ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | On History |
ผู้เขียน | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ |
เผยแพร่ |
นอกเหนือจากที่กลุ่มภาพเขียนสี ซึ่งพบอยู่เป็นจำนวนมาก ในพื้นที่บริเวณภูพระบาท และปริมณฑล จะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อในศาสนาผี ที่มีมาก่อนการเข้ามาของพุทธศาสนาในเขตพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ตัวของถ้ำ หรือเพิงผา ที่ถูกใช้ในการเขียนภาพเหล่านี้เอง เมื่อถูกนำมาเทียบเคียงกับกลุ่ม “หินใหญ่” (Megalith) รูปทรงแปลกตา ที่พบอยู่ทั่วไปในบริเวณภูพระบาทนั้น ก็เป็นร่องรอยของความเชื่อในศาสนาผี
เพราะเพิงผา หรือผนังถ้ำที่ถูกเขียนภาพไว้ก็มีความศักดิ์สิทธิ์ด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อเป็นหินผาก้อนใหญ่ ที่มีรูปแปลกประหลาดน่าอัศจรรย์ จนดู “เฮี้ยน” (ศัพท์ลำลองของคำว่า “ศักดิ์สิทธิ์”) อย่างที่พบในแถบพื้นที่ภูพระบาท ก็ยิ่งชวนให้รู้สึกเฮี้ยนขึ้นไปใหญ่
เกี่ยวกับเรื่องนี้เราอาจเทียบเคียงได้กับ “พระเจ้าองค์ตื้อ” ที่วัดศิลาอาสน์ ที่บ้านนาไก่เซา ต.นาเสียว อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ ซึ่งมีกลุ่มพระพุทธรูปที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะกำหนดอายุไว้อยู่ในช่วงราว พ.ศ.1700-1900 ประดิษฐานอยู่บนเนินเขาลูกเตี้ยๆ และเมื่อมีการสลักพระพุทธรูปอยู่ที่นั้น แถมยังเป็นพระพุทธรูปที่ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ด้วยแล้ว ชาวบ้านก็เลยเรียกกันว่า “ภูพระ”
แต่เจ้าเนินเขาลูกที่ว่านี้เป็น “เนินหิน” พื้นที่บริเวณโดยรอบของพระพุทธรูปกลุ่มนี้เป็นลานหินตลอดทั้งอาณาบริเวณ และอันที่จริงแล้ว แม้แต่ตัวพระเจ้าองค์ตื้อ และพระพุทธรูปกลุ่มนี้ทั้งหมดเอง ก็สลักลงบนก้อนหินธรรมชาติขนาดใหญ่ ที่มีรูปทรงแปลกตา ไม่ต่างอะไรกับที่ภูพระบาทเลยสักนิด โดยเฉพาะบริเวณที่เรียกว่าถ้ำพระ ในภูพระบาท ซึ่งก็เป็นพื้นที่ที่มีการสลักพระพุทธรูปลงไปในก้อนหินใหญ่รูปทรงแปลกตาด้วยเหมือนกัน
แถมทั้งที่ภูพระ และภูพระบาทนั้น ต่างก็เป็นเนินเขาที่เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพานเช่นเดียวกันทั้งคู่ด้วยอีกต่างหาก
ที่สำคัญก็คือ ใน จ.ชัยภูมิ นั้น คณะลำผีฟ้า (ซึ่งเป็นเรื่องในศาสนาผี และไม่ใช่ศาสนาพุทธจากอินเดียแน่) ต่างๆ นั้นมักจะถือเอาบริเวณภูพระเป็นพื้นที่จัดงานเลี้ยงข่วงผีฟ้า ระหว่างวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือนห้า โดยถือเป็นงานกราบไหว้ครูบาอาจารย์ของคณะลำผีฟ้า
ซึ่ง “ครูบาอาจารย์” ที่คณะลำผีฟ้ามาเลี้ยงก็คือ “พระเจ้าองค์ตื้อ” นั่นแหละ
