ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | คนมองหนัง |
เผยแพร่ |
“เลเวย์” (Laufey) คือหนึ่งในศิลปินที่สร้างความประทับใจให้แก่แฟนเพลงชาวไทยเป็นอย่างสูง จากการขึ้นเวทีในเทศกาลดนตรี “ซัมเมอร์โซนิคแบงค็อก 2024” เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา
เลเวย์มีชื่อเต็มๆ ว่า “เลเวย์ หลิน ปิง โยนส์โตห์ตีร์” ปัจจุบันเธอมีอายุ 25 ปี โดยถือกำเนิดในครอบครัวที่มีพ่อเป็นชาวไอซ์แลนด์ ส่วนแม่เป็นนักไวโอลินชาวจีน เช่นเดียวกับคุณตาและคุณยายของเธอ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนไวโอลินและเปียโน นอกจากนั้น เธอยังมีพี่น้องฝาแฝดเพศหญิงที่รักดนตรีเหมือนกันชื่อ “ยูเนีย”
เลเวย์เติบโตมาในฐานะลูกครึ่งเอเชียที่มีอยู่น้อยมากในประเทศไอซ์แลนด์ เธอนิยามตนเองว่าเป็นเด็กเนิร์ดที่หลงใหลในดนตรีคลาสสิค ซึ่งเลือกกลับบ้านไปซ้อมดนตรี มากกว่าจะไปวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ
ในวัย 15 ปี เลเวย์ได้ขึ้นเวทีในฐานะมือโซโล่ “เชลโล” ร่วมกับเดอะ ไอซ์แลนด์ ซิมโฟนี ออร์เคสตรา และได้เข้าประกวดในรายการโทรทัศน์แนวเรียลลิตี้โชว์ “ไอซ์แลนด์ ก็อต ทาเลนต์” โดยผ่านเข้าไปถึงรอบไฟนอล
ตั้งแต่เด็ก (ถึงปัจจุบัน) เลเวย์นิยามตนเองว่าเป็นคนที่มีวินัยตามแบบอย่างของนักดนตรีคลาสสิค เธอไม่นิยมไปงานปาร์ตี้หรือกินดื่มสังสรรค์ แต่มุ่งมั่นฝึกฝนทักษะด้านดนตรีและแสวงหาทุนการศึกษาเพื่อจะไปเรียนต่อในต่างประเทศ
ในที่สุด เธอก็ได้รับทุนการศึกษาจากวิทยาลัยดนตรี “เบิร์กลี” ที่บอสตัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทำให้เลเวย์ได้เริ่มศึกษาดนตรีแจ๊ซอย่างจริงจัง
ศิลปินลูกครึ่งไอซ์แลนด์-จีนผู้นี้ เล่าว่าเธอได้รับแรงบันดาลใจในการทำงานเพลงเบื้องต้น มาจากแผ่นเสียงเพลงแจ๊ซของพ่อ และความรักในดนตรีคลาสสิคของแม่
เธอเริ่มเป็นที่รู้จักของสาธารณชน จากการโพสต์คลิปแสดงดนตรีลงในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะติ๊กต็อก ในช่วงล็อกดาวน์ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด
นำมาสู่การได้ออกผลงาน (ถึงตอนนี้ เธอมีสตูดิโออัลบั้มสองชุด อัลบั้มบันทึกการแสดงสดอีกหนึ่งชุด และมีซิงเกิลจำนวนมาก) ที่ได้รับความนิยมและเสียงชื่นชมในวงกว้าง
หนึ่งในข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน ก็คือการคว้ารางวัลแกรมมี่สาขา “อัลบั้มเพลงป๊อปดั้งเดิมยอดเยี่ยม” มาครอง จากอัลบั้มชุดที่สอง ซึ่งมีชื่อว่า “Bewitched”
เลเวย์ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินรุ่นใหม่ ที่ทำให้คนฟังเพลงรุ่นปัจจุบันหันมาสนใจดนตรีแจ๊ซ (ขณะที่คนฟังเพลงรุ่นเก่าก็ได้ย้อนกลับมาฟังสำเนียงดนตรีที่พวกตนคุ้นเคยจากน้ำเสียงของศิลปินรุ่นหลัง)
ผ่านงานดนตรีที่ได้รับอิทธิพลจากดนตรีคลาสสิคแจ๊ซยุค 1950 อันโดดเด่นด้วยเสียงดนตรีสนับสนุนของวงซิมโฟนีออร์เคสตรา และวิธีการเขียนเนื้อร้องในแนวทางสมัยนิยมที่มีศิลปินหญิงอย่าง “เทย์เลอร์ สวิฟต์” เป็นต้นแบบ
ต่อไปนี้ คือทัศนะบางส่วนที่เลเวย์เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับสื่อต่างๆ ซึ่งสะท้อนวิธีคิดและรสนิยมของเธอได้เป็นอย่างดี
