18 ปี ตุลาการภิวัฒน์… ทำมานานแล้ว…และจะทำต่อไป เริ่มบทบาทตุลาการภิวัฒน์

มุกดา สุวรรณชาติ

จุดกำเนิดของตุลาการภิวัตน์มาจากความรู้สึกสิ้นหวังของบรรดากลุ่มผู้ต่อต้านนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงปี 2548 พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งครั้งที่สองแบบถล่มทลาย (377 คน) จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้

1. เดือนสิงหาคม 2549 ธีรยุทธ บุญมี ได้เสนอเรื่องตุลาการภิวัฒน์ ให้ศาลเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง โดยให้เหตุผลว่า ผู้พิพากษาทั้งหลายเป็นคนดี ตัดสินอรรถคดีด้วยบรรทัดฐานและดุลพินิจที่ดี และเน้นหลักความเป็นธรรม จึงควรให้ตุลาการเข้ามาจัดการกับนักการเมืองทุจริต และเพื่อป้องกันมิให้รัฐใช้อำนาจมากเกินไป

หลังจากรัฐประหาร กันยายน 2549 ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2549 คณะรัฐประหารได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2540 และสั่งให้ศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี แต่ให้ศาลอื่นๆ คงอยู่ต่อไป

ใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 ตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมา ซึ่งประกอบไปด้วยผู้สนับสนุนคณะรัฐประหาร

2.วันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ตุลาการรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคไทยรักไทยด้วยข้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ถอนสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรค 111 คน เป็นเวลา 5 ปี ในวันที่มีคำวินิจฉัยนั้น พรรคไทยรักไทยมี นายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นรักษาการหัวหน้าพรรค ขณะเดียวกันตุลาการรัฐธรรมนูญก็ได้มีมติ 9 ต่อ 0 ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์

หลังคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า การยุบพรรคไทยรักไทยพร้อมเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคครั้งนี้ น่าจะเป็นบทอวสานระบอบทักษิณ

แต่ผิดคาด พรรคไทยรักไทยแปลงกายเป็นพรรคพลังประชาชน ยังชนะเลือกตั้งเป็นรัฐบาล ได้นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี

3. วันที่ 9 กันยายน 2551 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลง ตามคำร้องของ ส.ว.จำนวน 29 คน และ กกต. ในกรณีการจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป”…

แม้เปลี่ยนเป็นนายกฯ สมชาย วงสวัสดิ์ แต่มีการประท้วงต่อต้านจากกลุ่มพันธมิตรฯ เสื้อเหลือง ถึงขั้นยึดทำเนียบ ล้อมสภา ยึดสนามบิน

4. วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2551 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค คือ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย รวมทั้งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค เพราะมีกรรมการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง

จากนั้นจึงมีการเปลี่ยนขั้วตั้งรัฐบาล ที่นำโดยประชาธิปัตย์ (ปชป.)

สิ่งที่ตามมาคือ เกิดการประท้วง ให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ของคนเสื้อแดงจนมีการล้อมปราบโดยใช้อาวุธสงครามในเมษายน-พฤษภาคม ปี 2553 เลือดและชีวิตที่เสียไปกลายเป็นรอยแยกของแผ่นดินจนทุกวันนี้

 

ตุลาการภิวัฒน์ ภาค 2
ปิดงานไม่ได้
จึงต้องใช้รัฐประหาร

รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปกครองได้แค่ปีกว่า ก็เกิดการประท้วง ให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ของคนเสื้อแดงจนมีการล้อมปราบโดยใช้อาวุธสงครามในเมษายน-พฤษภาคม ปี 2553 เลือดและชีวิตที่เสียไปกลายเป็นรอยแยกของแผ่นดินจนทุกวันนี้

พอยุบสภาหลังเลือกตั้งใหม่ 2554 เพื่อไทยชนะเหมือนเดิม ได้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

หนังเรื่องเดิม ผู้กำกับการแสดงคนเดิม เปลี่ยนนักแสดงนำ จึงได้ถูกฉายซ้ำ

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ได้ 2 ปี กลุ่ม กปปส. จัดม็อบประท้วง นายกฯ ยุบสภา รัฐบาลประกาศเลือกตั้งใหม่ แต่ กปปส.ปฏิบัติการ Bangkok shutdown ปูทางไปสู่การยึดอำนาจ จากนั้นก็ปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง ทำให้หน่วยเลือกตั้ง 93,952 หน่วย สามารถเปิดลงคะแนนได้ 83,813 หน่วย มีเพียงร้อยละ 10.8 ที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้

