ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เปลี่ยนผ่าน |
เผยแพร่ |
เปลี่ยนผ่าน | ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี
‘มุนินทร์ พงศาปาน’
ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมี ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’
หมายเหตุ “ใบตองแห้ง-อธึกกิต แสวงสุข” สนทนากับ “รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน” คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ในรายการ “ประชาธิปไตยสองสี” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญของการพูดคุย คือการถกเถียงกันว่าประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญอยู่หรือไม่?
: เรายังจำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญอยู่หรือไม่? ในประเทศต่างๆ เขามีศาลรัฐธรรมนูญใช่ไหมครับ แต่ว่าศาลรัฐธรรมนูญของเขามีบทบาทที่แตกต่าง (จากศาลรัฐธรรมนูญไทย) และน้อยกว่านี้เยอะมาก
เวลาร่างรัฐธรรมนูญสองฉบับหลัง ก็ร่างหลังจากที่มีปฏิวัติรัฐประหารทั้งนั้นเลย เขา (ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ) ร่างโดยแปะป้ายตลอดว่าเรื่องนี้ มาตรานี้ เอามาจากประเทศนั้น ประเทศนี้
คือมันเอามาสองแบบ หนึ่ง เอาเฉพาะบางส่วนที่ตัวเองอยากได้มา ไม่ได้เอามาทั้งระบบ สอง ต่อให้เอาบางระบบมา กฎหมายเวลาที่มันทำงาน มันก็ยึดโยงอยู่กับเรื่องอื่นๆ เรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่เป็นตัวคุมการใช้-ตีความกฎหมายนั้น ซึ่งมันเป็นอีกแบบ (บริบท) หนึ่ง
ของเรา ที่เราเลือกมาบางชิ้นบางส่วนในรัฐธรรมนูญปี 2560 มันฟังดูดีมากเวลาบอกว่า เอาระบบร้องทุกข์ทางรัฐธรรมนูญแบบเยอรมนีมา เป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ใครเดือดร้อนอะไรก็มายื่นโดยตรงต่อศาล (รัฐธรรมนูญ) เลย
เครื่องมือนั้นมันอยู่ในบริบทเยอรมนี มีองค์กร มีวัฒนธรรม ที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่พยายามตีความขยายอำนาจ (ของตัวเอง) ไม่ใช้อำนาจในการยุบพรรค เพราะมีศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปคอยคุม เพราะมันมีหลักการนิติรัฐ หลักการสิทธิมนุษยชนที่เข้มแข็ง เพราะฉะนั้น เขาจะไม่ตีความขยายอำนาจ จนกระทั่งก้าวล่วงเข้าไปในพรมแดนอื่นๆ อย่างง่ายดาย
ศาลรัฐธรรมนูญ (ของเรา) กลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือที่ใช้ในการด้อยค่าหรือลดทอนความสำคัญของเจ้าของอำนาจอธิปไตย ก็คือประชาชน
ไม่ต้องไปเทียบกับเยอรมนีหรือชาติอื่นก็ได้ เราย้อนกลับไปดูประเทศเราเองก่อนมีรัฐธรรมนูญปี 2540 การเมืองเราอาจจะแย่ ช่วงนั้น คนอาจรู้สึกว่านักการเมืองแย่งชิงอำนาจกัน ทะเลาะกันอยู่เรื่อย แต่ถามว่ามันแย่เท่ากับตอนนี้ไหม? มันไม่ขนาดนี้เลย
ตอนนั้น เราไม่มีองค์กรอิสระเยอะขนาดนี้ ไม่มีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป ถ้าพูดเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญก็มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็รักษารัฐธรรมนูญได้ เราไม่ได้มีวิกฤตรัฐธรรมนูญเหมือนกับตอนนี้
ในช่วงเวลาไม่นานมานี้ ผมเริ่มเปลี่ยนความคิดแล้วเหมือนกัน เพราะเคยคิดว่าวิธีการแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง ถ้ามีโอกาสร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ ก็คือเอารัฐธรรมนูญปี 2540 มาประกาศใช้ แต่เอาเข้าจริงๆ ต้นเหตุมันมาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 นั่นแหละ ที่ไปสร้างองค์กรอิสระ
แต่แน่นอน องค์กรอิสระตอนนั้นขอบเขตอำนาจก็ระดับหนึ่ง แต่มันเป็นที่มาหรือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ต่อมา คนก็ค่อยๆ ขยายอำนาจขององค์กรอิสระทั้งหลาย โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ให้กว้างขวางมากขึ้น
ผมเริ่มคิดว่า เราควรจะกลับไปอยู่ในจุดก่อนปี 2540 ที่ระบบรัฐสภามันใหญ่จริงๆ รัฐสภาก็คือประชาชน ประชาชนเป็นใหญ่จริงๆ เสียงของประชาชนมีคุณค่ามีความสำคัญจริงๆ ในรัฐสภา แล้วทำให้องค์กรอิสระมีน้อยที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญจะมีหรือไม่มีก็ได้ อาจจะไม่ได้สำคัญมาก สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ อำนาจ (ของศาลรัฐธรรมนูญ) มีแค่ไหน?
