ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
สิ่งที่ทุกชีวิตปรารถนาคือ “ความสุข” องค์ประกอบที่สำคัญของ “ความสุขของมนุษย์” คือ “สุขภาพ” ไม่มีใครที่อยู่กับความเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วมีความสุข
ความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศเป็นวาระใหญ่ที่ทั้งโลกลงมือเอาจริงเอาจังกับการหามาตรการรับมือมากขึ้น
หากได้ติดตามเนื้อหาการสัมมนา “PRACHACHAT ESG FORUM 2024” หัวข้อ “Time for Action #พลิกวิกฤตโลกเดือด” เมื่อเร็วๆ นี้ จะได้รับรู้ว่าประเทศไทยเราเองเลี่ยงที่จะไม่สนใจความเป็นไปของบรรยากาศโลกไม่ได้อีกแล้ว
ชัดเจนที่สุดคือข้อมูลที่รองนายกรัฐมนตรี พิชัย ชุณหวชิร เอามาแสดงให้เห็นความน่าห่วง “ประเทศไทยเราได้รับโจทย์มาว่า ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% ภายในปี 2030 หรืออีก 6 ปีจากนี้ ต้องยอมรับว่าค่อนข้างลำบาก
ขณะที่โจทย์ต่อไปคือในอีก 20 ปีข้างหน้า การปล่อยคาร์บอนและการนำเข้าจะต้องเท่ากัน เป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และให้เวลาอีก 15 ปีหลังจากนั้นไปสู่ Net Zero ในปี 2065 ไม่มีการปล่อยคาร์บอน ทุกอย่างเป็นศูนย์หมด”
ที่รองนายกฯ เตือนคือ ประเทศไทยเราต้องทำให้ได้ เพราะเมื่อไม่ได้จะกระทบต่อมาตรการกีดกันการส่งออก และส่งผลต่อแรงดึงดูดการลงทุน
แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาคือจนถึงวันยังไม่มีแนวโน้มว่าจะทำได้ ซึ่งหมายถึงจะถูกบังคับให้ต้องซื้อคาร์บอนเครดิตซึ่งจะทำให้ต้นทุนอุตสาหกรรมสูงขึ้น ไม่มีใครอยากลงทุนในประเทศที่ต้นทุนสูง
การจัดการเรื่องอากาศของประเทศส่งผลต่อการบริหารเศรษฐกิจก็เรื่องหนึ่ง
แต่ที่กระทบต่อความสุขของชีวิต คือมลภาวะที่เป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพ ก่อนหน้าที่ในช่วงฤดูร้อน ประเทศเราพูดถึงปัญหา PM 2.5 กันมาก โดยเฉพาะการก่อให้เกิดโรคต่างๆ ต่อประชาชน แต่พอเข้าสู่ฤดูฝน ทุกคนเหมือนลืมไปเสียแล้วว่าปัญหามลภาวะทางอากาศนี้เวียนมาให้ชีวิตผู้คนต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยโดยไม่รู้จะหลีกเลี่ยงอย่างไรอยู่ทุกปี
รายงานล่าสุดของ “สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” เรื่อง “ภาวะสังคมไทย ไตรมาสสอง ปี 2567” ระบุว่าจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ร้อยละ 72.1 จาก 117,925 ราย เป็น 202,876 ราย สูงสุด 2 อันดับแรกเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคปอดอักเสบ โดยไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น 3.8 เท่าจากปีก่อน จากวันที่ 1 มกราคม-1 สิงหาคม 2567 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 290,396 ราย มีกรณีเสียชีวิต 20 ราย
ส่วนโรคหอบหืด จากข้อมูล Health Data Center ของกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ พ.ศ.2567 (1 ตุลาคม 2566-1 สิงหาคม 2567) คนไทยป่วยด้วยโรคหอบหืด 555,651 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีผู้ป่วย 452,331 ราย และมีผู้ป่วยที่มีอาการโรคหอบหืดกำเริบเฉียบพลันต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น
ความใส่ใจต่อการสุขภาพของผู้รับผิดชอบดูจะจัดลำดับความสำคัญที่การรักษา มากกว่าการป้องไม่ให้เจ็บป่วย จะเห็นได้จากที่รัฐบาลพยายามโชว์เป็นผลงานมากกว่าคือ “30 บาทรักษาทุกที่” เพื่อตอกย้ำผลงานสร้างชื่อในอดีต “30 บาทรักษาทุกโรค” ให้ประชาชนนึกถึง ทั้งที่ในเรื่องสุขภาพดีที่แท้จริงควรเป็นป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยมากกว่า
แต่การดำเนินนโยบายที่จะดูแลต้นทางของสุขภาพนั้น กลับไม่ค่อยได้ยินเท่าไรนัก อาจจะมีพูดถึงบ้างแต่จับไม่ได้ถึงความจริงจังในการลงมือให้เกิดมาตรการในทางปฏิบัติ
ทั้งที่ในรายงานภาวะสังคมไทยฉบับนี้ ชัดเจนว่า “ความเคลื่อนไหวทางสังคม” เมื่อแบ่งเป็นปัญหาด้านต่างๆ คือ การจ้างงานการว่างงานลดลง 0.4 หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น 2.5% การเจ็บป่วย ด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น 72.1% การบริโภคเหล้า-บุหรี่ เพิ่มขึ้น 1.0% คดีอาญา เพิ่มขึ้น 26% อุบัติเหตุบนถนนเพิ่มขึ้น 0.6% ปัญหาการคุ้มครองบริโภคลดลง 25.6%
ปัญหาสุขภาพเพิ่มมากสุด โดยอีกโรคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องคือ “โรคหลอดเลือดในสมอง”
จากข้อมูล Health Data Center ชุดเดียวกัน พบว่า คนไทยป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง 355,213 ราย เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่มีผู้ป่วย 350,934 ราย และจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 47,275 ราย เพิ่มขึ้นมากสุดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563-2566) สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 (1 ตุลาคม 2566-1 สิงหาคม 2567) พบผู้เสียชีวิตแล้ว 35,116 ราย ซึ่งในกลุ่มอายุ 18-39 ปี มีจำนวนผู้ป่วยขยายตัว เพิ่มขึ้นมากที่สุด
เป็นอีกเรื่องที่สะท้อนถึงผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของโลก ต่อความสุขของคนไทย ที่สอดคล้องกับความเป็นไปของโลกที่ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั่วโลกมากกว่า 101 ล้านราย เสียชีวิตประมาณ 6.5 ล้านรายต่อปี
เมื่อความเจ็บป่วยคือสาเหตุที่ทำลายความสุขของผู้คนมากที่สุด แต่กลับเป็นภาวะที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด จึงต้องตั้งคำถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องทำให้รัฐบาลมีคำตอบว่าจะรับมือกับสถานการณ์ที่เอื้อให้ความป่วยไข้เพิ่มขึ้นมากมายนี้อย่างไร
มากกว่าปล่อยให้เอาแต่รอแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งผู้คนเดือดเนื้อร้อนใจ จนถึงต้องล้มหายตายจากกันไปแล้ว
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022