอกรายชื่อประวัติรัฐมนตรีชุดใหม่
ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า การตกสำรวจรายชื่อของ “บิ๊กป๊อด” ครั้งนี้ แสดงว่าพลังประชารัฐ ขั้วของ “บิ๊กป้อม” อาจถูกตัดออกจากพรรคร่วมรัฐบาลและ “ครม.อุ๊งอิ๊ง 1” ไปแล้วหรือไม่
ท่ามกลางกระแสข่าวลือแพร่สะพัดว่า “พรรคเพื่อไทย” เตรียมจบปัญหาความไม่ชัดเจนของพรรคพลังประชารัฐ ด้วยการดึงพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มาร่วมรัฐบาลแทน
งานนี้ทำให้พรรคพลังประชารัฐต้องทำหนังสือส่งถึงนายกรัฐมนตรี ทวงเอกสารข้อมูลกรอกประวัติรัฐมนตรีของ” บิ๊กป๊อด” โดยสาระสำคัญของหนังสือฉบับดังกล่าว นอกจากขอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ดำเนินการส่งแบบข้อมูลประกอบการเสนอเรื่องการแต่งตั้งรัฐมนตรีแล้วนั้น
ยังอ้างถึงข้อตกลงร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลก่อนหน้านี้ “นายกฯ” ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ และพรรคอื่นได้ประกาศเป็นสัญญาประชาคมว่าทุกพรรคจะร่วมกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยสนับสนุนให้เป็นนายกฯ มีข้อตกลงให้มีสัดส่วนรัฐมนตรีแต่ละพรรคตามจำนวนเดิม พรรค พปชร.จึงให้ ส.ส.สังกัดพรรคทุกคนออกเสียงเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ 39 เสียง เว้นแต่หัวหน้าพรรคที่ติดภารกิจสำคัญ
ความคลุมเครือและความไม่ชัดเจนที่เกิดขึ้น ส่งผลให้การประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย เมื่อวันอังคารที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา หยิบยกปมปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐขึ้นมาหารือถึงความชัดเจนการร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจาก ส.ส.ต่างไม่สบายใจที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไม่เคยแสดงความจริงใจต่อการเข้าร่วมรัฐบาล พบว่า ไม่ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย 2 ครั้ง คือ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี และล่าสุด น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แม้ว่าตลอดระยะเวลาที่ร่วมรัฐบาลมาเกือบ 1 ปี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐให้ความร่วมมือกับพรรคเพื่อไทย และร่วมกันทำงานทั้งฝั่งของนิติบัญญัติและฝั่งของบริหารเป็นอย่างดีก็ตาม
กระทั่งการประชุมของคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เพื่อไทย ตัดสินใจว่าไม่สามารถร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐได้อีกต่อไป
เท่ากับว่าขณะนี้ พรรคเพื่อไทยประกาศปิดสวิตช์ “ลุงป้อม” และตระกูล “วงษ์สุวรรณ” พ้นรัฐบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
จากนั้นพรรคเพื่อไทยส่งหนังสือเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลแทน โดยยกเหตุผลว่า “พรรคประชาธิปัตย์มีบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และมีอุดมการณ์ที่จะทำงานร่วมกันได้”
แต่ทว่า ต้องยอมรับว่า ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ในสายตาของประชาชน เห็นได้ชัดมาตลอดว่า อุดมการณ์ทางการเมืองของทั้ง 2 พรรค เหมือนเป็นเส้นขนาน
ฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกหากคนภายในพรรคประชาธิปัตย์จะเสียงแตกแบ่งออกเป็น 2 ซีก
ทั้งฝ่ายต้องการเข้าร่วมรัฐบาลและไม่ต้องการเข้าร่วมรัฐบาล
โดยบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายสรรเพชร บุญญามณี ส.ส.สงขลา และนายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้อาวุโสของพรรค ประกาศตัวชัดเจนว่าไม่คิดทรยศประชาชน กลับลำไปหนุนพรรคการเมืองที่เคยรณรงค์ไม่ให้ประชาชนลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้
นายชวนระบุเหตุผลว่า “แนวต่อสู้ของพรรคประชาธิปัตย์มีความชัดเจนมาตลอด ตั้งแต่ก่อนเลือกนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ ด้วยซ้ำ ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยที่ตนเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้ผู้แทนฯ ภาคใต้เกือบทั้งหมด แม้กระทั่งไม่เป็นหัวหน้าพรรคแล้ว ก็ยังมีส่วนช่วยให้พรรคประชาธิปัตย์ได้ผู้แทนฯ ในพื้นที่จำนวนมาก
“ปัจจัยที่ทำให้ชนะการเลือกตั้งคือเรื่องเงิน ผลประโยชน์ ทำให้ทีท่าของผู้สมัคร ส.ส.เปลี่ยนไปเช่นกัน ขณะที่กรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคชุดใหม่ที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ในฐานะหัวหน้าพรรคได้ประกาศเอาไว้ว่า “จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง” นายชวนระบุ
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายคนในพรรคประชาธิปัตย์พอสมควร
ยิ่งเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่และมีสมาชิกพรรคมากที่สุด ความศรัทธาจากประชาชน ซึ่งเป็นฐานคะแนนเสียงของพรรคย่อมมีการตั้งความคาดหวังไว้สูง
ฉะนั้น ไม่ว่าผลจะออกมาทางใด พรรคประชาธิปัตย์ต้องชี้แจงและอธิบายเหตุผลให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ
เพราะหากอธิบายไม่ได้ การเลือกตั้งสมัยหน้า มีผลกระทบแน่นอน…
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022