โดยส่วนตัว ผมอยากให้ (ศาลรัฐธรรมนูญ) มีอำนาจจำกัดที่สุด คือไปมีอำนาจแค่เรื่องวินิจฉัยกฎหมาย แต่ก็ไม่อยากให้มีอำนาจในการคว่ำกฎหมายเป็นโมฆะ กำลังคิดถึงแค่ว่ามีอำนาจในการแนะนำหรืออำนาจในการชะลอร่างกฎหมาย คือให้รัฐบาลไปแก้ มากกว่าทำให้มันตกไป
หรือถ้าจะให้ (อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการคว่ำกฎหมาย) ก็ควรกำหนดเงื่อนไขให้ประกาศว่าเป็นโมฆะได้ ในกฎหมายประเภทไหน ในเงื่อนไขไหนเท่านั้น คือจำกัดอำนาจให้เหลือน้อยที่สุด
ถ้ายังมีอำนาจเรื่องอื่นในทางรัฐธรรมนูญ เช่น คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ก็ให้มีอำนาจในการให้คำแนะนำมากกว่า เราอาจจะไม่ได้เรียกว่าเป็น “ศาล” แล้ว อาจจะกลายเป็น “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” เหมือนสมัยก่อนก็ได้
โดยส่วนตัว ผมไม่อยากให้มี (ศาลรัฐธรรมนูญ) แล้ว คืออยากให้องค์กรอื่นๆ ทำหน้าที่แทนในบางเรื่อง แล้วเรื่องสำคัญจริงๆ ที่นานๆ เกิดขื้นทีในการตีความรัฐธรรมนูญ ก็ตั้งเป็น “คณะตุลาการเฉพาะกิจ” ขึ้นมา
คุณจะเอาศาสตราจารย์ที่เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ อาจารย์วรเจตน์ (ภาคีรัตน์) มาเป็นหนึ่งในคณะตุลาการเป็นครั้งคราวก็ได้ หรือตัวแทนจากศาลปกครองสูงสุด ศาลฎีกา และผู้เชี่ยวชาญต่างๆ มารวมกันเป็นคณะตุลาการเฉพาะกิจ
ส่วนบางเรื่อง ก็ให้องค์กรอื่นๆ เป็นคนชี้ขาดได้ ทุกวันนี้ ถ้าไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ ถามว่าเรื่องที่ชี้ขาดไปศาลปกครองสูงสุดได้ไหม? ก็ได้ ที่นั่งกันอยู่ที่ศาลปกครองสูงสุดก็ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชนทั้งนั้น
ถ้าคุณไม่ไว้ใจคน 3 คน 5 คน คุณก็ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดหรือที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาวินิจฉัยก็ได้ ผมไว้ใจที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครองสูงสุดหรือศาลฎีกามากกว่าศาลรัฐธรรมนูญอีก 100 กว่าคน โหวตกันเลย ตีความอย่างไร จะได้จบ
: จริงๆ แล้ว ศาลสูงในสหรัฐอเมริกา บางครั้งมันมีเพื่อปกป้องเสรีภาพ ผมจำได้ว่ามันเคยมีประชามติคล้ายๆ ว่าไม่เอาเรื่องสมรสเท่าเทียม ไม่ยอมให้เพศเดียวกันแต่งงานกัน แล้วศาลสูงบอกว่าไม่ได้ นั่นละเมิดสิทธิเสรีภาพ ขนาดเป็นประชามตินะ แต่ของเรา (ศาลรัฐธรรมนูญ) ไม่ได้อยู่ในหลักการนั้นเลย