5. วันที่ 21 มีนาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องด้วยไม่สามารถเลือกตั้งให้เสร็จสิ้นภายในวันเดียวทั้งประเทศ จึงถือเป็นโมฆะ

6. วันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ปลด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากนายกรัฐมนตรี กรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. งานนี้ ตุลาการภิวัฒน์ปิดงานไม่ได้เพราะรัฐบาลตั้งนายกฯ รักษาการ และไม่ลาออก แถมยังจะจัดเลือกตั้งใหม่ (ขืนให้เลือกใหม่ก็ต้องแพ้เพื่อไทย) จึงต้องรัฐประหารอีกครั้ง

22 พฤษภาคม 2557 การรัฐประหาร ทำโดย คสช. หัวหน้าคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. คสช.ทำรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ขึ้นมาและจัดให้เลือกตั้ง พฤษภาคม 2562 แบบบัตรใบเดียว

 

ตุลาการภิวัฒน์ ภาค 3…
ทำแล้ว ทำอยู่ และจะทำต่อไป

7.ก่อนเลือกตั้งมีคำวินิจฉัยสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค โดยมีสาระสำคัญในคำวินิจฉัยว่า

“พรรคไทยรักษาชาตินำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาฝักใฝ่ในทางการเมือง เข้าลักษณะการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ผลการเลือกตั้ง พ.ศ.2562 พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.มากที่สุด ส่วนพรรคอนาคตใหม่ที่ถือเป็นฝ่ายซ้ายได้ ส.ส.ถึง 80 คน แต่ฝ่าย คสช.ตั้งรัฐบาลผสมได้

8. วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค เป็นเวลา 10 ปี โดยวินิจฉัยว่า

“พรรคกู้ยืมเงินจากหัวหน้าพรรคจำนวน 191,200,000 บาท โดยมีข้อตกลงที่ไม่เป็นไปตามปกติวิสัย ถือเป็นการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นซึ่งมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อปี”

9. พฤษภาคม ปี 2566 พรรคอนาคตใหม่ที่เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคก้าวไกล ชนะเลือกตั้งได้ ส.ส. 151 คน เป็นฝ่ายค้าน

7 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล และเพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี เนื่องจากมีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กรณีเสนอแก้ไขกฎหมายมาตรา 112

10. วันที่ 14 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้นายเศรษฐา ทวีสิน ขาดคุณสมบัติ พ้นนายกรัฐมนตรี พร้อมรัฐมนตรีทั้งคณะ กรณีแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ถือว่าผิดจริยธรรม…

 

อยากให้ทุกคนลองตั้งคำถามกันว่า ตัวอย่างคำวินิจฉัยที่ยกมา เป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย หรือมีผลให้เกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง หรือใช้สกัดกั้นพรรคการเมือง

จริงๆ แล้ว ตุลาการรัฐธรรมนูญควรมี ‘อำนาจ-หน้าที่’ ในขอบเขตแค่ไหน ตรวจสอบได้ อย่างไร

วันนี้เราได้เห็นทุกองค์กร ทุกสถาบัน ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อชิงอำนาจ และล้มระบอบประชาธิปไตย ซึ่งทำให้สังคมไทยไม่มีวันย้อนกลับคืนไปเหมือนเดิมอีก ทั้งความคิด ความเชื่อ ความศรัทธา การใช้ชีวิต

การต่อสู้ทางการเมือง เพื่อพัฒนาให้สังคมก้าวไปข้างหน้า คงจะปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ยังไม่รู้ว่าจะแรงแค่ไหน

จากสิงหาคม 2549 ถึงสิงหาคม 2567 จึงเป็น 18 ปีเต็มที่ผู้มีอำนาจและพวกขวาจัด ลากพาประเทศเข้าไปสู่วงจรอุบาทว์ แบบไม่ลืมตาดูโลก และคงจะทำต่อไป เพราะวันนี้ ก็มีข่าวว่าพรรคเพื่อไทยและนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร จะถูกฟ้องตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำงาน