ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
ไม่มีใครกล้าปฏิเสธหรอกว่า ในฐานะผู้นำทางการเมืองที่เปี่ยมบารมี, นักสื่อสารทางการเมืองผู้ทรงอิทธิพล ตลอดจนคนคิด-นำเสนอนโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่เฉียบคมทรงพลัง
อดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร” ยังมีความเป็นเลิศ เป็นมือวางอันดับต้นๆ ของประเทศนี้ อย่างหาตัวจับยาก
บทพิสูจน์ชัดเจนถึงคุณสมบัติข้างต้น คือ แรงกระเพื่อม-ความคึกคักที่พลันบังเกิดขึ้น ภายหลังอดีตผู้นำที่เพิ่งได้กลับบ้าน ขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจ (ประหนึ่งกำลังทำหน้าที่ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ให้แก่รัฐบาลชุดใหม่) เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา
ถือเป็นการรีเทิร์นกลับสู่สังคมการเมืองไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งสร้างความคาดหวังเป็นอย่างสูงให้แก่ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย หรือแม้กระทั่งประชาชนคนทั่วไปจำนวนไม่น้อยที่กำลังรู้สึกขัดสนไร้ทางออกใดๆ ในชีวิต
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ “ทักษิณ ชินวัตร” คนเดิม กำลังเผชิญ ณ ปี 2567 กลับเป็นบริบทแวดล้อมที่ไม่เหมือนเดิมกับเมื่อช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2540
ปัญหาท้าทายประการแรก ก็คือ แม้มองเผินๆ องคาพยพหรือคณะบุคคลที่เข้ามาเป็นมือไม้ในการทำงานหรือแรงสนับสนุนเบื้องหลัง/ลมใต้ปีกให้แก่ “รัฐบาลทักษิณ” จะมี “จุดร่วม” กับองคาพยพของ “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” อยู่บ้าง
ทว่า องคาพยพทั้งสองชุดก็มีความผิดแผกแตกต่างกันอยู่ในเชิงรายละเอียด
เพราะในขณะที่องคาพยพของรัฐบาลทักษิณเมื่อสองทศวรรษก่อน เต็มไปด้วยนักการเมืองวัย 40-50 ปี ที่ไฟยังแรง และต่างดำรงตนเป็นแก่นแกนหลักของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีจุดศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่รัฐสภา ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535
มีตัวแทนกลุ่มทุนใหญ่ๆ ที่กระตือรือร้นอยากเข้ามาร่วมทำงานการเมือง หลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540
มีเทคโนแครต-อดีตข้าราชการที่พร้อมจะทำงานบริหารรัฐกิจด้วยกรอบวิธีคิดใหม่ๆ
มีอดีตแอคติวิสต์-คนเดือนตุลาทีมใหญ่ ที่พลังใจความใฝ่ฝันยังเหลือล้น ซึ่งเข้ามาทำงานหลังบ้านและหน้าบ้านให้รัฐบาลไทยรักไทย
โดยองคาพยพทั้งหมดทั้งมวล (รวมถึงตัวนายกรัฐมนตรี) ในยุคนั้น คล้ายจะมี “ความใฝ่ฝันร่วม” ว่าประเทศไทยกำลังต้องการ “ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ” ในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ
แต่แนวโน้มของ “ครม.แพทองธาร” ในห้วงเวลานี้ กลับดูเป็นแหล่งรวมของคนการเมืองหลากหลายภูมิหลัง ซึ่งยอมรับ-ปรับตัวได้กับสภาวะ “อปกติ” ต่างๆ นานาของสังคมการเมืองไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา
และนี่ก็เป็นรัฐบาลที่น่าจะได้รับการขานรับ-สนับสนุนจากกลุ่มทุนใหญ่ๆ ที่เติบโตเฟื่องฟูต่อเนื่องใน “ระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน”
จนดูคล้ายกับว่าองคาพยพของ “รัฐบาลชินวัตร” ในยุคหลังนี้ อาจพอใจกับสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ และไม่ฝันถึงความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ อีกแล้ว
ปัญหาท้าทายประการถัดมา คือ แม้ทักษิณจะยังเป็นผู้นำทางการเมืองผู้เก่งกาจเหมือนเดิม แต่ “โครงการทางการเมือง” ครั้งใหม่ของเขากลับวางฐานอยู่บนสภาพสังคมที่ไม่เหมือนเดิม
ดังที่อดีตนายกฯ ได้ระบุไว้เองทั้งบนเวทีสาธารณะเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม และในวงสนทนาเฉพาะกลุ่มก่อนหน้านั้นว่า ระบบราชการไทยในปัจจุบันมีความใหญ่โตและแข็งทื่อยิ่งกว่าเดิม ส่วนเรื่องระบบการศึกษาและกระบวนการพัฒนาคนก็มีปัญหาหนักไม่แพ้กัน จนรองรับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจไม่ได้
ถ้าทบทวนความจำเพิ่มเติม เราต้องไม่ลืมด้วยว่าวิกฤตเศรษฐกิจหลังปี 2540 นั้นนำมาสู่โอกาสใหม่ของธุรกิจส่งออกไทย แต่สภาพเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน กลับมีอาการไปต่อได้ยากทั้งภายในและภายนอก ฝืดเคืองทั้งภาคการผลิตและการบริโภค
ยิ่งกว่านั้น หลังผ่านวิกฤตเมื่อเกือบสามทศวรรษก่อน คนไทยจำนวนมากยังคล้ายจะมี “ความฝันใหญ่ๆ” ซึ่งอยากเห็นอนาคตที่ดีกว่าเดิม ยังหวังว่าตัวเองจะฟื้นตัวขึ้นจากสภาวะผุพังของประเทศ ยังมองเห็นโอกาสอันหลากหลายที่จะเดินหน้ากันต่อ
ในภาพใหญ่สุด ณ ยุคสมัยโน้น เราเคยมี “ฝันอันยิ่งใหญ่” ทั้งสองด้าน ด้านหนึ่ง คือฝันว่าจะไปต่อกับโลกาภิวัตน์อย่างไร อีกด้านหนึ่ง คือฝันว่าจะต่อต้านทวนกระแสโลกาภิวัตน์อย่างไร
ทว่า ตอนนี้ หลายคนกลับสัมผัสได้ถึงสภาวะ “ไร้ความฝัน-ไร้ความหวัง” เกือบสิ้นเชิงของคนไทย
และสังคมที่แล้งไร้ความฝัน-ความหวังมาเป็นเวลาสิบปี ก็ย่อมถือเป็นฐานล่างอัน “กลวงเปล่า-เปราะบาง” สำหรับรัฐบาลที่ก่อรูปขึ้นจากสังคมแบบนั้น •
ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022