“ดนตรีที่ฉันทำ ได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานยุคเก่าๆ แต่เนื้อหาของมันกลับมีความทันสมัยอย่างมาก ฉันไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นใครสักคนที่ควรใช้ชีวิตอยู่ในทศวรรษอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ฉันเป็นหญิงสาวของศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริง และรักที่จะใช้ชีวิตอยู่ในห้วงเวลานี้ เพราะไม่มีช่วงเวลาอื่นใด ที่เราจะสามารถเป็น ‘ผู้หญิง’ ได้มากเท่ากับยุคสมัยนี้อีกแล้ว
“ฉันยังคิดว่า ไม่มีช่วงเวลาไหนที่เราจะสามารถเป็น ‘นักดนตรี’ ได้ดีเท่ากับยุคสมัยนี้อีกด้วย เพราะคนฟังเพลงในยุคนี้นั้น (มีรสนิยม) เปิดกว้างอย่างที่ไม่เคยเป็นในยุคก่อนๆ พวกเรามีทางเลือกมากมายในการฟังดนตรีทุกประเภท
“ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่เรื่อง ‘แนวเพลง’ อีกต่อไป มันเป็นเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกมากกว่า และถึงที่สุด คนรุ่นใหม่ก็ยังต้องการฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ด้วยกัน พวกเขาไม่ต้องการจะฟังคำเทศนาสั่งสอนของคนรุ่นก่อน”
“ฉันรักที่จะได้เห็นคนดูจำนวนไม่น้อยพาพ่อแม่ของพวกเขามาดูคอนเสิร์ตของฉันด้วย แล้วพวกท่านก็ดูเหมือนจะมีความสุขกับการแสดงกันมากๆ
“เช่นเดียวกับที่ฉันได้รับข้อความทางโซเชียลมีเดียจำนวนมากจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ที่ทักทายเข้ามาประมาณว่า ‘นี่คือดนตรีแบบเดียวกับที่เราคุ้นเคย และเราก็ภูมิใจมากที่ลูกๆ ของเราหันมาฟังดนตรีแบบนี้ กระทั่งพวกเราตัดสินใจไปดูคอนเสิร์ตด้วยกัน’
“ข้อความทำนองนี้ทำให้ฉันมีความสุขมากๆ ฉันคิดว่าปัจจุบันนี้มีความแตกแยกทางเจเนอเรชั่นเกิดขึ้นเยอะ และฉันก็ต้องการที่จะนำเสนออะไรบางอย่าง ซึ่งสามารถเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนต่างรุ่น”
“เชต เบเกอร์ น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ฉันเริ่มต้นทำเพลงเอง และเริ่มเขียนเพลงของตัวเอง ฉันตกหลุมรักการตีความ (ในการสร้างสรรค์ผลงานดนตรี) ของเขาเมื่อ 2-3 ปีก่อน (สัมภาษณ์เมื่อปี 2023) แล้วก็ตามไปฟังผลงานเพลงของเขาจนครบทุกชุด
“วิธีการใช้สำบัดสำนวนของเขา วิธีการเลือกใช้ถ้อยคำของเขา รวมถึงวิธีการโซโล่ ล้วนส่งอิทธิพลอย่างสูงมาถึงการสร้างสรรค์บทเพลงในแบบของฉัน
“ฉันคิดว่านั่นเป็นเพราะเบเกอร์ทำให้ดนตรีแจ๊ซกลายเป็นสิ่งที่คนเจนซีและผู้ฟังรุ่นใหม่ๆ สามารถเข้าถึงได้ ฉันยอมรับว่าถ้าย้อนไปในตอนที่ตัวเองกำลังเรียนอยู่ที่ (วิทยาลัยดนตรี) เบิร์กลี ฉันคงรู้สึกหวาดกลัวมากที่จะพูดอะไรแบบนี้ออกมา แต่ในตอนนี้ ฉันไม่รู้สึกกลัวที่จะยืนยันถึงเรื่องนี้แล้ว
“เมื่อเพื่อนๆ ถามฉันว่า ‘ใครคือนักดนตรีแจ๊ซที่เราควรฟัง? ฉันมักตอบว่า ‘ไปฟังเชต เบเกอร์ สิ’ เพราะฉันคิดว่า นั่นคือวิถีทางที่ดีที่สุดที่จะแนะนำดนตรีแจ๊ซให้กับคนฟังกลุ่มใหม่ๆ เบเกอร์ไม่เพียงเป็นนักร้อง แต่เขายังเป็นนักดนตรี เขาเล่นดนตรีแจ๊ซเหมือนอย่างที่นักดนตรีแจ๊ซเล่นกัน” •
ข้อมูลจาก
https://variety.com/2023/music/news/laufey-interview-tour-bewitched-album-jazz-pop-1235831966/
https://www.grammy.com/news/icelandic-jazz-singer-laufey-interview-new-album-bewitched
| คนมองหนัง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022