มาตรการคุม ‘สารต้องห้าม’ และสองมาตรฐานวงการกีฬา

กลายเป็นประเด็นดราม่าที่ดึงความสนใจจากการแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลม ยูเอส โอเพ่น ซึ่งแข่งขันกันอยู่ในขณะนี้ไม่น้อย สำหรับเรื่องราวนอกสนามของ ยานนิก ซินเนอร์ นักเทนนิสมือ 1 ของโลกชาวอิตาเลียน

ย้อนไปวันที่ 20 สิงหาคม มีข่าวว่าซินเนอร์เคยไม่ผ่านการตรวจสารต้องห้าม โดยพบตัวยา คลอสเทโบล ซึ่งอยู่ในกลุ่มสเตียรอยด์ 2 ครั้งในเดือนมีนาคม จากการเก็บตัวอย่างช่วงแข่งขัน อินเดียนเวลส์ มาสเตอร์ส และก่อนการแข่งขัน ไมอามี โอเพ่น

ข่าวบอกว่าเขาโดนโทษแบนทันที แต่เจ้าตัวอุทธรณ์จนได้กลับมาแข่งขัน ระหว่างนั้นก็เป็นการต่อสู้ของทีมกฎหมายในการไต่สวนโดยคณะกรรมการอิสระที่ทาง องค์กรนานาชาติเพื่อความโปร่งใสในกีฬาเทนนิส (ไอทีไอเอ) แทงเรื่องต่อมาให้

ซินเนอร์อธิบายว่าได้รับยาดังกล่าวโดยไม่เจตนา เนื่องจากฟิตเนสเทรนเนอร์ส่วนตัวซื้อยาตัวหนึ่งมาจากร้านทั่วไป ต่อมานักกายภาพบำบัด หนึ่งในทีมงานของเขาเอายาตัวดังกล่าวไปรักษาแผลบาดที่นิ้วมือ แล้วมาดูแลซินเนอร์โดยไม่ได้สวมถุงมือ ทำให้ซินเนอร์ได้รับตัวยาไปโดยไม่รู้ตัว

ซึ่งหลังเกิดเรื่อง เขาได้เลิกจ้างทั้งเทรนเนอร์และนักกายภาพบำบัดตัวต้นเหตุเรียบร้อยแล้ว

ปรากฏว่า คณะกรรมการไต่สวนอิสระรับฟังคำอธิบายดังกล่าว และเคลียร์ชื่อให้เขาพ้นมลทินก่อนหน้าเป็นข่าวไม่ถึง 1 สัปดาห์

ระหว่างรอการพิจารณา ซินเนอร์ก็สามารถลงแข่งขันได้ และยังคว้าแชมป์ ซินซินเนติ โอเพ่น มาครองอีกต่างหาก

 

ปรากฏว่าข่าวนี้นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนในวงการหลายคน โดยเฉพาะบรรดานักเทนนิสทั้งอดีตและปัจจุบันซึ่งตั้งคำถามถึงการเลือกปฏิบัติขององค์กรที่รับผิดชอบ

มีคำถามมากมายเกี่ยวกับกรณีของซินเนอร์ ทั้งขั้นตอนพิจารณาที่รวบรัดรวดเร็ว ทุกอย่างจบในเวลาไม่ถึง 5 เดือนตั้งแต่ตรวจพบสารต้องห้าม ทั้งการปิดข่าวไม่ให้หลุดออกมาสู่สาธารณะ กระทั่งทุกอย่างจบไปแล้วจึงเป็นข่าว

เทียบกับกรณีของคนเทนนิสคนอื่นๆ ที่ไม่ผ่านการตรวจสารต้องห้ามเช่นกัน อาทิ ซิโมน่า ฮาเล็ป อดีตมือ 1 หญิงโลกชาวโรมาเนีย ต้องรอนานถึง 1 ปี กว่าจะรู้ผลการอุทธรณ์โทษแบนของตัวเอง

ส่วน แดน อีแวนส์ มือดังจากสหราชอาณาจักร โดนแบน 12 เดือน หลังตรวจพบว่าใช้โคเคนในปี 2017

นักหวดดังหลายคน อาทิ นิก เคียริออส, เดนิส ชาโปวาลอฟ โพสต์โซเชียลทำนององค์กรที่รับผิดชอบปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน ถ้าไม่ผ่านตรวจโด๊ปถึง 2 ครั้ง ก็ควรโดนแบน

ส่วน คริส เอฟเวิร์ต อดีตราชินีสักหลาดชาวอเมริกัน ถามตรงๆ ว่า ถ้าเป็นนักเทนนิสโนเนมมืออันดับ 400 ของโลก เจอสถานการณ์แบบเดียวกัน จะมีคนปกป้องและเก็บเป็นความลับขนาดนี้หรือไม่?

