ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ศัลยา ประชาชาติ |
เผยแพร่ |
เพียงแค่คืนเดียว อาจทำให้ประเทศเปลี่ยนได้ทันที เมื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ฉายวิสัยทัศน์ประเทศไทย ในงาน VISION FOR THAILAND ที่จัดโดยเครือเนชั่น
สาระสำคัญของเรื่องไม่ได้อยู่ที่เจ้าสัวทั่วฟ้าเมืองไทย ข้าราชการ นักการเมืองไปรวมตัวในงานนั้น แต่เป็น direction ของประเทศภายใต้รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร นายกฯ คนที่ 31
นโยบายเรือธง อย่างโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ถูกแจกแจงอย่างละเอียด เม็ดเงิน 1.22 แสนล้าน ผ่านงบฯ กลางปี 2567 จะถูกนำมาแจกเป็นเงินสดให้กับกลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้พิการ 28 ล้านคน ในเดือนกันยายน เป็น “เงินสด” จากนั้นจึงให้กับกลุ่มที่ลงทะเบียนในเดือนตุลาคมที่อยู่ในแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ”
กลายเป็น “ทักษิณ” ที่ทลายกำแพงความคลุมเครือ ได้แบบครบถ้วนกระบวนความ
อีกทั้งยังฉายภาพนโยบายที่ภาคเอกชนขานรับทันที ทั้งนโยบาย Entertainment Complex นโยบายให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี ผ่านกรมธนารักษ์
ซึ่งปรากฏว่าได้รับการขานรับเชิงบวกเป็นอย่างดี
“อิสระ บุญยัง” ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบ และก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้าน กล่าวถึงโครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่จะสร้างในกรุงเทพฯ ลงทุน 1 แสนล้านบาท และต่างจังหวัด ลงทุน 5 หมื่นล้านบาท
โดยแต่ละแห่งมีกาสิโนเพียง 10% อีก 90% เป็นสวนสนุกของเด็ก คอนเสิร์ตฮอลล์ สนามกีฬาหรือพื้นที่อื่นๆ โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับโครงการนี้ เนื่องจากเป็นการจูงใจนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา และยังเป็นการนำธุรกิจใต้ดินมาอยู่บนดิน ทำให้รัฐมีรายได้มากขึ้น ซึ่งในต่างประเทศก็มีการพัฒนาหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ เป็นต้น
“นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยที่จะปรับการแจกเงินดิจิทัลในเฟสแรก เป็นแจกเงินสดคนละ 10,000 บาทในเดือนกันยายนนี้ เพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนเฝ้ารอ และทำให้ได้เงินเร็วขึ้น ส่วนเฟส 2 และเฟส 3 จะทำอย่างไรต่อไปนั้น ทางรัฐบาลก็ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจและชัดเจน เกี่ยวกับระบบต่างๆ ที่จะทำต่อจากนี้”
ขณะที่ “อธิป พีชานนท์” นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้าน กล่าวว่า ไอเดียการให้ต่างชาติเช่าที่ดินได้ 99 ปี โดยผ่านกรมธนารักษ์นั้น ถือเป็นแนวคิดที่ดี เนื่องจากไม่ต้องถูกครหาว่าขายชาติ เพราะเป็นการเช่าระยะยาว ไม่ได้เป็นการขายที่ดินให้กับต่างชาติอย่างที่หลายคนมีความกังวล
อย่างไรก็ตาม การเดินหน้าก็ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกอย่างถูกต้องและเดินหน้าได้ ทั้งนี้ คาดว่าการเดินหน้าคงต้องใช้เวลาในการดำเนินการอย่างน้อย 1 ปี แต่ถือว่าเป็นการเริ่มต้นว่ามีแนวทางจะไปยังไงต่อ
ขณะเดียวกัน ยังมีอีกหลายนโยบายสวัสดิการ และโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่ “ทักษิณ” ฉายภาพในวันนั้น และภาครัฐตอบสนองทันที อาทิ
รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ที่คาดว่าใช้งบประมาณ 40,000-80,000 ล้านบาทต่อปี ที่ “ทักษิณ” ระบุว่า ยืนยันว่ายังคงเดินหน้านโยบายดังกล่าว แต่อาจจะต้องเวนคืนรถไฟฟ้าที่เอกชนบริหาร กลับมาเป็นของรัฐ และจ้างเอกชนมาบริหาร จัดตั้งกองทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และอาจต้องคิดถึงเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้รถยนต์เข้าในตัวเมือง
