ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | จดหมาย |
เผยแพร่ |
จดหมาย | ประจำวันที่ 30 ส.ค.- 5 ก.ย. 2567
• เหงื่อท่วม-น้ำท่วม
อาบเหงื่อต่างน้ำตรากตรำทำงาน
ร่างกาย-สังขาร ระโหยโรยแรง
ร่อยหรอ “แรงกาย” ทั่วหัวระแหง
ข้าวยากหมากแพง “แรงใจ” ถดถอย
ส่งเงินคงคลังหวังพึ่งภาษี
เส้นทางชีวิตดำเนินสะดวก
แต่รัฐกลับเห็นเป็นคนละพวก
เหมือนเป็นแมลง (ปลวก) บินเข้ากองเพลิง
“รัฐบาล” ที่เห็นและเป็นไป
ใช้เงิน (ภาษี) ปีหลายแสนล้าน
เพาะเชื้อ “ฝักถั่ว” มั่วการจัดการ
งบประมาณจึงโดนผลาญเละเทะ…
ภูมิประเทศน้ำท่วมทุกปี
วิธีแก้ไขไยไม่ทันการณ์
ฤๅระบบแห่ง “รัฐ-บริหาร”
“ฮั้วอำนาจ” จัดการกันไม่ลงรอย…
เศรษฐกิจซบเซา-เหงาเศร้าสร้อย
ผีซ้ำด้ำพลอยอุทกภัย
ทั่วแคว้นแดนดินถิ่นน้ำทั่วใหญ่
สะอื้นไห้ในอก (เปล่าเปลี่ยว) วังเวง…
สงกรานต์ บ้านป่าอักษร
เหงื่อท่วมตัว
เพื่อหาเลี้ยงชีพ
ในห้วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
อย่างเหน็ดเหนื่อยแล้ว
ชาวเหนือ (และอีกไม่นาน คงมีชาวอีสาน ชาว (ภาค) กลาง กทม. และภาคใต้ ติดตามมาอีก)
ต้องเผชิญกับภาวะ “น้ำท่วม”
แม้จะเป็นเรื่องธรรมชาติ
แต่หลายเรื่อง หากมีการบริหารจัดการให้ดี
ผลกระทบน้อย ก็อาจบรรเทาลง
แต่คนไทยส่วนใหญ่รู้สึกพึ่งพาใครไม่ได้
ได้แต่สะอื้นไห้ในอก (เปล่าเปลี่ยว) วังเวง…อย่างที่ว่า!
• น้ำตา
สืบเนื่องจากศาลนราธิวาส มีคำตัดสิน เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567
ให้รับฟ้องคดีอาญาเพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อปี 2547
จนเป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ตามคำร้องของเหยื่อและครอบครัวผู้เสียหายนั้น
ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า คำตัดสินของศาลในวันนี้นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญเพื่อคืนความยุติธรรมที่ควรเกิดขึ้นมานานแล้วสำหรับผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อการใช้กำลังจนเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่ ระหว่างการสลายการชุมนุมที่ด้านหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ
ทำให้ผู้เสียหายและครอบครัวได้ใช้เวลาเกือบ 20 ปี เพื่อรอความยุติธรรมและความรับผิดชอบจากอาชญากรรมที่โหดร้ายครั้งนี้
“ทางการไทยต้องเร่งดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลโดยทันทีและใช้มาตรการทั้งปวงที่จำเป็น เพื่อประกันไม่ให้คดีนี้ต้องหมดอายุความไป ทางการต้องรับรองให้ผู้เสียหายและครอบครัวของพวกเขาสามารถเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังต้องมีการประกาศยอมรับอย่างเป็นทางการถึงความจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งเกิดขึ้นในเหตุการณ์ตากใบ” ชนาธิปกล่าว
สำหรับข้อมูลพื้นฐาน ในกรณีนี้
เกิดขึ้นในระหว่างการชุมนุมประท้วงที่อำเภอตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547
ผู้ชุมนุมประท้วงกว่า 2,000 คนได้มารวมตัวที่ด้านหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบในจังหวัดนราธิวาส
เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชายชาวมลายูมุสลิมู 6 คน ซึ่งผู้ชุมนุมประท้วงเชื่อว่าได้ถูกทางการไทยควบคุมตัวไว้โดยพลการ
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ใช้แก๊สน้ำตา ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง และกระสุนจริงในการสลายการชุมนุม
เป็นเหตุให้ผู้ประท้วงเสียชีวิตทันที 7 คน โดย 5 คนเสียชีวิตจากการถูกยิงที่หัว
หลังการสลายการชุมนุม ได้มีการขนส่งชายชาวมลายูมุสลิมประมาณ 1,370 คนไปยังค่ายอิงคยุทธบริหารในจังหวัดปัตตานี ซึ่งอยู่ห่างไป 150 กิโลเมตร
ผลจากการถูกบังคับให้นอนทับซ้อนกันในรถบรรทุกทหาร
ทำให้มีผู้เสียชีวิต 78 คน จากการกดทับหรือการขาดอากาศหายใจระหว่างการเดินทาง
ผู้รอดชีวิตหลายคนได้รับการบาดเจ็บสาหัส และบางคนต้องพิการถาวร
หลังเกิดเหตุ มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนความจริง โดยรัฐบาลในขณะนั้น
มีการประณามการใช้กำลังจนเกินขอบเขตและการขาดความรอบคอบในการขนส่งผู้ถูกควบคุมตัว
แม้จะมีการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้เสียหาย แต่ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ซึ่งคณะกรรมการได้ระบุตัวตนไว้นั้น ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด
ทั้งนี้ เมื่อศาลตัดสินว่าคดีมีมูล รับฟ้องคดีนี้ โดยมีอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารระดับสูง 7 คนจากทั้งหมด 9 คน ถูกฟ้องในเบื้องต้น
ในข้อหาฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่น และร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว
อายุความในคดีนี้มีกำหนดสิ้นสุดลงในวันที่ 25 ตุลาคม 2567
หลังการรับฟ้องของศาลในวันนี้ จำเลยอย่างน้อย 1 คนต้องมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลเพื่อรับฟ้องก่อนที่คดีจะหมดอายุความ การพิจารณาคดีจึงจะเริ่มต้นขึ้นได้ ตามมาตรา 95 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งกำหนดอายุความของความผิดทางอาญา
ในเดือนตุลาคม 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เผยแพร่แถลงการณ์สาธารณะ เกี่ยวกับผลกระทบจากความล้มเหลวของทางการไทยในการอำนวยความยุติธรรมต่อผู้เสียหายจากการใช้ความรุนแรง เพื่อปราบปรามการประท้วงที่ตากใบและครอบครัวของพวกเขา
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
กรณีตากใบ
น้ำตาของเหยื่อและญาติพี่น้อง
ไหลหลั่งมา 20 ปี
วันนี้ ศาลประทับรับฟ้องแล้ว
แม้จะเนิ่นช้า จนเกือบสิ้นอายุความ
แต่ทุกฝ่าย ทั้งผู้กระทำและถูกกระทำ
จะได้พิสูจน์ความอาญา
ตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปอันเป็นบทเรียนสำคัญ
ที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมไทยซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีก •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022