ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ฝนไม่ถึงดิน |
ผู้เขียน | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี |
เผยแพร่ |
ฝนไม่ถึงดิน | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
มองดูพัฒนาการ
‘เงินเด็กในประกันสังคม’
เมื่อแรงจูงใจทางการเมือง
คือปัจจัยผลักดันที่สำคัญ
เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ได้มีการประชุมคณะกรรมการประกันสังคม ซึ่งมีวาระสำคัญที่ผลักดันผ่านอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการพิจารณาอันได้แก่ วาระการปรับเพิ่มเงินสิทธิประโยชน์ “สงเคราะห์บุตร”
ซึ่งเงินสงเคราะห์บุตรนี้เป็นสิทธิ์ถ้วนหน้าของผู้ประกันตน ในมาตรา 33 หรือผู้ประกันตนที่มีการจ้างงานประจำ ที่สมทบตั้งแต่ 82.50 บาท ถึง 750 บาทต่อเดือน ตามฐานเงินเดือน
และมาตรา 39 ผู้ประกันตนที่เคยอยู่ในระบบการจ้างและสมทบต่อเอง เดือนละ 432 บาท
โดยมีผู้ประกันตนที่อยู่ในระบบนี้ 13.5 ล้านคน การพิจารณาสิทธิประโยชน์ในลักษณะนี้จึงมีผลกระทบต่อเด็กจำนวน 1.2 ล้านคน ที่จะได้รับสิทธิ์นี้ในเดือนมกราคม 2568
โดยมติล่าสุดนั้นคือการปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 1,000 บาทต่อเดือน จาก 800 บาทต่อเดือน
ส่งผลให้การตั้งครรภ์และเลี้ยงดูบุตรสำหรับคนใช้สิทธิ์ประกันสังคม เริ่มต้นที่ ค่าฝากครรภ์ 1,500 บาท ค่าคลอดบุตร 15,000 บาท สิทธิการลาคลอดจากประกันสังคมสูงสุด 11,250 บาท และเงินเลี้ยงดูบุตร 72,000 รวมแล้วเป็น 99,250 บาทต่อบุตร 1 คน สูงสุด 3 คนในคราวเดียวกัน
หรือหากเทียบแล้ว การขยายสิทธิประโยชน์ครั้งนี้ทำให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิ์รวมแล้วราว 100,000 บาทต่อคน
ในบทความนี้ผู้เขียนจะชวนพิจารณาถึงพัฒนาการของเงินเลี้ยงดูเด็กประกันสังคม อันถือเป็นสวัสดิการพื้นฐานของคนธรรมดาว่ามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไรกับบริบทการเมือง
แม้ พ.ร.บ.ประกันสังคมจะเริ่มบังคับใช้ปี 2533 แต่ก็รอถึง 9 ปีในปี 2542 ถึงจะมีระบบเงินสงเคราะห์บุตรที่เริ่มต้นที่เดือนละ 150 บาท ซึ่งถือว่าเป็นก้าวสำคัญในการขยายสิทธิ์ผู้ประกันตน
จากนั้น 25 ปี มีการปรับสิทธิ์ทั้งหมดจำนวน 6 ครั้ง จนกระทั่งเป็น 1,000 บาท ในปี 2567 และแน่นอนว่าการปรับแต่ละครั้งมีความเกี่ยวพันกับบริบทการเมือง
โครงการนี้เริ่มต้นในปี 2542 ด้วยเงินสวัสดิการ 150 บาทต่อเดือน ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชน
ต่อมาในปี 2545 รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จากพรรคไทยรักไทย ได้เพิ่มเงินสวัสดิการเป็น 200 บาทต่อเดือน สอดคล้องกับนโยบายด้านสวัสดิการสังคมที่เป็นจุดเด่นของรัฐบาลชุดนี้
และในปี 2548 อันเป็นปีสุดท้ายก่อนการทำรัฐประหาร ยังคงเพิ่มขึ้นอีกเป็น 350 บาทต่อเดือน แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องของนโยบายดังกล่าว
แม้การทำงานของประกันสังคมจะไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาล แต่บรรยากาศการปฏิรูปสวัสดิการสังคม ในช่วงรัฐบาลทักษิณก็มีผลต่อการปรับเพิ่มสวัสดิการส่วนนี้ ถึงสองครั้งในช่วงระยะเวลา 4 ปี ก่อนจะเว้นช่วงยาวนานถึง 6 ปี
ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย ปี 2554 มีการปรับเพิ่มเป็น 400 บาทต่อเดือน ซึ่งสะท้อนถึงการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านแรงงานที่สำคัญในขณะนั้นคือค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท
จากนั้นต้องรอคอยยาวนานถึง 7 ปี ต่อมาในยุครัฐบาลทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งคณะกรรมการประกันสังคมมาจากการแต่งตั้ง นโยบายต่างๆ จึงล่าช้าออกไป รอถึงปี 2561 จึงมีการเพิ่มเป็น 600 บาทต่อเดือน
ซึ่งอาจเป็นความพยายามในการสร้างความนิยมให้กับรัฐบาลทหาร
และในปี 2564 ยังคงเพิ่มขึ้นอีกเป็น 800 บาทต่อเดือน เป็นการตอบสนองต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19
สําหรับการผลักดันนโยบาย 1,000 บาท สำหรับลูกหลานผู้ประกันตนนี้ เป็นเรื่องที่ทั้งยากและง่ายในคราวเดียวกัน