ขณะที่ โนวัก โยโควิช เจ้าของแชมป์ชายเดี่ยวแกรนด์สแลม 24 สมัย บอกว่าไม่แปลกใจที่นักหวดหลายคนไม่พอใจ เพราะการปฏิบัติไม่เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน กรณีของซินเนอร์ไม่เคยเป็นข่าวเลยจนเรื่องจบไปแล้ว

หวังว่าหลังจากนี้องค์กรที่รับผิดชอบจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงขั้นตอนปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางและลำดับขั้นตอนเดียวกัน

ยานนิก ซินเนอร์

แม้ว่าตัวซินเนอร์ โค้ช และทนายความจะต่างออกมายืนยันว่า เขาไม่ได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ หรือได้อภิสิทธิ์เหนือคนอื่นแต่อย่างใด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นเลย

สื่อบางสำนักตั้งคำถามว่าคำอธิบายของของซินเนอร์นั้น “ฟังขึ้น” จริงๆ หรือไม่? เพราะโดยปกติ นักกีฬาย่อมต้องอ้างว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือได้รับสารต้องห้ามเข้าสู่ร่างกายโดยไม่เจตนาทั้งสิ้น

ซึ่งคำอธิบายเหล่านี้มักจะพิจารณากันเป็นกรณีๆ ไป

เช่น คามิล่า วาลิเอว่า นักฟิกเกอร์สเก๊ตสาววัย 18 ปี จากรัสเซีย ซึ่งแก้ต่างว่า กินเนื้อที่ปนเปื้อนสารต้องห้าม เนื่องจากคุณตาที่เป็นโรคหัวใจ เอามีดทำครัวไปตัดยาแล้วเอามาหั่นสเต๊กต่อ ทำให้เธอได้รับยาเข้าร่างกายจากการกินสเต๊ก ซึ่งคำอธิบายนี้ไม่เป็นผล และเธอก็โดนแบนถึง 4 ปี

เอ่ยถึงกรณีของซินเนอร์แล้วก็ชวนให้นึกถึงกรณีของนักว่ายน้ำจีนที่เป็นประเด็นดราม่าก่อน โอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จะเปิดฉาก เมื่อ เดอะ ไทม์ส สื่อดังอังกฤษ รายงานว่า มีนักว่ายน้ำจีน 23 คนไม่ผ่านตรวจโด๊ปเพียงไม่กี่เดือนก่อน โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเวลาต่อมา องค์กรตรวจสารต้องห้ามของจีนเคลียร์ชื่อให้ทุกคน โดยพบว่านักกีฬาได้รับสารจากการปนเปื้อนภายในครัวที่ทำอาหารให้นักกีฬา ขณะที่ องค์กรต่อต้านสารต้องห้ามโลก (วาด้า) ไม่คัดค้านคำตัดสินของฝั่งจีน

ประเด็นนี้กลายเป็นที่วิจารณ์อย่างกว้างขวางในโลกตะวันตก เพราะไม่มีการเปิดเผยข่าวนี้มาก่อน โดย องค์กรต่อต้านสารต้องห้ามแห่งสหรัฐ (ยูซาด้า) ก็ฮึ่มๆ งัดข้อกับวาด้าเรื่องนี้

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องสองมาตรฐานและเลือกปฏิบัติถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งในสระปารีสเกมส์ เมื่อฉลามหนุ่มและเงือกสาวจีนหลายคนออกมาตอบโต้บรรดาสื่อและนักกีฬาโลกตะวันตก ว่าได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม เช่น การโดนสุ่มตรวจโด๊ปถี่กว่านักกีฬาจากชาติคู่แข่งแย่งเหรียญ (อาทิ สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย) มากๆ ไหนจะโดนตั้งแง่จากบรรดานักกีฬาของชาติตะวันตกเหล่านี้

ขณะที่ยูซาด้าเองก็โดนตั้งคำถามเรื่องความย้อนแย้ง กรณีเปิดไฟเขียวให้ เออร์ริยอน ไนท์ตัน นักวิ่งทีมชาติสหรัฐ เจ้าของเหรียญเงินวิ่ง 200 เมตรชาย ศึกชิงแชมป์โลก 2023 ติดทีมชาติลุยโอลิมปิกเกมส์ 2024 ทั้งที่ถูกตรวจพบว่าใช้สารต้องห้ามช่วงนอกมหกรรมเมื่อปลายเดือนมีนาคม โดยยอมรับคำอธิบายว่าเขากินเนื้อที่มีการปนเปื้อนเข้าไป

เรียกว่าแม้แต่ประเด็นที่ควรโปร่งใสอย่างเรื่องการควบคุมการใช้สารต้องห้าม ก็ยังวุ่นวายอีนุงตุงนัง โดนตั้งคำถามเรื่องการเลือกปฏิบัติอย่างที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้ เพราะถึงปัญหาอาจจะคล้ายๆ กัน แต่อาจไม่ได้ใช้หลักการและมาตรฐานเดียวกัน

ขึ้นอยู่กับว่านักกีฬาที่โดนนั้นเป็นใครเสียมากกว่า! •

 

Technical Time-Out | SearchSri