ขอให้เชื่อมั่นระบบรัฐสภา

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

เมื่อครั้งที่อายุ 50 ต้นๆ “ทักษิณ ชินวัตร” หัวหน้าพรรคไทยรักไทยคล้ายหัวหอกของพลังก้าวหน้าในวงล้อมของการเมืองแนวโบราณ

“ทักษิณ” เป็นผู้นำทางการเมืองที่ริเริ่มนำเสนอประเด็นปัญหาตั้งแต่ระดับมหภาคถึงจุลภาคพร้อมกับออกแบบนโยบายให้เป็น “ทางออก”

ในระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองเป็นสถาบันตัวแทนและเป็นความหวังของประชาชน

พรรคไทยรักไทยผุดนโยบายเด็ดๆ ใหม่ๆ จนเกิดคำว่า “การตลาดนำการเมือง” เช่น โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ “หมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์” คิดฝันและเพียรผลักดันมานาน แต่เสนอไอเดียไปทีไร นักการเมืองหัวคร่ำครึทั้งหลายก็เอ่ยว่า “ไม่มีทางเป็นไปได้” เสียทุกที แต่ “ทักษิณ” ทำได้กลายเป็น “30 บาทรักษาทุกโรค”

หรืออย่าง “โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน” ที่มุ่งเพิ่มโอกาสทางการศึกษา สามารถส่งเด็กไปเรียนต่อในต่างประเทศก็ชุบชีวิตทางการศึกษาให้กับ “ช้างเผือก” ได้กว่า 3 คน

เมื่อผู้คนพากัน “เชื่อ” และเทคะแนนให้พรรคการเมืองที่เป็นความหวัง “ระบบรัฐสภา” ก็พึ่งพาได้

“ไทยรักไทย” มาแรงเหมือนกระแสน้ำเชี่ยวเกรี้ยวกราด กวาดเอานักวาทศิลป์ตกเวที

ในปี 2544 ไทยรักไทยได้ ส.ส. 248 ที่นั่ง จากจำนวน 500

พอปี 2548 ไทยรักไทยได้ ส.ส.ถึง 377 ที่นั่ง

หากทอดตามองไปข้างหน้าเวลานั้นก็น่าปริวิตกว่า “ไทยรักไทย” น่าจะกินยาวหลายสมัย

แต่ถ้าเชื่อมั่นศรัทธาใน “ระบบรัฐสภา” จะต้องเข้าใจหลักการพื้นฐานประชาธิปไตย

“อำนาจอธิปไตย” เป็นของปวงชน

แบ่งแยกการใช้อำนาจเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งทั้ง 3 ฝ่ายมีอิสระ ถ่วงดุล และตรวจสอบซึ่งกันและกัน และต่างก็มี “วาระ” อยู่ในอำนาจอันจำกัดว่ากี่ปี

การแพ้ชนะเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องธรรมดา!

เมื่อครบวาระก็เปลี่ยนถ่ายอำนาจกันอย่างสันติ

ไม่มีการใช้กำลัง และอาวุธโค่นล้มช่วงชิง!

 

อย่างไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเคยมีพรรคการเมืองที่ประกาศต่อสู้และจะแย่งยึดอำนาจรัฐด้วย “อาวุธ” นั่นคือ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หากในที่สุดได้พ่ายแพ้ให้แก่ “อุดมการณ์ประชาธิปไตย” ซึ่งรัฐไทยป่าวประกาศให้ทุกคนยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธ

เดินแนวทางรัฐสภา ไม่ใช้ความรุนแรง

แต่ระบบรัฐสภาจะดำรงอยู่ได้ก็ด้วย “ความเชื่อมั่นและศรัทธา”

ไม่ใช่ความศรัทธาที่เลื่อนลอยลุ่มหลงงมงาย

หากเป็น “ศรัทธา” ที่ตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดทางปรัชญา

ภายหลังจากไทยรักไทยชนะเลือกตั้งเด็ดขาด 2 ครั้งติดต่อกัน วาทกรรมต่างๆ ที่มุ่งทำลาย “ทักษิณ” ก็ถูกผลิตขึ้น ปลุกให้กลัว ยุให้เกลียด ไปจนถึงขั้นว่า “ไม่จงรักภักดี” ซึ่งยังเป็นชนักติดหลังมาถึงทุกวันนี้

ณ เวลานั้นสหบาทาทุกสายมุ่งตรง “ทักษิณ”

หลอกกันถึงขั้นว่า ถ้าหวงแหนประชาธิปไตยก็ให้ออกไปไล่ทักษิณ

การเลือกตั้งทั่วไป 2 เมษายน 2549 ที่มีผู้มาใช้สิทธิ 28.9 ล้านคน และเทคะแนนให้ “ไทยรักไทย” ท่วมท้นถึง 16 ล้านเสียง ถูกบอยคอต

ต่อมา “ศาลรัฐธรรมนูญ” ก็วินิจฉัยให้การเลือกตั้ง “โมฆะ” กลายเป็นสายชนวนลามสู่การ “ยุบพรรค” ไทยรักไทย ด้วยเหตุว่าทำให้การเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นเพียง “พิธี” ที่จะนำไปสู่การผูกขาดอำนาจทางการเมือง

ชีวิตการเมืองของ “ทักษิณ” พลิกผันตั้งแต่บัดนั้น

การเมืองไทยโหดร้าย รุกไล่กันถึงขั้นไม่ให้มี “ที่ยืน”!

 

“19 กันยายน 2549” ทหารพร้อมยุทโธปกรณ์ทำสงครามเข้ายึดอำนาจการปกครอง!

“ไทยรักไทย” เปลี่ยนโฉมเป็น “พลังประชาชน” ลงเลือกตั้งในปี 2550 ก็ชนะอีก ได้ ส.ส. 233 ที่นั่ง ส่ง “สมัคร สุนทรเวช” เป็นนายกรัฐมนตรี แต่แป๊บเดียวก็ถูกสอยลงจากเก้าอี้ พอ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ขึ้นนั่งแทน ม็อบพันธมิตรฯ ก็เข้ายึดทำเนียบรัฐบาล ทำให้นายสมชาย เป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้เข้าทำเนียบแม้แต่วันเดียว

ไม่นาน “พรรคพลังประชาชน” ก็ถูกยุบอีก!

เกิดใหม่เป็น “เพื่อไทย” ส่ง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” สู้ศึกเลือกตั้งในปี 2554 ก็ชนะขาดอีก ได้ 265 ที่นั่ง

ระบบรัฐสภากำลังจะดำเนินไปตามวิถีปกติ “กปปส.” กับนักการเมืองที่แพ้เลือกตั้งซ้ำซากก็โหมจุดไฟ ชุมนุมประท้วงปิดบ้านปิดเมืองปิดล้อมสถานราชการ จนรัฐบาล “ยุบสภา” จัดให้เลือกตั้งทั่วไปใหม่ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

เหมือนหนังที่ฉายซ้ำ “ม็อบมีเส้น” ปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง ขัดขวางผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จนในที่สุด “ศาลรัฐธรรมนูญ” ก็วินิจฉัยสั่งให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็น “โมฆะ”

และ “22 พฤษภาคม 2557” คณะรัฐประหารก็ใช้กำลังทหารและอาวุธสงครามเข้ายึดอำนาจการปกครอง!

“หัวหน้า คสช.” นั่งเป็นนายกรัฐมตรีตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2557 จนถึง 24 สิงหาคม 2565 โดยที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เสียงข้างมากวินิจฉัยว่า “ยังไม่ครบวาระ 8 ปี” ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญที่พวกเดียวกันเขียนเอาไว้เองว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่”

ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี (อดีตหัวหน้า คสช.) ที่ควรจะสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 กลับกลายเป็นทอดยาวต่อมาเป็น 9 ปี

 

ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่มีในหมู่ผู้แทนปวงชนชาวไทยซึ่ง “เชื่อมั่นและศรัทธา” ในระบบรัฐสภาที่ต่างก็ “มา” และต่างก็ต้อง “ไป” ตามวาระ

ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น

“ผู้แทนปวงชนชาวไทย” ผู้เชื่อมั่นในระบบรัฐสภามักมีอันเป็นไป “ก่อนเวลาอันควร” จากเหตุ 2 ประการ

หนึ่ง “ไป” อันเนื่องมาจากคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กับ สอง “ไป” จากเหตุที่มี “คณะบุคคล” ใช้กำลังทหารและอาวุธสงครามเข้ายึดอำนาจการปกครอง

พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญของระบอบรัฐสภา

ไม่มีประชาชนเป็นสมาชิกพรรคก็ไม่มีพรรค ไม่มีนโยบายพัฒนาประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

ยุคหลังนี้บริบททางการเมืองเปลี่ยน แม้การยุบพรรคยังเกิดขึ้นได้โดยง่ายดาย แต่ “เป้า” ก็เปลี่ยนไป

ทันทีที่ผู้เป็น “เจ้าของอำนาจอธิปไตย” แสดงเจตจำนงส่งสัญญาณไปยัง “อนาคตใหม่” และ “ก้าวไกล” ด้วยการเทคะแนนเสียงให้อย่างท่วมท้นทั้งสองครั้ง พรรคการเมืองที่ “ศรัทธาในระบบรัฐสภา” ก็ไปไม่รอด

ระบบรัฐสภากำลังถูกบั่นทอนแท้ๆ!!?!!!