ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | วิรัตน์ แสงทองคำ |
ผู้เขียน | วิรัตน์ แสงทองคำ |
เผยแพร่ |
ความเคลื่อนไหวหนึ่งซึ่งเป็นที่ “จับตา” ในแวดวงธุรกิจค้าปลีก และสังคมธุรกิจไทย
กรณีสื่อระดับโลก รายงานอ้างอิงเครือข่ายธุรกิจใหญ่แห่งญี่ปุ่น เจ้าของเครือข่ายร้านสะดวกซื้อ-7-Eleven ได้ประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าว่า ได้รับข้อเสนอซื้อกิจการโดยคู่แข่งทางธุรกิจแห่งแคนาดา หากเป็นไปได้เช่นนั้น จะเป็นดีลที่มีมูลค่ามากทีเดียว ถึงกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1 ล้านล้านบาท
7-Eleven ภายใต้บริษัทแม่แห่งญี่ปุ่น-Seven & I Holdings มีสาขา 85,000 แห่งใน 20 ประเทศ และดินแดน 1 ใน 4 จากสาขาทั้งหมดอยู่ในญี่ปุ่น ที่น่าสนใจประเทศไทยเป็นที่ที่หนึ่ง ซึ่งมีสาขามากอยู่ในอันดับต้นๆ มากกว่า 14,000 แห่ง ในขณะที่ในสหรัฐอเมริกามีอยู่ราว 10,000 สาขา
ส่วนผู้เสนอซื้อกิจการ ดูไปแล้วถือว่ามีเครือข่ายเล็กกว่ามาก Alimentation Couche-Tard ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกแคนาดา มีฐานอยู่ที่เมืองควิเบก เป็นเจ้าของเครือข่ายร้านสะดวกซื้อ-Circle K ราว 17,000 สาขาใน 31 ประเทศ โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในอเมริกาเหนือ
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันว่า 7-Eleven เกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับเครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทย-เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ด้วยมีฐานะเป็นจุดเชื่อมต่อ สู่ธุรกิจหลักใหม่-ธุรกิจค้าปลีก เป็นไปอย่างจริงจัง หลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 จนกลายเป็นหนึ่งในสามธุรกิจหลัก
และที่สำคัญ ปัจจุบันธุรกิจค้าปลีก ภายใต้บริษัทแกน-บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL สามารถทำรายได้สูงเกือบ 1 ล้านล้านบาทแล้ว มากกว่าธุรกิจหลักอื่นใดในเครือซีพี
เชื่อว่า พัฒนาการอันน่าทึ่ง 7-Eleven ในประเทศไทย ได้สร้างแรงกระเพื่อมถึงธุรกิจค้าปลีกไทยในภาพรวม จึงตามมาด้วยแผนการอันขยับเขยื้อนครั้งใหญ่
ที่ผ่านมา ซีพีได้กล่าวพาดพิงอย่างเจาะจงถึง 7-Eleven และ 7-Eleven, Inc. อย่างมีนัยยะ ต่างกรรมต่างวาระอย่างน่าสนใจ (ผ่าน Official Website-https://www.cpall.co.th/ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน)
ตามไทม์ไลน์แล้ว 7-Eleven ก็มีช่วงเปลี่ยนผ่านด้วยเช่นกัน จากบริษัทอเมริกันเก่าแก่ (ก่อตั้งปี 2470)
จนกลายมาอยู่ในเครือข่ายบริษัทญี่ปุ่น (2548) เมื่อไม่ถึง 2 ทศวรรษมานี้เอง
2531 จุดเริ่มต้นในประเทศไทย
“รับสิทธิการใช้เครื่องหมายการค้า ‘7-Eleven’ มาจาก 7-Eleven,Inc. สหรัฐอเมริกา และเริ่มก่อตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อภายใต้ชื่อ 7-Eleven”
2546 เข้าตลาดหุ้นไทย
“7-Eleven, Inc. ได้เข้าทำสัญญาให้ความยินยอม ซึ่งเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างบริษัทและบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (‘CPG’) กับ 7-Eleven, Inc. โดย 7-Eleven, Inc. ได้ตกลงให้ความยินยอมต่อการเสนอขายหุ้นต่อประชาชน รวมถึงการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ” ตามแผนการนำ CPALL เข้าตลาดหุ้นไทย เป็นไปด้วยดี