ในสหรัฐอเมริกาเอง บทบาทของศาลสูง-ศาลฎีกามันก็เป็นที่ถกเถียงกันต่อเนื่อง ในช่วงเวลานี้ ก็มีคนพูดกันหนาหูแล้วว่าอยากให้มีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปอำนาจของศาลฎีกาสหรัฐอเมริกา เพราะมันกลายเป็นอุปสรรค เป็นปัญหา
จริงๆ มีหนังสือเล่มหนึ่ง ผมกำลังไปอ่าน มีเพื่อนนักวิชาการด้านรัฐธรรมนูญแนะนำมา หนังสือเล่มนี้เขียนว่า “ให้เอารัฐธรรมนูญออกห่างจากศาลที่สุด” เขามองว่า มันเป็นเรื่องอันตรายมากที่ให้ศาลมาทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ คือมันกลายเป็นคนจำนวนน้อยมากมาวินิจฉัยตีความ (รัฐธรรมนูญ)
แล้วก็มันจะเป็นอย่างที่เกิดในอเมริกา คือแล้วแต่คุณ (ตุลาการเสียงข้างมาก) จะเป็นคอนเซอร์เวทีฟหรือลิเบอรัล และอเมริกายอมรับเรื่องอคติชัดเจนว่าอุดมการณ์ทางการเมืองคุณเป็นแบบไหน บ้านเราก็เห็นภาพแบบเดียวกัน
อเมริกาก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ไทยก็เป็นอีกตัวอย่างที่ชัดเจนมากว่า เมื่อไหร่ที่เราไว้วางใจศาลมากๆ ในการคุ้มครองรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรือกระทั่งตรวจสอบว่ามีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ มันจะเป็น “ดาบสองคม”
ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะเวิร์กในระบบที่มีประชาธิปไตยและนิติรัฐเข้มแข็งอย่างเยอรมนี แต่มันไม่เวิร์กกับประเทศที่ล้มลุกคลุกคลานในทางประชาธิปไตยและนิติรัฐแบบไทย มันเป็น “ดาบ” ที่เอาไว้ฟาดฟันประชาชนเท่านั้น ไอ้สองคมเนี่ย มันใช้แต่คมด้านที่เอาไว้เชือดประชาชนหรือตัวแทนประชาชนเท่านั้น ไม่ได้เป็นดาบที่พิทักษ์สิทธิประชาชนเท่าไหร่
ถ้าย้อนกลับมา ผมเห็นด้วยว่าคนที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญได้ดีที่สุด ก็คือประชาชนนี่แหละ ตัวแทนประชาชนนี่แหละพิทักษ์รัฐธรรมนูญได้ดีที่สุด เราตระหนักแล้วว่าตอนนี้ 4 ปี เรารอได้ แต่ก่อน 4 ปี เรารอไม่ได้ เกิดปัญหานักการเมือง อยากให้ปฏิวัติ ตอนนี้ 4 ปีนี่เร็วมาก ต่อให้นักการเมืองแย่อย่างไร คนส่วนใหญ่ก็รู้สึกแล้วว่าเรารอเลือกตั้งได้
คุณประยุทธ์ (จันทร์โอชา) อยู่มาตั้ง 8 ปี ไอ้ 4 ปีนี้ก็สั้นไปเลย เพราะฉะนั้น สังคมเรามาถึงจุดที่ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของประชาธิปไตยแบบนิติรัฐมาก ตระหนักในความสำคัญของตัวเอง ว่าตัวเองเป็นเจ้าของอำนาจ (ซึ่ง) เปลี่ยนแปลง (ประเทศ) ได้
(แม้ว่า) ตอนนี้ เราเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022