แน่นอนว่า ถึงแม้ว่า คณะลำผีฟ้าจะเรียก “พระเจ้าองค์ตื้อ” ว่าเป็น “ครูบาอาจารย์” แต่ความศักดิ์สิทธิ์ของความเป็นครูที่ว่านั้น ไม่ได้มีที่มาเริ่มแรกจากการเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์หรอกนะครับ แต่เป็นความเฮี้ยนของ “หินใหญ่” ที่ถูกจับบวชเข้ามาอยู่ในปริมณฑลของพุทธศาสนาด้วยการสลักรูปพระเจ้าองค์ตื้อ และพระพุทธรูปองค์อื่นทับลงไปบนเนื้อหินนั่นต่างหาก
สำหรับธรรมเนียมของคณะลำผีฟ้า ที่นับถือ “ความเฮี้ยน” ในหินใหญ่ว่า เป็น “ครู” นั้น เราอาจจำต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของครูในสมัยโบราณว่าคืออะไรเสียก่อน
นักประวัติศาสตร์ระดับไอคอนของยุคสมัย อย่าง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ผู้ล่วงลับ เคยตั้งข้อสังเกตไว้ในบทความที่ชื่อ “พิธีกรรมไหว้ครู” ซึ่งตีพิมพ์ลงในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน เรือน พ.ศ.2528 ว่า
“ครู” ในความหมายของคนไทยแต่ดั้งเดิมนั้นไม่ใช่ “มนุษย์”
ร่องรอยหลักฐานที่ อ.นิธินำมาใช้อธิบายเป็นกรณีตัวอย่างก็คือ การไหว้ครูโนราและหนังตะลุง ทางปักษ์ใต้ของไทย
“ครูหมอ” ที่ผู้แสดงโนรา ผู้เล่นหนังตะลุง นับถือและเคารพบูชากันในหมู่นักแสดงนั้นหมายถึง “ผีบรรพชน” ของสายการแสดงสกุลหนึ่งๆ และเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงในสกุลหรือสำนักนั้นๆ แต่ต้องตายไปแล้วเท่านั้นนะครับ ถ้าไม่ตายจะถือเป็นครูหมอไม่ได้
คำไหว้ครูโนราหลายสำนวนก็อ้างชื่อของคนที่ตายไปแล้ว แต่มีบทบาทในการให้กำเนิดการแสดงโนราตามตำนานการกำเนิดโนรา ซึ่งอันที่จริงแล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกับศิลปินผู้ล่วงลับคนนั้นเลยอยู่บ่อยๆ
ดังนั้น ครูหมอ จึงมีฤทธิ์เหนือคนธรรมดา และแรงพอที่จะทำให้คนเจ็บป่วยหรือหายจากเจ็บป่วยได้ หรือพูดให้ง่ายเข้าอีกว่า “ครู” ของการแสดงในภาคใต้ที่เขาไหว้สากันเป็นพิธีกรรมนั้นก็คือ “ผี”
อ.นิธิได้อธิบายต่อไปว่า ความคิดว่าครูคือผีนั้นไม่ได้เป็นของพิเศษ ที่มีเฉพาะในภาคใต้เท่านั้น ในการไหว้ครูโขนละคร ครูใหญ่ที่ต้องไหว้หรือรำถวายมือนั้นก็คือผีใหญ่ที่อยู่ในรูปฤๅษี หรือพระอิศวรในปางต่างๆ ซึ่งก็คือผีสางหรือเทพเจ้า หมายความว่าคนภาคกลางแต่โบราณก็ถือว่าครูนั้นคือผีเหมือนกัน
ครูไทยจึงเป็น “ผี” หรือ “เทพ” ซึ่งก็คือ “หลักการทางนามธรรม” อย่างหนึ่ง แล้วแต่ว่าในยุคสมัยใดจะตีความผีหรือเทพนี้ว่าเป็นหลักการทางนามธรรมอันใด โดยเป็นผู้สืบทอดความสามารถจากผีหรือเทพนั้นมาอีกทอด หรือจะกล่าวว่าเป็นผู้ดำรงหลักการอันเป็นนามธรรมนั้นสืบมานั่นแหละ