ในจังหวะ 7-Eleven เปิดเครือข่ายครบ 2,000 สาขามาก่อนหน้า (2545) สะท้อนพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดจากทศวรรษแรกเท่าตัว
จนมาถึงแผนการใหม่ใหญ่กว่า ตอบสนองการเติบโตก้าวกระโดดยิ่งขึ้น อย่างไม่หยุดยั้ง เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ จากธุรกิจที่เริ่มต้นอย่างเงียบๆ ไม่มีคู่แข่ง ใช้เวลาเติบโตถึง 15 ปี จนซีพีเพิ่งตระหนักว่า นี่คือธุรกิจแห่งอนาคต
2563 สู่ระดับภูมิภาค
“CP ALL (Cambodia) Co.,Ltd. และ CP ALL LAOSCO., LTD. (บริษัทย่อยทางอ้อม ถือหุ้นในสัดส่วน 100% โดย Albuera International Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ที่บริษัทถือหุ้น 100%) ได้เข้าทำสัญญาแฟรนไชส์หลัก กับ 7-Eleven, Inc. สำหรับดำเนินการร้าน 7-Eleven ในประเทศกัมพูชา และในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามลำดับ โดยสัญญาทั้ง 2 ฉบับได้รับสิทธิแฟรนไชส์เป็นระยะเวลา 30 ปี และต่ออายุสัญญาได้อีกสองครั้ง ครั้งละยี่สิบปี เช่นเดียวกัน” เป็นช่วงเวลาธุรกิจค้าปลีกในเครือซีพี ลงหลักปักฐานอย่างแท้จริง และกำลังก้าวไปอีกขั้น
ด้วยแผนการใหญ่ต่อเนื่องมา ตั้งแต่การซื้อกิจการ Makro แห่งเนเธอร์แลนด์ ผู้นำเครือข่ายธุรกิจค้าส่งในประเทศไทย มูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท (ปี 2556)
และตามมาด้วยดีลใหญ่อีกครั้งในปี 2563 อย่างสัมพันธ์กับแผนการ 7-Eleven ในการก้าวสู่ระดับภูมิภาคอย่างจริงจังด้วย ลงทุนซื้อเครือข่าย Tesco ในประเทศไทย และโดยเฉพาะมาเลเซีย ด้วยวงเงินสูงเป็นประวัติการณ์มากกว่า 3 แสนล้านบาท
เป็นแผนการหลอมรวมเครือข่ายค้าปลีกซึ่งทรงอิทธิพล ทรงพลัง เข้าไว้ด้วยกัน
ในช่วงคาบเกี่ยวกันนั้นเครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทย ได้เคลื่อนไหวสู่ธุรกิจค้าปลีกอย่างคึกคัก และหลากหลาย
เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ธุรกิจการค้าในโมเดลเดิม ภายใต้เครือข่าย กลุ่มทีซีซี ของ เจริญ สิริวัฒนภักดี ปรับตัวให้เข้ากับการค้าสมัยใหม่ ด้วยแผนการซื้อเครือข่าย Big C ในประเทศไทย จาก Casino Group แห่งฝรั่งเศส (2559) ในจังหวะเดียวกัน ก้าวสู่ระดับภูมิภาคด้วย เข้าซื้อ METRO Cash & Carry Vietnam จากเครือข่ายธุรกิจเยอรมนี (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น MM Mega Market Vietnam Company)
เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเช่นกัน สำหรับกลุ่มทีซีซีเวลานั้น กลายเป็นเจ้าของเครือข่ายค้าปลีกสมัยใหม่รายใหม่อย่างเต็มตัว และดูเหมือนจะเป็นคู่แข่งทางธุรกิจที่น่าเกรงขามพอสมควร
ช่วงเดียวกันนั้น กลุ่มเซ็นทรัล มีความเคลื่อนไหวเช่นกัน ทั้งในทิศทางหลักของตนเอง มุ่งขยายเครือข่ายในต่างประเทศ ในธุรกิจดั้งเดิม โมเดลห้างสรรพสินค้า บุกเบิกซื้อเครือข่ายห้างในยุโรป
ขณะเดียวกันก็ขยับสู่ธุรกิจค้าปลีกพื้นฐานตามกระแส ได้เข้าซื้อกิจการ Big C จาก Casino group ในประเทศเวียดนาม (ปี 2559)
ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อ Big C ขนาดเล็กเป็น Tops Market และเปลี่ยนชื่อในโมเดล Hypermarket เป็น GO!