ซึ่งสอดคล้องนโยบายของ “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกฯ และ รมว.คลัง ที่บอกว่า เงินที่จะเข้าเป็นรายได้ของกองทุนดังกล่าว อาจจะต้องเก็บจากผู้ที่ต้องการนำรถยนต์วิ่งเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วย เช่น อาจจะเก็บค่าธรรมเนียมคันละ 10-15 บาท เป็นต้น ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนหันไปใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น และน่าจะทำให้กองทุนมีเงินเพียงพอสำหรับนำไปบริหารจัดการค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้สามารถคิดค่าโดยสารในอัตรา 20-25 บาทได้
ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมว่า สำหรับโครงการที่จะนำมาดำเนินการนั้น น่าจะเป็นในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้รับสัมปทาน สายสีเขียวสายหลัก สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) มีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เป็นผู้รับสัมปทาน
รถไฟฟ้าสายสีเขียวน่าจะดำเนินการง่าย เพราะสัมปทานยังเหลือประมาณ 5 ปี ส่วนสายสีเหลืองและสายสีชมพูเพิ่งเปิดบริการ การคำนวณมูลค่าจะง่ายเช่นกัน ดูจากมูลค่าที่เอกชนร่วมลงทุน แต่ที่น่าจะยากคือสายสีน้ำเงิน เพราะสัมปทานกว่าจะหมดปี 2592
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลาย vision ของทักษิณ ที่อาจจะกลายเป็นเมกะโปรเจ็กต์แสนล้านของรัฐบาลแพทองธาร เพราะอยู่ในแผนนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ได้แจ้งต่อ กกต.ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 เช่น
โครงการถมทะเลบางขุนเทียน-ปากน้ำ ที่ “ทักษิณ” ระบุว่า เป็นการสร้างเมืองใหม่ที่เป็นเมืองสีเขียว เพื่อขยายพื้นที่ลดความแออัดของ กทม. ให้เฉพาะรถไฟฟ้าวิ่งเท่านั้น มีรถไฟเชื่อมและมีการป้องกันไม่ให้น้ำท่วม กทม.
ซึ่งนโยบายดังกล่าวอยู่ในแพ็กเกจ บริหารจัดการน้ำ ไม่ท่วม-ไม่แล้ง ทั่วประเทศ ใช้งบประมาณ 500,000 ล้านบาท
แพทองธาร ได้กล่าวไว้ในงานประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทยถึงนโยบายพลิกฟื้นประเทศ 2570 เมื่อ 6 ธันวาคม 2565 หลายเดือนก่อนการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566
“รัฐบาลพรรคเพื่อไทยป้องกันน้ำทะเลหนุนไม่ให้ท่วมกรุงเทพฯ ด้วยการถมทะเลด้านบางขุนเทียนจนถึงสมุทรปราการ สมุทรสาคร และเกิดแผ่นดินงอกจำนวนมาก ซึ่งนอกจากป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้แล้ว ยังลดความแออัดของกรุงเทพฯ ที่สำคัญคือ ยังสามารถเอาที่ดินงอกนี้มาทำเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เป็นศูนย์กลางของนวัตกรรมดึงดูดรายได้จากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทย”
ยังมีนโยบายการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก ใช้งบฯ 2,000 ล้านบาท โดย “ทักษิณ” ให้คนศึกษาโมเดลของดูไบ และสิงคโปร์ เพื่อเชิญให้ธนาคารทั่วโลกมาตั้งอยู่ในประเทศไทย เพื่อทำธุรกรรมกับต่างประเทศ
ซึ่งในแผนนโยบายส่งเสริม Blockchain Hub และ Fintech center ของอาเซียน ของพรรคเพื่อไทย คาดว่าใช้งบฯ 2,000 ล้านบาท มีเป้าหมายจับโอกาสของโลกการเงินยุคใหม่ใส่มือประชาชน และเปลี่ยนโอกาสเหล่านั้นเป็นเงิน สร้างระบบการระดมทุนผ่านเทคโนโลยี Blockchain เพื่อการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลให้ไทยเป็นผู้นำอาเซียน
พัฒนา Central Bank Digital Currency (CBDC) เพื่อรองรับระบบการเงินใหม่ของโลก ช่วงชิงโอกาสศูนย์กลางทางการเงินยุคใหม่จากสิงคโปร์ และภูมิภาค
รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงก็ต้องทำให้เสร็จจาก กทม.ถึงหนองคายในปีหน้า เพื่อเชื่อมกับโครงการ one belt one road โดยปีหน้าครบความสัมพันธ์ไทย-จีน 50 ปี จะเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งเราก็ต้องมีการทำโครงการนี้ให้เสร็จเพื่อส่งคนและสินค้าที่เชื่อมกันในหลายมิติ รวมทั้งภาคการขนส่ง
สอดรับกับแผนนโยบายเพื่อไทย ที่มีนโยบายรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ วงเงินที่ต้องใช้ 80,000 ล้านบาทต่อปี (10 ปี)
vision ทักษิณ จะเดินสุดแค่ไหน ขึ้นอยู่ที่รัฐบาลแพทองธารจะวางนโยบายและเดินตามวิสัยทัศน์เหล่านั้นได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องติดตามกันต่อไปตลอดอายุ 3 ปีของรัฐบาล
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022