ชวนอ่าน ‘โพธิจรรยาวตาร’ วิถีชีวิตของโพธิสัตว์ รากฐาน มหายาน-วัชรยาน

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

“เพื่อประโยชน์ของสัตว์โลก ข้าฯ ได้ทำให้ร่างกายนี้ปราศจากความยินดี ขอให้พวกเขาทุบตี ดูหมิ่นเหยียดหยาม และห่อหุ้มร่างนี้ด้วยสิ่งปฏิกูล

ขอให้ผู้ที่กล่าวหาข้าฯ อย่างผิดๆ ผู้ที่ทำร้ายข้าฯ และผู้ที่เย้ยหยันข้าฯ จงเป็นผู้ร่วมเดินทางไปสู่การตรัสรู้

ขอให้ข้าฯ เป็นผู้ปกป้องแก่ผู้ที่ไม่มีใครปกป้อง เป็นผู้นำทางแก่คนเดินทาง เป็นเรือเล็ก เป็นสะพาน กับเป็นเรือใหญ่แก่ผู้ปรารถนาจะข้ามฝั่ง…”

พวกเราจำนวนหนึ่งในสังฆะวัชรปัญญา เมื่อปรารถนาจะฝึกตนบนเส้นทางมหายานแล้ว ก็จะต้องสวดบทภาวนาข้างต้นรวมไปถึงบทอื่นๆใน “พิธีรับศีลโพธิสัตว์” ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของพิธีรับศีลในสายปฏิบัตินี้

ขณะที่สวด หลายคนอาจน้ำตาไหล เปี่ยมไปด้วยความบันดาลใจ ซาบซึ้งกับความหมาย ผมเห็นว่าเป็นบทภาวนาที่ดีงามจึงมักนำไปสวดภาวนาร่วมกันในโอกาสพิเศษที่สถานภาวนา “อวโลกิตะ” อยู่บ่อยๆ

บทภาวนาดังกล่าวมาจากงานนิพนธ์ชื่อว่า “โพธิจรรยาวตาร” (โพธิจรฺยาวตารมฺ) หรือ “โพธิสัตตวจรรยาวตาร” ของพระอาจารย์ศานติเทวะ (สำนวนแปลข้างต้นเป็นของศาสตราจารย์โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์) หมายถึง จริยาหรือชีวิตของพระโพธิสัตว์

 

โพธิจรรยาวตารนี้ แม้จะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักหรือแพร่หลายในบ้านเรามากนัก แต่เป็นปกรณ์สำคัญมากในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน-วัชรยาน โดยเฉพาะในทิเบต

ถึงกับกล่าวกันว่าเป็นรากฐานของคำสอนฝ่ายวัชรยานซึ่งตั้งอยู่บนหลักปรัชญาและอุดมการณ์แบบมหายานนั่นเอง

องค์ทะไลลามะก็ตรัสถึงงานชิ้นนี้อยู่บ่อยครั้ง ทั้งในบทเทศนา ในหนังสือ และแม้แต่คำภาวนาที่มีชื่อเสียงของพระองค์ที่มักปรากฏอยู่ท้ายบทพระนิพนธ์ “ตราบเท่าที่อากาศธาตุยังดำรงอยู่ ตราบเท่าที่โลกนี้ยังอยู่ ก็ขอให้ข้าฯ ดำรงอยู่เพื่อขจัดความทุกข์ในโลกนี้” ก็มาจากโพธิจรรยาวตารนี่เอง

ในห้วงที่พุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานเป็นที่รู้จักในสังคมไทยมาพอสมควรแล้ว ผมจึงอยากจะขอใช้พื้นที่บทความแนะนำคัมภีร์ฉบับนี้สักหน่อย เพราะอาจถูกมองข้ามไปหรือผู้ซึ่งกำลังปฏิบัติวัชรยานอาจไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปฏิบัติพุทธธรรมในยานไหน ผมก็คิดว่าโพธิจรรยาวตารเป็นคัมภีร์ที่ควรศึกษา เพราะนอกจากความไพเราะงดงามแห่งภาษาแล้ว ก็ได้สรุปแก่นพุทธธรรมไว้โดยครบถ้วน และอาจช่วยให้ผู้ปฏิบัติในฝ่ายหีนยานกว้างขวางขึ้น ผู้ปฏิบัติมหายานหนักแน่นมั่นคงในอุดมการณ์ ผู้ปฏิบัติในวัชรยานไม่หลงลืมโพธิจิตอันเป็นสิ่งย้ำเตือนว่าการปฏิบัติมีไว้เพื่อสิ่งใด

ท่านศานติเทวะ

คัมภีร์เล่มนี้ประพันธ์โดยพระอาจารย์ท่านศานติเทวะ ท่านผู้นี้มีชีวิตอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่เจ็ด ตามตำนานเล่าว่า ตัวท่านเป็นราชนิกุล ได้รับการศึกษาอย่างดีก่อนจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ

ท่านได้เข้าเป็นนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยนาลันทาอันยิ่งใหญ่ พระอาจารย์ศานติเทวะใช้เวลาในการศึกษาปริยัติและปฏิบัติธรรมโดยลำพัง ท่านมีความผูกพันกับพระโพธิสัตว์มัญชุศรีเป็นพิเศษ ตัวท่านได้ประพันธ์คัมภีร์โพธิจรรยาวตารอย่างเงียบๆ โดยไม่มีผู้ใดล่วงรู้ ภายนอกจึงดูเหมือนคนโง่เง่าไม่เอาไหน

เพื่อนๆ พระนักศึกษาด้วยกันพากันนึกว่าท่านเป็นคนเกียจคร้านในการเรียน ไม่ทำสิ่งใดเลยนอกจาก กิน นอน และขับถ่าย

และเหตุว่านาลันทามีธรรมเนียมให้พระนักศึกษาหมุนเวียนกันแสดงธรรมต่อที่ชุมนุมเพื่อจะแสดงภูมิรู้ให้ปรากฏ เพื่อนๆ พระประสงค์จะประจานศานติเทวะต่อสาธารณชน จึงขอให้ท่านแสดงธรรม

ศานติเทวะถามเพียงว่า ต้องการให้แสดงธรรมซึ่งมีผู้เคยแสดงไว้แล้ว หรือจะเป็นการแสดงธรรมซึ่งไม่มีผู้ใดเคยแสดงมาก่อน แน่นอนว่าบรรดาพระเลือกอย่างหลัง

ในวันแสดงธรรม ท่านได้เทศนาโพธิจรรยาวตารที่ท่านประพันธ์ไว้เอง พระภิกษุและผู้ชุมนุมในที่นั้นต่างพากันตกตะลึงกับความไพเราะและเนื้อหาที่ลึกซึ้ง ไม่คิดว่าพระที่ภายนอกดูเกียจคร้านโง่เง่าจะมีภูมิธรรมอันลึกซึ้งถึงเพียงนี้

เมื่อท่านเทศน์ไปเรื่อยๆ ตัวพระอาจารย์ศานติเทวะก็ลอยขึ้นจากที่ประชุมนั้นจนหายลับไป เหลือเพียงแต่เสียงดังก้องอยู่จนจบธรรมเทศนา

ว่ากันว่า จากนั้นท่านไปปรากฏอยู่อีกเมืองหนึ่ง ได้ลาสิกขาประพฤติตนเป็นโยคินเร่ร่อน ประกอบกรณียกิจเพื่อสรรพสัตว์ต่อไปอีกยาวนาน

หนังสือ “โพธิสัตตวจรรยาวตาร” สำนวนแปลโดย รศ. ดร. ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์

เนื้อความในโพธิจรรยาวตารแบ่งออกเป็นสิบบท (บริเฉท) ว่าด้วย อานิสงส์ของโพธิจิต, การสารภาพบาป, อธิษฐานโพธิจิต, ปฏิบัติโพธิจิต, ระวังรักษาจิต บทต่อไปว่าด้วยการบำเพ็ญบารมีของโพธิสัตว์ไปทีละบท อันได้แก่ ขันติบารมี วิริยบารมี ฌานบารมี ปัญญาบารมี และจบด้วยการอุทิศกุศล

ต้นฉบับเดิมของโพธิจรรยาวตารเป็นภาษาสันสกฤตและยังคงตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน คัมภีร์นี้ได้รับการแปลเป็นภาษาทิเบตมายาวนานและเป็นวรรณกรรมพุทธศาสนาชิ้นแรกๆ ที่แปลเข้าสู่ภาษามองโกเลียตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 ส่วนในภาษาอังกฤษนั้นมีการตรวจชำระมาตั้งแต่ราว ค.ศ.1901 และได้รับการแปลออกไปหลายสำนวน

เป็นที่น่าเสียดายว่า คัมภีร์สำคัญเล่มนี้ไม่ปรากฏว่าเป็นปกรณ์สำคัญในมหายานฝ่ายจีน ผิดจากบรรดาพระสูตรสันสกฤตทั้งหลายที่ได้รับการแปลเข้าในภาษาจีนมาแต่โบราณ

ส่วนในพากย์ไทยมีสามสำนวน ฉบับแรกเป็นการแปลโดยท่านภิกษุณีธัมมนันทา (รองศาสตราจารย์ ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์) ในขณะที่ท่านยังเป็นฆราวาส ในชื่อ “โพธิสัตตวจรรยาวตาร” ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2530

อีกฉบับชื่อ “โพธิจรรยาวตาร” แปลโดยศาสตราจารย์โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ซึ่งใช้ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษจากการเทียบเคียงทั้งต้นฉบับสันสกฤตและทิเบต ตีพิมพ์โดยมูลนิธิพันดาราในปี พ.ศ.2550 และมีบทนำที่ช่วยให้เข้าใจตัวบทยิ่งขึ้น