และก็เป็นเพราะความเฮี้ยนหรือศักดิ์สิทธิ์เดียวกันนั้นเอง ที่กลายเป็น “ครู” คือ “ผี” หรือจะเรียกว่า “เทพารักษ์” ก็ได้ ที่ดูแลรักษาพระเจ้าองค์ตื้อ รวมถึงพระพุทธรูปองค์อื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้น การปฏิบัติต่อพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แต่ละองค์จึงไม่เหมือนกัน เช่น การลำผีฟ้าถวายพระเจ้าองค์ตื้อ หรือการถวายอาหารเหนือเพื่อแก้บนกับพระแก้วมรกต เป็นต้น
ลักษณะอย่างนี้ก็คงจะเป็นเรื่องทำนองเดียวกัน กับการเขียนภาพลงบนผนังเพิงหินรูปทรงแปลกตาที่ภูพระบาท โดยถือว่า หินใหญ่รูปทรงแปลกตาเหล่านี้มีความเฮี้ยน หรือศักดิ์สิทธิ์มาก่อน จึงค่อยมีการเขียนภาพเขียนสีลงไป
และถ้าหากจะเทียบเคียงความหมายของภาพเขียนสีเหล่านี้ กับภาพเขียนสีของชนชาวอะบอริจินแล้ว ก็คงจะเปรียบได้กับ “พลังชีวิต” ของ “ผีบรรพชน” ที่มาเข้าทรงเป็นหนึ่งเดียวกับลูกหลานในภวังค์ของ “ห้วงความฝัน” นั่นเอง
ดังนั้น กลุ่มภาพเขียนสี และตัวของก้อนหินใหญ่ รูปทรงแปลกตาที่พบหลักฐานกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ในอดีต ที่พบเป็นจำนวนมากในเขตภูพระบาทนั้น จึงเป็นหลักฐานของศาสนาผี ที่มีมาก่อนการเข้ามาของพระพุทธศาสนา
ในวัฒนธรรมพวกจาม กลุ่มที่เรียกว่า “บาลาโมน จาม” (B?lam?n Ch?m) หรือ “บาจาม” ซึ่งหมายถึงชาวจามที่ยังนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู (ในปัจจุบัน ชาวจามส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม) ซึ่งมีพิธีกรรมการฝังศพครั้งที่ 2 (secondary burial) ที่เรียกว่า “พิธีกุต” ซึ่งเกี่ยวข้องกับ “พลังชีวิต” ของ “ผีบรรพชน” ที่สถิตอยู่ใน “หินใหญ่” ด้วยเช่นกัน
(ถึงแม้ว่า ชาวบาจามจะสมาทานตนเองว่า นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แต่ในความเป็นจริงแล้ว พิธีกรรม และความเชื่อหลายๆ อย่างของชนกลุ่มนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงร่องรอยในศาสนาผีดั้งเดิม ซึ่งก็รวมไปถึงพิธีกุตที่ว่านี้ด้วย)
กล่าวโดยสรุปพิธีกุตก็คือ การนำเอา “พลังชีวิต” ของผู้ตาย เข้าไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกับ “ผีบรรพชน” ในดินแดนอันเป็นนิรันดร์ที่พวกจามเรียกว่า “มุก อาเกอี” (muk akei)
และดินแดนอันเป็นนิรันดร์ที่ว่านั้น ก็สถิตอยู่ใน “ก้อนหิน” (ส่วนหินจะใหญ่หรือไม่ก็ไม่เป็นปัญหา) ที่เรียกว่า “กุต” ซึ่งก็คือชื่อเดียวกันกับพิธีนี้นั่นเอง
พูดง่ายๆ ว่า พวกจามนำเอา “พลังชีวิต” ของ “ผีบรรพชน” ไปสถิตอยู่ใน “หิน” นั่นแหละครับ
ลักษณะความเชื่ออย่างนี้คล้ายคลึงกันกับ “พลังชีวิต” ของ “ครูบาอาจารย์” ของ “คณะลำผีฟ้า” ที่สถิตอยู่ในหินใหญ่ของพระเจ้าองค์ตื้อ เพราะอันที่จริงแล้ว “ครู” ที่ว่านี้ก็คือ “ผีบรรพชน” ของกลุ่มผู้ลำผีฟ้า ในทำนองเดียวกับการไหว้ครูของคณะลำผีฟ้า ที่สถิตอยู่ในก้อนหินที่สลักรูปพระเจ้าองค์ตื้อนั่นแหละ
