พาราลิมปิกเกมส์ 2024 อีกหนึ่งภารกิจทัพไทย เป้าหมายพิชิต 7 ทอง

Photo : Facebook Paralympic Thailand (Thai Para Athletes)

จบโอลิมปิกเกมส์ 2024 ไปหมาดๆ มหกรรมกีฬาต่อไปที่คนไทยต้องส่งแรงใจแรงเชียร์นักกีฬาไทยนั่นคือ มหกรรมกีฬา “พาราลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024”

ปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 17 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม-8 กันยายน 2567

มีนักกีฬาพาราลิมปิก 4,400 คน จาก 184 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมการแข่งขันใน 22 ชนิดกีฬา ชิงชัยกันทั้งหมด 529 เหรียญทอง

ทัพนักกีฬาพาราลิมปิกทีมชาติไทย คว้าโควต้าไปร่วมชิงชัยทั้งหมด 79 คน

จาก 15 ชนิดกีฬา ยิงธนู, กรีฑาและวีลแชร์เรซซิ่ง, แบดมินตัน, บอคเซีย, จักรยาน, เรือแคนนู, เรือพาย, วีลแชร์ฟันดาบ, ยกน้ำหนัก, ยิงปืน, ว่ายน้ำ, เทเบิลเทนนิส, เทควันโด, ยูโด, วีลแชร์เทนนิส

 

“พาราลิมปิกเกมส์” เป็นกีฬาสำหรับคนพิการจากหลายประเทศทั่วโลก จัดขึ้นทุก 4 ปี หลังจากกีฬาโอลิมปิกสิ้นสุดลงแล้ว ประเทศเจ้าภาพก็จะจัดแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกด้วย ผู้รับผิดชอบกีฬาพาราลิมปิกคือ คณะกรรมการพาราลิมปิกสากล

สัญลักษณ์ของ “พาราลิมปิก” เป็นแถบโค้ง มีสีแดง น้ำเงิน และเขียว ส่วน “มาสคอต” ประจำกีฬา “พาราลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024” ครั้งนี้คือ “Phryges” หรือ ฟรีจีส ที่ใช้ต้นแบบจากหมวกของชาว “ฟรีเจีย” เป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพ “Phryges” เป็นมาสคอตของทั้ง “โอลิมปิก 2024” และ “พาราลิมปิก 2024”

มาสคอต Phryges สำหรับการแข่งขัน “พาราลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024” มีขาข้างหนึ่งสวมใส่ขาเทียม เพื่อเป็นการสื่อถึงการแข่งขันกีฬาสำหรับคนพิการ ซึ่ง Phryges เป็นมาสคอตทรง 3 เหลี่ยมสีแดง มีดวงตายิ้มแย้ม มีโลโก้สัญลักษณ์โอลิมปิก 2024 ไว้ตรงกลาง

Phryges มีคำขวัญประจำตัวว่า “Alone we go faster, but together we go further” หรือ “ไปคนเดียวไปได้ไว แต่ไปด้วยกันไปได้ไกลกว่า”

 

ย้อนไปจุดเริ่มต้นของ “พาราลิมปิกเกมส์” อยู่ในช่วงหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 โดย ลุดวิก กูมมัน ศัลยแพทย์ประจำโรงพยาบาลสโต๊ก แมนเดวิลล์ มีแนวคิดจัดการแข่งขันกีฬาขึ้น เพื่อเป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย และจิตใจของทหารผ่านศึกชาวอังกฤษ โดยการแข่งครั้งแรกมีขึ้นในปี ค.ศ.1948 ตั้งชื่อการแข่งขันว่า “สโต๊ก แมนเดวิลล์ เกมส์” ครั้งนั้นเป็นการจัดสำหรับนักกีฬาวีลแชร์

ปี ค.ศ.1952 มีการจัดการแข่งขันที่ประเทศอังกฤษเช่นกัน ครั้งนั้นมีทหารผ่านศึกชาวดัตซ์ เข้าร่วมแข่งขันด้วย และอาจกล่าวได้ว่า เป็นการแข่งขันกีฬาคนพิการ ในระดับนานาชาติครั้งแรกของโลก

นับแต่นั้นเป็นต้นมา จึงมีการจัดการแข่งขันเรื่อยมา กระทั่งในกีฬาโอลิมปิก ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ปี ค.ศ.1960 ได้ปรับระบบ “การจัดการแข่งขันกีฬาคนพิการนานาชาติ” เข้าสู่ “กีฬาโอลิมปิกคนพิการ” ด้วยการจัด “โอลิมปิกคนพิการ” ต่อจาก “โอลิมปิก” ในปีเดียวกันเป็นครั้งแรก

ปี ค.ศ.1988 คณะกรรมการโอลิมปิกสากล และสหพันธ์กีฬาคนพิการนานาชาติ ปัจจุบันคือ คณะกรรมการพาราลิมปิกสากล International Paralympic Committee (IPC) ร่วมกันขอความร่วมมือ ให้เจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกเกมส์ รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพกีฬาพาราลิมปิก ควบคู่ไปในปีเดียวกัน

จึงกล่าวได้ว่า พาราลิมปิก ครั้งที่ 8 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี ค.ศ.1988 เป็นการเริ่มต้นกีฬาพาราลิมปิกอย่างเป็นทางการ

 

สําหรับประเทศไทย เข้าร่วมพาราลิมปิกเกมส์ ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1988 (พ.ศ.2231) ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ และได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมตลอดทุกการแข่งขัน โดยเหรียญรางวัลพาราลิมปิกเหรียญแรกของไทยคว้ามาได้ครั้งนั้นเป็นเหรียญเงินจาก สกุล คำตัน ในการแข่งขันพุ่งแหลนชาย

หลังจากนั้นทีมพาราลิมปิกไทยสามารถคว้าเหรียญพาราลิมปิกได้สำเร็จทุกครั้ง ตั้งแต่เริ่มเข้าร่วมแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ ตั้งแต่พาราลิมปิกเกมส์ 1988 ครั้งที่ 8 (ที่กรุงโซล เกาหลีใต้) ถึงพาราลิมปิกเกมส์ 2016 ครั้งที่ 15 (ที่รีโอเดจาเนโร บราซิล)

ประเทศไทยได้เหรียญรวมทั้งหมด 69 เหรียญ แบ่งเป็น 19 เหรียญทอง 24 เหรียญเงิน 26 เหรียญทองแดง

ในการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ทัพนักกีฬาพาราลิมปิกของไทย คว้าไป 5 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน 8 เหรียญทองแดง รวม 18 เหรียญรางวัล ปิดฉากการแข่งขันอันดับที่ 25 และเป็นอันดับ 6 ทวีปเอเชีย ครองเบอร์ 1 ของอาเซียน

5 เหรียญทองของทัพพาราลิมปิกไทย ได้มาจาก “เจ้ากร” พงศกร แปยอ คนเดียว 3 เหรียญทองจากวีลแชร์เรซซิ่ง 100, 400 และ 800 เมตร คลาส T 53 ส่วนอีก 2 ทองได้มาจาก “ฟิว” อธิวัฒน์ แพงเหนือ วีลแชร์เรซซิ่ง 100 เมตร คลาส T 54 และบอคเซีย ประเภททีมผสม BC 1-2 วิษณุ ฮวดประดิษฐ์, วัชรพล วงษา, วรวุฒิ แสงอำภา และสุบิน ทิพย์มะณี

 

สําหรับเป้าหมายของทัพนักกีฬาพาราลิมปิกไทยในศึกใหญ่ ที่กรุงปารีส ตั้งเป้าไว้ที่ 7 เหรียญทองจากวีลแชร์เรซซิ่ง 4 เหรียญทอง, เทเบิลเทนนิส 1 เหรียญทอง, วีลแชร์ฟันดาบ 1 เหรียญทอง และบอคเซีย 1 เหรียญทอง

กลุ่มนักกีฬาความหวังหนีไม่พ้นเจ้าของเหรียญรางวัลจากพาราลิมปิก โตเกียว 2020 ที่แข่งขัน ไปเมื่อปี 2021 นำโดย พงศกร แปยอ 3 เหรียญทอง วีลแชร์เรซซิ่ง 100, 200 และ 800 เมตรชาย คลาส T 53, อธิวัฒน์ แพงเหนือ เหรียญทอง วีลแชร์เรซซิ่ง 100 เมตรชาย คลาส T 54 และทีมบอคเซีย คลาส BC 1-2 ซึ่งนำโดย วัชรพล วงษา และวิษณุ ฮวดประดิษฐ์

รวมถึง รุ่งโรจน์ ไทยนิยม เหรียญทองแดง เทเบิลเทนนิส บุคคลชาย คลาส 6 และ “แวว” สายสุนีย์ จ๊ะนะ เหรียญทองแดง วีลแชร์ฟันดาบ ประเภทดาบเอเป้ คลาสบี อีกด้วย

ร.ท.ณัยณพ ภิรมย์ภักดี ประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย เผยว่า นักกีฬาพาราทีมชาติไทยทุกคนมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ แน่นอนว่าในเบื้องต้นจะต้องรักษามาตรฐานเดิม ที่ทำได้จากพาราลิมปิก โตเกียว 2020 คือ 5 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน 8 เหรียญทองแดง และจบการแข่งขันอันดับที่ 25 เป็นอันดับที่ 6 ของทวีปเอเชีย รองจากจีน ซึ่งเป็นเจ้าเหรียญทอง, ญี่ปุ่น, อิหร่าน, อุซเบกิสถาน และอินเดีย รวมทั้งยังครองเบอร์ 1 ของอาเซียน เอาไว้ให้ได้ก่อน

ต้องคอยลุ้นและส่งกำลังใจเชียร์ทัพนักกีฬาพาราลิมปิกทีมชาติไทยให้ทำผลงานให้ได้ตามเป้าหมาย

เพราะที่ผ่านมาทุกคนทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจในการฝึกซ้อมกันอย่างเต็มที่… •

 

เขย่าสนาม | เงาปีศาจ