ส่วนอีกสำนวนหนึ่งนั้น เป็นการแปลจากต้นฉบับภาษาสันสกฤต เผยแพร่ในเว็บไซต์ https://blog.thai-sanscript.com/ (เป็นเว็บไซต์ที่รวมคัมภีร์และบทสวดต่างๆ ในฝ่ายมหายานจากภาษาสันสกฤตแปลไทย รวมถึงบทความต่างๆ ที่น่าสนใจมากๆ ผมขออนุโมทนาในวิทยาทานกุศลนี้ด้วย)

 

ทั้งนี้ แม้ส่วนใหญ่เนื้อความในโพธิจรรยาวตารจะเน้นเรื่องการบำเพ็ญบารมีและการดำเนินชีวิตของโพธิสัตว์ อันผู้ปรารถนาจะบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณพึงดำเนินตาม

แต่ก็ตั้งอยู่บนรากฐานของปรัชญาสำนักมาธยมิกะของท่านนาคารชุน ซึ่งเน้นหนักในเรื่อง “ศูนยตา” หรือความว่าง อันเป็นคำสอนหัวใจหลักในฝ่ายมหายาน

โดยเฉพาะในบริเฉทที่ว่าด้วย “ปัญญาบารมี” (ปรัชญาปารมิตา) ซึ่งมีเนื้อหาที่ค่อนข้างยาก แสดงการโต้แย้งระหว่างแนวคิดของมาธยมิกะกับสำนักคิดอื่นๆ การพูดถึงความจริงทั้งในระดับสมมุติสัจกับปรมัตถสัจ รวมทั้งทฤษฎีมายาในฝ่ายมาธยมิกะด้วย

กระนั้นผมคิดว่าส่วนนี้อาจต้องค่อยๆ ใช้เวลาละเลียดสำหรับผู้ยังไม่คุ้นชิน แต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินไป

มิตรรักของผมเคยบอกว่า ที่จริงปัญญานั้นไม่ใช่การด่วนสรุป การหลีกหนีหรือความว่องไวในการหยิบฉวยคำอธิบาย

แต่หากเรารู้สึกว่ามีสิ่งใดที่เรายังไม่เข้าใจหรือไม่รู้ ก็เพียงแค่ไม่รีบสรุปหรือละทิ้ง แต่ยังคงรักษาความตั้งใจที่จะแสวงหาคำตอบหรือความเข้าใจไปเรื่อยๆ บางเรื่องเราจะเข้าใจได้ไม่เพียงการใช้ความฉลาดรู้คิด ก็อาจต้อง “ทำงาน” หรือภาวนาไปด้วย ความเข้าใจจึงอาจเกิดขึ้น

บางประโยคในโพธิจรรยาวตารก็มีชื่อเสียงมาก ฝรั่งมักนำไปกล่าวถึงบ่อยๆ แต่เราก็มิทราบว่ามาจากคัมภีร์นี้ เช่น

“เราจะหาหนังผืนใหญ่มากพอจะคลุมโลกทั้งใบได้อย่างไร โลกทั้งใบถูกคลุมได้ด้วยหนังที่รองเท้าของข้าฯ เท่านั้น เช่นเดียวกันข้าฯ ไม่สามารถห้ามปรามสิ่งที่เกิดขึ้นภายนอกได้ แต่ข้าฯ จะห้ามปรามจิตตนเอง”

“ความทุกข์ทั้งปวงในโลก มีเหตุจากความปรารถนาสุขของตนเอง

ความสุขทั้งปวงในโลก มีเหตุจากความปรารถนาสุขของผู้อื่น”

 

ผมไม่อยากให้เข้าใจไปว่า โพธิจรรยาวตารจะสอนอะไรสไตล์ “ไลฟ์โค้ช” เพียงเพราะผมนำข้อความเหล่านี้มาเสนอ และไม่อยากให้ผู้อ่านฉวยจับอะไรสวยๆ มาเป็นคติคำคมด้วย จำต้องอ่านไปตลอดทั้งเล่มจึงจะเข้าใจความหมายที่เชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง ที่จริงเนื้อหาในโพธิจรรยาวตารนั้นเข้มข้นมากทีเดียว หลายอย่างท่านศานติเทวะตอกเราแรงๆ บางครั้งก็ทำให้ต้องทบทวนอะไรในเส้นทางที่ดำเนินอยู่

อีกสิ่งที่ผมชอบเกี่ยวกับคัมภีร์เล่มนี้ คือมีมิติด้านอารมณ์ความรู้สึกเป็นอย่างมาก หากคุ้นชินกับแนวคิดเรื่องโพธิสัตวมรรคก็ย่อมจะเกิดความซาบซึ้งดื่มด่ำ ถึงขนาดน้ำตาซึมเลยทีเดียว แม้ไม่คุ้นชินก็จะเริ่มเห็นอะไรที่งดงามในทางธรรมซึ่งแสดงออกโดยวรรณศิลป์ที่ยอดเยี่ยม

สรุปคือ อยากแนะนำให้อ่านครับ ฉบับไหนสำนวนไหนก็ได้ ส่วนสำนักพิมพ์ไหนอยากจะพิมพ์ซ้ำเพราะหายจากบรรณพิภพไปนานแล้ว

ก็ขออนุโมทนาล่วงหน้า •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง