ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ดาวพลูโตมองดูโลก |
เผยแพร่ |
นับเป็นข่าวร้ายสำหรับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่งของประเทศไทย ที่ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติ 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีของคุณเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170(4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(5) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(5)
หากจะพูดคุยเรื่องคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคงจะต้องพูดคุยกันยาวเป็นวันแน่นอน และด้วยความเคารพต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวผมไม่อาจเห็นพ้องด้วยกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญหลายประเด็น แม้แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 ท่านด้วยกันเอง ก็มีความเห็นที่แตกต่างกัน
เดิมทีผมตั้งใจจะเขียนสรุปผลงานของท่านนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ในโอกาสครบรอบ 1 ปีของรัฐบาล แต่เกิดเรื่องไม่คาดคิด อุบัติเหตุทางการเมืองเสียก่อน
แต่ไม่ว่าประการใดก็ตาม ในมุมของพรรคเพื่อไทย จากนายกรัฐมนตรีท่านที่ 30 สู่ท่านที่ 31 จากคุณเศรษฐา ทวีสิน สู่คุณแพทองธาร ชินวัตร ล้วนเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ดังนั้น ในมุมประชาชนถือว่ารัฐบาลคุณแพทองธาร ชินวัตร เป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทยดังเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง จึงเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับรัฐบาลที่ต้องสานต่อ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
1 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลภายใต้การกำกับของคุณเศรษฐา ทวีสิน เริ่มต้นที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 ไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.7 ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 และไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 เฉลี่ยตลอดระยะเวลา 1 ปี GDP ไทย ขยายตัวประมาณร้อยละ 1.7
นับว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายไปเยอะเลยทีเดียว และต่ำกว่าร้อยละ 2.0 จึงนับได้ว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราที่ต่ำมาก
หากให้ผมลองวิเคราะห์จากข่าวที่ผ่านมาตลอด 1 ปี นายกฯ เศรษฐามีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างมาก แต่แล้วเพราะเหตุใด เศรษฐกิจไทยจึงอยู่กับที่ไม่ไปไหน
พบว่านโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นนโยบายหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างดี มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมาก แม้ว่าการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวจะน้อยลง แต่โดยรวมแล้วถือว่าเป็นเครื่องจักรกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงเครื่องจักรเดียวที่ยังทำงานอยู่และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง
การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาพลังงานปรับสูงขึ้น แม้การบริโภคภาคเอกชนเป็นบวกทุกไตรมาสทั้ง 4 ไตรมาส อยู่ที่ร้อยละ 5.4-8.1 เป็นตัวเลขที่สวยงาม แต่ต้องแลกมาด้วยปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นเสมือนเงาตามตัว
ดุลการค้า หากนำทั้ง 4 ไตรมาสมาเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้า ถือว่าดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ประมาณร้อยละ 0.5
จากสถิติทั้ง 3 รายการ ฉายา “เซลส์แมน” สำหรับท่านนายกฯ เป็นชื่อที่สามารถสะท้อนถึงผลงานและนโยบายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาได้อย่างดี
ซึ่งหากมองความตั้งใจในมุมนโยบายต่างประเทศถือว่าประสบความสำเร็จในขั้น “สอบผ่าน” ครับ
ในมุม “หลังบ้าน” เมื่อท่านนายกรัฐมนตรีเดินทางกระตุ้นเศรษฐกิจไปเยือนต่างประเทศ หลังบ้านย่อมสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
สถิติการลงทุนภาคเอกชนเป็นบวก แต่เมื่อรวมกันกับการลงทุนภาครัฐที่ติดลบอย่างหนัก ทำให้การลงทุนรวมในทั้ง 4 ไตรมาส มีเพียงไตรมาส 3 ปี 2566 ที่เป็นบวกร้อยละ 1.5 นอกนั้นติดลบ ตั้งแต่ร้อยละ -0.4 จนถึง -6.2
การอุปโภคภาครัฐเช่นกัน บวกเพียงไตรมาสเดียว ที่ร้อยละ 0.3 นอกนั้นติดลบ ตั้งแต่ร้อยละ -2.1 จนถึง -4.2
สถิติอีก 1 รายการที่น่าสนใจ คือ อัตราเงินเฟ้อ อยู่ในช่วงร้อยละ -0.8 ถึง 1.4 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำมาก
การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้แจงว่ามีความจำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับร้อยละ 2.50 ต่อปี เพื่อป้องกันเงินเฟ้อ จึงไม่น่าจะเป็นจริงตามที่ ธปท.กล่าวอ้าง และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจติดลบ เป็นปัจจัยที่เหนี่ยวรั้งไม่ให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามเป้า
จากข้อมูลล่าสุดไตรมาส 2 ปี 2567 การลงทุนภาคเอกชนติดลบถึงร้อยละ 6.8 เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงไม่น้อยเลยทีเดียว
หากนำส่วน “หลังบ้าน” รวมเข้ากับ “ส่วนหน้าบ้าน” พบว่า GDP ตลอดทั้ง 4 ไตรมาสขยายตัวเพียงประมาณร้อยละ 1.7 เท่านั้น
ส่วนจะอยู่ในเกณฑ์ “สอบผ่าน” หรือ “สอบตก” ขอท่านผู้อ่านเป็นผู้ให้คะแนนกันเองครับ
จากปี 1 รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน สู่ปี 2 รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร แม้จะมี “แนวข้อสอบ” จากนายกรัฐมนตรีรุ่นพี่อย่างคุณทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของไทย แนะแนวทางไว้ ก็มิใช่เรื่องง่ายที่จะนำพาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตในอัตราร้อยละ 5.0 ต่อปี
เนื่องจากมีพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนมากคอยฉุดรั้งทิศทางเศรษฐกิจไม่ให้ดำเนินได้อย่างสะดวกและต่อเนื่อง
สำหรับบทเรียนใน 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้เห็นปัญหาและข้อบกพร่องต่างๆ ในอดีตที่ผ่านมาแล้วว่าการขาด “หลังบ้านด้านเศรษฐกิจ” ที่คอยแนะนำกลั่นกรองทุกนโยบายที่เข้า ครม. ให้สร้างการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจที่มีความหลงใหลและกระหายในการผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจ
บทเรียนนี้คงจะช่วยให้รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจได้อย่างราบรื่นขึ้นในปีนี้
นอกจากทีมงานเศรษฐกิจแล้ว ทีมงานการเมือง ทีมงานฝ่ายการต่างประเทศ ทีมงานความมั่นคง และทีมงานกฎหมาย ต้องช่วยเหลือเพื่อให้นโยบายต่างๆ ดำเนินไปได้อย่างไร้อุปสรรค
ต่อจากนี้ไปคงเป็นบททดสอบความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของไทยที่มีนามว่า “แพทองธาร ชินวัตร”
ขอเอาใจช่วยครับ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022