ความง่ายคือในแง่ของระเบียบต่างๆ ไม่ยากนักเพราะก็เป็นเพียงการเพิ่มเงินจากโครงสร้างที่มีอยู่ไม่มีความซับซ้อนมากนัก
แต่ความยากก็คือการได้รับการสนับสนุนอย่างวงกว้างให้เป็นเอกฉันท์ไม่ให้ติดขัดในวาระนี้
เพราะข้อเสนอนี้ก็เคยเสนอมาก่อน แต่ก็ไม่ได้ถูกขานรับ
การมีความมุ่งมั่นทางการเมืองจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ผมเองในฐานะผู้ศึกษาและผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการ เมื่อได้รับโอกาส ใจของผมอยากผลักดันให้แล้วเสร็จในพรุ่งนี้ วันนี้ วินาทีนี้เลยเสียด้วยซ้ำ เพราะผมรู้ดีว่า มันหมายถึงชีวิตและน้ำตาของคนจริงๆ ที่เราจะสามารถช่วยพวกเขาได้
แต่กระบวนการต่างๆ ผมเองก็ต้องประยุกต์ทฤษฎีเพื่อนำสู่การปฏิบัติ
การสร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้มีเพียงเรื่อง “ข้อมูล” หรือ “ข้อเท็จจริง” เท่านั้น
แม้ความจริงการปรับเงินเด็กเพิ่มไป 1,000 บาท จะไม่กระทบกับสภาพคล่องของประกันสังคม
เพราะเงินเด็กในหมวดการบริหารถือว่าเป็นเงิน 2 กรณี คู่กับเงินบำนาญและมีส่วนที่กันแยกออกมาสำหรับการบริหาร
การเพิ่มสวัสดิการเงินเด็ก จะใช้เงินเพิ่มประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งไม่กระทบต่อรายรับของกองนี้ที่มีปีละ 190,000 ล้านบาท (รวมส่วนบำนาญ)
หรือขณะเดียวกันข้อกังวลว่าคนใช้สิทธิ์ส่วนมากจะเป็นแรงงานข้ามชาติ
จากสถิติแรงงานข้ามชาติก็ใช้สิทธิ์เพียงร้อยละ 2 เท่านั้นของผู้ใช้สิทธิ์ทั้งหมด และโดยเฉลี่ยก็ใช้สิทธิ์เพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น จากสิทธิ์เต็ม 6 ปี
เพราะฉะนั้น ในทางข้อเท็จจริงเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องน่ากังวลแต่อย่างใด นอกจากนี้ จากจำนวนเด็กที่เกิดน้อยอย่างมีนัยสำคัญ งบประมาณนี้จะลดลงเหลือเท่าเดิมในเวลาสิบกว่าปีจากนี้
แต่กระบวนการการทำงานทางความคิดจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ผมนึกถึงคำของมิตรสหายที่มีประสบการณ์การผลักดันประเด็นที่แหลมคมทางการเมืองท่านหนึ่ง ที่ให้ข้อคิดแก่ผมว่า “ถ้าหากเรื่องนี้ช้าลงหนึ่งเดือน จริงๆ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่อาจารย์ลองคิดดู หากเราเสนอเรื่องนี้ที่ง่ายๆ สำหรับเราแต่ยากสำหรับคนบางกลุ่ม แล้วเขาปฏิเสธ มันยากที่จะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง แล้วต้องใช้พลังเพิ่มเป็นสองเท่า หรืออาจจะไม่มีโอกาสผลักดันเลย”
ข้อคิดเห็นนี้สำคัญ พวกเราจึงเร่งประสานคุยกับทางสำนักงานเพื่อให้เห็นว่า การเพิ่มสิทธิประโยชน์ตัวหนึ่งไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องสิทธิ์ แต่เกี่ยวพันกับเรื่องความเชื่อมั่น การบริหารสำนักงาน ซึ่งเมื่อเชื่อมตรงต่อกัน
การที่ทำให้ผู้ประกันตนมีสภาพคล่องมากขึ้นในการเริ่มสร้างครอบครัว ก็จะทำให้เขาอยู่ในระบบประกันสังคมยาวนานมากขึ้น
และสามารถที่จะทำให้กองทุนเติบโต และขยายกรอบการลงทุนได้
เราใช้เวลาการสื่อสารสิ่งเหล่านี้นานสามเดือน ซึ่งอาศัย คุณธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน จากทีมประกันสังคมก้าวหน้าซึ่งนั่งเป็นประธานอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์ฯ จัดทำข้อมูลและศึกษาตลอดสามเดือนที่ผ่านมา
เช่นเดียวกับทีมงานอย่างคุณไชยวัฒน์ วรรณโคตร ที่ประสานการสื่อสารภายในกับสำนักงานประกันสังคมทุกภาคส่วนเพื่อให้เห็นภาพใหญ่ต่อการเปลี่ยนแปลงนี้
และการสื่อสารในช่องทางออนไลน์ต่างๆ โดยคุณเกศนคร พจนวรพงษ์ ก็ทำให้ภาคประชาสังคมรับรู้ร่วมรอคอยและสนับสนุนไปพร้อมกัน
สุดท้ายการปรับสิทธิประโยชน์นี้ ใช้เวลาจากรับตำแหน่ง 5 เดือน แต่เมื่อเทียบแล้วถือว่าเป็นเวลาที่ไม่นานหากจะรับรองถึงความสำเร็จไม่ผิดพลาด และสะท้อนให้เราได้เห็นว่าจะเรื่องง่าย เรื่องยาก เรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ สิ่งที่เราจำเป็นต้องยืนยันคือ
การอาศัยเจตจำนงความมุ่งมั่นทางการเมือง เป็นประตูสำคัญต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022