เครือข่ายธุรกิจค้าปลีกใหญ่ไทย ภายใต้ร่างเงาธุรกิจครอบครัว มีส่วนไม่น้อย สร้างความมั่งคั่งให้ตระกูลธุรกิจไทย
เท่าที่เห็นเป็นอยู่ มี 3 ตระกูล-เจียรวนนท์ สิริวัฒนภักดี และ จิราธิวัฒน์ สามารถรักษาตำแหน่งอยู่หัวตารางความมั่งคั่ง (ตามการจัดอันดับ Thailand’s 50 Richest 2024 ของ Forbes ล่าสุด)
ขณะเดียวกัน โมเดลธุรกิจข้างต้น สร้างแรงสั่นสะเทือนทางสังคมพอสมควร โดยเฉพาะต่อระบบการค้าแบบดั้งเดิม ลงลึกถึงระดับชุมชน
ว่าไปแล้ว กระแสคลื่นการค้าสมัยใหม่ (Modern trade) เปิดฉากและพัฒนาไป ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นเมื่อช่วงกว่า 3 ทศวรรษ ด้วยการมาถึงของเครือข่ายธุรกิจโลกตะวันตก ภายใต้ความร่วมมือกับเครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทย ได้รับความสนใจมากขึ้น เมื่อเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างไม่สะดุด สามารถผ่านช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่มาได้
มีอีกปัจจัยจากภายนอกที่มาถึงในเวลาต่อมา เครือข่ายค้าปลีกระดับโลก ปรับตัวปรับยุทธศาสตร์อีกครั้ง ด้วยผ่องถ่ายการลงทุนในภูมิภาคของเรา ได้กลายเป็นจังหวะและโอกาสครั้งใหญ่ของธุรกิจใหญ่ไทยในช่วงเพียงทศวรรษเดียวที่ผ่านมา ดังปรากฏดีลต่างๆ ที่กล่าวถึงไว้ในตอนต้นๆ
จนมาถึงฉากตอนใหม่ซึ่งมีบทสรุปอย่างกว้างๆ
มิติหนึ่ง-เครือข่ายค้าปลีกไทย กลายเป็นธุรกิจใหญ่ มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมมากขึ้น และเป็นธุรกิจเดียวก็ว่าได้ อยู่ในกำมือของธุรกิจไทยอย่างเบ็ดเสร็จ อยู่ภายใต้โครงสร้างธุรกิจใหญ่ไทยไม่กี่ราย
อีกมิติ-ธุรกิจค้าปลีกไทย มีอิทธิพลระดับภูมิภาค ด้วยพัฒนาเป็นธุรกิจค้าปลีกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน
ในเชิงภาพทางความคิด (perspective) ความเคลื่อนไหวล่าสุด กรณีเครือข่ายธุรกิจร้านสะดวกซื้อแห่งแคนาดาที่ว่าไว้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจติดตามอย่างยิ่ง ทั้งจากเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกใหญ่ไทย และผู้คนสนใจทั่วไป
อาจจะเป็นสัญญาณบางอย่าง ว่าด้วยการก่อตัวอีกครั้ง กระแสคลื่นจากธุรกิจโลกตะวันตก อย่างที่เคยมีบทเรียน มีบทบาทกำหนดทิศทางธุรกิจใหม่ในภูมิภาคมาแล้ว
หรือไม่ อย่างไร •
วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022