น่าสนใจด้วยว่า ในหนังสือที่ชื่อ “Indian Influence in Old Balinese Art” (อิทธิพลอินเดียในศิลปะบาหลีโบราณ) ของ วิลเลม เฟรเดริก สตุตเตอร์เฮม (Willem Frederik Stuttertheim, พ.ศ.2435-2485) ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่เมื่อเรือน พ.ศ.2478 ได้อ้างเอาไว้ว่า ก่อนที่จะนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั้น ชาวบาหลีเชื่อในผีบรรพชน ที่คาดกันว่าจะอาศัยอยู่ในที่ซ่อนตามแม่น้ำ หรือบนภูเขา พวกเขาเป็นเจ้าของแหล่งน้ำ เป็นผู้ดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น หากปราศจากพวกเขาแล้ว ข้าวและผลิตผลทางการเกษตรต่างๆ ก็จะไม่งอกเงยขึ้นมา
ชาวบาหลียังเชื่ออีกด้วยว่า ผีบรรพชนนั้น “เป็นผู้ก่อตั้งชุมชนหมู่บ้าน พวกเขาเป็นผู้กำหนดสร้างประเพณี และปกปักรักษาความเติบโตของชุมชน” โดยความเชื่อในทำนองอย่างนี้ก็พบทั้งในเกาะใหญ่อย่างชวา และเกาะอื่นๆ ของอินโดนีเซียด้วย
ดังนั้น ความเชื่อในทำนองที่ว่า “พลังชีวิต” ของ “ผีบรรพชน” สถิตอยู่ในสิ่งของ หรือสถานที่ต่างๆ นั้น คงจะมีลักษณะที่เป็นสากล อย่างน้อยก็พบกระจายอยู่ทั่วไปในชุมชนแบบดั้งเดิม (primitive society) ของอุษาคเนย์
โดยในกรณีของพวกบาจาม ได้พัฒนาจนเกิดพิธีกรรมในการบรรจุพลังชีวิตของผีบรรพชนลงในหิน
ส่วนพระเจ้าองค์ตื้อที่ภูพระนั้น เมื่อพุทธศาสนาเข้ามาก็ได้จับความเฮี้ยนของครูบามาบวช แล้วสวมจีวรให้เสียใหม่จนกลายเป็นพระเจ้าองค์ตื้อ
ลักษณะในทำนองเดียวกันนี้ก็คงเกิดขึ้น ถ้ำพระ ภูพระบาท ที่มีการสลักพระพุทธรูปลงไปบนหินใหญ่ที่มีรูปทรงแปลกตาด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ที่ภูพระบาท ยังมีการนำพระพุทธรูปมาประดิษฐานเรียงรายอยู่ในเพิงหินเหล่านี้ เช่น ที่วัดพ่อตา ซึ่งได้มีการเขียนสีแดงเป็นรูปซุ้มเรือนแก้ว ลงบนผนังของเพิงหิน ทางด้านหลังของพระพุทธรูป หรือที่วัดลูกเขย และหอนางอุสา ที่ได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมลงบนเพิงหินเหล่านี้ด้วย
ก่อนหน้าที่ “หินใหญ่” รูปทรงแปลกตาที่ภูพระบาท และปริมณฑลโดยรอบ จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนานั้น จึงเป็นวัตถุที่เฮี้ยน-ศักดิ์สิทธิ์เดิมมาก่อนใน “ศาสนาผี” โดยมีทั้งที่นับถือก้อนหินโดดๆ และมีที่เขียนสีเพิ่มลงไปบนก้อนหิน ต่อมาเมื่อ “พุทธศาสนา” ได้เข้ามาอิทธิพลในพื้นที่ ก็ค่อยจับก้อนหินเหล่านี้บวชให้เป็นพุทธ ด้วยการสลักพระพุทธรูป หรือแปลงให้กลายเป็นพุทธสถานนั่นแหละครับ •
On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022