โฟกัสพระเครื่อง / เหรียญรุ่นแรก 2460 พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

โฟกัสพระเครื่อง

โคมคำ [email protected]

เหรียญรุ่นแรก 2460 พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

“พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก” เป็นพระพุทธรูปสำคัญ มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในประเทศไทย

นิยมอาราธนาพระพุทธชินราช มาจัดสร้างเป็นวัตถุมงคลต่างๆ ทั้งพระบูชา พระเครื่อง และเหรียญ เพื่อให้นำไปสักการบูชาอย่างต่อเนื่อง

แต่ที่นับว่าทรงคุณค่าและมีค่านิยมสูง คือ “เหรียญพระพุทธชินราช พ.ศ.2460”

เป็นเหรียญพระพุทธชินราชที่สร้างเป็นครั้งแรกและรุ่นแรก จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ นมัสการพระพุทธชินราช ณ เมืองพิษณุโลก ราวปี พ.ศ.2458 แต่มาแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2460

มีพระเกจิอาจารย์เข้าร่วมอธิษฐานจิตปลุกเสก อาทิ หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน, หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ฯลฯ จำนวนการจัดสร้างไม่มากนัก เท่าที่พบมีด้วยกัน 2 เนื้อ คือ เนื้อเงินและเนื้อทองแดง

ลักษณะเป็นเหรียญกลม หูเชื่อม ขอบกระบอก ด้านหน้าเหรียญ อาราธนาองค์พระพุทธชินราช ประทับนั่ง บนบัลลังก์บัวคว่ำหัวหงาย ข้างองค์พระทั้ง 2 ข้าง จารึกอักษรไทย “พระพุทธ-ชินราช” ใต้พุทธบัลลังก์จารึกอักษร “น ภ จ ก” สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นตัวอักษรย่อร้านที่จัดสร้าง คือ ร้านนาภาจารุอุปกรณ์ แบ่งออกเป็น 2 พิมพ์ย่อย โดยดูจาก สระอุ ที่คำว่า “พระพุทธ” ถ้ามีลักษณะเป็นแนวนอน เรียก “อุนอน” ถ้าเป็นแนวตั้ง ก็เรียก “อุตั้ง”

ด้านหลังจัดสร้างเป็น 3 พิมพ์ แต่ที่ได้รับความนิยม คือ พิมพ์หลังอกเลา ตรงกลางจำลองอกเลาวิหารพระพุทธชินราช พร้อมอักขระขอมกำกับ 4 ตัว

ส่วนอีก 2 พิมพ์ คือ พิมพ์หลังหนังสือ 5 แถว จารึกอักษรไทยเป็น 5 แถว ว่า “ที่ระฤก-ที่ได้มาในงาน-นมัสการพระพุทธ-ชินราชณเมือง-พิศณุโลก” และพิมพ์หลังหนังสือ 3 แถว จารึกอักษรไทยเป็น 3 แถว ว่า “ที่ระฤกที่ได้มา-นมัสการณเมือง-พิศณุโลก” ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

กล่าวกันว่า เหรียญพระพุทธชินราช ปี พ.ศ.2460 พิมพ์อุนอน หลังอกเลา เป็นพิมพ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในชุดเบญจภาคีเหรียญพระพุทธของเมืองไทย

เป็นที่เสาะแสวงหาอย่างสูง

พระพุทธชินราช ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารใหญ่ด้านทิศตะวันตกของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นด้านหน้าวัด ผินพระพักตร์ไปทางแม่น้ำ เป็นพระพุทธรูปที่มีส่วนสัดสมตามแบบประติมากรรม มีลักษณะงดงามมากองค์หนึ่งในประเทศไทย

ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตรัสยกย่องสรรเสริญพระพุทธชินราช ว่า “งามหาพระพุทธรูปองค์ใดเปรียบมิได้ เป็นพระพุทธปฏิมากรดีล้ำเลิศ ประกอบไปด้วยพุทธลักษณะอันประเสริฐ มีสิริอันเทพยดาหากอภิบาลรักษา ย่อมเป็นที่สักการบูชานับถือแต่โบราณ”

พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว มีส่วนสูงตั้งแต่หน้าตักถึงพระเกศ 7 ศอก พระพักตร์ทรงรูปไข่ หรือเรียกว่า รูปหน้านาง ที่แสกพระพักตร์มีเครื่องหมายศูลประดับด้วยเพชร แสดงให้เห็นเป็นอุณาโลม

การสร้างใช้วิธีหล่อเป็นท่อนๆ ด้วยทองสัมฤทธิ์ตลอดทั้งองค์ นิ้วพระพักตร์และพระบาทเสมอกัน แต่แรกสร้างนั้นยังไม่ได้ปิดทอง คงขัดเกลี้ยงแบบทองสัมฤทธิ์เท่านั้น

ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างพระพุทธชินราชในปีใด แต่มีการสันนิษฐานโดยอ้างอิงตามพงศาวดาร คาดว่าน่าจะสร้างพร้อมกับพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท)

จากนั้นจึงลงรักปิดทององค์พระเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2174 สมเด็จพระเอกาทศรถ โปรดเกล้าฯ ให้นำทองเครื่องราชูปโภคไปแผ่เป็นทองแผ่นแล้วนำมาปิดด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองจนแล้วเสร็จ

ต่อมา ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ โปรดให้ปฏิสังขรณ์และลงรักปิดทององค์พระพุทธชินราชอีกครั้ง จึงงดงามยิ่งดังที่เห็นในปัจจุบัน

พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปที่มีเรือนแก้ว หรือที่เรียกว่า พระรัศมี แกะสลักด้วยไม้สักลงรักปิดทอง มีลวดลายเป็นรูปนาค วงขนานไปตามทรงขององค์พระ ขึ้นไปบรรจบกันที่เหนือพระเกศ มีลักษณะเป็นลายรักร้อยและลายทองสร้อยสลับกัน มีสายสังวาลย์ ทำด้วยทองเนื้อนพเก้า หรือทองสีดอกบวบ คือ ตรานพรัตน์ราชวราภรณ์ ประดับด้วยบุศย์น้ำเพชร ซึ่งรัชกาลที่ 7 ทรงสร้างถวายเป็นพุทธบูชา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ถวายตรานพรัตน์ราชวราภรณ์ เมื่อคราวเสด็จภาคเหนือ ในปี พ.ศ.2501

มีรูปยักษ์ทั้งซ้ายขวา คือ ท้าวเวสสุวรรณและท้าวอาฬวกยักษ์ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์

พระพุทธรูปนี้ แสดงออกซึ่งความสงบเย็น ความมีสติปัญญา ความเมตตาอันหาที่เปรียบไม่ได้ ถือเป็นความอัศจรรย์ที่คนไทยเมื่อประมาณพันปีล่วงมาแล้ว มีความสามารถอย่างสูงส่ง ที่สามารถนำเอาพุทธจริยาทั้งสามประการ คือ พระมหากรุณาธิคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระปัญญาธิคุณ ซึ่งเป็นนามธรรม ถ่ายทอดเป็นรูปลักษณะของมนุษย์ที่ปั้นหล่อ ให้มองเห็นในความรู้สึกส่วนลึกของผู้ที่ประสบพบเห็นได้เช่นที่ปรากฏในพุทธลักษณะของพุทธชินราชนี้

พระพุทธชินราช นอกจากเป็นพระปฏิมากร ที่มีลักษณะงดงามอย่างยอดเยี่ยมแล้ว ยังเป็นพระพุทธรูปที่ทรงมีพระปาฏิหาริย์เป็นอัศจรรย์อีกมากมายหลายอย่าง

ปัจจุบัน ผู้คนส่วนใหญ่นิยมกราบไหว้ขอพร