ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
---|---|
เผยแพร่ |
ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า การถอดถอนนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ทำให้การเมืองไทยมีความผันแปรในตัวเองอย่างมาก และทำให้เกิดการจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ก็ถูกพันธนาการด้วยวลี “จริยธรรม” จนทำให้กระบวนการจัดตั้งในครั้งนี้ เกิดความโกลาหลอยู่พอสมควร
ในขณะที่การเมืองกำลังฝุ่นตลบกับการจัด ครม. ใหม่นั้น ปัญหาความมั่นคงไทย โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้า (immediate problem) ได้ส่งสัญญาณถึง “การไม่รอรัฐบาลใหม่” อย่างเห็นได้ชัด หรือดังที่กล่าวเสมอว่า ปัญหาความมั่นคงไม่เคยรอให้รัฐบาลพร้อม แล้วจึงเกิด !
อย่างไรก็ตาม ในเงื่อนไขของโลกการเมืองอนุรักษ์นิยมไทยที่ถูกตีกรอบด้วย “ความมีจริยธรรม” ของนักการเมืองที่จะเข้าร่วมรัฐบาลนั้น ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า การมาของรัฐบาลใหม่อาจจะไม่รวดเร็วอย่างที่คาดหวัง แต่ปัญหาความมั่นคงที่เกิดนั้น กลับเดินหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง และอาจจะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบกับตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และรัฐบาลได้ในอนาคต
ฉะนั้น หากเราลองสำรวจประเด็นความมั่นคงที่มีลักษณะเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่กำลังเกิดขึ้นแล้ว เราจะเห็นถึงความท้าทายที่สำคัญต่อรัฐบาลใหม่ 10 ประการ ได้แก่
– 1) วิกฤติการเปลี่ยนแปลงของอากาศ (climate change) ที่ปัญหารูปธรรมในด้านหนึ่งอาจจะไม่ใช่เพียงในเรื่องของโลกร้อนเท่านั้น แต่ปรากฏที่สำคัญอีกส่วนอยู่ในรูปของความผันผวนของอากาศ เช่น การเกิดอุทกภัยในภาคเหนือของประเทศในปัจจุบัน จนทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิด “ปัญหาน้ำท่วมใหญ่” เช่นมหาอุทกภัย 2554 อีกหรือไม่ อันทำให้การเตรียมรับปัญหา “ความมั่นคงด้านอากาศ” ในมิติของการจัดการอุทกภัยใหญ่เป็นประเด็นที่รัฐบาลไม่ควรละเลย เพราะอากาศในปัจจุบันมีความผันผวนสูง
– 2) วิกฤติโรคระบาด ซึ่งสังคมไทยได้ก้าวสู่ “ยุคหลังโควิด” แล้วนั้น แต่การระบาดของฝีดาษวานร (Clade 1) ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคอื่น วันนี้ได้เริ่มมีผู้ป่วยในไทย แม้จะเริ่มมีการระบาดในไทย และอาจไม่เป็นการระบาดใหญ่เช่นในกรณีของโควิด-19 แต่ก็ก่อให้เกิดความกลัวและความกังวลในสังคมอย่างมาก และในอีกด้านปัญหานี้คือ คำเตือนรัฐบาลไม่ให้ละเลยกับปัญหา “ความมั่นคงด้านสาธารณสุข” ที่คาดเดาไม่ได้
3) วิกฤติเศรษฐกิจ คงต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยมีอาการ “ซึมยาว” และไม่มีสัญญาณบวกในทางเศรษฐกิจมากนัก จนอาจต้องยอมรับว่า การเคลื่อนตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไม่สามารถขยับตัวได้มาก และไม่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างที่หวัง ดังนั้น การสร้าง “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” จึงเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลเสมอ และทั้งยังเป็นโจทย์สำคัญของการสร้างความสนับสนุนทางการเมืองในอนาคตอีกด้วย
– 4) วิกฤติหนี้ครัวเรือน เป็นปัญหาสำคัญในสังคมไทยมาตลอด และมีสัญญาณของความเป็นวิกฤติมากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้เกิดคำถามอย่างมากถึงทิศทางการแก้ปัญหาของรัฐบาลทั้งในระยะสั้น และระยะยาว รวมถึงความสามารถของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหา “ความมั่นคงของมนุษย์” ในเบื้องต้นผ่านโครงการ “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” จะเป็นจริงเพียงใด
– 5) วิกฤติใต้ มีสภาพเป็น “ปัญหาเรื้อรัง” ที่เข้าสู่ปีที่ 21 พร้อมกับกลุ่มผู้ก่อการร้าย BRN ก่อเหตุเพื่อกดดันรัฐมากขึ้น และยังขยายฐานแนวร่วมกับองค์กรในโครงสร้างการเมืองไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังจะเห็นถึงการเคลื่อนไหวด้วยการรุกทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ จนรัฐไทยมีสภาวะของการ “ถอยทางการเมือง” หรือถูกกดดันให้ตกอยู่ในสภาพที่เป็น “เบี้ยล่าง” ซึ่งรัฐบาลใหม่ควรต้องคิดถึงปัญหา “ความมั่นคงภาคใต้” มากขึ้น และทั้งต้องเตรียมรับกับการเคลื่อนไหวขององค์กรแนวร่วมที่พร้อมจะกดดันรัฐบาลอย่างไม่หยุดยั้ง
– 6) วิกฤติสังคม ผ่านประเด็นสำคัญใน 3 เรื่อง ได้แก่ ปัญหายาเสพติด การพนันออนไลน์ และหลอกลวงออนไลน์ ซึ่งทำให้คนในสังคมประสบปัญหาอย่างมาก การออกมาตรการในการจัดการปัญหา “ความมั่นคงทางสังคม” เช่นนี้ มีความจำเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เพราะมีประชาชนเป็นผู้ประสบภัยในวงกว้าง
– 7) วิกฤติเมียนมา อันเป็นผลจากสงครามกลางเมืองที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และมีผลกระทบกับความมั่นคงไทยอย่างมาก การกำหนดนโยบายต่อปัญหา “ความมั่นคงด้านเมียนมา” เป็นประเด็นที่รัฐบาลใหม่ต้องนำมาพิจารณา รวมถึงการสร้างบทบาทเชิงบวกของรัฐบาลไทยในการมีส่วนร่วมต่อการแก้ปัญหานี้
8 ) วิกฤติสินค้าไทย ประเด็นนี้เป็นโจทย์สำคัญ อันเป็นผลโดยตรงจาก “การทุ่มตลาด” ของสินค้าจีน ที่มีต้นทุนต่ำ และมีจำนวนการผลิดสูง จนทำให้ระบบการผลิตในไทยถูกทำลาย แต่ตลาดถูกครอบงำโดยสินค้าจีน จนเป็นการทำลาย “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” ของประเทศอย่างหนัก ซึ่งรัฐบาลใหม่จะต้องใส่ใจในเรื่องนี้ให้มาก มิฉะนั้น ตลาดไทยจะถูกยึดครองโดยสินค้าราคาถูกและคุณภาพต่ำจากจีน
9) วิกฤติความเชื่อมั่น การสร้างให้เกิดความเชื่อมั่นเป็นประเด็นสำคัญต่อสถานะทางการเมืองของรัฐบาล ผลจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และความไม่มั่นใจในสถานะของรัฐบาลไทย จะมีส่วนอย่างมากต่อการลดทอนความเชื่อมั่นของรัฐบาลในเวทีสาธารณะ ซึ่งรัฐบาลใหม่จะต้องเร่งฟื้นฟู “ความมั่นคงทางการเมือง” ในบริบทเช่นนี้ให้ได้ และการสร้างความเชื่อมั่นมีผลอย่างมากต่อการลงทุนทางเศรษฐกิจในอนาคตด้วย
– 10) วิกฤติภูมิรัฐศาสตร์ การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ในเวทีสากลเป็นประเด็น “ความมั่นคงระหว่างประเทศ” ที่สำคัญสำหรับทุกรัฐบาลในปัจจุบัน ดังนั้น รัฐบาลจะต้องกำหนดท่าทีและบทบาทของรัฐไทยในเวทีสากลให้มีความ “เหมาะสม-ลงตัว” กับปัญหาการแข่งขันในเวทีโลกและเวทีภูมิภาคให้ได้
ความท้าทายจากปัญหาความมั่นคง 10 ประการเช่นนี้ รอการพิสูจน์ฝีมือของรัฐบาลใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และน่าสนใจอย่างมากว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแพรทองธาร ชินวัตร จะกำหนดทิศทางการแก้ปัญหา “ความมั่นคงเฉพาะหน้า” เช่นนี้อย่างไร เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมมีผลต่อสถานะทั้งของตัวนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ … หวังว่าอุทกภัย 2567 จะไม่ซ้ำรอยมหาอุทกภัย 2554 เพียงเพราะมีนายกรัฐมนตรีมาจากนายกรัฐมนตรีมาจากตระกูลชินวัตรอีกครั้ง !